เสียงสะท้อนคืนเงินเยียวยา น.ร. 2 พันบาท...ไหนว่า ศธ.ไม่เพิ่มภาระ ร.ร.-ครู

เสวนากับบรรณาธิการ จันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2564

 

เสียงสะท้อนขั้นตอนคืนเงินเยียวยา

นักเรียนคนละ 2 พันบาท

ไหนว่า ศธ.ไม่เพิ่มภาระ 'ร.ร.-ครู'

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ     

   

                                                        

    ...หากพิจารณาความจริงแล้ว การลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครอง นักเรียน รวมถึงคุณครู เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้านั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริงและจะไม่เกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ ศธ.ยังทำการศึกษาแบบทำร้ายนักเรียนให้เขาเรียน ให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ชอบ และตราบใดที่ยังมีการบีบคั้นให้ครูต้องแบกรับภาระหน้าที่ที่ไม่ใช่งานสอนอีกมากมาย แบบไม่มีขีดจำกัดก็ยิ่งยากจะได้เห็น...                                                       

แม้ว่าล่าสุด เฟซบุ๊ก ชื่อ ตรีนุช เทียนทอง โฟสต์เนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งหัวเรื่องว่า “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา”  พระเอกงานนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานตามสูตร

และเรื่องนี้ก็เป็นที่รับรู้กันทั้งประเทศแล้วว่า จุดยืนลดภาระทางการศึกษา นั่นเป็นเพียงการลั่นฆ้องกลองป่าวประกาศ ตอกย้ำให้รับรู้ทั่วกันว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สามารถผลักดันมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วง COVID-19’ ให้รัฐบาลอนุมัติวงเงินถึง 2.2 หมื่นล้านบาทได้สำเร็จ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวที่ได้มานั้น จะใช้มีอะไรบ้าง ขอสรุปมาให้เห็น

# เยียวยานักเรียน ทุกคนทุกสังกัด 2,000 บาทต่อคน โดยยืนยันว่า ศธ.มีความพร้อมเต็มร้อยที่จะจัดส่งเงินเยียวยาให้ผู้ปกครองภายใน 5-7 วัน หลังจากได้รับการโอนจัดสรรจากกระทรวงการคลัง  

# อินเตอร์เน็ตฟรี สำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช.ร่วมช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษา แต่จะมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 15 ส.ค. ถึง 15 ต.ค. 64

# ลดภาระของนักเรียน ครู โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการ ต่าง ๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ครูจะได้ไม่ต้องรวบรัดการสอนรวมถึงการประเมินใด ๆ ที่จะให้ครบตามตัวชี้วัด ที่เป็นภาระแก่ครู โดยให้ลดหรืองดหรือให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่าง ๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น

ตามด้วยการขยายในรายละเอียดที่ดูแล้วประดักประเดิดเหมือนไม่มั่นใจอยู่บ้าง ที่เธอบอกว่า ความรู้บางเรื่องที่ไม่ได้มีความจำเป็นในตอนนี้ครูควรพักไว้ก่อน เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องเครียดที่ต้องเรียนครบชั่วโมง และเพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนอย่างเต็มที่ เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ เช่น ภาระงาน การบ้านให้มีเท่าที่จำเป็น เป็นต้น ก็ถูกเหมารวมเข้าไปกับเรื่องของการลดภาระนักเรียนไปด้วยในตัวแบบเนียน ๆ

แม้กระทั่งในเรื่องการนับเวลาเรียนรูปแบบใหม่ เมื่อเสนาบดีฯให้แนวว่า จะนับเวลาเมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน หรือการออกกำลัง โดยไม่ต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว ให้ครูและนักเรียนได้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย...ซึ่งดูเหมือนว่า นักการศึกษาไทยพากันเงียบงันกับมิติใหม่แห่งการนับเวลาเรียน ยุค 4.0 บวก โควิค -19 

นี่หากใครเกิดนำไปปฏิบัติจริง คงเกิดความวุ่นวายมิใช่น้อย

ทั้ง ๆที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ซักซ้อมทำความเข้าใจรวมถึงวางแนวปฏิบัติการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย การจัดการเรียนตามหลักสูตร ปีการศึกษา 2564 เพื่อให้การดำเนินงานของสถานศึกษาในสังกัด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางเดียวกันแล้วทั้งประเทศ  

ที่ยกมาให้เห็น คือ สรุปจาก เฟซบุ๊ก ชื่อ ตรีนุช เทียนทอง แม้เธอจะมีการบอกกล่าวในทำนองออกตัวว่า "ขอบอกอย่างจริงใจกับทุกท่านว่า ความช่วยเหลือของกระทรวงฯ จะไม่ได้จบเพียงเท่าที่มีในวันนี้ค่ะ เราจะต้องทบทวนและหาแนวทางช่วยเหลือกับทุกปัญหาทางการศึกษาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย..."  

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชน ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นเรื่องทางการศึกษาต่างๆ ที่สะท้อนผ่านเฟซบุ๊กของผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.โดยตรง ซึ่งในเฟซบุ๊กของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังกล่าว เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นอยู่ในเวลานี้  

ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนตั้งข้อสังเกตถึงประโยคสำคัญที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. มักยกอ้างขึ้นมาประกอบการของบฯ 22,000 ล้านบาท ที่ว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้น ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงคุณครู นั้น 

หากพิจารณาความจริงแล้ว การลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงคุณครู เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้านั้น มันไม่เคยเกิดขึ้นจริงและจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่ ศธ.ยังทำการศึกษาแบบทำร้ายนักเรียน ให้เขาเรียน ให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ชอบ  และยังมีการบีบคั้นให้ครู ต้องแบกรับหน้าที่ที่ไม่ใช่งานสอนอีกมากมาย แบบไม่มีขีดจำกัด ก็ยิ่งยากที่จะได้เห็น ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้าตอนไหนก็ตาม

จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันทีว่า การลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง นอกจากจะทำให้ได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันแล้ว ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ส่งผลให้เด็กยิ่งไม่ได้เรียนต่อ เมื่อเติบใหญ่ก็ไม่มีความรู้ความสามารถมาพัฒนาชีวิตให้อยู่ได้ในสังคมอย่างมีคุณภาพ วงจรชีวิตมีแต่ความยากจนซ้ำซาก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ที่ศธ.ได้มานั้น กำลังเป็นเรื่องที่สังคมจับจ้องอยู่ว่า ศธ.จะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ครบถ้วน ไม่ตกหล่นหรือบกพร่องจนเกิดข้อครหากลายเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ ศธ. ตามวัตถุประสงค์ที่บอกกล่าวไว้  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการเยียวยานักเรียน ทุกคนทุกสังกัด 2,000 บาทต่อคน ที่ทั้ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ลั่นวาจาว่า พร้อมเต็มร้อยที่จะจัดส่งเงินเยียวยาให้ผู้ปกครองภายใน 5-7 วัน หลังจากได้รับการโอนจัดสรร จากกระทรวงการคลัง 

ซึ่ง นายสุภัทร์ จำปาทอง ปลัดศธ. ยังแจงขั้นตอนโดยยืนยันการจัดสรรเงินเยียวยานักเรียน 22,000 ล้านบาท ทุกคน ทุกสังกัด 2,000 บาท/คน สพฐ. โอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครอง ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป สอศ. ผู้ปกครองรับเงินสดที่วิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป สช. ผู้ปกครองรับเงินสดที่โรงเรียน หรือรับเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป กศน. ผู้ปกครองรับเงินสด จาก กศน.อำเภอ หรือ ศชช. ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป

คงต้องระวังความรู้สึกกับเงิน ๆ ทอง ๆ ล้วนเป็นของบาดใจ  เชื่อว่า ทุกวัน ทุกนาที ผู้ปกครองนักเรียน ทุกคนทุกสังกัด ต่างใจจรดใจจ่อรอคอยให้ถึงนาทีนั้นโดยเร็ว  เนื่องจาก โฆษก ศธ.ออกข่าวล่วงหน้าไปแล้วว่า ภายในสิ้นเดือน สิงหาคม นี้ นี่แหละ ก็เหลืออีกไม่กี่วันเอง ความจริงก็จะปรากฎ

รวมไปถึงการเรียนออนไลน์ การสนับสนุนอินเทอร์เน็ต ที่บอกว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช.ร่วมช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษา จะมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 15 ส.ค. ถึง 15 ต.ค. 64

แต่นี่...ก็จะล่วงเข้าสิ้นเดือนสิงหาคมแล้ว กว่าจะได้รับเงินและนำไปจัดการเพื่อได้ใช้ตามสิทธิที่พึงได้จะหายไปอีกเท่าใดไม่อาจรู้ได้ จะเรียกว่านับถอยหลังด้วยความหวังกำลังจะเป็นจริง แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่เป็นเงินที่รัฐจัดสรรให้ตามสิทธิพึงได้

ลองมาลองมาฟังเสียงคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา เขาส่งเสียงโหวกเหวก ๆ ทางช่องทางสื่อออนไลน์ ส่งความถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.และ ท่านปลัด ศธ.ถึงการมอบเงินเยียวยาให้นักเรียนทุกคน คนละ 2,000 ใน 7 วัน จะเป็นไปได้หรือไม่เพียงใดหรืออาจล่าช้าออกไปบ้าง ถือว่าเป็นความปกติของราชการ แต่เสียงสท้อนของครูในเรื่องนี้มีความน่าสนใจและมีความสำคัญมิใช่น้อย มาตามดูกัน 

BaiTong Kunwadee โครงการเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาทขึ้น แต่ขั้นตอนและวิธีการไม่มีความชัดเจนเลย ในฐานะผู้ปฏิบัติหลังน้อมรับนโยบายจากท่านมา ก็ทำตามแบบฟอร์มที่ท่านให้มาครั้งแรก ดำเนินการไปแล้วก็มีการเปลี่ยนเป็นครั้งที่ 2                                                      

ปัญหา คือ ครูที่ปฏิบัติหน้าที่เค้ามีหน้าที่สอนด้วย จากที่จะช่วยลดภาระครู กลายเป็นว่าไปเพิ่มภาระให้ครูอีกเยอะมาก ปัญหาครูที่ปฏิบัติหน้าที่การเงินและพัสดุควรได้รับการแก้ไขค่ะ  เพราะตอนนี้ครูสอนหนักมากอยู่แล้ว หรือถ้าจะออกแบบฟอร์มอะไรก็อยากให้มีความชัดเจน จะได้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ขอความกรุณานะคะ ด้วยความเคารพค่ะ

Suprakit Chuntha จนท.ท่านใด น่า...ช่างเสนอแนวทางให้ท่าน รมต.ที่สิ้นคิดเรื่อง 2,000 ที่ให้ รร.ต้องไปเปิดบัญชีใหม่ รร.มีบัญชีกระแสรายวันอยู่แล้ว ไม่จำเปิดต้องเปิด แนวคิดที่สร้างแต่ภาระเพิ่มงานให้ รร.ช่างคิดได้ จนท.คนนี้ควรจัดการออกไปจากองค์กรเสียที                                

เปิดบัญชีใหม่ต้องใช้คน รร.ละ 3 คน อำเภอหนึ่งมี 120 รร.=120×3=360 คิดดูว่าคนจะไปรวมกันจำนวนที่ ธนาคาร ความเสี่ยง ความปลอดภัย หากเกิดคัลเตอร์ใหม่ละ ไม่อยากคิดเลย

panwana deesomsuk ท่านคะ...ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นค่ะ ดิฉันดีใจที่กระทรวงไม่นิ่งเฉยกับปัญหาของนักเรียนกับผู้ปกครอง จึงมีการเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาทขึ้น แต่ขั้นตอนและวิธีการไม่มีความชัดเจนเลยค่ะ ในฐานะผู้ปฏิบัติ หลังจากดิฉันน้อมรับนโยบายจากท่านมา ก็ทำตามแบบฟอร์มที่ท่านให้มาครั้งแรก แต่หลังจากดำเนินการไปแล้ว ก็มีการเปลี่ยนเป็นครั้งที่ 2

ปัญหา คือ ครูที่ปฏิบัติหน้าที่เค้ามีหน้าที่สอนด้วย จากที่คิดว่าจะช่วยลดภาระครู กลายเป็นว่าไปเพิ่มภาระให้ครูอีกเยอะมาก แม้ว่าจะมีครูที่ปฏิบัติหน้าที่การเงินและพัสดุ แต่หลักใหญ่ สำคัญ ๆ ก็ไม่พ้นครู ตอนนี้ครูสอนหนักมากอยู่แล้ว หรือถ้าจะออกแบบฟอร์มอะไรก็อยากให้มีความชัดเจน จะได้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ขอความกรุณานะคะ  

Nimit wandeedee  รายการหาเสียงครับ รร.ติดตามรับฟัง...คำถามเดียวกันคือ...เงิน 2,000 บาท ให้ดำเนินการเช่นไร? ฝากท่านผู้หลักผู้ใหญ่ทุกท่านครับ...เพื่อให้เป็นไปตามเจนารมณ์ที่ดีมากของท่าน...ดังนั้น ในขั้นตอนการปฏิบัติ...อย่าให้เกิดกรณี..."จุดยืน สร้างภาระให้โรงเรียน" นะครับ  จะขอบคุณมาก ๆ ครับ

Panya Naratip ก็คงหนีไม่พ้นครูประจำชั้นต้องเป็นคนโอนอีก ขอเอกสารเค้ามาแล้วนี่ จะให้เค้ามารับเงินสดที่โรงเรียน มาม่าลังใหญ่ ๆ จะมาหาครู เตรียมตัวเป็นพนักงานธนาคารกัน ถ้าไม่อยากกินมาม่า ครูพร้อม แอปพร้อม โอนเงินกันต่อนะจ๊ะ ครูไทย                                             

แถมแบบฟอร์มก็มีปรับใหม่ด้วย ที่อุตส่าห์ทำส่งกันไป คือ เหมือนไม่ได้ทำ “เด็กไม่ต้องไปโรงเรียน ครูสบาย รับเงินเดือนไปฟรี ๆ” อ้าวทำงานค่ะ ให้คุ้มกับเงินเดือน ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ตที่ บานปลายมาเกินเท่าตัว อย่าได้มานั่งคิดเล็กคิดน้อย ในที่สุดก็ทิ้งเรื่องเตรียมเพื่อทำงานที่ควรจะได้ทำทีเดียวเสร็จอีกครั้ง หรืออีกกี่ครั้งก็ไม่รู้ กรณีถ้าโอนจ่ายผ่านระบบ krungthai corporate online ให้ผู้ปกครอง ถ้าต่างธนาคารมีค่าธรรมเนียม หักตังใคร?  

Wadee Kun เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 สพฐ.ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเปลี่ยนแนวปฏิบัติว่า ให้โรงเรียนไปเปิดบัญชีใหม่ ทำให้โรงเรียนต้องเสียเวลาไปเปิดบัญชีใหม่ ไปออกันที่ธนาคาร เมื่อได้บัญชีใหม่เพื่อรับโอนเงินจาก สพฐ. เมื่อได้รับเงินแล้วให้โรงเรียนจ่ายเป็นเงินสดให้ผู้ปกครอง หรือจะใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองก็ได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลและความสับสนแก่โรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แก่โรงเรียน และจะต้องถูกผู้ปกครองต่อว่า โรงเรียนให้ผู้ปกครองส่งข้อมูลหมายเลขบัญชีไปทำไม?

Sucha  Chunkit จำไม่ผิด ผมจดไว้ ไขข้อข้องใจ ปลัด ศธ. แจงขั้นตอนการจัดสรรเงินเยียวยานักเรียน 22,000 ล้านบาท ทุกคน ทุกสังกัด 2,000 บาท/คน หลังจากกระทรวงการคลังจัดสรรการโอนเงินให้หน่วยงาน โดย - สพฐ.โอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครอง ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป       / สอศ.ผู้ปกครองรับเงินสด ที่วิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป/ สช.ผู้ปกครองรับเงินสด ที่โรงเรียน หรือรับเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป / กศน.ผู้ปกครองรับเงินสด จาก กศน.อำเภอ หรือ ศชช.ตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นไป

Tanat Kaseamsuk  หากให้โรงเรียนทำการโอนเงิน 2,000 บาท เข้าบัญชีผู้ปกครองนักเรียนก็จะมีค่าใช้จ่ายในการโอนเงินอีก แล้วหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโอน และที่ผ่านมา ทำไม สพฐ.ไม่กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่สร้างความสับสนให้โรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียน

yarat Punwana     ขอให้ สพฐ.ใช้วิธีการเดิม คือ ให้เขตพื้นที่เป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครอง ยกเว้นโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลจากธนาคาร ก็จะให้ใช้วิธีการจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครองได้ ซึ่งสามารถตรงกับความต้องการของโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่แท้จริง ไม่เป็นการเข้าข่ายลักษณะ “ลดภาระผู้ปกครอง แต่สร้างภาระให้โรงเรียน”

Nekka teelata ว่าแล้ว....โรงเรียนต้องโดนผู้ปกครองฯต่อว่าเช่นเดิม...จากการที่ต้องปฎิบัติตามที่ สพฐ.ได้สั่งการให้ทำในก่อนหน้านี้ ที่ให้โรงเรียนขอเอกสารเลขบัญชีจากผู้ปกครองฯ มา เมื่อได้มาแล้ว โรงเรียนก็จัดทำข้อมูล รายงานหน่วยงานต้นสังกัดไปทุกอย่าง                   

...แล้วตอนนี้... สพฐ.มีหนังสือด่วน แจ้งว่า...ให้โรงเรียนไปเปิดบัญชีใหม่ แล้วให้จ่ายเงินให้ผู้ปกครองเป็นเงินสด ... เปลี่ยนวิธีการอีกแล้ว .....นี่..ตกลงว่า....จะให้โรงเรียน ทำอะไรอีกไหมครับ???...  

Mitt Inthara  เรื่องเงินช่วยเหลือผู้ปกครองฯ 2000 บาท น่าจะให้เขตเป็นผู้โอนให้ผู้ปกครองฯ เพราะเขตฯ มีประสบการณ์และความชำนาญในการโอนเงินเป็นปกติอยู่แล้ว เป็นการช่วยลดภาระโรงเรียนตามคอนเซ็ปของนโยบาย ที่ว่า ช่วยลดภาระครู/โรงเรียน ส่วนค่าใช้จ่ายจากการโอนเงิน  เดี๋ยว สพฐ.เขามีค่าใช้จ่ายเรื่องการโอนให้เขตเองแหละครับ ขอให้ผู้ใหญ่ใน กระทรวงฯ /สพฐ. ช่วยพิจารณาด้วยนะครับ    

Baiwa Tongdee  อยากให้ส่วนกลางรับทราบปัญหาที่จะเกิดกับโรงเรียนแล้วให้กำหนดแนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการทำงานของโรงเรียนที่ชัดเจน มิใช่ปล่อยให้ทัพหน้า/โรงเรียนต้องผจญ และ แก้ปัญหาเองหากมีปัญหาก็รับไปต็มๆ                                               

Sucha  Chunkit สพฐ.ทำไมมีการรับช่องทางเดียวคะ ทั้งที่โรงเรียนสพฐ.ผู้ปกครองมีข้อจำกัดมากกว่า เช่นต่างด้าวไม่สามารถเปิดบัญชีได้ สช.ซึ่งผู้ปกครองมีความพร้อมมากกว่าทุกครอบครัวมีบัญชีเงินฝาก สามารถรับได้สองช่องทาง ซึ่งมันผิดกับสิ่งที่ควรจะเป็น

Eisarad woungsu ที่ผมกลัวที่สุด คือ "นางฟ้าในหลักการ ซาตานในการปฏิบัติ" ครับ

karuna bantongkoon 13 สิงหาคม 2564 มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมถึงวิธีการจ่ายเงิน และช่วงวัน-เวลาของการโอนเงินว่าจะโอนเงินในช่วงใด มีรายละเอียดดังนี้ วิธีการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน จ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายแก่นักเรียนหรือผู้ปกครอง ต่อไป อาจเป็นรูปแบบเงินสดหรือเข้าบัญชีธนาคารก็ได้ วันที่โอนเงินเยียวยา ถ้าหากสำนักงบประมาณ ทำรายละเอียดและจัดสรรเงินมาให้ศธ. อยากให้ส่วนกลางรับทราบปัญหาที่จะเกิดกับโรงเรียนแล้วให้กำหนดแนวปฏิบัติ ที่เอื้อต่อการทำงานของโรงเรียนที่ชัดเจน มิใช่ปล่อยให้ทัพหน้า/โรงเรียนต้องผจญ และ แก้ปัญหาเอง หากมีปัญหาก็รับไปเต็มๆ มีผู้ละเมอออกมา

เรื่องเงินเรื่องทองของราชการ ผิดพลาดแม้แต่สตางค์แดงเดียว อาจเสียทั้งประวัติแถมคุกนะครับ

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)