เสวนากับบรรณาธิการ เกณฑ์ PA ศธ.สุ่มเสี่ยงล้มเหลว ยังไม่ สายเกินทบทวนยุทธศาสตร์ประเมิน

 เกณฑ์ PA ศธ.สุ่มเสี่ยงล้มเหลว ยังไม่

สายเกินทบทวนยุทธศาสตร์ประเมิน 

 

...เด็กก็เหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม ครูก็ได้วิทยฐานะตามต้องการ กรรมการผู้ประเมินยืดอกลอยตัวเหนือปัญหา ก.ค.ศ.ได้ผลงาน เสนาบดีหญิงคนแรก ศธ. ก็มีทางเลือกที่จะได้รับเช่นกัน คือ การกล่าวเล่าขานถึงเป็นตำนานไปอีกเนิ่นนานเช่นกัน...  

 

 

กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และ รองผอ.สพท.ทั่วประเทศ ยืนยันว่า จะเดินหน้าตามแนวทางที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) กำหนดไว้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม นี้ เป็นต้นไป ให้ทุกสถานศึกษายึด หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ใหม่) หรือ เกณฑ์ PA โดยสามารถเข้าใช้งานระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล หรือ DPA ได้  

 

 

ท่ามกลางสภาพปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่ยังไม่สะเด็ดน้ำดี ชึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ออกมายืนยันด้วยตนเอง น่าจะเป็นการคลายทุกข์ให้แก่บรรดาคุณครู ที่เจ้ากระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจและเปิดใจรับฟังข้อร้องเรียนจากครู ถึงเกณฑ์ประเมินที่ว่า เป็นการสร้างความยุ่งยาก มีกระบวนการอันเป็นภาระงานทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาต้องแบกรับ 

แค่เจ้ากระทรวงบอกสั้น ๆ พอสังเขป ว่า ได้หารือกับกคศ. เพื่อดูว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่หรือจะมีช่องทางใดที่จะยืดหยุ่นต้องไม่สร้างภาระงานแก่ครู รวมถึงให้เลขาธิการ ก.ค.ศ.ชี้แจงทำความเข้าใจครูเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ที่ผ่านมาอาจยังมีการชี้แจงไม่ชัดเจน ก็ขอให้ทำให้ชัดเจน

แต่เมื่อดูจากการยืนยันในทำนองตอกย้ำกลางวงประชุมสัมมนาผู้อำนวยการฯ ทั่วประเทศ ถึงการที่จะเดินหน้าการเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของ ก.ค.ศ.ต่อไป เท่ากับเป็นคำตอบ ทุกอย่างคงต้องเป็นไปเช่นนั้น ไม่มีข้อเสนอใด ๆ ในเชิงทฤษฎีหรือปฏิบัติ เป็นการปิดประตูไม่รับฟังเสียงจากคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยสิ้นเชิง

ทั้ง ๆ ที่ ควรรับฟังปัญหาจากของครูผู้ปฏิบัติ รวมถึงเสียงจากผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้รอบด้านเสียก่อน และน่าจะต้องถือเป็นความบกพร่องของก.ค.ศ.ที่ควรทบทวนงานของตนเอง แม้จะยกแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาอรรถาธิบายหลายครั้งหลายคราที่มั่นใจว่าชัดเจนก็ตามแล้วก็ตาม

แต่ก็ต้องมีการประเมินตนเองย้อนกลับด้วยเช่นกันว่า ทำไมสังคมครูก็ยังไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง จะไม่มีปัญหาอื่นจะผุดขึ้นมา และนำไปสู่เรื่องอื่น ๆ อีก

เมื่อย้อนไปดูถึงหลักการและเหตุผล พบว่าตลอดช่วงเวลาที่ PA ล่าสุดได้มีประกาศออกมา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ดี

เพียงแต่กระบวนการที่จะทำให้ไปสู่เป้าหมายตามเกณฑ์ที่มีดิจิทัลเข้ามา ยังมีปัญหาทั้งอย่างหนาและอย่างบางครอบคลุมอยู่ ไม่ว่ากรรมการผู้ทำหน้าที่ประเมินและผู้เตรียมตัวเข้าสู่การประเมิน

จึงทำให้กลายเป็นเรื่องที่น่าจะสร้างความผิดหวังมิใช่น้อย ให้กับบรรดาคุณครูที่กำลังรอคำตอบ กลายเป็นว่าสารที่นางสาวตรีนุช เจ้ากระทรวงส่งกลับมาถึง คือ กระทรวงศึกษาจะดำเนินการต่อไปตามแนวทางที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

 

 

และตามมาด้วยการเพิ่มทีมงาน “PA Support Team” ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และเพื่อนครูบางส่วน จำนวนเขตพื้นที่ฯละ 8–15 คน รวมประมาณ 2,500 คน ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ครูอย่างต่อเนื่องนั้น

ก็ยังนึกไม่ออกว่า จะกลายเป็นการสร้างภาระใหม่ให้กับศธ.ทางงบประมาณ ประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยง ที่พัก ยานพาหนะ ในการเดินทางของทีมงาน และ ดึงเพื่อนครูต้องทิ้งห้องเรียนหรือไม่ ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์จำนวนหนึ่งต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะประเมินต้องทิ้งสถานศึกษา

ดีไม่ดีอาจจะถูกมองไปว่า เป็นการปูเส้นทางการทำมาหากินให้กับบางกลุ่มบางพวกที่มีวิชา ได้สบช่องเข้าไปดำเนินการเชิงธุรกิจแบบเนียน ๆกันบ้าง

ดังนั้น การระบุให้ ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์เข้าร่วมทีมจึงไม่น่าจะแปลกเท่าใด อยู่ในคำจำกัดความที่เข้าใจได้ว่า เป็นหน้าที่ต้องให้การสนับสนุนส่งเสริมอยู่แล้ว  

 

 

แต่เมื่อเอาคำว่า "เพื่อนครูบางส่วน" เข้ามานี่สิ อดคิดไปไกลไม่ได้ว่า มีคุณสมบัติ มีเกณฑ์คัดสรรที่โปร่งใสเข้ามาอย่างไร รึว่า ขั้นต่ำต้องได้ ค.ศ.3 หรือ ค.ศ.4 เคยมีผลงาน ประสบการณ์การประเมินใครมาบ้างหรือไม่ ลงสนามเจอหน้างานเป็นการเผชิญหน้าจริง ๆ แนะนำสอนได้ ปฏิบัติได้หรือไม่ คงต้องมีฟอร์มชัดเจน

กคศ..ต้องมีข้อมูลและคุณสมบัติของกำลังพลที่บอกว่าเป็นเพื่อนครู ที่จะลงไปแนะนำหรือเป็นผู้ประเมินนั้น มีความเชี่ยวชาญ มีมาตรฐาน มีดีกรีระดับ ค.ศ.3,,คศ 4 สาขาไหนบ้าง จำนวนกี่คน ยกตัวอย่าง ภาษาไทย ลูกเสือ-เนตรนารี  การงานอาชีพ เป็นต้น

ดีไม่ดี หลายเดือนต่อไปนี้ ครู คศ 3. ไม่ต้องอยู่ ร.ร.แล้ว ทิ้งห้องเรียนต้องไปประเมินเพื่อน ต้องไปช่วยเพื่อน ส่วนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้เรียนมีเพื่อนครูเข้าไปแบกภาระต่อ  เริ่มเข้าสู่เดือนแห่งความโกลาหล

ที่รับรูู้ ในยุคที่ผ่านมา กคศ. เขาใช้วิธิการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการประเมิน ผู้ใดมีความเชี่ยวชาญด้านใด ผลงานเป็นอย่างไร มีประวัติและตลอดเกณท์ที่มาที่ไปชัดเจนอยู่ในดาต้า ขึ้นบัญชีไว้  ซึ่งน่าจะมีไว้ในฐานข้อมูลมากกว่า 400 คน ไม่ตีขลุมคลุมเครือให้คนสงสัยในสมรรถภาพว่าถึงไหม

ก.ค.ศ.เคยบอกเขาไหม เคยถามเขาบ้างไหมว่า จะลงมาทำงานร่วมกันได้หรือไม่กับแนวที่กคศวางไว้ ต่อยอดพัฒนาจากฐานองค์ความรู้ละประสบการณ์เดิมเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย

น่าจะเห็นผลและมั่นใจกว่า รวดเร็วกว่าไหม

แต่เวลานี้  ออกมาบอกแบบเลื่อนลอยว่า มีการสร้างทีมงาน เอาเพื่อนครูบางส่วนเข้ามานั่นดีแน่ แต่พอมีคำถามว่า เป็นเพื่อนครูประเภทมือใหม่หัดขับ เคยอยู่หน้างาน มีประวัติ ประสบการณ์ ผลงานน่าเชื่อถืออย่างไร ไหนลองทำตัวอย่างตามที่ กคศ.วางไว้ให้ดูที อาจจะกลายเป็น "สุขาอยู่หนไหน" ก็ได้

เนื่องจาก ระบบเกณฑ์ PA เป็นการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล กรรมการรุ่นใหม่เก่งทางเทคโนโลยี มองในมุมคุณครู ก็ต้องเข้าใจท่านด้วย อย่างที่ น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ. บอกว่า มีช่องทางใดที่จะยืดหยุ่นโดยต้องไม่สร้างภาระงานแก่ ครู กคศ.ก็ควรนำไปทบทวน ทำไมไม่ทำ กลับดันจะไปต่อ

มิใช่ปล่อยให้ ผู้ที่อยู่ในภาคปฏิบัติอย่างที่ครูและบุคลากกรทางการศึกษาจำนวนมิใช่น้อยทั่วราชอาณาจักรไทย ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง  ว่ายน้ำก็ไม่ค่อยเป็นแต่ถูกผลักให้ไปลอยคออยู่กลางทะเล บ้างก็ยืนงงอยู่กลางดง PA มาตลอด ตั้งแต่เลขาธิการกคศ.ประวิตร เริ่มมีประกาศใช้ ทั้ง ๆ เป็นเรื่องดี เจตนาดี ที่คิดอ่านจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องขอชม

แต่การที่เอาแนวคิดแบบผู้บริหารมหาวิทยาลัย มาบังคับให้ครูทั้งประเทศทำแบบเดียวกันในฐานะผู้มีอำนาจสั่งการใหญ่แต่เพียงผู้เดียวนั้น มันใช่หรือไม่ เคยใส่ใจหรือสนใจที่จะเข้าไปอ่านแผนและยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี ของรัฐบาลที่วางไว้หรือไม่

รัฐบาลย้ำแทบทุกที่ทุกเวลา ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก บริหารอย่างไรกับระบบราชการ ในยุค 4.0 ยุคดิจิตัล ที่ต้องนำนวัตกรรม ที่มีเทคโนโลยีสามารถเก็บ-ส่ง ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งมีระบบการท่างานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า

หากยังไม่เข้าไปศึกษาก็ควรทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งสักนิดกับการที่โควิด 19 มาเยือน เป็นตัวเร่งให้เกิดวิถีใหม่ การศึกษาต้องเปลี่ยน วิธีการทำงานราชการต้องเปลี่ยนตาม

 

 

 

สั้น ๆ ประหยัด ลดกำลังคน ใชัเทคโนโลยี นี่คือ นิยามรัฐ 

ภาคเอกชนไปไกลแล้ว แต่ผู้บริหารองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ ภาคราชการโดยกำเนิดยังคงจมอยู่กับวิถีเก่าความคิดเก่า วิธีการเก่า ๆ  และไม่รู้จักหรือพยายามจะเข้าใจถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ

แม้กระทั่งการออกเกณฑ์ให้ครูผู้เข้ารับการประเมินใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาไม่เพียงบรรดาคุณครูต้องจัดหาอุปกรณ์ในการใชับันทึกภาพต่อเนื่องโดยไม่มีการหยุดหรือตัดต่อเป็นคลิปวิดีโอ 1 คาบเรียนใน 1 คลิปการสอน

แล้วจะไหวหรือ

แค่ฟังดูก็ลำบากแล้ว ไม่เพียงสร้างภาระเท่านั้น ยังทำให้ครูแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แถมยังสุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายทำ รวมไปถึงบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ไม่อาจสะท้อนภาพแห่งความเป็นจริง อีกทั้งปัญหาการถ่ายทำที่ต้องให้ครูตรงตามข้อกำหนดใน 8 ข้อ ในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากวัดผลสัมฤทธิ์ใน 1 ชั่วโมงทำได้ยาก ในการสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่

สุดท้าย การนัดหมายเด็กให้มาบันทึกภาพในการจัดการเรียนการสอนซ้ำ ๆ เพื่อให้การบันทึกคลิปวีดีโอออกมาดีที่สุด เป็นเรื่องที่ตลกร้ายในวงการศึกษา เสมือนการเล่นละครใน 1 ฉากซ้ำ ๆ ถ้าบทดีซ้อมบ่อยๆแอคติ้งเก่งก็ผ่าน เป็นปัญหาภาระของครูและเด็กที่ต้องเล่นละครฉากนี้ให้สำเร็จเพื่อให้ครูประเมินผ่าน คิดกันเพียงแค่นี้ก็ได้หรือ

 

เสร็จสิ้นภาระกิจแล้ว....เด็กก็เหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม ครูก็ได้วิทยะฐานะตามต้องการ กรรมการผู้ประเมินลอยตัวเหนือปัญหา กคศ.ได้ผลงาน เสนาบดี ศธ. ก็มีทางเลือกที่จะได้รับเช่นกัน คือ การกล่าวถูกเล่าขานถึงกล่าวถึงเป็นตำนานทุกครั้งไปอีกเนิ่นนานเช่นกัน...

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)