ถอดรหัส'ตรีนุช'เปิด ร.ร.เทอม 2 จะ On-Site หรือ On-Line ก้าวไม่พ้นวังวนเดิม

เสวนากับบรรณาธิการ 5 พฤศจิกายน 2564

 

ถอดรหัส 'ตรีนุชเปิด ร.ร.เทอม 2

จะ On-Site หรือ On-Line ก้าวไม่พ้นวังวนเดิม

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

                                                                                                                                                                                                                 

หลังจากกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้โรงเรียนเปิดเรียนภาคการศึกษา 2/2564 ในรูปแบบ On-Site ท่ามกลางสถานะการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด- 19  ที่ดูเหมือนจะผ่อนคลายลง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 มีการรายงานจากซีกฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตลอดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กลายเป็นภาพเชิงบวกที่ดูดีในเชิงประชาสัมพันธ์ สอดรับกับการเดินหน้าเปิดประเทศของรัฐบาล

แต่ถ้าพิจารณาข่าวสารจากสำนักข่าวต่าง ๆ ที่เสนอผ่านสื่อโชเชี่ยลออนไลน์ ที่มีความเป็นอิสระในการนำเสนอกันให้ดี แล้ว จะเห็นความย้อนแย้งในปรากฎการณ์แห่งความเป็นจริงในการเปิดเรียนภาคการศึกษา 2/2564 ในรูปแบบ On-Site หลายอย่าง ยังมิอาจวางใจได้  

โดยเฉพาะการเตรียมการในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนของบรรดาสถานศึกษา ต้องเข้าร่วมการประเมินตนเอง มีแบบเช็คลิสต์ ตามระบบ Sandbox Safety zone in School ประมาณ 20 ถึง 30 ข้อ และเข้มงวดในมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ดูดี แต่สงสัยในเชิงปฏิบัติ

เป็นประเด็นสืบเนื่องมาจาก นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่า มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งเปิดเรียน On-site 12,000 แห่ง สามารถเปิดเรียนตามประกาศศธ.ได้ จากทั้งหมด 37,149  แห่ง

ตอกย้ำ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของ ผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ   

ไม่วายมีข้อสังเกตว่า ผ่านมาแค่ 4 วัน  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงว่า มีโรงเรียนเข้าร่วมการประเมิน 35,114 แห่ง สามารถเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย เพราะทุกแห่งผ่านการประเมินครบทุกข้อแล้ว

นั่นแสดงว่า การทำงานของ ศธ.กับสธ.นี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกินสมรรถนะเกินชาติใด ๆ น่าชมเชย ที่สามารถใช้เวลาดำเนินการประเมิน ร.ร. จำนวน 25,149 แห่ง จนเห็นผลและรับรองผลได้ภายใน 4 วันทำการ เท่ากับว่าจะเหลือร.ร.ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงก่อนเปิดอีกเพียง  2,035 แห่ง เท่านั้น ควรต้องได้ผลการรับรองจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดในช่วงชั่วโมงต่อไป   

รวมไปถึง มีข้อสังเกตตามมาถึงเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขใหม่ของศธ.  ระบุว่า นักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 5 ล้านคน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เกินร้อยละ 80 และการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กลุ่มครูและบุคลากรต้องร้อยละ 100  จึงจะเปิดโรงเรียนได้

เมื่อย้อนดูรายงานตัวเลขเมื่อวันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 เพียง 2-3 วัน. มีการรายงานตัวเลขฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียนได้แค่ ประมาณ 1,325,527 คน และหลังจากนั้น กลับมีตัวเลขอัพเดตนักเรียนนักศึกษาอายุ 12 ปี ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ พุ่งขึ้นไปเป็น 2,833,447 คน จากนักเรียนจำนวนประมาณ 5 ล้านคน นับว่าเป็นการฉีดที่มีประสิทธิภาพสูงเกินคาด  

ซึ่งตัวเลขที่ยกอ้างมาให้เห็นนี้ มาจากการแถลงข่าว แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรายงานการเปิดเรียนที่ 2  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ของสพฐ.ที่เป็นทางการ จะมีความละเอียดต่างกันไปตามลักษณะของวัตถุประสงค์ในการนำเสนอ อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีข้อความแถลงแบบตอกย้ำทุกครั้งตามว่า ยังมีจำนวนนักเรียนที่มีความประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นโดยตลอด ส่วนครูได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 90 แล้ว ตัวเลขนี้พอรับได้

เมื่อย้อนไปหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขของกลุ่มนักเรียนที่ได้รับการฉีดยาเพิ่มขึ้นนับกว่าล้านคนในช่วงเวลาเพียง 2-3 วันกับความสัมพันธ์ของบุคลากรของสธ.ที่ลงมาปฏิบัติงาน นับเป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญอีกเช่นกัน เมื่อมองถึงเพื่อความปลอดภัยของ ผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ ดังที่ ศธ.ยกกล่าวอ้างไว้  

ข้อสังเกตประการต่อมา คือ การที่กระทรวงสาธารณสุข ขอผู้ปกครองให้มั่นใจว่า โรงเรียนที่จะเปิดการเรียนการสอนได้นั้น ต้องมีมาตรการครบถ้วน มีการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ ทุกแห่งมีแผนเผชิญเหตุ หากพบการติดเชื้อสามารถจัดการได้ทันที อีกทั้งกรณีที่เกิดความเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน อาจปิดเพียงแค่ห้องเรียน ชั้น หรืออาคารเรียน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ จะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง

ซึ่งในสภาพความจริงดังกล่าว เป็นเพียงแค่คำปลอบใจ เตือนใจ เท่านั้น มิใช่คำรับรองว่า เมื่อ ร.ร.เปิดการเรียนการสอนแบบ On-site แล้วทุกชีวิตจะปลอดภัยจากโควิด-19 เสมอไป และ การที่ออกมาบอกในทำนองดังกล่าว ในสภาพความเป็นจริงที่ผ่านมา คือ ต้องปิดทั้งโรงเรียน ตามมาด้วยความยุ่งยากอีกหลายขั้นตอนกว่าจะเปิดสถานศึกษาได้

และไม่มีใครใน ศธ.หรือ สธ.สักคน ออกมายืดอกรับประกันความเสี่ยง พร้อมชดใช้หากเกิดเหตุนั้นจริง ๆ  

แม้แต่การให้คำมั่นใจว่า โรงเรียนที่จะเปิดการเรียนการสอนได้นั้น มีมาตรการครบถ้วน มีการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ คงต้องยอมรับสภาพความจริงอีกเช่นกันว่า ส่วนใหญ่แข็งขันได้ดีในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำนองปลูกผักชีโรยหน้า มากกว่าจะทำต่อเนื่องจริงจัง  

จึงไม่แปลกที่ นักวิชาการ ผู้บริหาร และครู ผู้ปกครอง หลายท่านแสดงความเป็นห่วง ในทิศทางเดียวกันว่า การที่ ศธ.ปล่อย ร.ร.เปิดเทอม 2 ให้ น.ร.มา On Site เพียงวันเดียวต่อสัปดาห์ หรือสลับกันมาเรียนซึ่งมีทั้งเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดยาและไม่ได้ตรวจคัดกรองโควิด-19 ทุกคน รวมทั้งความไม่เข้มในการทำตามกฎเกณฑ์ นับหมื่นสถานศึกษา ย่อมนำไปสู่การสุ่มเสี่ยงคลัสเตอร์ระลอกใหม่ กระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ปกครองในการตัดสินใจส่งบุตรหลานเรียนออนไซต์

ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างความยุ่งยาก เพิ่มภาระงานและความเครียดของครูขึ้นอีกเป็น 2 เท่า เนื่องจากต้องเตรียมการสอนทั้ง On-site และ on-Line ในแต่ละวิชาที่รับผิดชอบ นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เน็ตของค่ายมือถืออีกด้วย

 

ในโอกาสนี้ สำนักข่าวออนไลน์ Edunewssiam ขอทวงคำมั่นสัญญาที่ น.ส.นงนุช เทียนทอง รมว.ศธ.นอกจากจะขอให้ ครม.จัดสรรเงินเยียวยานักเรียน ทุกคนทุกสังกัด 2,000 บาทต่อคนแล้ว ยังได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับสถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง  โดยแจงเหตุผล เพื่อนำไปใช้จัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ จัดทําสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์  โดยจะจัดเช่าอุปกรณ์ พร้อมสัญญาณ จํานวน 200,000 ชุด ให้นักเรียน/นักศึกษากลุ่ม ป.4 - ม.6 และ อาชีวศึกษา ใช้ยืมเรียนรองรับการเรียนแบบออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 400 ล้าน   

ณ วันนั้น ครม.ได้ให้มาแล้ว  แต่ยังไม่เห็นรายการหรือความคืบหน้าจากเรื่องนี้แม้น้อยว่า ดำเนินการอะไรไปบ้าง   

 

อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ ร.ร. แต่ละแห่ง พิจารณาโยกย้ายเปลี่ยนกระบวนการเรียน โดยให้นักเรียนไปโรงเรียนแค่เพียง 1 วัน ส่วนอีก 4 วัน หรือสลับชั้นมาเรียน แบบวันคู่ วันคี่  เรียน 5 วันหยุด 9 วัน หรือแบ่งนักเรียนในห้องเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นการเรียนแบบ Online อยู่กับบ้านหรือจะสลับกลุ่มเรียนหมุนเวียนกัน

แม้จะเป็นแนวทางที่น่าจะเหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์  ติอใจตรงที่ ศธ.ก็ไม่มีงานวิจัยหรือกรณีศึกษาเข้ามารองรับ  แม้จะสร้างความสบายใจได้บ้างแต่ก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด- 19 อยู่ดี

หากมองในมุมของผู้ปกครอง ไม่เพียงแค่ห่วงว่าลูก ๆ หลาน ๆ จะนำเชื้อโควิด-19 กลับมาติดครอบครัว เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ฉีดวัคซีน โอกาสที่จะเกิดคลัสเตอร์ก็มี แต่หากจะให้เรียน online ต่อไปที่บ้าน ก็จะยิ่งเครียดหนักทั้งตัวเองและมีผลถึงตัวเด็ก เนื่องจากยังต้องรับบทหนักและภาระไม่น้อยไปกว่าครูเช่นกัน

จึงมิแปลกใจกับเสียงเรียกร้องให้ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องปรับบทบาทและหาทางช่วยเหลือครูและผู้ปกครองให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการเฝ้าติดตามประเมิน Thai Save Thai อย่างต่อเนื่องจริงจัง มากกว่าจะนั่งรอรายงานผลตัวเลขจากพื้นที่ไปวัน ๆ

เป็นห่วงอยู่ว่า  ความเสี่ยงภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ละลอดใหม่ ในสถานศึกษา อาจจะกลายเป็นบทเรียนที่ทำให้ผู้บริหารบางโรงเรียนต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และวินัยด้วยหรือไม่ ฐานโรงเรียนไม่มีการคัดกรองความปลอดภัยให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษาทุกคน อย่างรัดกุมเพียงพอ อันก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองเป็นความหละหลวมทับซ้อนกันหรือไม่ โดยเฉพาะการไม่ได้ตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้กับนักเรียน

ก่อนที่จะกลายเป็นลักษณะ “วัวหายแล้วล้อมคอก”  

ตบท้าย  ของอนุญาตนำความในใจจากผู้อ่าน เป็นตัวแทนยกมาให้อ่านกัน  

ฉัตร เกล้า : ที่สำรวจซิมอินเตอร์เน็ตไป ถึงไหนแล้วครับไป

Rungrote Satt : ไหนข่าวบอก ร.ร. เปิดเรียนตามความพร้อม สุดท้ายทำไมต้องขออนุญาตกระทรวง รร.ลูกส่งเงื่อนมาให้ดู ทั้งผู้ปกครองต้องฉีดครบ 2 เข็ม เด็กอนุบาลต้องตรวจ ATK ทุก 2 สัปดาห์ แบบนี้คงเปิดเรียนยากครับ แถมเด็กคงกลัวการตรวจ ATK ขนาดเปิดห้าง เปิดร้านอาหาร เสี่ยงกว่า ร.ร. ยังแค่ตรวจวัด อุณหภูมิเอง เรียนออนไลน์ก็ไม่ได้ความรู้ จอโทรศัพท์ก็เล็ก ค่า net อีก สอนก็เร็ว เด็กก็ไม่ตั้งใจ เด็กอนุบาล คนแก่อยู่บ้านดูแลก็ใช้ zoom ไม่เป็น อะไรเพี้ยนหน่อย กดต่อไม่ได้ วันนั้นเป็นอันอดเรียนครับ เมื่อวานไปเที่ยวมา คนยังกะมดเสี่ยงติดมากกว่า ร.ร. ยังเปิดให้เที่ยวกันง่ายๆ

Anuchart Jantacad : ไหนบอกเปิดonsitevได้ ครูต้องฉีดวัคซีน 85% ตอนนี้บังคับเป็น 100%แล้วครับ ครูไม่ฉีดก็บังคับถ้าตายไปทำไง เขตบังคับมาให้ฉีด 100% ถ้าวัคซีนดีๆมา ทำไมครูจะไม่อยากฉีดละครับ เฮ้อออออออ เหนื่อยใจมากกครับ คนบนหอคอย!!!!!

Sima Yi  : วัคซีนเข็ม 2 เด็กยังฉีดไม่ครบ ถึงครบก็รอภูมิคุ้มกันขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อถือว่ายังสูง บนความไม่แน่นอน เปิด ๆ ปิด ๆ ปัดไปออนไลน์ก็มีปัญหา ก็ขอเสนอให้เลื่อนเปิดเทอมไปเถอะ 15 พ.ย. ทุกอย่างพร้อมค่อยว่ากันอีกที อย่าเอาชีวิตเด็ก ครู ผู้ปกครอง ไปเสี่ยงเลย แล้วเลื่อน กิจกรรม ภาระกิจอื่น ๆ ออกไปด้วย เปิดเทอมปี 65 เป็นเดือน มิย ก.ค. ก็พอเป็นไปได้ครับ

Niwet Buathongsai  : ครูได้รับวัคซีนชิโนแวค กับเอสตร้า ถ้าครูและและครอบครัวติดโควิด แล้วไม่ได้สอนนักเรียนต้องไปรักษาตัว รัฐบาลจะแก้ไขยังไงครับ

Anuchart Jantacad  : ประเมิน 44ข้อ ขออนุญาตนะครับ มี รร ไหนจะประเมินไม่ผ่านบ้างครับ มันก็ผ่านหมดแหละท่าน บางโรงรอบๆๆ รร ยังติด ล้อมเลย ผ่าน น น น ครับ คืออะไร?

เพียว เพียว : เด็กเล็กเด๋วก็มือป้ายจับโน่นนี่ระวังไหวเหรอคะ atk ใครออกค่าใช้จ่ายคะ ถ้าติดเชื้อใครออกค่าใช้จ่ายคะ เดือดร้อนก็ผปค.อีกนั่นแหละ สุดๆละรัฐบาลชุดนี้

AppleBarbie LittlePrime SweeTie : รีบเปิดจัง ยังไม่พร้อมก็ดึงดันจะเปิด เด็กเล็กดูแลตัวเองไม่ได้ ครูดูแลไม่มีทางทั่วถึง ผปค. บางคนยังไม่ได้รับวัคซีนสักเข็มยังกล้าเปิด

หิน ฟรินสโต : ยังไม่ทันเปิดเลยมีกลายพันธุ์มาอีกแล้วเดลต้าพลัสข่าวว่าติดง่ายกว่าทุกตัวที่มีก่อนหน้านั้นถ้าเปิดโรงเรียนแล้วมีเด็กๆติดจะมีวิธีดูแลเด็กๆยังไงครับ

Anuchart Jantacad : สพฐ โยนเขต เขตโยนโรงเรียน ผอโยนครู .... ทำไมท่านพูดง่ายจังครับ หน้างานไม่เห็นเหมือนท่านพูดเลยครับ บอกตรงๆๆ ครูปฏิบัติยากมากครับ คนคิดคนพูดง่ายครับ

Niwet Buathongsai : เด็กเรียนออนไลน์อย่างน้อยก็ยังได้เรียน แต่ถ้าเด็กไป รร แล้วติดโควิด แล้วเอาเชื้อมาติดคนในครอบครัวจะพากันไม่ได้เรียน และดีไม่ดีต้องมาลำบากกับการเข้าถึงการรักษา จะพาให้ไม่ได้เรียนหนักกว่าเดิม รัฐบาลอย่าโฟกัสว่าเด็กจะปลอดภัยอย่างเดียวนะ ช่วยมองภาพรวม คนในครอบครัวเด็กด้วย ต้องอยู่กับโควิด นี่คือเล่นกับความเป็นความตายเลยนะ เด็กฉีดไฟเซอร์ แต่ถ้าเอาเชื้อมาติดคนในครอบครัวที่ฉีดชิโนแวคล่ะ เปิด ร.ร. เปิดประเทศ แค่ผู้บริหารไม่มีความพร้อมสักอย่าง ฝากไว้ให้คิด

สุมา จิ้น : เปิดเพื่อเอาเงินค่าต่างๆ ไปเรียนสักพักสั่งหยุดตามเดิม พูดดูดีจัง แต่......

รัชพัษวีย์ เรืองมีสุข : อย่าเร่งจนไม่ดูผลกระทบระยะยาวนะคะ

Pu Apipornmatatip: ผู้ปกครองแต่ละท่านทำงานมีความเสี่ยงไม่เหมือนกันคะ ดังนั้น โอกาสที่เด็กๆจะติดโรคมีโอกาสสูงอยู่คะ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่ยังไม่มีความสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่

Wani Kurusni : ถ้าผู้ปกครองของนรไม่ฉีด แล้วนร.มาเรียนก็เสี่ยงพาเชื้อมาติดเพื่อนๆที่รร นะค่ะ ควรสำรวจผู้ปกครองด้วยค่ะว่าฉีดหรือยัง แล้วแยกวิธีเรียนให้นร. ด้วยด้วยค่ะ

สมพร คงดี : เรียนกับท่านรัฐมนตรีทราบครับจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะ สพป.นศ.3 คงเปิดเรียน On sife ไม่ได้ด้วยสถานการณ์ Covid19 ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องคงจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่จัดในภาคเรียนที่ 1/2564

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)