กก.ปฏิรูป ปท.ชื่นชม "ตรีนุช" ใช้ Active Learning พัฒนาสมรรถนะ น.ร.ยุคใหม่

ความคืบหน้าจากกรณีสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดหอประชุมคุรุสภาจัดงาน “เดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤติ COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (TEAM WEBINAR)” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 พร้อมถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ ZOOM และถ่ายทอดผ่าน OBEC TV Channel

เพื่อโชว์นวัตกรรมครูและนวัตกรรมนักเรียน 1,500 ชิ้น ผลงานจากโรงเรียนต้นแบบใน 10 จังหวัดภาคเหนือ และโรงเรียนเครือข่ายในหลายจังหวัด ที่ได้ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps

จนทั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานของงาน และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต่างยกนิ้วให้พร้อมประกาศว่า เป็นโมเดลแก้ปัญหาด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติ

ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาด้วยว่า "ให้มีการแก้ปัญหาด้านการศึกษาด้วยวิธีปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และกำหนดให้ปรับกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่ใช้ในปัจจุบัน ให้ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในยุคใหม่ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps"

อีกทั้งภายในงานนี้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ประกาศชัดเจนว่า การสร้างผลงานของนักเรียนในวันนี้ มีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่า 1,500 นวัตกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สมรรถนะสำคัญด้านต่าง ๆ เช่น การคิด การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ ดังนั้น ดร.วิษณุ เครืองาม จึงได้มีคำสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. เร่งนำไปขยายผลให้มีโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาค

"ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มขยายผลได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เป็นการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ยกระดับศักยภาพนักเรียนให้เป็นนวัตกรตามยุทธศาสตร์ชาติได้ ตามแผนงานการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และตามความคาดหวังของสังคม"

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการพูดถึงการขยายผลโมเดลโรงเรียนต้นแบบที่ได้ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยยังใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในยุคใหม่ โดยไม่ได้มีใครพูดถึงการแก้ไขหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากหลักสูตรอิงมาตรฐาน เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะแม้แต่คำเดียวนั้น 

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ดร.ศักดิ์สิน โรน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้สัมภาษณ์ว่า ในงานดังกล่าว ตนและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาหลายท่าน ได้รับเชิญไปร่วมงานดังกล่าวด้วย ซึ่งต้องขอชื่นชมศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้นโยบายส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนต้นแบบของประเทศในครั้งนี้

โดยให้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. และผู้บริหาร สพฐ.ทุกท่าน ช่วยกันส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อการพัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียนได้เป็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5 เดือน เกิดนวัตกรรมมากกว่า 1,500 นวัตกรรม และในปีการศึกษาหน้ามากกว่า 5,000 นวัตกรรม จากจำนวนโรงเรียนต้นแบบเพียง 30 โรงเรียน

ถ้าได้ขยายผลไปทั่วทุกภูมิภาค และขยายไปทุกโรงเรียน ประเทศไทยจะเกิดนวัตกรรม ประมาณหลายหมื่นหลายแสน หรือนับล้านนวัตกรรมได้ในเวลาไม่นาน จะพลิกโฉมประเทศไทยอย่างแท้จริง ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้การศึกษาเป็นฐานในการพัฒนา

"นับเป็นครั้งแรกที่ท่าน รมว.ศธ.ตรีนุช เทียนทอง สามารถกระตุ้นการพัฒนาให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียนเข้าถึงการใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานได้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลาง (อิงมาตรฐาน) และเชื่อมโยงไปสู่มาตรฐานสากลได้อย่างสง่างาม ทุกประเทศทั่วโลกอยากให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ไม่ง่ายนักที่จะทำได้สำเร็จ และถ้าการดำเนินการขยายผลตามที่ท่าน รมว.ตรีนุชได้แถลงไว้ จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาการศึกษาประเทศหนึ่งของโลกภายในไม่เกิน 3-5 ปี โดยจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในแต่ละปีการศึกษานับจากนี้ไป"

กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวต่อว่า ผลงานในวันนี้ถือว่า รมว.ตรีนุช เทียนทอง เป็นท่านแรกที่ให้ของขวัญที่ยิ่งใหญ่แก่ประชาชนชาวไทย ที่ใฝ่หา แสวงหามาตลอดระยะเวลาอันยาวนานจนแทบสิ้นหวังว่า จะทำอย่างไรให้บุตรหลานของตนเองได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อนำความรู้ไปใช้ดำเนินชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ของขวัญในวันนี้จึงเป็นความหวังของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และนักเรียนทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยและเร่งรัดให้บุตรหลานของตนเองได้รับการจัดการเรียนการสอน ดังเช่นโรงเรียนต้นแบบในวันนี้โดยเร็ววัน

กระบวนการเรียนรู้ที่พลิกโฉมประเทศด้านการศึกษาของ รมว.ตรีนุชในวันนี้ ตอบโจทย์กรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่นำกฎหมายรัฐธรรมนูญมาจัดทำแผนแม่บท โดยเน้นให้ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับพหุปัญญา

และตอบโจทย์ราชกิจจานุเบกษาที่กำหนดให้กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ขยายผลแนวปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดให้ "กระทรวงศึกษาธิการปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะ (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ"

โดยมีนัยสำคัญคือ ให้ผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหาร ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน การบริหารการจัดการเรียนรู้ จากรูปแบบ Passive Learning มาเป็นรูปแบบ Active Leaning โดยใช้กระบวนการคิดขึ้นสูงเชิงระบบ และกำหนดระดับคุณภาพให้นักเรียนระดับประถมศึกษาให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสามารถต่อยอดนวัตกรรมได้ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถพัฒนานวัตกรรมและปฏิบัติการเชิงวิจัยบูรณาการเชื่อมโยงกับชุมชน ท้องถิ่นได้

"ซึ่งสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ดังที่ประจักษ์ในวันนี้ ที่ส่งผลให้เห็นคุณภาพของนักเรียนชัดเจน ไม่ใช่การท่องจำเพื่อมาสอบ ถึงแม้สอบได้คะแนนดี แต่ไม่มีร่องรอยการพัฒนาคุณภาพของนักเรียน จึงไม่มีความหมายต่อนักเรียน" ดร.ศักดิ์สิน กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)