ตามหา! เว็บไซต์กลาง ศธ. www.moe.go.th หายไปไหน ?

 

เสวนากับบรรณาธิการ 3 กรกฎาคม 2564

 

เว็บไซต์กลาง ศธ. www.moe.go.th หายไปไหน ?

ถามหา! ความสง่างาม 'ว่าที่องค์การมหาชน'

"ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป.ศธ."

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์   :  บรรณาธิการ

 

จำได้ว่า เรื่องราวของความคิดที่จะแยกยก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป. ศธ.) ออกไปเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับของ รมว.ศธ. เมื่อประมาณเดือนเมษายน ที่ผ่านมาจาก ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เพื่อให้เกิดความคล่องตัวรองรับอนาคตรัฐบาลดิจิทัล ตลอดการจัดทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า  จึงควรจะเป็นหน่วยงานคลังข้อมูลการศึกษาขนาดใหญ่ ที่จะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายแล้ว 

 

นับเป็นความคิดและน่าจะเป็นนิมิตหมายอันดี ที่สังคมหวังได้เห็น Big Data ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ. จะได้เป็นกลไกสําคัญกลไกหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การบูรณาการด้านโครงสร้างข้อมูล ทั้งการจัดการ การวิเคราะห์หาคุณค่าจากข้อมูล ทั้งการเลือกใช้เครื่องมือ และส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการข้อมูลเข้าไปช่วยการเรียนการสอน การวางแผนบริหารการศึกษา หลักสูตร แนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล ตลอดจนข้อมูลบุคลากร สามารถขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายและบังเกิดผลเป็นรูปธรรม ได้รวดเร็วขึ้น

 

 

 

ไม่เพียงแค่นั้น ยังรวมไปถึงการเรียกดูข้อมูล Big Data ของ ศธ.ได้ทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่และทุกเวลา ทั้งในรูปแบบกราฟิก ตารางสรุปข้อมูลสถิติ ข้อมูลภูมิสารสนเทศสถานศึกษา ครู บุคลากร นักเรียน และครอบครัว ตลอดถึงตรวจการเบิกจ่ายงบประมาณ ป้องกันความเสี่ยงต่อการรั่วไหลได้อีกด้วย  

 

แต่เท่าที่ผ่านมาในช่วง 4- 5 ปี หากจะพินิจถึงผลงานของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ. อาจเรียกได้ว่า ค่อนข้างถอยหลังเข้าสู่ภาวะวิ่งตามหลังหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่ต่างให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาบริหารจัดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพและประสิทธิผล สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย ในหน่วยงานของตน

 

หากจะนำไปเปรียบเทียบกับองค์การมหาชนหลายแห่ง อย่างเช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็ยังไม่รู้ว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ. จะเอาอะไรไปยืดอกคุยอวดกะเขาได้บ้าง

 

 

ดังนั้น การที่จะยกศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ. ผงาดขึ้นเป็นองค์การมหาชน ที่บอกว่าขึ้นกับ รมว.ศธ. โดยคิดว่าน่าจะสอดรับอย่างลงตัวกับการคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนประจำกระทรวงขึ้นในเร็วๆ นี้ ว่าจะมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไรบ้าง ก็เป็นความคิดที่ดี และสมควรตั้งขึ้นมาตั้งแต่ครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาด้วยซ้ำ 

 

แต่ก่อนที่จะตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน ศธ. ก็ลองสำรวจและประเมินภาพรวมพฤติกรรมองค์กรให้แน่ใจเสียก่อน มิเช่นนั้น ไม่เพียงเป็นเรื่องเปลืองตัว ยังเปลืองงบฯในการจัดซื้อจัดหาทรัพยากรที่มีคุณภาพมาใช้งานอีกด้วย (ฮา) 

 

ว่าไปแล้ว ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศธ. มีกลุ่มอำนวยการและแผนดิจิทัล (กอผ.)  กลุ่มดาต้าเซนเตอร์และเครือข่าย (กดค.) กลุ่มแพลตฟอร์มการบริหารจัดการและเว็บไซต์ (กพว.) กลุ่มแพลตฟอร์มการเรียนรู้และสื่อสังคมออนไลน์ (กพส.) และศูนย์ข้อมูลการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศขศ.)

 

มองผาด ๆ ทั้ง ชื่อ “ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ.” แทบจะแยกไม่ออกว่ามีภาระงานแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งน่าจะมีการทำงานซ้ำซ้อนแบบหนา ๆบาง ๆ  ขุ่นบ้าง ใสบ้าง กับ “ศูนย์สารสนเทศ สำนักงานปลัด ศธ.” ซึ่งทำหน้าที่หลักด้านงานประชาสัมพันธ์ให้กระทรวงศึกษาธิการมายาวนาน ที่อาจจะมีหลายคนเข้าใจว่า อยู่ในสายงานเดียวกัน เมื่อมองในแง่ของการประมวลข้อมูลมาใช้

 

ประกอบกับ มีเสียงที่แสดงความสงสัยจากผู้คนที่กำลังเสิร์ชหาเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th ผ่าน Google ในช่วงหลัง ๆ ไม่ว่าจะเสิร์ชหาจากคำว่า “ศธ.” , “กระทรวงศึกษาธิการ” หรือแม้แต่ “www.moe.go.th ทำไมจึงไม่ปรากฏให้เห็นชื่อเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th

 

แต่กลับไปปรากฏชื่อสื่อโซเชียล ศธ.360 องศา - Home | Facebook , ศธ.360 องศา https://moe360.blog , กระทรวงศึกษาธิการ-Home | Facebook , กระทรวงศึกษาธิการ–เว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ , หน้าหลัก - ops สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

 

สงสัยกันมากว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th หายไปไหน? ทั้งๆ ที่เป็นเว็บไซต์เครดิตหน่วยงานราชการไทย .go.th เป็น Domain name สำหรับหน่วยงานรัฐบาล และส่วนราชการ กระทรวง หรือหน่วยงานสังกัดรัฐบาลไทย

 

 

 

เหตุใดถึงไปปรากฏสื่อโซเชียล ศธ.360 องศา-Home | Facebook , ศธ.360 องศา https://moe360.blog , กระทรวงศึกษาธิการ - Home | Facebook , กระทรวงศึกษาธิการ–เว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ , หน้าหลัก - ops สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 

 

ร้อนมาถึง สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ต้องอาสาค้นหาคำตอบ พยายามจนกระทั่งสามารถเปิดเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th ได้ในที่สุด จึงถึงบางอ้อ!!

 

 

 

เปิดมาหน้าแรกเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th โดดเด่นด้วยหัวข้อภารกิจรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.ตรีนุช เทียนทอง โพสต์ข่าวภารกิจล่าสุดเมื่อวันที่ 04 มิถุนายน 2564 แต่ ณ วันนี้ วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 แล้ว

 

เปิดต่อเข้าไปในหมวดแนะนำกระทรวงศึกษาธิการ หัวข้อประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ยังระบุข้อมูลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2562-ปัจจุบัน ทั้งที่เปลี่ยนเป็น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง มากว่า 3 เดือนแล้ว

 

 

ชัดเจนว่า ด้วยความล้าสมัยของข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th ส่งผลโดยตรงให้ประชาชน ผู้คนในสังคมเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งที่ยังประจำการและที่เกษียณไปแล้ว ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ทำไมถึงไม่สนใจเสิร์ชหาข้อมูลทางการศึกษาจากเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th อีก แม้กระทั่งระบบการเสิร์ชหาเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th ผ่าน Google แทบจะไม่ได้ถูกบันทึกให้เป็นปัจจุบันทันเหตุการณ์ในช่วงระยะหลังมานี้

 

แล้วเพราะเหตุใดล่ะ จึงเกิดสภาพเช่นนี้ได้กับเว็บไซต์กลางกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเว็บไซต์หน่วยงานราชการไทย ทั้งที่ในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์กลางมีบทบาทความสําคัญ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปต่างนํามาใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสารถึงกัน      

                                                                                 

 

 

เนื่องจาก เว็บไซต์ เป็นแหล่งสารสนเทศที่สำคัญทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีจุดประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์ และระบบอินเทอร์เน็ตยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ข้อมูลเหล่านั้นจะกระจายสู่สังคมอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเมื่อมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทุกวัน มิหนำซ้ำเรื่องความครอบคลุมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนี้ยังถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติอีกด้วย 

 

เนื่องจาก ประชากรจำนวนมากรับฟังข่าวสารจากระบบอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ องค์กรภาครัฐ หน่วยงานต่าง ๆ นิติบุคคล หรือกระทั่งบุคคลธรรมดา หลากอาชีพหลายสาขาจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสื่อทางอินเทอร์เน็ต 

 

 

ทั้ง ๆ ที่การมาของ Social Media ทำให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและกลุ่มสารนิเทศ สำนักงานปลัด ศธ. สามารถทำให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของเว็บไซต์ กระจายได้รวดเร็ว และสามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไขและเพิ่มสารสนเทศบนเว็บไซต์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยแทบทุกแฟลตฟอร์มจะมีการเชื่อมโยงกันภายในเว็บไซต์สื่อต่าง ๆ ได้กว้างขวางยิ่งกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำ  

 

แปลกใจว่า ทำไมกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะดูใหญ่โตเต็มไปด้วยทรัพยากรพร้อมทั้งบุคลากรและงบประมาณในการลงทุนเพิ่มด้วยการทุ่มงบซื้อเวลาทางช่องดิจิตอลโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ และ ระดมสร้างเพจออนไลน์มากมายบนหน้าจอ ไม่เว้นแม้ผู้บริหารระดับสูงในแต่ละแท่ง พากันแข่งกันสร้างช่องสื่อออนไลน์แจงนโยบายรายวัน แทนที่จะเป็นเรื่องดีมีประเด็นน่าติดตาม กลายเป็นเรื่องชวนเบื่อหน่ายไปก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ MOE ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักขององค์กรเอง ยังมีความสําคัญต่อผู้ที่พยายามเข้าไปใช้บริการ สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในเว็บไซต์ที่อ้างอิงได้มากที่สุด กลับมีข้อมูลมีบกพร่อง เนื่องจากขาดความใส่ใจในการตรวจสอบแก้ไขและ เติมเต็มให้สมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เพียรเข้าถึง มีความรู้สึกในด้านลบและขาดความเชื่อถือในที่สุด   

 

ดังนั้น ความพยายามยกแยกศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ. ขึ้นเป็นองค์การมหาชน รวมถึงการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนประจำกระทรวง ภายใต้การกำกับของ รมว.ศธ. น่าจะเป็นงานเข็นครกขึ้นภูเขา เท่านั้น !!

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)