ส.บ.ม.ท.ร้อง“ตรีนุช”แก้เกณฑ์ ก.ค.ศ. ทำครูมัธยมหาย 8 พันอัตรา กระทบคุณภาพ

 

ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ว่า ส.บ.ม.ท.จะทำหนังสือร้องทุกข์ถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในเร็วๆ นี้ เพื่อขอให้ทบทวนและแก้ไขเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ขอให้ชะลอการบังคับใช้และทบทวนเกณฑ์อัตรากำลังใหม่นี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เนื่องจากเกณฑ์ใหม่ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ประกาศใช้แล้ว ได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งประเทศ โดยจำนวนครูกำลังจะหายไปมากถึงประมาณ 8,000 คน

"เช่นนี้แล้ว โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ได้อย่างไร"

ดร.วิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ผลจากการประกาศใช้เกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูฯในสถานศึกษา เกณฑ์ใหม่ของสำนักงาน ก.ค.ศ. จะทำให้อัตราครูเกษียณอายุราชการในสิ้นปีงบประมาณ 2564 สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาจะได้กลับคืนมาน้อยมาก เช่น ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 มีครูเกษียณฯเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2564 จำนวนรวมกว่า 160 อัตรา แต่ได้กลับคืนมาประมาณ 50 อัตราเท่านั้น

รวมทั้งมีกรณีของโรงเรียนมัธยมศึกษาบางแห่งมีครูประมาณ 200 คน เมื่อสำนักงาน ก.ค.ศ.ประกาศใช้เกณฑ์อัตรากำลังใหม่ ทำให้อัตรากำลังครูโรงเรียนแห่งนี้หายไปประมาณ 38 คน เป็นต้น

"เป็นไปตามที่ ส.บ.ม.ท.ได้เคยสำรวจข้อมูลตัวอย่างของโรงเรียนมัธยมศึกษาที่จะได้รับผลกระทบจากเกณฑ์อัตรากำลังใหม่ของ ก.ค.ศ.นี้ ใน สพม.นนทบุรี สพม.เชียงใหม่ และ สพม.กทม. เขต 2 จะมีจำนวนอัตรากำลังครูลดลงทุกโรงเรียน ในขณะที่จำนวนนักเรียนและห้องเรียนเท่าเดิม ซึ่งสะท้อนว่า จะทำให้เกิดภาระกับการจัดหาอัตรากำลังครูในส่วนที่หายไปกับโรงเรียนมัธยมฯทุกแห่งทั่วประเทศ"

ดร.วิสิทธิ์ กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาเรื่องนี้ว่า สืบเนื่องจากเกณฑ์อัตรากำลังใหม่ของ ก.ค.ศ. มุ่งเน้นการเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ ไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ประกอบกับ ก.ค.ศ.ได้กำหนดให้มีตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ 1 อัตรา ในสถานศึกษาที่มีนักเรียน 120-359 คน

และที่สำคัญเกณฑ์อัตรากำลังใหม่ของ ก.ค.ศ.ใช้บังคับเหมือนกันทั้งกับโรงเรียนมัธยมศึกษาและโรงเรียนประถมศึกษา และได้กำหนดชั่วโมงสอนของครูประถมศึกษามีจำนวนลดลง ในขณะที่กำหนดชั่วโมงสอนมากขึ้นสำหรับครูมัธยมศึกษา จึงทำให้ดูเหมือนโรงเรียนมัธยมศึกษามีจำนวนครูเกิน ทั้งที่ภารกิจการสอนของครูประถมศึกษากับมัธยมศึกษาไม่เหมือนกัน

โดยการจัดการศึกษาในระดับมัธยมฯมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพที่เหมาะสมกับวัย ดังนั้น การจัดครูเข้าสอนและการบริหารอัตรากำลังจะต้องมีครูเชี่ยวชาญเฉพาะวิชาเอก เช่น วิชาฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ จิตวิทยา แตกต่างกับการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา ที่มุ่งเน้นให้ครูเอาใจใส่ใกลชิดนักเรียน เพื่อพัฒนาทักษะตามวัย

แต่เกณฑ์อัตรากำลังใหม่ของ ก.ค.ศ.กลับใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการบริหารอัตรากำลังทั้งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา ซึ่งไม่ตอบโจทย์การจัดการศึกษา โดยในระดับมัธยมศึกษานั้น เมื่อโรงเรียนมัธยมฯใดมีอัตราเกินตามเกณฑ์ใหม่นี้ จะถูกตัดตำแหน่งโดยไม่ได้พิจารณาเรื่องความขาดแคลนครูวิชาเอก

ในขณะเดียวกัน การรับครูวิชาเอกของโรงเรียนประถมศึกษา ก็ส่งผลกระทบกับการจัดการศึกษาโดยภาพรวม เช่น เปิดรับครูวิชาเอกคณิตศาสตร์ ก็เป็นปัญหากับการสอนวิชาอื่นๆ ในโรงเรียนประถมฯ เป็นต้น

“ดังนั้น ส.บ.ม.ท.จะขอเรียกร้องให้ ก.ค.ศ.แก้ไขเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูฯในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.เสียใหม่ โดยแยกเกณฑ์ใช้สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษากับโรงเรียนประถมศึกษาออกจากกัน และให้กำหนดเกณฑ์อัตรากำลังเป็นไปตามภารกิจการสอน รวมทั้งให้กำหนดมาตรฐานชั่วโมงสอนขั้นต่ำของครูมัธยมศึกษาที่สอดคล้องกับภาระงานด้วย”

นายก ส.บ.ม.ท.กล่าวด้วยว่า โดยภาพรวมต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาครูไทยเรามีภาระงานมากมาย ทั้งเรื่องงานสอน, การเข้ารับประเมินวิทยฐานะ ว.17 , ว.21 ที่ต้องขนเอกสารกันเป็นคันรถปิ๊กอัพ เพราะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลถึง 5 ปี , ล่าสุดมาใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ PA เพื่อประเมินเลื่อนเงินเดือน เพื่อคงวิทยฐานะ และเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ รวมทั้งยังจะมีเรื่องของการทดลองหลักสูตรสมรรถนะที่จะเข้ามาอีก ดังนั้น สุดท้ายแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรลงไปถึงเด็กนักเรียนบ้าง

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)