๑ พ.ย.เปิดเทอม ๒ ตามหาความพร้อมจาก รมว.ตรีนุช รับผิดชอบอุดช่องโหว่ไหวมั๊ย?

เสวนากับบรรณาธิการ วันที่ 25 ตุลาคม 2564

๑ พ.ย.ศธ.เปิดภาคเรียนที่ ๒/๒๕๖๔

ตามหาความพร้อมจาก'รมว.ตรีนุช'

รับผิดชอบไหวมั๊ย?รูรั่ว Onsiteเสี่ยงโควิด-Onlineเสี่ยงล้มเหลว

 วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

จับประเด็นไปที่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลประกาศเดินหน้าเปิดประเทศ รับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ขอให้คนไทยทุกคนและทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล Universal Prevention และ COVID-Free Setting อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ

 

ขณะเดียวกัน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แตะคันเร่งส่งสัญญาณไฟเขียวอย่างเป็นทางการ ให้เปิดโรงเรียนภาคเรียนที่ 2 เน้นแบบ on-site พร้อมกันทั้งประเทศ ในวันที่ 1 พ.ย.2564 ภายใต้นโยบายใช้มาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม โดยเน้นความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ

โดยเฉพาะการเตรียมการในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนของบรรดาสถานศึกษา ต้องมีการประเมินตนเอง มีแบบเช็คลิสต์ ตามระบบ Sandbox Safety zone in School ประมาณ 20 ถึง 30 ข้อ

ตามด้วยเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขใหม่ คือ นักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 5 ล้านคน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เกินร้อยละ 80 และการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กลุ่มครูและบุคลากรต้องร้อยละ 100 จึงจะเปิดโรงเรียนได้

แต่รายงานตัวเลขล่าสุด ณ เวลานี้ปรากฏว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียนยังได้แค่ประมาณ 1,325,527 คน จากเกือบ 5 ล้านคน แต่กระนั้น น.ส.ตรีนุช ยังยืนยันว่านักเรียนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ เพราะมีมาตรการสาธารณสุขในโรงเรียนเข้มงวดอยู่แล้ว

ส่วนครูและบุคลากร บอกกล่าวกันว่า ฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบร้อยละ 90% แต่เมื่อดูรายละเอียดเชิงลึกก็พบว่า มีหลายโรงเรียนที่ครูและบุคลากรฉีดยังไม่ถึงร้อยละ 30 (ไม่ฮา)

เมื่อจับไปที่ ณ วันนี้ ภาพรวมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทรงตัวอยู่ระดับเกือบหมื่นคน และพบการระบาดแบบกลุ่มก้อนใหม่ๆ ทั่วทุกพื้นที่ ไม่ว่าพื้นที่ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่ สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่ยังส่ออาการหนักน่าเป็นห่วงมิใช่น้อย

บางโรงเรียนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์เปิดโรงเรียนได้ เพราะนักเรียนมีภูมิลำเนาในจังหวัดที่มีพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อรายวันสูง จึงต้องดูกันว่า วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะเปิดเรียนแบบ Onsite ได้กี่แห่ง ขณะที่เด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หากมาเรียนได้จะมีมาตรการอย่างไร ส่วนที่ยังไม่ได้เปิด Onsite  แม้จะเปิดเรียนรูปแบบอื่น แต่ก็จะหนีไม่พ้นความทุกข์แบบเดิม ๆ

แปลกใจว่า ในช่วงเวลาปิดเทอมแรกประมาณ 30 วันที่ผ่านมา ยังไม่เห็นความพยายามของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และคณะข้าราชการผู้บริหารใน ศธ. คิดหาทางออกในการคิดแก้ปัญหาหรือคิดอ่านดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม อันมีผลมาจากการสำรวจหรือประมวลบรรดาข้อเรียกร้อง รวมถึงข้อเสนอแนะอันเป็นสภาพปัจจุบันและปัญหาที่สะท้อนผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างชัดเจน

ทั้ง ๆ ที่ ศธ.เองก็รู้ว่า ความทุกข์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน on site หรือ on line ล้วนเป็นที่ประจักษ์แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหากับการเรียน Online หรือแทบไม่ได้เรียนเลย กระทบไปถึงผู้ปกครองก็มีความทุกข์ คุณครูก็ยังแบกความทุกข์กับการสอน

หรือว่าอาจคิดเหมารวมเอากันเองว่า การที่ ครม.คืนเงินกู้ 21,600 ล้านบาท ให้ ศธ.นำไปแจกเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ อาทิ ค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า ลดภาระด้านการศึกษายุคโควิด-19 ให้กับนักเรียนคนละ 2,000 บาท จำนวนกว่า 10.8 ล้านคน ซึ่งจ่ายเงินตรงให้ผู้ปกครอง นั่นคือผลงานสุดยอดแห่งปีการศึกษา 2564 แล้ว

แล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2564 ก็ยังได้อนุมัติตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ขอให้จัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับสถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อใช้จัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจัดทําสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้หลากหลายที่เหมาะสมกับวัย ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์

มีปรากฏอยู่ในมาตรการที่ 3 เพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนอนุบาล-ป.3 รวมทั้ง น.ส.ตรีนุช ตรีทอง รมว.ศธ. บอกว่า จะจัดเช่าอุปกรณ์ (Devices) พร้อมสัญญาณ จํานวน 200,000 ชุด สําหรับให้นักเรียน/นักศึกษากลุ่ม ป.4-ม.6 และอาชีวศึกษาใช้ยืมเรียน รองรับการเรียนแบบออนไลน์

นี่ยังไม่รวมถึงตัวอย่างสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นชัดเจนใน 2 ภาคเรียนที่ผ่านมา ทั้งเทอม 2/2563 และเทอม 1/2564 และยังรอคอยการแก้ไขจาก ศธ.และ สพฐ. ในกรณีความเหลื่อมล้ำมากมาย โดยเฉพาะการเรียนในรูปแบบ online ที่มีเด็กๆ จำนวนไม่น้อย ไม่มีพี่เลี้ยง อยู่แต่กับปู่ ย่า ตา ยาย  

ทั้ง ๆ ที่ อีกไม่กี่วันจะถึง 1 พ.ย. 64 เปิดภาคเรียนที่ 2/2564 แล้ว ทำไมมาตรการช่วยเหลือนักเรียนของ ศธ.และ สพฐ. เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มขาดแคลนดังกล่าว จึงเงียบผิดปกติ ไม่ปรากฏข่าวคราวว่า ศธ.และ สพฐ.ได้ส่งเสริม สนับสนุนทรัพยากรใดลงไปยังสถานศึกษาเพื่อแก้ปัญหา อุดรูรั่ว ช่องโหว่ในอดีตแล้วบ้าง มีที่ได้ยินได้อ่านก็แต่ข่าวแนวนโยบายการเปิดภาคเรียนกว้างๆ

หรือว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ใน ศธ.และ สพฐ.อาจจะหลงลืมปัญหาอุปสรรคที่มีมากมาย โดยเฉพาะในกรณีความเหลื่อมล้ำในอดีตกันไปแล้ว หรือแสร้งว่าลืม แบบไม่มีใครทักก็ดีไป ใช่หรือไม่ ??

หรือแม้ว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. จะมีความชัดเจนของกรอบการเปิดเรียนเทอม 2 โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยอันดับหนึ่ง ตามด้วยจำนวนครู-นักเรียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแต่ละพื้นที่ฉีดไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ และ ร.ร.ต้องปฏิบัติตามหลักการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และขึ้นอยู่กับคณะกรรมการระดับจังหวัดในการพิจารณาอนุญาตการเปิดสอนในรูปแบบใดด้วยก็ตาม

แต่ทว่าการกำหนดแนวทางเป็นเพียงกรอบกว้าง ๆ ตามนโยบายของ ศธ.และ สพฐ.ก็ยังมีข้อกำหนดที่สร้างความวุ่นวายให้กับสถานศึกษาที่จะเปิดการเรียนการสอนแบบ Onsite ตามมาอีกจนได้   

ไม่เพียง ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องประเมินตนเองผ่านในระบบ Thai Stop Covid Plus ทั้ง ๔๔ ข้อ และก่อนเปิด ร.ร.ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาทุกคน จะต้องผ่านการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ในเชิงนโยบาย แต่ในเชิงปฏิบัติมิอาจวางใจได้

แม้กระทั่งชุดตรวจ ATK จนถึงขณะนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริหาร ร.ร.หลายแห่ง ยังไม่มีความชัดเจนจาก สพฐ.ว่า จะจัดสรรงบประมาณลงไปให้โรงเรียนจัดซื้อชุดตรวจ ATK หรือไม่ รวมถึงกรณีมีเสียงบ่นว่า แม้ร.ร.บางแห่งจะมีเงินงบฯปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอจะจัดซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจโควิด-19 ให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาทุกคนได้ แต่เมื่อสอบถามไปยัง สพท. กลับไม่ได้รับคำตอบยืนยันว่า สามารถใช้งบฯนี้เพื่อการณ์นี้ได้หรือไม่

นอกจากนี้ มีปัญหาอีกว่า แม้โรงเรียนจะมีงบฯมาจัดซื้อชุดตรวจ ATK ก็ตาม แต่ก็ยังประสบอุปสรรคเรื่องคนใช้ชุดตรวจ ATK โดยครูในโรงเรียนหลายแห่งปฏิเสธทำหน้าที่ใช้ชุดตรวจ เพราะไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้ หากพลั้งพลาดไป ใครรับผิดชอบ และเมื่อประสานงานไปยังโรงพยาบาลชุมชน ก็ได้รับคำตอบเชิงปฏิเสธที่จะเข้ามาดำเนินการให้

โดยบอกว่า ไม่มีชุด PPE ป้องกันเชื้อไวรัส และยุ่งยากหากต้องไปจัดทำเรื่องเบิกในจังหวัด  

หากว่า หน่วยงานส่วนกลางทั้งระดับ ศธ.และ สพฐ.คงต้องใช้ปัญญา ความสามารถช่วยประสานงานความร่วมมือระดับกระทรวง ศธ.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้จัดสรรบุคลากรมาช่วยตรวจ ATK ให้กับนักเรียน ซึ่งมีครูและบุคลากรในสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งเป็นด่านหน้าทางการศึกษา คือโรงเรียน อย่างจริงจัง จะทำให้ ร.ร.ต่าง ๆ สามารถเปิดการเรียนการสอนแบบ Onsite ให้กับนักเรียนตามบริบทของสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ได้

น่าจะดีกว่า ที่ ศธ.ส่วนกลาง จะใช้เวลาไปกับการรวบรวมข้อมูลเพื่อออกข่าวแค่ว่า “วันนี้ครู วันนี้นักเรียน ฉีดวัคซีนกันไปแล้วกี่คน” 

นั่นคือสิ่งที่ ศธ.คิด...แต่ในความเป็นจริง นักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่วนใหญ่จะเห็นหรือไม่เห็นด้วยกับ ศธ.นั้น ไม่ใช่ข้อถกเถียง

ที่สำคัญคือ ศธ.พร้อมที่จะเปิดโรงเรียนทั่วประเทศในภาคเรียนที่ 2/2564 แล้วจริงหรือ? และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. พร้อมแล้วหรือ? ที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อช่องว่างช่องโหว่ดังกล่าว ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งอาจเกิดจากคลัสเตอร์สถานศึกษา? 

ขอปิดท้ายด้วยเสียงสะท้อนของผู้ปกครองนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา ที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องรับฟัง!

เกษร ดวงแก้ว

ผมในฐานะผู้ปกครองบอกตรง ๆ ถึงจะเปิดเรียนแบบ on site ได้ แต่ผมก็ยังไม่ให้ลูกผมไปเรียนที่โรงเรียน จะขอเรียนบ้านแบบ on line แบบที่ผ่านมาไปก่อน เพราะผมต้องรับผิดชอบชีวิตของลูกผมที่ผ่านมาเทอม 1 เราก็เรียน on line ได้ดี แบบไม่มีปัญหา เพราะชีวิตและอนาคตเขาต้องไปอีกยาวไกล

Junjira Sukkhee ผมก็เข้าใจครูดีครับ เพราะครอบครัวผมก็เป็นครู ผมก็เป็นครู แต่ทุกคนต่างก็อยากมีชีวิตที่ยาวนานเท่าที่จะทำได้ครับ ผมเข้าใจความรู้สึกครูดีครับว่า ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่ได้ครับ

Petch Pompetch

เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนวันที่ 1 พ.ย. หาก ศธ.ตั้งเป้ากำหนดอย่างนี้ ศธ.ต้องทำทุกวิถีทางให้ น.ร.12 -18 ปี ทุกคนที่ลงทะเบียนประสงค์ไว้ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว แต่ ณ วันนี้ ไม่เป็นเช่นนั้น

Pook Pook

จะเปิดได้เหรอ เด็กยังฉีดวัคซีนไม่ครบเลย เกิดอะไรขึ้น รับผิดชอบไหวมั๊ย

Sulothonx Slt

อ่ะ เด็กโตฉีดวัคซีนยังไม่ครบโดส เด็กเล็กยังไม่ได้ฉีดสักคน แต่อยากให้เปิดโรงเรียนพร้อมกันหมด ขอบใจนะ มาตรการที่ให้มา งบประมาณเคยลงมาไหมละ สร้างศูนย์กักตัวอะไรใน ร.ร.อ่ะ ตลกละ ลงทะเบียนไฟเซอร์ไปแล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดการฉีด เด็ก ๆ จะไปเรียนได้ยังงัย ไม่ใช่ไม่ฉีด แต่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด

Kenika Simuang

ผู้ปกครองบางคนก็ไม่พร้อมนะคะ ไปหามาจากไหนที่บอกว่าผู้ปกครองพร้อม เด็กเล็ก ๆ ติดขึ้นมาแล้วตาย จะทำยังไงล่ะคะ เด็กที่ได้รับวัคซีนแล้วก็สามารถติดได้นะคะ ก่อนจะเปิดก็ควรถามผู้ปกครองบ้างนะคะว่า พร้อมให้ลูกหลานของเขาไป ร.ร.หรือป่าว

Montra Payayom สอบถามครูค่ะ มาตรการโควิดเข้มไหมค่ะ หรือทำแค่สัปดาห์แรก ทำแค่ช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน ระหว่างเรียน นักเรียนถอดแมสทิ้ง ไม่ใส่แมส ครูมีมาตรการยังไงค่ะ ถามในนามผู้ปกครองค่ะ ที่ผ่านมาเคยไปดูการเรียนการสอนมาทั้งวันแล้ว หาคนใส่แมสน้อยมากค่ะ

Noi Nah

หาชุดตรวจ ATK มาให้เพียงพอต่อโรงเรียนก่อน มาตรการกับหลักปฏิบัติให้มันไปทิศทางเดียวกันก่อน อย่างน้อย ตรวจ ATK ก็สบายใจไปได้บ้าง นี่ขนาด ATK ยังหาไม่ได้เลย

Thunya Thunyarat

อะไรคือ เน้นความปลอดภัย มาวันแรกตรวจ ATK เลย แล้วถ้าติดก่อนหน้านี้มา ก็ติดแพร่เชื้อกันได้แล้ว  ทำไมชอบความเสี่ยง คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ เอะอะอะไรก็บอกรับผิดชอบตัวเอง ใช่ค่ะรับผิดชอบตัวเองติดเอง แต่คนคิดไม่ได้มาติดด้วย

ลุงหัวหงอก กับ ถั่วงอกคู่ใจ

สิ่งที่อยากได้ยินมากที่สุดคือ เมื่อเด็กติดโควิด หรือเด็กพาเชื้อมาติดคนในครอบครัว การรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่าย Priority จะเป็นยังไง อย่าให้ได้ยินว่า สามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ สำรองจ่าย เบิกเต็ม อยากได้สิ่งที่ทำได้จริง ไม่ใช่แค่คำพูด เราเห็นมาเยอะแล้ว

นันธิญา ตรีสุวรรณ์

เด็กไม่ใส่แมสทั้งวันนะคะ เด็กอนุบาล ป.1, ป.2, ป.3 ใส่ได้แปบเดียวก็ถอดทิ้งแล้วค่ะ อากาศร้อน พัดลมในห้องเรียนไม่ทั่วถึง เหงื่อออกก็ถอดทิ้งค่ะ สุ่มเสี่ยงเกิดคลัสเตอร์โควิดในโรงเรียนนะคะ ยิ่งรัฐบาลจะเปิดประเทศ 1 พ.ย. การแพร่เชื้อกระจายแน่นอนค่ะ

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)