ค.ร.อ.ท.ร้อง‘ตรีนุช’ สงสัยประเมินตั้งตำแหน่งทรงคุณวุฒิ สอศ.ส่งกลิ่น

เศรษฐศิษฎ์ ณุวงค์ศรี

นายเศรษฐศิษฎ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวะศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 5  กรกฎาคม  2564 ตนจะทำหนังสือถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ตรวจสอบการรับสมัครข้าราชการเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

ตามประกาศ สอศ. เรื่องการรับสมัครข้าราชการเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2564 และประกาศ สอศ. เรื่องเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ารับการประเมินบุคคลและผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564

เนื่องด้วยเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการในสถานศึกษาสังกัด สอศ.ที่มีคุณสมบัติและมีความประสงค์ที่จะสมัครเข้ารับการประเมินฯเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่เกิดประเด็นที่อาจทำให้การดำเนินการสมัครฯในครั้งนี้อาจไม่มีความโปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาล

เพราะเกิดข้อสงสัยในวิธีการดำเนินการที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ประสงค์ที่จะสมัครฯ อย่างชัดเจน นั้นคือถ้าเป็นผู้สมัครที่อยู่สถานศึกษากับผู้สมัครที่อยู่ส่วนกลาง การรับรู้ข่าวสารที่ขาดความเท่าเทียมหลายประการ เช่น  การประกาศรับสมัครลงวันที่ 10 มิถุนายน  2564 แต่ประกาศเกณฑ์การคัดเลือกฯลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ประเด็นคือ

1.เป็นเพราะเหตุใดการประกาศรับสมัครฯ และการกำหนดเกณฑ์ จึงไม่ดำเนินการในวันเดียวกัน กรณีนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการห่างกัน 10 วัน

2.เป็นเพราะเหตุใดการแจ้งเกณฑ์ฯประกาศที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงนามวันที่ 21 มิถุนายน 2564 แต่การดำเนินการส่งเอกสารฯทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ถึงสถานศึกษาฯที่จัดส่งวันที่ 24 มิถุนายน 2564

จึงมีประเด็นคำถาม 1.การที่ สอศ.ไม่ดำเนินการแจ้งเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ารับการประเมินบุคคลและผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ก่อนวันสมัครทำให้ผู้สมัครฯ บางคนเสียโอกาสในการเตรียมเอกสารฯ ให้ตรงตามเกณฑ์ฯ อาจเป็นการปิดกั้นโอกาสและสร้างความได้เปรียบในการเตรียมจัดทำเอกสารฯ ประกอบการสมัครฯระหว่างข้าราชการที่อยู่สถานศึกษากับข้าราชการที่อยู่ภายในสำนักงานฯหรือไม่

2.การที่ สอศ.กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกฯและมีการประกาศฯในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นประกาศรับสมัครวันแรกและมีการจัดส่งเอกสารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ถึงสถานศึกษา ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ถือเป็นเจตนาการดำเนินการที่ไม่บริสุทธิ์และสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัครที่ทำงานอยู่ที่สถานศึกษาและผู้ที่ทำงานอยู่ในส่วนกลาง ในการจัดทำเอกสารให้ได้ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด และน้ำหนักการให้คะแนนแต่ละข้อที่แตกต่างกัน ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่มีมาตรฐานและขาดความเท่าเทียมอย่างชัดเจน     

3.การดำเนินการดังกล่าวของ สอศ.ในครั้งนี้ เป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นการกีดกัน สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครที่มาจากสถานศึกษากับผู้สมัครที่อยู่ในสำนักงานฯ ซึ่งมีความใกล้ชิดและรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ย่อมมีโอกาสได้เตรียมความพร้อมได้ดีกว่าแน่นอน

4.ขอให้ รมว.ศธ.ได้สอบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เป็นเพราะเหตุใด สอศ.จึงได้มีประกาศลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ถึงสถานศึกษาในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 มีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดหรือเป็นการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับบุคคลใดหรือไม่

จากประเด็นที่กล่าวมาเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เชื่อมั่นในตัว รมว.ศธ.และขอสนับสนุนนโยบายที่ รมว.ศธ.ได้ประกาศต่อสาธารณะในเรื่องการสร้างธรรมาภิบาล และต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ และสร้างความเป็นธรรมให้บุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการ 

“เครือข่ายฯจึงขอเรียนให้ รมว.ศธ.ได้รับทราบและได้ติดตามการดำเนินการของ สอศ.ให้มีความโปร่งใสเป็นธรรมกับบุคลากร เพื่อได้เปิดโอกาสให้คนดีมีความรู้ความสามารถได้มาทำงานในตำแหน่งดังกล่าว” ประธานเครือข่าย ค.ร.อ.ท. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)