ร้อง สนง.ก.ค.ศ.ไม่เหมาะสม! เลือกผู้แทนวัยเกิน 70 ส่งเป็น กศจ.หลายจังหวัด

“องค์กรครู” ร้อง สนง.ก.ค.ศ.ส่อไม่เหมาะสม! เลือกผู้แทนวัยเกิน 70 ส่งไปเป็น กศจ.หลายจังหวัด จี้ “ประวิต เอราวรรณ์” ยกเลิกประกาศมอบหมาย 21 มี.ค.65

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 นายสานิตย์ พลศรี อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ชัยภูมิ หลายสมัย และนายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า ในวันเดียวกันนี้ ตนได้ทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ที่ สค.ชย.006/2565 ส่งถึง รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ขอให้ยกเลิกประกาศสำนักงาน ก.ค.ศ. เรื่องการมอบหมายผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นกรรมการในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565

เนื่องจากทางสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้ทำการตรวจสอบผู้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์แล้ว ส่ออาจมีประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งกับหลักเกณฑ์การเป็นคณะกรรมการ กศจ.ในบางประเด็น ดังนี้

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ. กำหนดอายุจริงไว้ไม่เกิน 70 ปีเท่านั้น และเป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยหากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ.คนใดมีอายุเกิน 70 ปี แม้วันเดียวก็ให้พ้นสภาพการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ.ทันที

สานิตย์ พลศรี

นายสานิตย์กล่าวต่อว่า แต่จากการตรวจสอบประกาศสำนักงาน ก.ค.ศ.เรื่องการมอบหมายผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นกรรมการใน กศจ. ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565 พบว่า มีการมอบหมายผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่อายุเกิน 70 ปี หลายคนไปเป็นกรรมการใน กศจ.หลายจังหวัด ซึ่งแม้ว่าอาจไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุของผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ส่งไปเป็นกรรมการใน กศจ. แต่โดยหลักการก็ควรมีการเทียบเคียงเลือกสรรผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ.ให้ไม่แตกต่างกับคุณสมบัติของกรรมการใน กศจ.ตำแหน่งอื่นๆ ด้วย เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ. ที่กำหนดอายุไว้ไม่เกิน 70 ปี

“นอกจากนี้ ยังอาจมีประเด็นปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีเรื่องของความเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีสำนักงาน ก.ค.ศ.เลือกสรรผู้แทนที่นอกจากจะสูงวัยอายุเกิน 70 ปีแล้ว ยังเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในจังหวัดนั้นๆ ด้วย เช่น ส่งไปเป็น กศจ.ข้ามจังหวัดภูมิลำเนา ข้ามภูมิภาค ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อสังเกตเชิงลบในหลายกรณี”

อาทิ ไม่มีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่มีภูมิลำเนาอาศัยในจังหวัดนั้นๆ แล้วหรือ จึงได้เลือกเอาคนอายุเกิน 70 ปี ให้เดินทางไกลข้ามภูมิภาคไปทำงาน เสียงบประมาณแผ่นดิน ทั้งค่าเดินทาง ที่พัก ที่สำคัญการเป็นคนนอกพื้นที่ อาจไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง และอาจจะไปสร้างความยุ่งยาก เสียหาย และเสี่ยงต่อการลงมติในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมาย ซึ่ง ณ วันนี้ ก็ยังมีกรณีของ กศจ.บางรายที่ยังติดคุกกันอยู่

ดังนั้น ในหนังสือสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิที่ส่งถึง รศ.ดร.ประวิต เลขาธิการ ก.ค.ศ. จึงได้ตั้งคำถามตามประกาศรายชื่อการมอบหมายผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ.ไปปฏิบัติหน้าที่ใน กศจ.แต่ละจังหวัด มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาหรือไม่? อย่างไร? เหตุใด? จึงแต่งตั้งคนที่มีภูมิลำเนาห่างไกลไปประจำแต่ละ กศจ. ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าและการประหยัดงบประมาณให้กับทางราชการหรือไม่? มีเรื่องการขอโควตาไปเป็นตัวแทน กศจ.หรือไม่?

สมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิได้เฝ้าติดตามการบริหารงานในสำนักงาน ก.ค.ศ.มาโดยตลอด ต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบให้มากกว่านี้ ต้องรู้จักคำว่าความเหมาะสม ความคุ้มค่า เพราะงบประมาณที่นำไปใช้จ่ายคือเงินภาษีของประชาชน การแต่งตั้งคนเป็นตัวแทนสำนักงาน ก.ค.ศ. ถ้าเลือกเอาคนในแต่ละจังหวัดจะเสียหายตรงไหน หรือว่าคนในแต่ละจังหวัดจะไม่มีคนดี คนเก่งสักคนเลยหรือ? สำนักงาน ก.ค.ศ.ต้องรู้จักให้เกียรติคนในพื้นที่แต่ละจังหวัด แล้วจะได้คนมาช่วยกันทำงานให้กับประเทศชาติสืบไป

“อย่างไรก็ตาม หากสำนักงาน ก.ค.ศ.ยังดึงดันไม่พิจารณาตามหลักเกณฑ์และแต่งตั้งคนตามกระบวนการนี้ สมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย และหลักเกณฑ์ตามแบบแผนของการบริหารบ้านเมืองที่ดีต่อไป” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้คอลัมน์นิสต์เว็บไซต์ข่าว EdunewsSiam.com “สิงห์ ราชดำเนิน” ได้รายงานสภาพปัญหาการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กศจ.หลายจังหวัด มีทั้งความดุเดือด ส่อเค้าวุ่น อ่านรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ข่าว EdunewsSiam.com คอลัมน์หยิกแก้มหยอก : edunewssiam 26 มี.ค.65

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)