ศธ.บนนโยบาย 12+7 ข้ามทศวรรษ 'ตรีนุช' “คอนเนกชั่น” หรือ “จิตอาสา”

 

 

เสวนากับบรรณาธิการ วันที่ 31 มีนาคม 2564

ศธ.บนนโยบาย 12+7 ข้ามทศวรรษ

'ตรีนุช' “คอนเนกชั่น” หรือ “จิตอาสา” 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

 

เวียนมาถึงครบรอบ 129 ปี กระทรวงศึกษาธิการ 1 เมษายน 2564 ต้องขอแสดงความยินดีกับการก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของ ตรีนุช เทียนทอง ไม่ว่าเธอจะได้มาเพราะ “คอนเนกชั่น” หรือมาด้วยหัวใจปรารถนาอันแรงกล้า พร้อมที่จะซ่อมสร้างพัฒนาการศึกษาให้ทุกคนมีความเสมอภาคได้หลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษา ในเชิงการเรียนรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัย เพื่อช่วยผู้ต้องการเรียนทุกคนถึงพร้อมซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามระบอบประชาธิปไตยทุกประการ

หากขออาสาเข้ามา เพราะมิอาจทนกับปัญหาการศึกษาไทยที่ผ่านมา มีการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาด้วยงบประมาณจำนวนมาก จนเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก แต่คุณภาพการศึกษาของเด็กยังไม่ดีขึ้น แถมตกชั้นแทบจะโหล่สุดของอาเซียน ส่งผลภาพรวมมีปัญหาหลายประการที่ทำให้ไม่เกิดความสุขสงบในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำ ละเลย ไม่สนใจปฏิบัติตามกฎหมาย และ ไร้ธรรมาภิบาล ตกอยู่ในอำนาจนักการเมืองพากันแสวงหาอำนาจและฉกฉวยผลประโยชน์ที่เด็กผู้เรียนควรจะได้เต็มร้อย   จึงส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ

ดังนั้น มาด้วย “คอนเนกชั่น” หรือ “จิตอาสา” สามารถหยั่งรู้ได้ นับตั้งแต่เนื้อหา สาระ จากการแถลงนโยบาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ เต็มตัวแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้ใด กระทรวงใด ย่อมหมายถึงการมี อำนาจที่มาคู่กับหน้าที่ ความรับผิดชอบ อันมีนโยบายเป็นเครื่องกำกับ

ศึกษาจากคำแถลงนโยบายการจัดการศึกษาของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนใหม่ที่มีถึง 12 ข้อ ถูกต้องแล้วที่เธอบอกว่าเดินตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งมีตั้งแต่ ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ไปถึงประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย  

แม้จะเป็นเพียงแค่ภาพกว้าง ๆ เป็นเรื่องใหญ่ที่พูดแล้วดูดี ครอบคลุม แต่ในทางปฏิบัติให้เห็นผลแต่ละแผนที่กำหนดไว้ ทุกกระบวนการขับเคลื่อนของศธ.คงต้องชัดเจน ฟังแล้วเห็นวิสัยทัศน์การศึกษาแล้ว ยังมีความหวัง

คงมิใช่เป็นพียงวาทะกรรมที่บรรดานักการเมืองส่วนใหญ่ มักสร้างค่าสร้างภาพให้ดูดีช่วงแรก ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ว่าไว้ดังกล่าว กลายเป็นประเด็นที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับการเดินทางเพื่อเปิดงานต่าง ๆแล้วชิงส่งภาพขึ้นออนไลน์ มากกว่ายุทธศาสตร์ชาติ หรือติดตาม ตรวจสอบถึงการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ มีมากน้อยเพียงใด     

ก็จะเข้ากับคำถามที่ว่า แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประกาศใช้มา ถึงปีนี้เข้ามาถึงครึ่งปีในปีที่ 4 แล้ว เราได้เห็นผลงานอะไรเป็นมรรคเป็นผล ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการบ้าง

ยิ่งนโยบายการจัดการศึกษาทั้ง 12 ข้อ ที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาให้เห็น ในช่วง 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา มีใครในศธ.ไม่เคยได้ยินหรือคุ้นชินกับเนื้อหานโยบายดังกล่าว ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการศึกษาไทยบ้างไหม 

ขอยกตัวอย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เริ่มต้นคิดอ่านนโยบายใหม่ ๆ ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ อาทิ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ปี 2535-2538 ให้มีการระดมความคิด เด็กไทยใน 20 ปี ควรมีคุณลักษณะอย่างไร ที่สวนสามพราน นครปฐม น่าเสียดายว่ามาดำเนินการในช่วงสุดท้ายของตำแหน่ง ไม่ทันถึงเดือนก็พ้นจากเก้าอี้ รมว.ศธ.ไปเสียก่อน

คนต่อมา นายสุขวิช รังสิตพล เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ เมื่อ ปี 2538-2540 ประกาศนโยบายบัญญัติ 10 ประการ อาจเรียกได้ว่าเป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษาไทยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติทางภาษาอังกฤษ ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทุกโรงเรียนต้องมี เด็กไทยทุกคนต้องรู้ภาษาอังกฤษ การอาชีวะเกิดโครงการเกษตรเพื่อชีวิต และมากลายเป็น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี

นี่ล่วงเลยมาถึง 25 ปีแล้ว เห็นอะไรเพื่อการศึกษาของเด็กไทยอย่างที่ควรจะเป็นไปในทางที่คาดหวังกันบ้าง

ผ่านมาถึง นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เมื่อปี พ.ศ.2544 ได้เน้นย้ำถึง การดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ไปถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย 

ก่อนส่งต่อเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ประกาศนโยบายเด็กไทยทุกคนต้องรู้ภาษาอังกฤษ ประเทศไทยจะเป็นฮับการศึกษาแห่งเอเชีย

ไล่มาถึง นายปองพล อดิเรกสาร นายอดิศัย โพธารามิก เป็น รมว.ศธ. ก็ยึดโยงกับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21  และความสำคัญของภาษาอังกฤษ ยังคงเป็นยาขมประจำโรงเรียนมาถึงทุกวันนี้ ที่อาจมีถ้อยคำปรับไปตามบริบทในแต่ละยุคที่เปลี่ยนไป

เล่ามาพอสังเขปเพื่อให้เห็นว่า นโยบายการจัดการศึกษาทั้ง 12 ข้อ ของนางสาวตรีนุช เทียนทอง ไม่ใช่ของใหม่ที่น่าตื่นเต้นแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ...

การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย

การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล / การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา / การศึกษาเพื่อสร้างอาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  

การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย การระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน / การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย  

การส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน / การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ / การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

นโยบายที่ยกมาให้เห็นดังกล่าว ล้วนมีให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของความล้มเหลวที่ยั่งยืนมากกว่าผลสำเร็จในช่วงที่ยังมีนักการเมืองนั้น ๆ อยู่ในอำนาจเป็นสำคัญ    

ส่วนนโยบายที่เพิ่งจะหลุดเข้ามาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ น่าจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงความสำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่ออนาคตของผู้เรียนเมื่อจบการศึกษา โดยเร่งด่วนเช่นกัน

อาทิ การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลฝานแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) / การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ / การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ  

ทำคู่ควบไปกับ 7 วาระเร่งด่วน (Quick Win) ได้แก่ วาระความปลอดภัยของผู้เรียน วาระหลักสูตรฐานสมรรถนะ วาระBig Data  วาระขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) วาระพัฒนาทักษะทางอาชีพ วาระการศึกษาตลอดชีวิต และ วาระการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

ดังนั้น นโยบายใน 12 ข้อและวาระเร่งด่วน ดังกล่าว หากจะแปลงไปสู่การปฏิบัติ ติดตาม ประเมินผล เลือกเรียงลำดับประเด็นสำคัญ ทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ภายใน 120 วัน 360 วันหรือ 720 วัน น่าจะดีกว่าเป็นแค่ประโยคบอกเล่า ที่มีคนเขียนนโยบายออกมาอ่านให้ฟัง...

และคงต้องให้เวลาพิสูจน์ แต่ถ้าทำได้ดังว่า ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ ศธ.ทีเดียว  ซึ่งสำนักข่าว edunewssiam ขอเอาใจช่วยเต็มที่

EDUNEWSsiam.com  

editor@edunewssiam.com

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)