พริษฐ์ ก้าวไกล!! ตอกหมุดย้ำปัญหาหลัก
งบศธ.68"...อย่าคิดแทนสถานศึกษา
❝ แม้ว่าการอภิปรายงบฯ ปี 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีมติเสียงข้างมาก 311 เสียง ต่อ 175 เสียง โดยรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระแรก และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายจ่ายพ.ร.บ.งบประมาณ 2568 ที่ประกอบด้วยตัวแทนครม. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 30 วัน ไปแล้วก็ตาม ❞
แต่จากการอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ที่ผนวกอารมณ์และความรู้สึก ผ่านลีลา วาทกรรม การพูดจาถากถาง หรือด้อยค่า เพื่อทำลายความเชื่อมั่นกันและกัน ประชาชนที่เฝ้าดูย่อมตัดสินได้ถึงคุณภาพของแต่ละคนได้ ซึ่งน่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งในสมัยต่อไปอย่างแน่นอน
แต่อย่างน้อย ในเนื้อหาสาระข้อมูลตลอดมุมมอง ข้อเสนอที่ถูกนำออกมากล่าวย่อมเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลได้ฟังความให้รอบด้าน คิดเป็นการบ้าน ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมมากที่สุด
กล่าวจำเพาะ การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มี ส.ส.หลายคนอภิปราย
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปี 2568 เป็นวันที่สอง (20 มิ.ย.) โดยเสนอ ประเด็นด้านการศึกษา ตัวเปลี่ยนเกม 3 ตัว บนหลักการที่ไม่ใช่รัฐคิดแทนประชาชน แต่ผู้เรียน โรงเรียน และอาจารย์ ต้องมีสิทธิเลือกวิชา หรือการเรียน ที่พวกเขาต้องการโดยที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน อย่างน่าสนใจว่า
เบื้องต้น พริษฐ์ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพของแรงงาน โดยอ้างอิงจากข้อความจาก "Chat GPT" ( โดย AI ) อ้างข้อมูล จาก World Economic Forum ระบุว่า มีแรงงาน ถึง 50% ของพนักงานทั่วโลก ต้องการฝึกอบรมใหม่ภายในปี 2025 และในประเทศไทย กระทรวงแรงงานระบุ ว่า แรงงานไทย 60% ยังขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับงานยุคดิจิทัล ซึ่งยกระดับทักษะไม่เพียงแค่แก้ไขปัญหาการว่างงาน แต่ยังเพิ่มผลิตภาพและความสามารถการแข่งขันในระดับประเทศ
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก 'แมคคินซี แอนด์ คอมปานี' (Mckinsey and Company) ระบุว่า 80% ของผู้บริหารเชื่อว่า การขาดแคลนทักษะจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังนั้น การสนับสนุนการพัฒนาทักษะเป็นเรื่องจำเป็น เรื่องนี้กำลังตอกย้ำเรื่องการยกระดับพัฒนาทักษะเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามาเพื่อแข่งขันกับโลก
พริษฐ์ ระบุต่อว่า เขาพบปัญหาด้วยว่าการอัปสกิลและรีสกิลของแรงงาน ของ ทุกหน่วยงานของรัฐ เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการจริง ๆ หรือไม่ เมื่อตัวชี้วัดของหลายโครงการเน้นปริมาณว่ามีคนมาอบรมกี่คนและเสร็จสิ้นหรือไม่ มากกว่าอบรมสำเร็จหรือไม่ มาเรียนแล้วได้งานเพิ่มขึ้นกี่คน และได้รายได้เพิ่มกี่บาท
ซึ่งพบปัญหาว่า หลายครั้งไม่ค่อยมีคนมาอบรมจนต้องเกณฑ์คนมาเข้าร่วม ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ผู้สอนหรือเจ้าหน้าที่ และข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบจัดการโครงการ
ทำให้ พริษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล มีความเป็นกังวลเนื่องจาก เด็ก 1 ใน 4 ของประเทศไทย กำลังเผชิญปัญหาทักษะ ตั้งแต่เกิดจนแก่ มีพัฒนาล่าช้าไม่สมวัย เด็ก 2 ใน 3 คน ไม่สามารถความรู้จากในห้องเรียนมาใช้ได้จริง และแรงงาน 3 ใน 4 ไม่สามารถทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน เช่น การใช้เมาส์ คีย์บอร์ด และอื่นๆ
เมื่อดูงบประมาณในโครงการของรัฐบาล จำนวน 5,631 โครงการในปี 2568 รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการเรียนรู้ และยกระดับทักษะในทุกช่วงวัย อยู่ที่ 510,000 ล้านบาทโดยประมาณ กระจายไปยัง 175 หน่วยรับงบประมาณ และ 14 กระทรวง
พริษฐ์ กล่าวว่า ในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณเด็กเล็ก งบประมาณการศึกษา งบประมาณผู้สูงอายุ และงบประมาณยกระดับทักษะแรงงาน ล้วนมีปัญหาร่วมกัน 3 ประเด็น
ประเด็นปัญหาที่ 1 ภาพรวมปัญหาที่พบ งบประมาณการเรียนรู้ในโครงการต่าง ๆ ไม่ได้ลงทุนกับการเรียนรู้ แต่ไปลงกับการสร้างอาคาร
ยกตัวอย่าง เช่น โครงการพลิกโฉมผลิตภาพแรงงานไทย ที่เป็นโครงการของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้งบประมาณสูงสุดในปีนี้ อยู่ 381 ล้านบาท แต่เกือบร้อยละ 20 ถูกใช้ไปกับการพลิกโฉมอาคาร ไม่ใช่พลิกโฉมแรงงาน
อีกตัวอย่าง คือ โครงการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถการทำงาน และการเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง ของ กรมกิจการผู้สูงอายุ งบประมาณเดิมได้ 8 ล้านบาท ขึ้นเป็น 20 ล้านบาท แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาส่วนใหญ่ กลับใช้ไปกับการปรับปรุงอาคาร
ประเด็นปัญหาที่ 2 ต่างคนต่างทำ ทำให้มีโครงการซ้ำซ้อนกันของหน่วยงานต่าง ๆ โดยสะท้อนโครงการของแต่ละกระทรวง ที่มีความซ้ำซ้อนด้านบทบาทหน้าที่
ยกตัวอย่าง on-site training เช่น โครงการยกระดับทักษะดิจิทัลระดับสูง ให้กับบุคลากรด้านดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ มีงบประมาณ 16 ล้านบาท แทนที่จะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) แต่กลับเป็นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ของ กระทรวงแรงงาน
ขณะที่กระทรวงที่มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน กลับไม่ใช่กระทรวงแรงงานที่รู้ดีและทราบถึงแผนทรัพยากรแรงงานในตลาดแรงงานเป็นอย่างดี แต่กลายเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ของกระทรวง DE
หรือกรณีแพลตฟอร์ม ศึกษาเรื่องการรู้เท่าทันดิจิทัลลิ (Digital Literacy) มีแพลตฟอร์มของรัฐให้เรียนรู้ 5 แพลตฟอร์ม หรือ ถ้าอยากเรียน Design Thinking ก็มีให้เรียนถึง 4 แพลตฟอร์ม ซึ่งมีหลายแพลตฟอร์มดูแล้วไม่น่าเสียหาย แต่ปัญหา คือ ต้องลงทะเบียนไม่รู้กี่ครั้งเพื่อดูคลิป เพียงคลิปเดียว เพราะระบบหลังบ้านไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน
ประเด็นปัญหาที่ 3 การลงทุนที่ผู้เรียนไม่ได้เลือก ผู้เลือกไม่ได้เรียน หากจะตัดเสื้อให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนที่มีความถนัดไม่เหมือนกัน เพราะ “กระทรวงคิดแทน”
ถ้าไปดูเรื่องงบประมาณอุดหนุนการจัดการศึกษา แม้ว่างบประมาณก้อนนี้จะถูกส่งไปที่โรงเรียนก็จริง แต่ถูกส่งงบประมาณไปจำนวน 5 ก้อน หรือ 5 เสา ซึ่งสร้างข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นให้กับโรงเรียน
ยกตัวอย่างว่า ถ้าโรงเรียนอยากโยกงบฯ อุดหนุนค่าเครื่องแบบ ไปใช้ในส่วนอื่นๆ ในโรงเรียน ก็ทำไม่ได้ และ ทำได้ยากทั้งนี้ เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง
ยกตัวอย่าง โรงเรียนภาคเหนือที่ได้ไปลงสำรวจ ทางโรงเรียนมีความพยายามของบประมาณซ่อมอาคารมานานมากแล้ว แต่กลับได้งบประมาณไม่ตรงจุด เพราะได้งบประมาณซ่อมส้วมมาแทน ซึ่งส้วมของโรงเรียนไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่โรงเรียนก็ต้องรับไว้ก่อน เพราะว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้
ซึ่ง พริษฐ์ ตั้งคำถามว่า "มันจะดีกว่าไหม... ถ้าโรงเรียนได้งบประมาณตรงกับที่ต้องการจริง ๆ"
พริษฐ์ กล่าวต่อว่า แต่ละหน่วยงานมีจุดชี้วัด คือ ทำเสร็จมากกว่าสำเร็จหรือไม่ บางโครงการที่เปิดอบรมฟรี แต่คนเข้าอบรมไม่เป็นไปตามตัวชี้วัด ดังนั้นในข้อเสนอของพรรคต่อการจัดงบเพื่อการเรียนรู้ และ ยกระดับทักษะตลอดชีวิต ต้องผลักดัน 3 ตัวที่เป็นประเด็นปัญหา ให้เปลี่ยนเกม คือ
1. ตัวเปลี่ยนเกม ในการยกระดับทักษะคนทุกช่วงวัย กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นช่วยดูแลเด็กเล็กหรืออายุต่ำกว่า 2 ขวบ ในช่วงอายุ 1,000 วันแรก จำนวน 20,000 ล้านบาท ขยายวันเวลาเปิดศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้ว กับขยายการเปิดช่วงอายุเด็กที่เดิมส่วนกลางอุดหนุนเด็กตั้งแต่ อายุ 2 ปี ขึ้นไป ให้ขยายสามารถอุดหนุนเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ได้
แต่พวกเด็กอายุ 3 เดือน-2 ปี เป็นช่วงอายุที่ถูกหลงลืมโดยรัฐมากที่สุด เพราะว่าเด็กอายุ 3 เดือน สิทธิลาคลอดของพ่อ-แม่จะสิ้นสุดลงและต้องกลับไปทำงาน แต่สมมติว่าพ่อ-แม่ จะฝากลูกไว้ที่ศูนย์เด็กเล็ก แต่ก็ต้องรออีก 21 เดือน เพราะว่าศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ รับเด็กตั้งแต่ 2 ขวบเป็นต้นไป
2. ระเบิดงบการศึกษาพื้นฐาน ส่งตรงให้โรงเรียนบริหารจัดการเอง แล้วเปลี่ยนวิธีการอบรมให้กับครู เป็นคูปองเปิดโลกให้ครูได้เลือกเองว่าจะพัฒนาทักษะด้านไหน หรือใช้คูปองเปิดโลกให้กับนักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
3. ลงทุนเมกะโปรเจกต์ด้านทักษะและอุดหนุนคูปอง และ เปลี่ยนวิธีการลงทุนจากเบี้ยหัวแตกเป็นบาซูก้า รวมถึงเปลี่ยนจากการอุดหนุนหน่วยงานรัฐเป็นอุดหนุนให้กับผู้เรียนโดยตรง เช่น ทักษะพื้นฐาน ทักษะเชิงลึก หรือทักษะชีวิต
พริษฐ์ กล่าวยืนยันว่า การลงทุนในเมกะโปรเจกต์ที่ได้นำเสนอนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเริ่มทำได้เลย หากกังวลเรื่องของการคัดกรองเนื้อหาอบรมที่ใช้เวลานาน อาจจะเริ่มจากทักษะบางประเภทที่ในตลาดมีคอร์สอยู่เยอะแล้ว
โดยระบุถึงงบประมาณ ปี 2568 สะท้อนเห็นชัดว่า รัฐบาลเศรษฐา ยังคงเลือกที่จะลงทุนอย่างมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน และ การลงทุนแจกเงินผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหา คือ การลงทุนในการยกระดับทักษะของคนในประเทศ
"ถ้าเปรียบเป็นภาพเหมือนกับเรากำลังซ่อมเรือ เพื่อเร่งส่งคนออกไปตกปลา ปีนี้อาจจะมีการแถมปลา แจกปลา ให้เขามีติดไม้ติดมือ แต่สิ่งที่เราไม่เคยให้เขาเลย คือ เบ็ดตกปลาที่มีประสิทธิภาพในการตกปลา ที่ทันยุคทันสมัยทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงขอฝากไปถึงรัฐบาลขอการลงทุนในเบ็ดที่มีชื่อว่า งบบูรณาการเรียนรู้ การยกระดับทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต " นายพริษฐ์ อภิปราย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage