เสวนากับบรรณาธิการ : คนไทยสู่ศตวรรษที่ 21" การศึกษาไทยต้องการ รมต.ศธ.ที่มีคุณภาพ-วิสัยทัศน์ทันโลก

เสวนากับบรรณาธิการ

คนไทยสู่ศตวรรษที่ 21" การศึกษาไทยต้องการ

รมต.ศธ.ที่มีคุณภาพ-วิสัยทัศน์ทันโลก

 

ทุกครั้งที่มีจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ล่าสุด จะเห็นถึงความพยายามของคนในแวดวงการศึกษา ต่างออกมาส่งเสียงวิงวอนร้องขอผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีคุณสมบัติค่อนข้างจำเพาะเจาะจงไปที่แตกต่างไปจากกระทรวงอื่น  

 

เนื่องจากเป็นกระทรวงที่ต้องพัฒนาศักยภาพเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ที่มีหน้าที่สร้างคุณภาพพลเมืองตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย การพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น การพัฒนาและยกระดับศักยภาพวัยเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ   

 

สิ่งสำคัญแห่งคุณสมบัติที่จำเป็นต้องมีในตัวของคนที่จะก้าวเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ นอกจากจะเหมาะสมแล้วยังต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ มิใช่มีแค่นโยบายและจุดเน้นเดินตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี แล้วประกาศกันเจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทองในที่ประชุม ให้ปฏิบัติตามแบบงานประจำวัน ในแต่ละปีงบประมาณเท่านั้น  

 

นอกจากนี้ สังคมการศึกษาไทย ณ วันนี้ อยากเห็นความกล้าหาญของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ที่มีคุณสมบัติในความกล้าหาญ เปี่ยมพร้อมด้วยวิสัยทัศน์ในแนวทางการพัฒนาศักยภาพเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ที่มีการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างภาคเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาในทุกระดับในภาพรวม อย่างมีประสิทธิภาพและชัดในรูปธรรม ได้อย่างไร

 

อีกทั้ง เมื่อมองถึงความสำคัญของคนที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ควรอย่างยิ่งที่ได้คนที่มีจิตวิญญาณในการแสวงหาความรู้และปรารถนาที่จะสร้างความรู้และคุณค่าใหม่ ๆ ให้ทันโลกเท่านั้น แต่ยังกอร์ปด้วยวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่กว้างไกลทันโลก สามารถบริหารจัดการกับวิถีตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม ๆ ที่ล้าสมัย ท่ามกลางภาระรับผิดชอบที่กดดัน ทับซ้อน ในศธ.ได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เนื่องจากที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ มักจะได้รัฐมนตรี ที่มาจากนักการเมืองที่ไม่เพียงแค่พร่องในคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว บางคนมาจากตระกูลที่เป็นเครือญาติมีอิทธิพลในกลุ่มการเมือง หรือตามโควตา ผู้อุปถัมภ์พรรค และหากเลือกได้จะมองกระทรวงอื่นไว้ก่อน เพื่อเป็นช่องทางการสร้างฐานสร้างตัวของต่อไปข้างหน้า เมื่อไม่ได้ดังหวัง กระทรวงศึกษาจะเป็นทางเลือกสุดท้าย

 

จึงมีคำถามและวิจารณ์จากนักการศึกษาบางท่านว่า เพราะเหตุดังกล่าว ศธ.มักได้รัฐมนตรีป้ายแดง ที่ไร้สติปัญญา ขาดประสบการณ์ ไร้ความสามารถ ไม่มีความมั่นใจตัวเอง ไม่มีภาวะผู้นำ  จำเป็นต้องอาศัยคนจาก ศธ.มาเป็นที่ปรึกษา ซึงกลายเป็นการให้คำปรึกษาที่ไม่หลุดกรอบไปจากกระทรวงศึกษาในนิยามเดิม ๆ

 

ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น คือ การไปเอา ส.ส.สอบตก พรรคพวกบริวารใกล้ชิด หรือเด็กฝากมาเป็นที่ปรึกษา เป็นคณะทำงาน เป็นเลขาฯ บางคนได้รับมอบหมายไปดูแลงานนโยบายก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง ที่ทำตัวยิ่งกว่าเป็นรัฐมนตรีตัวจริงเสียเอง จึงไม่แปลกที่จะเห็นคุณภาพการศึกษาไม่มีทางจะเกิดกับนักเรียนและประเทศ คนที่รับกรรมคือ ครู นักเรียน และการศึกษาประเทศโดยรวม 

 

เมื่อหันไปมองข้อเรียกร้องของบรรดาตัวแทนองค์กรครูที่ออกมาเคลื่อนไหวแทนคนวงการศึกษา ดูเหมือนจะเป็นเสียงเสียงกาเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากไม่เคยได้รับการตอบสนองดังใจหวัง ทั้ง ๆ ที่เป็นความรู้สึกด้วยความจริงใจ เพื่อบอกเล่าถึงพฤติกรรมในผลงานแห่งความล้มเหลวของเหล่านักการเมืองที่เข้ามากำกับกระทรวงศึกษาธิการคนแล้วคนเล่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา   

 

 

ไม่ว่าจะเป็น ดร.วีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ต้องการรัฐมนตรีว่าการศธ.ที่มี คุณธรรม จริยธรรม เคยเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา หรือเคยบริหารด้านการศึกษา ให้ความสำคัญของวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาโดยแท้จริงเพื่อประชาชน มีความเชื่อมั่น เลื่อมใส ศรัทธา ในการบริการจัดการที่ยึดธรรมาภิบาล    

 

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) อยากได้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เข้ามาแก้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้ปรับแก้มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งมีบางมาตราที่เป็นอุปสรรค ทำให้โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้

 

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ บอกว่า นายกรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลที่จะมาเป็น รมว.ศธ. เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาของชาติตกต่ำมามากแล้ว มีปัญหาร้องเรียนมากมาย เช่น ขาดเอกภาพด้านวิชาการ บริหารงานขาดหลักธรรมาภิบาล หลายเรื่องถูกร้องเรียนมีความไม่ชอบมาพากล แต่แทบไม่มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน

 

และ นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี  ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) อยากให้ นายกรัฐมนตรี ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษาสู่ความก้าวหน้าสู่อนาคตที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองผู้เรียนและสถานประกอบการ  ควรส่งคนดี ๆ เก่ง ๆ เข้ามาบริหารกระทรวงศึกษาธิการ ในเมื่อพรรคเพื่อไทยได้ให้นโยบายการศึกษาว่า จะสร้างการศึกษา นำโลก นำประเทศเข้าสู่การพัฒนา

 

และในที่สุดแล้ว เสียงขององค์กรครูทั้งหลาย กลายเป็นความว่างเปล่า ไร้คุณค่าและไร้ความสำคัญที่นายกรัฐมนตรี คนที่30 ของประเทศ ตลอดบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย ควรจะมีใจให้กับการศึกษา โดยรับไว้พิจารณา แต่นี่ไม่แยแสต่อความรู้สึกของคนในวงการศึกษาเลยแม้แต่น้อย 

 

เห็นได้จาก สรุปมาถึง ณ วันนี้ ข้อมูล 27 สิงหาคม 2566 กระแสรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ล่าสุดยังคงไม่นิ่ง เห็นได้จากรายชื่อคนในสองพรรคใหญ่เบียดแข่งกันมาในช่วงก่อนปิดท้ายรายการ 

 

ระหว่าง นายสุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย ยังคงมีชื่อเป็น รมว.ศึกษาธิการ หลังจากมีชื่อไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ น้องชาย นายเนวิน ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ยังมีชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เช่นกัน  

 

อีกทั้งตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ ก็ยังมีชื่อ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พระนครศรีอยุธยา บุตรชาย นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา  ตีคู่กับ น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม รมช.ศึกษาธิการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ค่อนข้างเก็บตัวเงียบในช่วงการจัดสรรตำแหน่ง อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม คงจะได้เห็นตัวจริงเสียงจริงภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งไม่ว่าใครจะมาหรือไม่ได้ไปต่อ ครูและผู้บริหารตลอดบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังคงยินดีติดป้ายยินดีต้อนรับรัฐมนตรีคนใหม่ทั่วกัน และพร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ต่อไป.

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage