เปิดเทอม’64 วันแรกแล้ว ศธ.อย่าพูดเยอะ! ใช้ภาษา'ง่าย-สั้น-ชัด'-การ์ดอย่าตก

เสวนากับบรรณาธิการ 14 มิถุนายน 2564

 

เปิดเทอม’64 วันแรกแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

ศธ.อย่าพูดเยอะ!

แจงสังคมใช้ภาษาง่าย-สั้น-ชัด’-การ์ดอย่าตก เท่านี้พอ

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด -19 ที่ยังคุกคามชาวโลกและประเทศไทย อยู่ในขณะนี้ เป็นที่รับทราบและเข้าใจตรงกันทั่วประเทศแล้วว่า วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 โรงเรียนทุกแห่งทั่วไทย เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 อย่างเป็นทางการ  

แต่เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีทั้งเหมือนเดิมและไม่เหมือนเดิมที่เคยดำเนินกันมาในสถานการณ์ประเทศชาติบ้านเมืองปกติ  ซึ่งครั้งนี้สถานศึกษาสามารถเลือกจัดการเรียนการสอนได้หลากหลายรูปแบบ  มีทั้ง ON-SITE, ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND และ ON-HAND ขึ้นอยู่กับข้อกำหนด ศบค. บริบทแต่ละพื้นที่ และความพร้อมของแต่ละโรงเรียน ภายใต้หลักการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้ยึดความปลอดภัยของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง

หากจะสื่อความเป็นภาษาชาวบ้านชาวช่อง สื่อสารกันแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวันธรรมดา ๆ ไม่ต้องแปลความให้ยุ่งยากเข้าใจกันได้ง่าย ๆ ชัดเจนแบบไทย ๆ  ไม่ว่าในเรื่องใดที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับเด็กและผู้ปกครองยามนี้ อาจจะทำให้เกิดการรับรู้เข้าใจเข้าถึงกันได้มากกว่านี้ โดยไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาอธิบายกันจนเหนื่อยทั้งคนพูดและคนฟังก็ได้ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ติดตามประชาสัมพันธ์ ติดตามรายงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สังคมเกิดความรับรู้และวางใจ 

ยกกรณี โรงเรียนหรือสถานศึกษาในแต่ละแห่ง สามารถเลือกที่จะจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบ ที่  มีทั้ง ON-SITE, ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND และ ON-HAND เชื่อว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในบ้านเมืองนี้น่าจะมีปัญหาในการรับสาร แต่ถ้าจะใช้เป็นภาษาที่ชาวบ้านเขาคุ้นเคยก็น่าจะดีกว่านี้ หากเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องอธิบายขยายความยกตัวอย่าง  

๑ การจัดการเรียนการสอนตามปกติที่โรงเรียน  (Onsite ) ซึ่งต้องมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ

๒. การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบโทรทัศน์  (Onair) ที่เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ หรือ ทีวีดิจิทัล จานดาวเทียม

๓. การจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  (ondemand) เรียนผ่านแอปพลิเคชัน ต่าง ๆ  

๔. การจัดการเรียนการสอบแบบถ่ายทอดสด  (online) เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และ

๕.การจัดการเรียนการสอนด้วยการเรียนที่บ้านด้วยเอกสาร (onhand) จะมีการนำส่งเอกสารถึงบ้าน เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ ก็ได้  

หากจะสื่อสารกันแบบไทย ๆ โดยไม่มีศัพท์แสงทางภาษาวิชาการเข้ามาแบบห้วน ๆ ก็เท่ห์ได้เหมือนกัน มันเชยตรงไหน  

 

จากนั้นค่อยขยายความกันต่อในเรื่องต่าง ๆ แต่จบลงที่ เพื่อ “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งมั่นป้องกันโควิดในสถานศึกษา” โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ภายใต้การเรียนรู้ที่มีความปลอดภัย ต้องการให้ผู้ปกครอง นักเรียน ครู บุคลากร และสถานศึกษา มีความมั่นใจในการเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิถุนายน 2564  

ก็จะสอดรับตามที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรี ศธ. ย้ำตลอดเวลาในช่วงก่อนหน้านี้ว่า การเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 สถานศึกษาแต่ละแห่ง จะใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใด ใน 5 รูปแบบนั้นได้ตามความเหมาะสม และต้องปฏิบัติภายใต้กฎเหล็กอย่างใด แต่ต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญอย่างสูงสุด ซึ่งการเรียนการสอนจะถือเป็นการนับชั่วโมงด้วย 

หรือ สถานศึกษาสามารถจัดให้มีการผสมผสานรูปแบบการเรียนการสอนมากกว่า 1 รูปแบบ ที่ว่าไปแล้วก็ได้  

ทั้งนี้ การจะเปิดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษากันจริง ๆ  เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ต้องตัดสินใจให้เหมาะสมกับแต่ละบริบทของแต่ละพื้นที่ เพราะความเสี่ยงในการแพร่ระบาดไม่ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  หากพื้นที่ไหนสามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ ก็ไม่ควรจำกัดสิทธิ์หรือลดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก

แม้ว่าการเปิดเรียนคราวนี้ ผู้ปกครองมีความกังวล ต่อสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งเห็นว่า นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้นำทีมประชุมทางไกลถ่ายทอดสดจากห้องปฏิบัติการ DOC อาคาร สพฐ.5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการเตรียมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 และการดำเนินการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการทุกสำนักไปเป็นที่รับรู้เข้าใจตรงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

น่าอุ่นใจได้ว่า เมื่อมีการตั้งศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือเฉพาะกิจ โดยมี นายสุภัทร์ จำปาทอง ปลัด ศธ.เป็นประธาน ร่วมกันรับฟังปัญหาให้กับทุกโรงเรียน ทุกพื้นที่   ครูทั่วประเทศได้รับวัคซีนแล้ว จำนวน 28,520 คน  มีกรมอนามัย เข้าร่วมประเมินความพร้อมในโรงเรียนก่อนการเปิดเรียน  เพื่อให้สถานศึกษาปลอดภัยสูงสุดในทุกมิติ อาทิ ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค, การเรียนรู้, การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส สวัสดิภาพ และการคุ้มครอง ต้องผ่านประเมินทั้งหมด 44 ข้อใน Thai Stop COVID Plus 

 

ยึดมาตรการหลัก อยู่ห่าง สวมแมส หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ลดแออัด ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม ตามด้วย มาตรการเสริม คือ ดูแลตนเอง ใช้ช้อนส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้แอปไทยชนะ คัดกรองทุกคน กักตัวเองเมื่อไปพื้นที่เสี่ยงทุกคน และ ทุกคนควรประเมินความเสี่ยงตนเองก่อนออกจากบ้านทุกวัน 

มาตรการเฉพาะ กรณีรถรับส่งนักเรียน หอพักนักเรียน สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ และเฉพาะความพิการและ กำกับติดตามประเมินผลร่วมระหว่าง ศธ. และ สธ. สถานศึกษารายงานผลผ่านระบบ MOE (COVID-19)         

นอกจากนี้ ในส่วนที่เปิดเรียนใน วันที่ 14 มิถุนายนนี้ ยังมีสถานศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้เรียนที่สถานศึกษา แม้ ศธ.ประกาศวันดังกล่าวแล้วก็ตาม   แต่ก็ต้องเปิดเรียนตามด้วยเช่นกัน คือ 

สถานศึกษาในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี จะเปิดเรียนพร้อมกันกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ  แต่ไม่อนุญาตให้เรียนใช้สถานที่โรงเรียนทำการเรียนการสอน ซึ่งยังห้ามเด็กไปโรงเรียน แต่ยังต้องมีครูสอนวิธีอื่นกับเด็กที่บ้านได้ทางออนไลน์ หรือ ใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ให้เอกสารใบงานถึงบ้าน หรือเรียนผ่านทางโทรทัศน์หรืออุปกรณ์ที่โรงเรียนสนับสนุน หรือ เรียนผ่านแอปพลิเคชัน   

ส่วนพื้นที่กลุ่มสีแดง 17 จังหวัด และ สีส้ม 56 จังหวัด สามารถมีการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้ ทั้งออนไซต์ ออนไลน์ ออนแอร์  

สุดท้าย ยังมีข้อห่วงใยจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ว่า การปิดเรียนอาจจะไม่ได้ช่วยให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ดีขึ้น เพราะโรงเรียนไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อ และไม่เคยมีรายงานว่าเด็กเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ เนื่องจากเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ติดมาจากผู้ปกครอง และที่สำคัญเด็กเล็กจะมีภูมิคุ้มกันสูงสำหรับเชื้อชนิดใหม่ ๆ การหยุดเรียนทำให้ผลเสียจำนวนมาก หากมีวิธีการป้องกันที่ดี จะทำให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก 

ดังนั้น  การเรียนออนไลน์ ถือว่า เป็นการปิดกั้นและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เนื่องจากยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังขาดอุปกรณ์สำหรับการเรียนในรูปแบบดังกล่าว

ตามด้วยความกังวลจากประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)  ที่ฟังดูแล้ว เหมือนง่าย แต่ค่อนข้างยากในทางปฏิบัติ ที่บอกว่า ขณะนี้เด็กเรียนออนไลน์มากขึ้น อาจจะทำให้ครูไม่สามารถวัดและประเมินผลเด็กได้ โดยเฉพาะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา หากจะให้เด็กเลื่อนชั้นขึ้นไป ก็ควรให้ครูประจำชั้นเลื่อนตามนักเรียนไปด้วย เพราะครูจะเป็นผู้รู้จุดอ่อน จุดแข็งของนักเรียนในการเรียนออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมา ครูจะสามารถเติมความรู้ให้กับเด็กได้ 

และเสนอว่า การเรียนออนไลน์ โรงเรียนไม่ควรจะจำกัดเฉพาะนักเรียนของตนเองเท่านั้น ควรให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์ต่างโรงเรียนได้ด้วย เช่น โรงเรียนแข่งขันสูงควรเปิดโอกาสให้นักเรียนลงทะเบียนเรียนได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเปิดกว้างการเรียนการสอนในปัจจุบัน  

ตามด้วยเสียงเตือนการพยายามให้มีการย้ายห้องเรียนไปอยู่บ้านของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง  ควรจะเน้นสัมฤทธิ์ผลการเรียน และสมรรถนะที่เด็กน่าจะทำได้  ควรที่โรงเรียนและครูควรยืดหยุ่นเรื่องการนับเวลาเรียน หรือจำนวนวันที่เรียน เรื่องเหล่านี้ สพฐ.เอง คงจะต้องเร่งทำความเข้าใจให้ชัดเจนควบคู่กันไป 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)