บทเรียนราคาแพง “คุ้มหรือไม่” เมื่อศธ.จ้างมหาลัย'รับงาน ผิดพลาด

 

บทเรียนราคาแพง “คุ้มหรือไม่”

เมื่อศธ.จ้างมหาลัย'รับงาน ผิดพลาด

 

แม้ว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จะออกมายอมรับในความผิดพลาด ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่เป็นข่าวล่าสุด ในฐานะหน่วยงานจัดสอบและออกข้อสอบ ตรวจสอบข้อมูลในการตรวจคะแนนสอบ‘ผอ.สพท.’คลาดเคลื่อน โดยได้ออกแถลงการณ์ ขออภัยเป็นอย่างสูง และต่อผู้เข้ารับการคัดเลือกที่ได้รับผลกระทบ คณะกรรมการสรรหาฯ และ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.ค.ศ. ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยอมรับผิดและยินดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น  ไปแล้วก็ตาม

 

อีกทั้ง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งผิดพลาดทั้ง 4 ราย  จะยอมรับผลการตรวจสอบคะแนนใหม่ จากเดิมที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะกลับไปเป็น รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตามเดิม แต่ดูเหมือนว่า เรื่องยังไม่จบ แค่นั้น เนื่องจาก ยังมีข้อร้องเรียนและกระแสติติงอย่างร้อนแรง จากกลุ่มรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลฯอีกครั้ง  โดยอ้างว่า อาจจะมีข้อผิดพลาดที่จะทำให้ไม่มีความเป็นธรรมอีกก็ได้

 

 

คราวนี้ส่งผลไม่เพียงทำให้ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เท่านั้นที่ประกาศชัดเจนว่า จะมีการทบทวนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตอีกครั้ง เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง  และแม้แต่ที่ประชุมใหญ่ ยังได้สำทับแบบตัดบัวไม่เหลือใยอีกด้วยว่า ได้มอบหมายให้ ก.ค.ศ.ไปดำเนินการทางกฎหมายเพื่อร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป

 

เท่ากับตอบรับกับอารมณ์และความเห็นจากบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ที่จะให้มีการดำเนินการจัดการกับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อย่างจริงจัง  เนื่องมาจากเกิดความเสียหายแล้ว ในทำนองพลาดบ่อย ผิดพลาดก็ต้องปรับ  และ หมายฝากให้เป็นบทเรียนมหาวิทยาลัยหลายแห่ง นำไปศึกษาในการคิดพิจารณาก่อนที่จะเข้ามารับจ้างกับหน่วยงานราชการอย่างกระทรวงศึกษาธิการในครั้งต่อ ๆไป 

  

จากการตั้งข้อสังเกตของ ดร.ประดู่ นามเหลา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3 ในฐานะประธานกลุ่ม “เพื่อการศึกษา ข้าของแผ่นดิน” ได้เขียนสะท้อนความรู้สึกถึงการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ว่า...

 

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ออกมายอมรับว่ามีการรวมคะแนนผิด ทำให้อันดับที่ของผู้ได้รับการคัดเลือกผิดพลาด ตามประกาศฯเมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 และวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566 ได้นำเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ. แล้ววันเดียวกัน สพฐ.ก็ออกคำสั่งเปลี่ยนตำแหน่ง ผอ.สพท. ย้ายและแต่งตั้งรอง ผอ.สพท.รวมจำนวน 8 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งสื่อหลายแขนงได้ประโคมข่าวอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น มันช่างรวดเร็วทันใจจริง ๆ รวมทั้งให้ข้อคิดสะกิดใจด้วยว่า...

 

....มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (ผู้รับจ้าง) และสำนักงาน ก.ค.ศ. (ผู้ว่าจ้าง) การดำเนินการสอบที่ผิดพลาดจนเสร็จสิ้น และส่งมอบการจ้างแก่ผู้ว่าจ้าง (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าจ้างจะต้องพึงระวัง ทำการควบคุม ตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง ไม่เกิดผลเสียหายแก่ราชการ จึงจะตรวจรับงานจ้าง และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งคู่แค่ออกมารับผิด แล้วขออภัย พร้อมทั้งสัญญาจะไม่ทำผิดพลาดอีก

 

 

คณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต “คิดอย่างไรกับความผิดพลาดของมหาวิทยาลัยในการสอบ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา แค่ 500 คน” ล่าสุดสอบรอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา 2,000 กว่าคน ประกาศรายชื่อแล้วรอการบรรจุแต่งตั้ง จะไม่ผิดพลาดนะจ๊ะ “ความน่าเชื่อถือ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง คุณค่าที่สั่งสมมาช้านานของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จะคืนกลับมาได้อย่างไร”

 

สุดท้ายแล้ว หากผู้ผ่านการคัดเลือกยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และส่วนภูมิภาค แน่นอนว่า ผู้ถูกฟ้องคดี  คงหนีไม่พ้น คณะกรรมการสรรหาฯ คณะกรรมการประเมิน สำนักงาน ก.ค.ศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน รวมทั้งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องชี้แจงและคำให้การพร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมูลฟ้อง แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ย่อมมิอาจหนีพ้นที่ต้องถูกผูกโยงไปด้วย

 

อีกทั้ง เมื่อมองย้อนหลังการรับงานของ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มสด. เมื่อ ปี 2555 ได้จัดทำและส่งข้อสอบในการสอบเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องสอบใหม่ 395 คน ในวิชาศิลปศึกษา และวิทยาศาสตร์ทั่วไป

 

ซึ่งความผิดพลาดการจัดส่งข้อสอบครั้งนั้น ส่งผลให้มีการยกเลิกการสอบและต้องทำการสอบใหม่ ณ สนามสอบเดิม รวมถึงจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการสอบ และค่าเดินทางตามที่จ่ายจริง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าสอบทั้งหมด ไม่ต้องเดือดร้อน

 

ล่วงเลยมาถึงบัดนี้ เหมือนกับว่าเหตุการณ์เมื่อ 10 ปี ครั้งนั้น มีแค่คำขอโทษ ไม่มีใครผิด และคำตอบถึงค่าใช้จ่าย จริง ๆแล้ว เอามาจากส่วนไหนกันแน่

 

( โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว )

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage