“น้ำคือชีวิต” พระราชดำรัส..สู่ วษท. ปั้น'ชลกร'แก้น้ำแล้ง น.ศ.เรียน-อยู่ฟรี

 

คุยกับบรรณาธิการ 20 พ.ค.65

 

 

“น้ำคือชีวิต” จากพระราชดำรัส

สู่..วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี

ปั้น 'ชลกร' แก้น้ำแล้ง คนรุ่นใหม่เรียนฟรี-อยู่ฟรี

น้ำเป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง เป็นหัวใจหลักสำหรับทุกชีวิตบนโลก โดยเฉพาะในภาคการเกษตรยิ่งมีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าหากขาดน้ำการทำการเกษตร งานฟาร์มต่าง ๆ ย่อมเกิดเสียหายและไม่ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

                 Cr.The Little Earth Farm View

จะเห็นได้จากปัจจุบัน ภาคการเกษตรต้องประสบปัญหาด้านการผลิตมาตลอด โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลง เกิดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ทั้งราคา ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสภาพการณ์โรคอุบัติใหม่ ส่งผลกระทบต่อรายได้และการดำรงชีวิตของเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น น้ำยังเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ และสรรพชีวิต ไม่ว่าจะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การประกอบอาชีพทั้งการเกษตรอุตสาหกรรมหรือการบริโภคเพื่อดำรงชีวิต เมื่อน้ำเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการดำรงชีวิตทำให้ความจำเป็นและความต้องการน้ำนั้นมากขึ้นในทุกวัน

แต่ในการใช้น้ำในปัจจุบัน กลับสวนทางกับสภาวะขาดแคลนน้ำอย่างน่าวิตก อาจด้วยเพราะวิถีโลกวิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป แม้จะมีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่รับรู้กันมานานว่า จะมีผลกระทบต่อสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนพื้นโลกมากมายเพียงใดในปัจจุบันและอนาคต...

 

ไม่มีต้นไม้ ไม่มีป่า น้ำหาย เกิดความแห้งแล้ง ภาวะโลกร้อนเกิดตามมา หน้าฝนน้ำมาก ไหลหลากบ่าท่วมทำลายผลผลิต กระทั่งชีวิต ทรัพย์สิน เพราะขาดกำแพงธรรมชาติที่เกื้อกูลกันปะทะบรรเทาให้หนักเป็นเบา เมื่อถึงหน้าแล้งในภูมิภาคต่าง ๆของไทย กลับประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ 

 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของน้ำ ทรงตระหนักด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎร จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นลำดับแรก พระราชทานพระราชดำรัส เสมอว่า “น้ำคือชีวิต”....  พระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ 

เนื่องจากได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ทรงได้แรงบันดาลพระราชหฤทัยเรื่องบริหารจัดการแหล่งน้ำจากครูสอนวิทยาศาสตร์ เมื่อพระชนมายุ 10 พรรษา ในการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร,โครงการชลประทาน,โครงการฟื้นฟูป่า,โครงการอนุรักษ์ดินและน้ำทั้ง จากเอกสารและรายงานทางวิชาการที่ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ จากนั้นทรงศึกษารายละเอียดจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ถึงพิกัดที่ตั้งหมู่บ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกล และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจสภาพพื้นที่ภูมิประเทศจริงทรงกำหนดโครงการต่าง ๆ ขึ้นบนแผนที่

“...อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทานหรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้วสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียน ภูเขาต้องมีป่าไม้ อย่างนั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไปก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ดินและเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอดตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี่นะ เรียนมาตั้งแต่ 10 ขวบ...” 

พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2512                                                                                 

นอกจากนี้ ยังพระราชทานแนวพระราชดำริในการสร้างฝายน้ำลำธาร หรือ Check Dam คือ สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณเป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถดักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่างซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้มากวิธีหนึ่ง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้กับพสกนิกรของพระองค์ ได้ตระหนักรับรู้มาถึง ณ วันนี้

อย่างไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดที่มากกว่าการรับรู้ คือ การที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมนำพระราชดำรัส ไปพัฒนา สืบสาน ต่อยอด “น้ำคือชีวิต” ด้วยการจัดทำหลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร หรือ “ชลกร” รุ่นที่ 1 โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยขับเคลื่อนผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สอศ. ใน 5 วษท.นำร่องหลักสูตร "ชลกร"  เปิดสอนในระดับ ปวส.เป็นครั้งแรกไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา

 

ประกอบด้วย  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด

แรกนั้นหวั่นใจจะไม่มีผู้สนใจเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นชิน แต่ปรากฏว่า มีนักเรียนสนใจสมัครเกินครึ่งของจำนวนที่ วษท.จะรับได้

บนความคาดหวังว่า การสร้าง “ชลกร” คนรุ่นใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำในชุมชนต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างโมเดลต้นเเบบการกักเก็บน้ำรองรับน้ำฝน บนพื้นที่อาชีวะเกษตรก่อนขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยกระทรวงศึกษาจะใช้กลไกของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 176 แห่งทั่วประเทศในสังกัด สอศ. เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญ คอยสนับสนุนให้องค์ความรู้

ดังนั้นหลักสูตรสร้างชลกร เท่ากับเป็นการสร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ออกไปช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชนด้วยตนเอง และสร้างประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อชีวิตที่พอเพียง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนให้สามารถดำเนินการต่อเองได้  ถือเป็นครั้งแรกและเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ระดับ ปวส. เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปี โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และยกระดับคุณภาพชีวิตแก้ไขความยากจน

เท่ากับเป็นการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างนักบริหารจัดการน้ำ ผู้เชี่ยวชาญน้ำ ให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ลงไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนของตนเอง และการเรียนการสอนต้องมีการลงไปในพื้นที่ชุมชน นักชลกรจึงต้องเป็นผู้ให้ความรู้ คำแนะนำ และช่วยจัดการแก้ปัญหาน้ำแล้ง การขาดแคลนน้ำต่าง ๆ รวมถึงการสร้างโมเดลต้นเเบบการกักเก็บน้ำรองรับน้ำฝนในชุมชนให้ได้

อีกทั้งหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ภายใต้สาขาวิชาช่างกลเกษตรนี้ ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการน้ำระดับสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เข้ามาร่วมกันจัดทำหลักสูตร ภายใต้ โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ" ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธินโยบายสาธารณะไทยเบื้องต้น 100 ล้านบาท ในการสร้าง “ชลกร” คนรุ่นใหม่

ผู้ที่จบหลักสูตรนี้ สามารถไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้หลายสาขา เช่น สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร สาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สาขาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรอัตโนมัติ และสามารถสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ ถือเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

ผู้ที่เรียนหลักสูตรชลกรทุกคน จะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียน โดยได้รับการงดเว้นค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 2 ปี  และได้รับสวัสดิการหอพักฟรีภายในวิทยาลัย ( ขึ้นอยู่กับความพร้อมของวิทยาลัย ) ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ขยัน วษท. พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคน เรียนฟรี อยู่ฟรี จนจบการศึกษา

ว่าไปแล้วในเรื่องนี้ หากไม่มี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกแรงผลักดัน หลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำฯ หรือ "ชลกร" ก็น่าจะเกิดยาก

แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อสืบสานต่อยอด ด้วยเข้าถึงพระดำรัส “น้ำคือชีวิต” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้เห็นการเรียนรู้การจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ผู้คน ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ ช่วยแก้ความยากจน แก้ภัยแล้งที่รุนแรง น้ำท่วม น้ำหลาก ให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

และเห็นเป็นรูปธรรมว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งขับเคลื่อนผ่านวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จนเกิดเป็นหลักสูตร ชลกร ได้เปิดสอนในระดับ ปวส.เป็นครั้งแรกไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีการศึกษา 2564 ได้ดำเนินโครงการมาเพียง 1 ปีเศษ แต่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ใน 5 วิทยาลัยเกษตรภาคอีสานนำร่อง ทำให้เกิดการตื่นตัวเห็นความสำคัญและประโยชน์จาก “น้ำ” ซึ่งถือเป็นรากฐานของความยั่งยืนประเทศ

ซึ่งปรากฏว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีนักเรียนสนใจสมัครเข้าศึกษาจนเกินจำนวนที่รับได้ ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาอาชีวะเกษตรให้มีความน่าสนใจและทันสมัยด้วยองค์ความรู้ในระดับสากล

ไม่เพียงเท่านั้น หลักสูตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร หรือ ชลกร ยังมีกิจกรรมเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ปลูกพืชสามอย่างเพื่อประโยชน์สี่อย่าง การปลูกหญ้าแฝกเพื่อกันการพังทลายของดินเพื่อความชุ่มชื้น การปลูกไม้มีค่าปลูกไม้ยืนต้น เพิ่มเติมโดยเฉพาะไม้มีค่า ให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นในวิทยาลัยให้มากที่สุด

รวมถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิดในพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัววิทยาลัยเอง และชุมชนโดยรอบ รวมถึงตัวนักศึกษาหลักสูตรชลกร ที่จะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง 

ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาอาชีวะเกษตร ให้มีความน่าสนใจและทันสมัยด้วยองค์ความรู้ในระดับสากลได้ดีทีเดียว  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และการขยายหลักสูตร “ชลกร” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ประเทศในอนาคต จะทำให้ภาคการเกษตรของเราเข้มแข็งและมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปใช้ได้จริง ต่อยอดได้ หรือเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบโจทย์การศึกษาสายวิชาชีพยุค New Normal สามารถก้าวข้ามวิกฤติได้ในทุกสถานการณ์   

และในปีการศึกษา 2565 นี้ จะเปิดหลักสูตร "ชลกร" รุ่นที่ 2 โดยขยายไปอีก 7 วิทยาลัยเกษตรฯ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา, บุรีรัมย์, ขอนแก่น, อุดรธานี, ชัยภูมิ, สระแก้ว และสุโขทัย ซึ่งจะขยายไปทุก วษท.ที่มีความพร้อมในปีการศึกษาต่อไป   

อย่างไรก็ตาม "ชลกร" รุ่นที่ 2 กำหนดเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับ ปวส. ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จะมี สาขาช่างกลเกษตร สาขางาน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2565  โดยนักศึกษาได้รับการงดเว้นค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 2 ปี  ได้ทุนเรียนฟรี อยู่ฟรี จนจบการศึกษา เหมือนเดิม

การเปิดหลักสูตร "ชลกร" ถือเป็นหนึ่งในภารกิจ และ แผนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นการสนองพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรเพื่อให้มีน้ำกิน น้ำใช้ และแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)