เปิดร่าง(ล่าสุด) กม.การศึกษาชาติ หมวด ๓ ครูและบุคลากร จะ“รุ่งหรือร่วง?”

เปิดร่าง(ล่าสุด) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

หมวด ๓ ว่าด้วยครูและบุคลากร จะ“รุ่งหรือร่วง?”

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

จาก 3 ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่จะเข้าสู่รัฐสภา ประกอบด้วย 

1. ร่างฉบับรัฐบาล ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ (มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) ปรับแก้บูรณาการเข้ากับร่างของ สคคท.

ซึ่งบัดนี้คณะกรรมาธิการฯ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้ศึกษาและตรวจพิจารณาปรับปรุงเป็นที่ยุติแล้ว ดังเอกสารเรื่องเสร็จที่ ๔๘๘/๒๕๖๔ และส่งให้สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 เพื่อส่งเข้าคณะรัฐมนตรี ก่อนเสนอต่อรัฐสภาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ เพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมายต่อไป 

2. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับของ สคคท. เสนอโดย ดร.ดิเรก พรสีมา และ คณะประชาชน

และ 3. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับของ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร  ปรับปรุงเสนอโดย รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ และคณะ

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ edunewssiam ขอนำเพียงประเด็นในหมวด ๓ ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ที่กำลังเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บางส่วนที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วมานำเสนอให้เห็น อาทิ ผู้ประกอบอาชีพครู จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การเรียก ชื่อตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ไม่มีนิยาม “ครูใหญ่” แต่มีนิยาม “ผู้บริหารสถานศึกษา” แทน และเรื่องการเปลี่ยนการเรียก "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" เป็น "ใบรับรองความเป็นครู" ดังปรากฏในร่าง มาตรา ๔ ตามด้วย หมวด ๓ ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา นิยาม ความหมาย ดังต่อไปนี้

มีชัย ฤชุพันธุ์

มาตรา ๔ ในร่าง พ.ร.บ.ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ปรับแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ (มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) ให้ความหมายว่า

“ครู” หมายความว่าบุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักในสถานศึกษาในการจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นแหล่งความรู้ของผู้เรียนตลอดจนเอื้ออำนวย ส่งเสริม และพัฒนาเรียนรู้ของผู้เรียนและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่รู้และมีสมรรถนะด้านต่าง ๆ แต่ไม่หมายความรวมถึงผู้สอนในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบผู้เท่า

“หัวหน้าสถานศึกษา” หมายความว่าครูซึ่งเป็นหัวหน้าในสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการบริหารสถานศึกษาและเป็นผู้บังคับบัญชาของครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาดังกล่าว

“สถานศึกษา” หมายความว่าสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษา การศึกษา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชนที่มีหน้าที่และอำนาจหรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

“สถานศึกษาของรัฐ” หมายความว่าสถานศึกษาที่หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นหรือเป็นผู้บริหารจัดการ

“จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานครด้วย

“ผู้ว่าราชการจังหวัด” หมายความรวมถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย

“คณะกรรมการนโยบาย” หมายความว่าคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

“สำนักงาน” หมายความว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

“เลขาธิการ” หมายความว่าเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

“กระทรวงเจ้าสังกัด” หมายความว่ากระทรวงที่มีหน่วยงานของรัฐจัดการศึกษา หรือจัดให้มีสถานศึกษาขึ้นในสังกัด

และในหมวด ๓ ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา มีรายละเอียดตามรายมาตรา (มาตรา ๓๒ - มาตรา ๓๓) กำหนดว่า

          ครูมีหน้าที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้พัฒนาทักษะ สร้าง นิสัยและสมรรถนะ เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ ในการเอื้ออำนวยให้เกิดเรียนรู้ตามวรรคหนึ่ง นอกจากวิธีการสอน ให้ใช้วิธีการอบรม บ่มเพาะ ชี้แนะ สร้าง แรงบันดาลใจ และวิธีการหรือกระบวนการอื่นใดที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ใฝ่รู้และมีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองประกอบกัน

          เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของครูเกิดความสมบูรณ์และดำรงฐานะอันสูงส่งในการหล่อหลอมคน ครูต้องอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ ทำการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปฏิบัติตนเป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างที่ดี

          มาตรา ๓๔ ครูต้องมีคุณลักษณะทั่วไป ดังต่อไปนี้

          (๑) เป็นผู้มีความถนัดและภาคภูมิใจในความเป็นครูซึ่งมีภารกิจในการหล่อหลอมคน ซึ่งต้องมีความอดทนและมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสำเร็จของผู้เรียน

          (๒) รับรู้และยอมรับถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนด้วยความใส่ใจ ใจกว้างและมีเมตตา 

          (๓) มีความสามารถในการชี้แนะหรือชี้นำผู้เรียนทั้งในด้านวิชาการและวิถีชีวิตด้วยความเอาใจใส่ดูแลผู้เรียนอย่างใกล้ชิด มีขีดความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถพัฒนาตนเองไปในทางที่ถนัดของแต่ละบุคคล

          (๔) ตระหนักในภาระหน้าที่ในการพัฒนาตนเองให้รู้ผู้เท่าาทันวิชาการและบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

          (๕) มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้เรียนและสังคม

          (๖) มีความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          (๗) มีความรู้พื้นฐานและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันในการจัดกระบวนเรียนรู้ได้ ในการดำเนินการเพื่อผลิตครู ต้องดำเนินการสร้าง ให้ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณลักษณะตามวรรคหนึ่งและมีความสามารถในการสร้าง ความสัมพันธ์กับชุมชน และใช้คุณลักษณะดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานของครู และเป็นพื้นฐานในการออกใบรับรองการประกอบวิชาชีพ

          ในกรณีที่ครูผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตครอบงำให้ผู้เรียนกระทำการหรือไม่กระทำการใดโดยไม่ชอบ หรือให้ผู้เรียนกระทำการในทางเพศ ให้ถือว่าครูผู้นั้นประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

มาตรา ๓๕ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกฎหมายดังกล่าว อย่างน้อยต้องมีหลักประกันความเป็นข้าราชการหรือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีสถานะและได้รับสิทธิและประโยชน์เทียบเคียงได้กับข้าราชการ มีความโปร่งใสในการรับบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งได้อย่างเป็นธรรม และได้รับค่าตอบแทนอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมตลอดทั้งหลักประกันในการที่ครูจะสามารถดำรงตนและปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

          มาตรา ๓๖ ให้นำความในมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาใช้บังคับแก่ผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาด้วยโดยอนุโลม

          มาตรา ๓๗ นอกจากคุณลักษณะทั่วไปตามมาตรา ๓๔ และความรู้ด้านวิชาการที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนแล้ว ครู ผู้ดูแล หรือผู้สอนซึ่งรับผิดชอบในการจัดกระบวนเรียนรู้ในแต่ละระดับช่วงวัย ต้องได้รับการพัฒนาให้มีคุณลักษณะเฉพาะ ดังต่อไปนี้

          (๑) ครูหรือผู้ดูแลในการจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๒) ต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัยและจิตวิทยาเด็ก มีความรู้พื้นฐานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นผู้มีอุปนิสัยรักความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีวินัย อารมณดี รักลูกศิษย์ ช่างสังเกตและมีความคิดสร้างสรรค์

(๒) ครูหรือผู้ดูแลในการจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘   

(๓) นอกจากต้องมีคุณลักษณะตาม (๑) ตามที่กำหนดแล้ว ต้องมีคุณลักษณะในการเอาใจใส่ดูแลผู้เรียนอย่างใกล้ชิด ช่างสังเกตและเข้าใจความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคนเพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลิกลักษณะที่เหมาะสม สามารถสร้าง แรงบันดาลใจในเรียนรู้และการพัฒนาตนเองไปในทางที่ถนัดของแต่ละบุคคล สามารถแนะนำผู้เรียนให้ฝึกตนให้เกิดสมาธิได้

          (๓) ครูซึ่งจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๔) นอกจากต้องมีคุณลักษณะตาม (๒) ตามที่กำหนดแล้ว ต้องมีทักษะในการจัดการชั้นเรียน และสร้าง สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมีทักษะในการประเมินผลการเรียนรู้มีความรู้ความ่ใจด้าน จิตวิทยาวัยรุ่น สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งที่อาจส่งผลต่อผู้เรียนส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะในการสร้าง ความไว้วางใจระหว่างครูและผู้เรียนทักษะในการสื่อสารกับผู้เรียนและทักษะในการสร้าง ความมั่นใจให้แก่ผู้เรียนมีวิธีการปลูกฝัง เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่ผู้เรียน  กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความกล้าและคุ้นเคยในการแสดงความคิดเห็นและการตั้งคำถาม สามารถคิด วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้ รวมตลอดทั้งมองหาลู่ทางในการประกอบอาชีพ และมีความรู้ทางวิชาการที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน

          (๔) ครูซึ่งจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๕) นอกจากต้องมีคุณลักษณะตาม (๓) ตามที่กำหนดแล้ว ต้องมีทักษะในการสร้าง ความสัมพันธ์เพื่อสร้าง การมีส่วนร่วมและการแสดงออกของผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาและพัฒนาความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนสามารถให้ข้อมูลและแนะแนวทางแก่ผู้เรียนเกี่ยวกับการศึกษาตามความถนัดของผู้เรียนกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์และคิดเชิงระบบและสามารถทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต

          (๕) ครูซึ่งจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๖) นอกจาก ต้องมีคุณลักษณะตาม (๔) ตามที่กำหนดแล้ว ต้องมีคุณลักษณะตาม เป้าหมายแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้

          (ก) ด้าน การประกอบอาชีพ ต้องมีความรู้และทักษะในอาชีพหรือวิชาชีพในสาขาวิชาที่ตนรับผิดชอบ หรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องสำหรับการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือการประกอบกิจการของผู้เรียนและพัฒนาความรู้และทักษะของตนตลอดเวลา สามารถถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้แก่ผู้เรียนจนทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพหรือประกอบกิจการของตนเองได้ รวมทั้งทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมต่อการดำรงชีวิต หรือการแข่งขันในอนาคต ตลอดจนสามารถบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีความขยัน อดทน ไม่ท้อถอย มีความพร้อมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และสามารถแก้ไขปัญหาได้

          (ข) ด้าน การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ต้องมีความรู้และทักษะในทางวิชาการสำหรับสาขาวิชาที่ตนรับผิดชอบ รวมทั้งสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาความรู้และทักษะของตนตลอดเวลา สามารถหาวิธีการในการถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้แก่ผู้เรียนจนทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาที่ผู้เรียนมีความถนัดและประสงค์จะเข้าศึกษาต่อตลอดจนสามารถบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีความขยัน มีนิสัยใฝ่รู้มีความเชื่อมั่นและกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง และทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมต่อการดำรงชีวิตหรือการแข่งขันในอนาคต

          (๖) ครูหรือผู้สอนซึ่งจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๗) นอกจากต้องมีคุณลักษณะตาม (๕) ตามที่กำหนดแล้ว ต้องมีการพัฒนาความรู้ในด้าน วิชาการอยู่ตลอดเวลา มีสมรรถนะและวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนมีส่วนในการวิเคราะห์และถกปัญหาร่วมกันจนสามารถรู้ถึงปัญหาและวิธีการวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองในเรื่องต่าง ๆ ได้ สามารถสร้าง ความพร้อมให้แก่ผู้เรียนสำหรับการทำงานหรือการประกอบวิชาชีพและการดำเนินชีวิตในอนาคต รวมทั้งการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้าง จิตสำนึกให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีความกล้าหาญที่จะแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม มีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม

          การกำหนดคุณลักษณะตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย และให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาครูให้มีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่การกำหนดคุณลักษณะตาม (๖) ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย

          มาตรา ๓๘  ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกันจัดให้มีการศึกษาและวิจัยหาต้นแบบ กระบวนการและวิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนในการผลิตครูที่สามารถจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) รวมตลอดทั้งวิธีการในการพัฒนาศักยภาพครูให้สูงขึ้นและทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถจัดกระบวนเรียนรู้ให้ผู้เรียนบรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ ได้

          ความในวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดอำนาจหรือสิทธิของสถาบันอุดมศึกษาในการศึกษาและวิจัยตามหน้าที่ของตน

          มาตรา ๓๙ ครูซึ่งจัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามมาตรา ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) (ข) ต้องมีใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู เว้นแต่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และจัดกระบวนเรียนรู้วิชาหนึ่งวิชาใดเป็นการเฉพาะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

          ภายใต้บังคับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ การกำหนดมาตรฐานความเป็นครู การออก การพักใช้ และการเพิกถอนใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู และการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของความเป็นครู ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่คุรุสภาต้องนำผลการศึกษาวิจัยตามมาตรา ๓๘ มาเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งในการออกใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู

          ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครูให้ใช้ได้ตลอดไป แต่ครูต้องเข้ารับการพัฒนาตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา ๔๐ ในสถานศึกษาของรัฐที่จัดกระบวนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุ เป้าหมาย ตามมาตรา ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ให้มีหัวหน้าสถานศึกษาคนหนึ่ง รับผิดชอบในการบริหารสถานศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์และ เป้าหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาของครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสถานศึกษา โดยจะให้มีผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา  ในการบริหารตามความจำเป็นและเหมาะสมด้วยก็ได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงเจ้าสังกัดกำหนด

          หัวหน้าสถานศึกษานอกจากต้องเคยทำหน้าที่ครูมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษามาแล้ว ต้องมีความรู้ด้าน การบริหารศึกษา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของครู แต่จะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องได้รับใบอนุญาตมิได้

          ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษาซึ่งทำหน้าที่ช่วยงานบริหารหรือธุรการอาจแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิใช่เป็นครูได้

          ให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดแนวทางในการสรรหา คัดเลือก และจัดการอบรมและพัฒนาหัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษาให้มีความรู้และความสามารถในการบริหารสถานศึกษา ตามความจำเป็น

          มาตรา ๔๑ ให้หัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา และครูในสถานศึกษาของรัฐได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

          ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือค่าตอบแทนอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

          หัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา และครูอาจมีระดับตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

          หัวหน้าสถานศึกษาและผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษาอาจมีชื่อตำแหน่งเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้นได้

          มาตรา ๔๒  ให้มีองค์กรของครู เรียกว่า “คุรุสภา” มีหน้าที่และอำนาจในการออกใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู การพักใช้ และการเพิกถอนใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู ดูแล ส่งเสริม ช่วยเหลือด้านสวัสดิการและประโยชน์อื่นใด รวมตลอดทั้งการพัฒนาหัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา และครู ให้สอดคล้องกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ และหน้าที่อื่นที่จะยังประโยชน์ต่อครูซึ่งต้องมิใช่หน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ใด เว้นแต่เป็นการต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐๗

          การจัดตั้ง การเป็นสมาชิก การบริหาร และการดำเนินการของคุรุสภาตามวรรคหนึ่งและ  หน้าที่และอำนาจอื่น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

          ในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาตามวรรคหนึ่ง ให้คุรุสภาพิจารณาร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยหรือองค์กรอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครูมีสมรรถนะในการปฏิบัติหน้าที่ตามหมวดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงศึกษาธิการอุดหนุนงบประมาณให้คุรุสภาให้เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          มาตรา ๔๓ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัด ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการพัฒนาหัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่อง และทันต่อพัฒนาการของโลกและเทคโนโลยี  ทั้งนี้ ตามความจำเป็นและความต้องการของหัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา

          มาตรา ๔๔ ระบบการติดตามและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ในสถานศึกษาของรัฐที่จัดให้มีขึ้น ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาหัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา และต้องสอดคล้องกับภารกิจในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ และ เป้าหมายตามมาตรา ๘ โดยจะพิจารณาจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสถานศึกษาแทนการพิจารณาเป็นรายบุคคลก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้พิจารณาจากข้อมูล  ดังนี้

          (๑) ผลสัมฤทธิ์หรือพัฒนาการของผู้เรียน

(๒) ข้อมูลจากหัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา ครู บุคลากร ทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ผู้เรียนและผู้ปกครอง

          (๓) ข้อมูลจากชุมชนใกล้เคียง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๔๕ ในการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือน สำหรับหัวหน้าสถานศึกษา ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ห้ามมิให้กระทำในลักษณะที่ขัดแย้ง หรือไม่สอดคล้องกับมาตรา ๑๔ (๑๐) และมาตรา ๔๔

นี่แค่ หมวด 3 ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา อันเป็นร่างของ กอปศ.มีทั้งหมด ๑๕ มาตรา จะต่างกับ ร่าง ของ สคคท. ที่ เสนอโดย ดร.ดิเรก พรสีมา และ คณะประชาชน ได้จัดอยู่ในหมวด ๗ ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งยังยืนยันหนักแน่นว่า ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ควรมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ ครูใหญ่ ควรใช้คำว่า ผู้บริหารสถานศึกษา หรือ ผู้อำนวยการโรงเรียน แทน ส่วนบทบาทหน้าที่ของครู ล้วนกำหนดไว้อย่างชัดเจนในเรื่องของแนวการจัดการเรียนรู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ คงไม่ง่ายนักที่ ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะฝ่าด่าน หิน เหล็ก ไฟ ไปได้ง่าย ๆ

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam จะนำเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับสำคัญต่างๆ มาเปรียบเทียบนำเสนอสาระความแตกต่างให้เห็นต่อไป

EunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ: tulacom@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)