กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา@สพฐ. บนภารกิจของครูไทยที่โลกต้องจดจำ

เสวนากับบรรณาธิการ : วันที่ 6 พฤษภาคม 2564

กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา@สพฐ.

ภารกิจของ "ครูไทย" ที่โลกต้องจดจำ

บนความเสี่ยง'โควิด-19'ระบาดถ้วนหน้า

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์: บรรณาธิการ

เกือบสี่ปี ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือนักเรียนยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีทั้งยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมไปถึงเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายร่วมกับ สพฐ. ให้ได้รับโอกาสยกระดับคุณภาพ สู่การดำรงชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยมีฐานข้อมูลเดิมจากสพฐ.ยืนยันได้ว่ามีเด็กยากจนพิเศษนับเป็นล้าน ๆ คน

เนื่องจาก สพฐ.มีระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล ข้อมูลสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ครอบคลุมลงลึกทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และยังมีสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ ดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส ที่อยู่ในศูนย์การศึกษาพิเศษ ราชประชานุเคราะห์ ศึกษาสงเคราะห์ และ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เด็กเหล่านี้มีความขาดแคลนอยู่แล้ว จึงเป็นความโชคดีของเด็ก ๆ ที่ สพฐ.เข้าไปดูแลช่วยเหลือก่อนหน้านี้เท่าที่จะทำได้ตามกำลังทรัพยากรและงบฯที่มี

แม้การดำเนินการในปัจจุบัน ยังเป็นที่พอเข้าใจได้กับการเข้าถึงข้อมูล การสนับสนุนต่าง ๆ ในการลงพื้นที่ ซึ่งยังพบปัญหาอื่น ๆ ทั้งเอกสารการทำงานที่ยังมีรายละเอียดให้ดำเนินการมากมาย แม้จะมีระบบโปรแกรมต่าง ๆ หรือแอปพลิเคชันของ กสศ.เข้ามารองรับช่วยเติมเต็มในการเก็บข้อมูลแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องดีมากกว่าที่ต้องมาหาคำถามคำตอบกันภายหลัง

แต่เท่าที่ผ่านมาตลอดสามปี ย่อมปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ภารกิจนั้นยังหนีไม่พ้น "ครู" เป็นสำคัญระดับต้นเสมอ ตามด้วยผู้บริหารโรงเรียนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และผู้บริหารเขตการศึกษาในพื้นที่ รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ยังเป็นหน่วยงานที่ต้องหนุนเสริมการทำงานในทุกมิติช่วยเหลือคู่กันไปกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

อย่างไรก็ตาม หากชั่งน้ำหนักแห่งภารกิจดังกล่าวนี้แล้ว "ครู" เป็นความสำคัญระดับต้นที่จะทำให้ กสศ.สามารถดำเนินการช่วยทุกกลุ่มเป้าหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้กรอกข้อมูลเป็นผลจากคุณครูผู้ลงพื้นที่จริง ๆ สามารถนำปัญหานานาประการ เด็กที่อยู่กับญาติ ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีญาติผู้ใหญ่ พี่คนโตต้องดูแลน้อง ตลอดสภาพแวดล้อมของสภาวะความทุกข์ ที่ต้องรับรู้ผ่านการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันในแต่ละราย ย่อมใช้เวลามิใช่น้อย

เพราะเด็กที่ยากจน มิใช่ยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาด้วยเสมอ

อีกประเด็นหนึ่งที่มิอาจมองข้ามไปได้ที่เคยได้ยินเสมอว่า ครูต้องมีหน้าที่สอน และการสอนที่ดีต้องมีการเตรียมตัวที่ดีเช่นกัน การได้รับมอบหมายงานซึ่งไม่ใช่หน้าที่ ย่อมส่งผลให้เตรียมตัว เวลาการเรียนการสอนต้องหายไปจำนวนมาก และต้องหันมาทำการเรียนการสอนให้ครบตามชั่วโมงที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ด้วยการสอนชดเชย

เคยได้ยินวงเสวนาของนักวิชาการคุยกันว่า เมื่อคลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี เสียงสะท้อนจากครูที่นักปฏิบัติต้องฟัง พบว่า ใน 1 ปี มีจำนวนวันเปิดเรียนทั้งหมด 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42%

จึงเป็นที่มาของเสียงสะท้อนของคนในสังคมและครูส่วนใหญ่ "ต้องการคืนครูสู่ห้องเรียน และลดภาระงานของครูที่ไม่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กลงได้แล้วหรือยัง?"  

น่าเสียดายว่า ภาระงานพิเศษของครูในทำนองนี้ ไม่ได้ถูกนับเป็นชั่วโมงที่เสริมคุณค่าแห่งเนื้องานของครู ที่ควรจะนำไปสู่การพิจารณาความดีความชอบเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจอันพึงควรมีให้อย่างจริงจัง อย่ามองเป็นแค่งานฝาก เป็นภาระตามหน้าที่ที่ถูกมอบหมายให้เอาไปทำ คือ ทำให้จบเป็นครั้ง ๆ อย่างที่ผ่านมา

กระทรวงศึกษาธิการเอง น่าจะพิจารณาในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการคิดนำข้อมูลที่ร่วมดำเนินการกับ กสศ.ไปใช้ประโยชน์หรือบูรณาการใช้กับหน่วยงานต่าง ๆเพื่อจัดวางยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาได้แทบทุกมิติ  เนื่องจากสภาพความจริง สามารถนำไปแก้ปัญหาได้ถูกจุดและทันการมากกว่าเริ่มต้นใหม่ จะดีกว่าการยกโขยงส่งคนจากส่วนกลางออกไปติดตามสถานการณ์ เป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน มากกว่า   

ยิ่งบ้านเมืองกำลังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ประเมินกันว่าจะมีการระบาดรอบสาม สร้างความห่วงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวส่งผลไปถึงครอบครัวขาดรายได้ เด็กอาจหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้น 

เท่าที่ผ่านมา นับเป็นความโชคดีของเด็ก ๆ ยากจนพิเศษเป็นล้านคน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือจาก กสศ.และ สพฐ.

 

ขอหยิบจำเพาะบางส่วนที่ปรากฏในรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีผลการดำเนินงานในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาแบบบูรณาการ ใน 20 จังหวัดนำร่อง ได้ถึง 26,055 คน ทั้งที่เป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ละลอกสองที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

และโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กสศ.จัดสรรเงินช่วยเหลือนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีความยากจนพิเศษตามเงื่อนไขปีละ 3,000 บาทต่อคน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รวม 994,428 คน และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้อีก 753,996 คน

นี่ยังไม่ขอกล่าวถึงอีกหลายโครงการของ กสศ. อาทิ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ โครงการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษา ล้วนได้โอกาสนี้ทั่วกัน 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคำถามมาถึง สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ edunewssiam ว่า ในขณะนี้ การมอบทุนเด็กยากจนพิเศษ สพฐ.มีกำหนดให้มีวิธีมอบอย่างไร เพราะไม่เห็นแนวปฏิบัติใหม่ในการมอบเงินให้กับผู้เรียน โดยยังต้องให้มารับเองและต้องถ่ายรูปส่งรายงาน ทั้งที่ปัจจุบันมีหนังสืองดกิจกรรมในโรงเรียน แต่ก็ยังมีบางแห่งนัดประชุม นัดผู้ปกครองมารับที่โรงเรียน และยังกำหนดให้ส่งภาพถ่ายการรับด้วย ล้วนเอาจริงจังมาก

รวมทั้งแนวปฏิบัติปลีกย่อยอีกมากมาย ตลอดจนระเบียบการเปิดบัญชีที่ต้องปฏิบัติก็เยอะ ซึ่งล้วนมีครูเข้าไปร่วม ในขณะที่ทุกวันนี้ทั้งครูและสถานศึกษาทุกแห่งต้องรับมือกับการเตรียมการเรียนการสอนในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทาง ศธ.บอกว่า จะให้เปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน 2564 นี้

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ edunewssiam ได้เห็นปฏิทินการดำเนินงานการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติม นักเรียนทุนเสมอภาค (กลุ่มรอยต่อ) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรสั โคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง ณ วันที่ 28 เมษายน 2564 ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีสาระสำคัญหลายประเด็นที่ควรรับทราบและนำไปพิจารณากัน ดังนี้ 

ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน-29 เม.ย.64 กสศ.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ. อปท. ตชด.) สร้างความเข้าใจต่อแนวทางการดำเนินงาน คือ ดึงฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายตรวจสอบบัญชีธนาคารพร้อมเพย์ของนักเรียนทุนเสมอภาค ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนและบัญชีสถานศึกษาที่เปิดรับเงินอุดหนุนจาก กสศ.โดยให้สถานศึกษาตรวจสอบสถานะการโอนเงินนักเรียนทุนเสมอภาค ผ่านระบบสารสนเทศ  

วันที่ 30 เม.ย.-14 พ.ค.64 อยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินการสร้างความเข้าใจของสถานศึกษากับนักเรียนทุนเสมอภาคทางการศึกษาและผู้ปกครอง กลุ่มรอยต่อภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา อาทิ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อ/ค่าสมัครเรียน ตามหลักเกณฑ์ที่ กสศ.กำหนด  

ผู้ที่รับผิดชอบหลัก คือ ครูประจำชั้น ครูแอดมิน ผู้อำนวยการ สถานศึกษา บันทึกรายงานผลการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติม และข้อมูลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของนักเรียน ผ่านระบบสารสนเทศ   

วันที่ 30 เม.ย.-30 พ.ค.64 สถานศึกษาดำเนินการคืนเงินเงินอุดหนุนเพิ่มเติมของนักเรียนที่ไม่มีตัวตน ย้าย ลาออก เสียชีวิต กลับมายัง กสศ. ผ่านระบบคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค รูปแบบ Bill Payment เท่านั้น โดยมีครู แอดมิน และหน่วยกำกับติดตาม รับผิดชอบติดตามผลการบันทึกข้อมูลรายงานผลการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติม และการบันทึกข้อมูลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของนักเรียน ผ่านระบบสารสนเทศ  

วันที่ 1-5 มิ.ย.64  กสศ.ดำเนินการสรุปผลการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมและรายงานผลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของนักเรียนทุนเสมอภาคไปยังหน่วยงานต้นสังกัด  

ส่วนรูปแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจาก กสศ. ให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค ทาง กสศ. จะดำเนินการโอนเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาค ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มี  2 ช่อง คือ เข้าบัญชีพร้อมเพย์ของนักเรียนทุนเสมอภาคโดยตรง หรือ เข้าบัญชีสถานศึกษา ที่เปิดรับเงินอุดหนุนจาก กสศ. สำหรับนักเรียนขอรับเงินสดผ่านสถานศึกษา หรือ นักเรียนที่แจ้งรับผ่านบัญชีพร้อมเพย์แล้ว กสศ.ดำเนินการจัดสรรไม่ได้ 

สำหรับ อัตราเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติม กสศ. จะดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติม เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อ 4 ระดับชั้น คือ ระดับชั้นอนุบาล 3, ประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 (เฉพาะ บช.ตชด.) ในอัตรา 800 บาทต่อคน โดยให้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แล้วเสร็จ ภายในวันที 14 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่

 

นี่ล่วงเข้ามาถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 แล้ว แต่ปฏิทินการดำเนินงานการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติม นักเรียนทุนเสมอภาค (กลุ่มรอยต่อ) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรสั โคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง ณ วันที่ 28 เมษายน 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพิ่งหลุดออกมา แถมให้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แล้วเสร็จภายในวันที 14 พฤษภาคม 2564

จึงเรียนมายัง คุณตรีนุช เทียนทอง และ กสศ. เพื่อโปรดทราบและโปรดได้พิจารณาว่า  สพฐ. และคุณครู , ผอ.สถานศึกษา รวมทั้งเด็ก ๆ จะไปต่ออย่างมั่นใจและยั่งยืนกันได้ยังไง...?? 

 

tulacom@gmail.com

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)