ผ่าเส้นทางหลักสูตรสมรรถนะยุค'ตรีนุช' กลัดกระดุมผิด ขัด กม.ซ้ำลอยแพ น.ร.'ป.ต.อ.'?

เสวนากับบรรณาธิการ วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2564

 

ผ่าเส้นทางหลักสูตรฐานสมรรถนะ! ยุค'ตรีนุช เทียนทอง'

กลัดกระดุมผิด-สวนทางแผนปฏิรูป ปท.ด้านศึกษา 2 คณะ

หวั่นซ้ำรอยขัดกฎหมายเหตุลอยแพ น.ร.'ป.เตรียมอาชีวะ'

 

วิชเทพ ฦๅชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

           

ขณะที่ทั้ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ  ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมถึง ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนากรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรใหม่) กำลังขันแข็งเดินหน้านำร่องทดลองใช้กรอบหลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากครูและบุคลากรทางการศึกษา นัยว่าใช่งานที่ควรทำหรือไม่ และควรเลื่อนเวลาไปก่อน เพราะอยู่ในช่วงระบาดของโรคโควิด-19

กระนั้น ก็ยังมีน้ำเสียงเตือนด้วยความเป็นห่วงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ในทำนอง เมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ อย่าลืมสร้างความเข้าใจแก่ครู เพื่อพัฒนาพร้อมกับการสอนตามหลักสูตรใหม่ด้วย ก็ตีความกันเอาเองแล้วกัน

ล่าสุด น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เปิดเวทีระดมสมองออนไลน์ ให้ข้อมูลว่า มี ร.ร.สนใจสมัครเข้าร่วมทดลองใช้หลักสูตรรวมถึง 267 ร.ร.ใน 8 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขณะนี้จัดไปแล้วถึง 7 ครั้ง จากแผนที่กำหนดไว้ 12-20 ครั้ง เพื่อให้ทันการประกาศใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องนำร่อง 

แล้วนี่เหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่วันก็สิ้นเดือนตุลาคมแล้ว จะทันแบบไหนก็ไม่อยากคิดต่อ

แถมคุยด้วยว่า แต่ละครั้งมีผู้ที่สนใจร่วมมากกว่า 11,000 คน และได้จัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามและความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อโซเชียลของ ศธ. และเว็บไซต์ https://cbethailand.com ทำให้คนในวงการทำโพลต่างพากันประหลาดใจว่า ท่ามกลางข้อจำกัดในสถานการณ์แพร่ระบาดขอโรคโควิด-19 มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดจากตัวเลขดังอ้าง

อีกทั้งตั้งข้อสังเกตถึงผลข้อสรุปจากรายงาน ยังไม่เห็นประการใด

ท่ามกลางความวิตกกังวลของบรรดาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารการศึกษาทั่วประเทศ ต่างเกรงว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ที่มี ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานฯ จะขัดกับแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ปรากฎในหน้า ๓๐๕-๓๐๘ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) หรือไม่?

ดังระบุไว้ชัดเจนที่ว่า...

“เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ผู้เรียนใฝ่เรียนรู้ มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ เป็นพลเมืองตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)”

หมายถึง  ศธ.ต้องดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ประกอบด้วยเนื้อหา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กำหนดสมรรถนะไว้ 5 ด้าน มีตัวบ่งชี้กว่า 1,200 ตัวในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) โดยลดเนื้อหาเหลือ 7 กลุ่มสาระฯ ปรับสมรรถนะเป็น 6 ด้าน และปลดล็อกด้านตัวชี้วัด

ตอกย้ำ คือ ให้ ศธ.ดำเนินการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)

เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยครอบคลุมการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ

มิใช่ให้ ศธ.ไปพยายามสร้างหรือเปลี่ยนหลักสูตรกันใหม่ โดยมีคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช..... (หลักสูตรฐานสมรรณะ) อย่างที่กำลังทำกันอย่างเร่งรีบเพื่อให้เสร็จโดยเร็วในขณะนี้

ในกิจกรรม Big Rock ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุไว้แม้แต่นิดเดียวว่า ให้กระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่อย่างใด

ลองย้อนกลับไปอ่านอย่างละเอียดทุกตัวอักษร ก็ยังพบเนื้อความเกี่ยวกับกิจกรรมการปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ได้มีการกล่าวถึงให้ ศธ.ไปจัดสร้างจัดทำลักสูตรฐานสมรรถนะขึ้นมาใช้ใหม่ แต่ประการใด

แต่ข้อกำหนดไว้ชัดเจน ทั้งเป้าหมาย ตัวชี้วัด วิธีการดำเนินการและขั้นตอน ระบุให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียน โดยปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เคยเน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจ้าเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

ตลอดการพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้ปรับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผลส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ

แทนที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และ ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนากรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะรับฟังและกลับไปอ่านเอกสารเพื่อทบทวนเสียงที่มาทักท้วงนั้นๆ กลับนำ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มาเป็นผู้สนับสนุนให้ ศธ.เดินหน้าจัดทำและทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซะงั้น

ว่าไปแล้ว เท่ากับเป็นการดำเนินการสวนทางกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา (4) ที่ว่า

“ให้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่”

เรื่องนี้ น่าจะได้มีการสอบถาม ดร.วรากรณ์ และพูดคุยกันเพื่อหาความชัดเจนในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาโดยเร็ว ก่อนที่จะปล่อยให้ดำเนินการต่อไปจนกู่ไม่กลับ เพราะเท่ากับเป็นการกลัดกระดุมเสื้อผิดไปถึงเม็ดสุดท้าย แต่ก็ใส่ออกไปงานเลี้ยงกันแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ซึ่งได้นำเสนอผลการศึกษาเอกสารและข้อมูล ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศมาแล้ว จนมั่นใจว่า สามารถนำไปสู่การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ซึ่งในเอกสารข้อมูลการปฏิรูปการศึกษาของ กอปศ.ได้เสนอแนะการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ส่งเสริมฐานสมรรถนะ ที่สามารถเลือกไปใช้ดำเนินการได้ถึง 6 แนวทาง ซึ่งผ่านคณะวิจัยมาแล้ว สามารถบูรณาการใช้กับแนวทางใดหรือผสมผสานนำเข้าไปปรับเสริมหลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน หรือให้เปลี่ยนไปเป็นอิงสมรรถนะก็ได้ โดยใช้เวลาน้อย เนื่องจากมีตัวอย่าง คู่มือ ตลอดจนรายละเอียดทุกชั้นทุกระดับ ข้อเสนอแนะให้เลือกวิธีการได้หลากหลายวิธีตามสภาพของแต่ละพื้นที่ คือ   

หนึ่ง ใช้หลักสูตรเดิมเสริมสมรรถนะ

สอง ใช้หลักสูตรเดิมต่อเติมสมรรถนะ

สาม ใช้รูปแบบการเรียนรู้สู่การพัฒนาสมรรถนะ

สี่ ใช้สมรรถนะเป็นฐานผสานตัวชี้วัด

ห้า ใช้บูรณาการผสานหลายสมรรถนะ และ

หก ใช้สมรรถนะชีวิตในกิจวัตรประจำวัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กอปศ. ชุด ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ยังมีข้อเสนอแนะสำคัญมากๆ ประการหนึ่ง ที่ระบุว่าหากจะมีการจัดทำหลักสูตร ตลอดวิธีการวัดการประเมินผลฐานสมรรถนะ ให้ศธ.ต้องประสาน เชิญผู้แทนจาก กับ สทศ., กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ สมศ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อื่น ๆ เข้าร่วม เพื่อจะได้เป็นไปอย่างสอดคล้องต่อกัน ทั้งการเรียนการสอนตามหลักสูตรและการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในแต่ละระดับจะได้ไม่เป็นปัญหาต่อกัน

ดังนั้น จะไม่ให้สังคมวิตกและแปลกใจได้อย่างไรว่า ทำไมคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรณะ) ชุด ดร.สิริกรณ์ มณีรินทร์ จึงไม่หยิบยกนำเสนอให้เวทีรับฟังความเห็นได้เห็นเป็นทางเลือกสักข้อ ทั้งๆ ที่มีความสมบูรณ์ และเป็นแนวทางดำเนินการตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้จัดทำไว้แล้ว

ทั้งนี้ กอปศ.มีการศึกษาด้วยว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้ครูทำงานได้ดี คือการได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร และกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ แล้วยังพบด้วยว่า ครูที่สามารถพัฒนาสมรรถนะได้ดี จะช่วยให้ครูจัดการเรียนรู้เชิงรุกและเชิงลึกได้มากขึ้น หากได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม 

จึงยิ่งนำมาซึ่งความประหลาดใจว่า ทำไมคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรณะ) ชุด ดร.สิริกรณ์ มณีรินทร์ ยังมีความพยายามที่จะทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ตามแนวทางความคิดของตนเองขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์ใด

ทั้ง ๆ ที่มีรูปแบบการเรียนรู้จาก กอปศ. และรูปแบบที่พัฒนาการสอนของครูจาก Passive Learning มาเป็นแบบ Active Learning โดยใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน จนผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้แล้วอย่างที่เห็นและรับรู้กันในทุกวันนี้ ล้วนนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา และการใช้หลักสูตรอิงมาตรฐาน รวมทั้งนำไปสู่มาตรฐานสากลได้เช่นกัน

ดังนั้น ขอย้ำว่าการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรณะ) ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และมีความหมายยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของประเทศในยุคศตวรรษที่ ๒๑ 

จึงปฏิเสธไม่ได้ถึงความวิตกว่า ขนาดข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาทั้ง 2 ชุด คือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชุดปัจจุบัน และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่ล้วนนำไปสู่การประกาศเป็นแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และได้มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา แต่ยังถูกละเลยไม่นำมาสู่การปฏิบัติ จะด้วยเหตุผลหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการตีความอย่างไรก็ตามที

แล้วสังคมจะมั่นใจได้อย่างไรกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรณะ) ชุด ดร.สิริกรณ์ มณีรินทร์ จะไม่กลัดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิด

กรณีตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก คนการศึกษาคงยังจำกันได้ถึง หลักสูตร ป.ต.อ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรเตรียมอาชีวศึกษา) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสถานศึกษาสังกัด สพฐ. นำร่องใน 10 โรงเรียน รับนักเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เข้าไปเรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษา หลักสูตร ๓ ปี ตามเขตพื้นที่การศึกษาอาชีวศึกษา 5 ภาค ภาคละ 2 โรงเรียน รับเข้าเรียนไปแล้ว 3 รุ่น 

แต่สุดท้ายต้องล้มเลิกไป เด็กเกือบ 200 คน ถูกลอยแพ เพราะหลักสูตรขัดแย้งกับ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ที่บัญญัติให้เปิดสอนระดับ ปวช., ปวส. และปริญญาตรี แต่ไม่มีบัญญัติให้เปิดสอนระดับเตรียมอาชีวศึกษา จนผู้ปกครองขู่จะฟ้องร้อง สอศ. ฐานหลอกลวงประชาชน กระทั่ง สอศ.ต้องมาเร่งรีบแก้ปัญหาให้เป็นรายบุคคล โดยประสานโรงเรียนการศึกษาขึ้นพื้นฐานให้รับเด็กกลับไปเรียนเพิ่มเติมให้จบหลักสูตรชั้น ม.3 

นี่ก็เท่ากับ เปรียบเหมือนกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก แต่ก็ยังดื้อรั้นดันทุรังที่จะกลัดกระดุมเม็ดต่อ ๆไป แบบไม่สำนึกและตระหนักถึงผลเสียหายจากความผิดพลาด เนื่องจากไม่มีบทลงโทษใดๆ กรรมหนักอย่างแสนสาหัสจึงไปตกอยู่กับเด็กและผู้ปกครองตามเคย

เมื่อนำความล้มเหลวของหลักสูตร ป.ต.อ. มาเทียบเคียงกับการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรณะ) ในยุคของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เหมือนคนละปัญหา แต่ผู้มีอำนาจระดับรัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลการศึกษาของชาติ ควรให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังเช่นในหลายๆ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านๆ มา 

ทำให้นึกถึงข้อเสนอของ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (ส.ว.) ที่เคยเสนอต่อรัฐสภา ว่า "การศึกษาไม่ควรไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ควรจะมีคณะกรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการศึกษาต่อไปจะต้องอยู่ที่กระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพียงแต่ ศธ.ยังต้องเป็นกำลังหลัก"

โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการทุกวันนี้ ว่าไปแล้ว แม้จะตั้งใจทำดีแค่ไหนก็ตาม แต่บริบทแห่งพฤติกรรมและความคิด ดูเหมือนจะแคบลงๆ 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)