ก.ค.ศ.ไม่รอด! หลังลอยตัวเหนือปัญหา โวระบบวิทยฐานะ PA ครูสุดเลิศ

 

ก.ค.ศ.ไม่รอด! หลังลอยตัวเหนือปัญหา

โว!ระบบวิทยฐานะ ว.PA ครูสุดเลิศ

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ บรรณาธิการ

 

หลังจาก สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com นำเสนอบทเรียนจาก ร.ร.บ้านดอนพลอง เขย่า ศธ. 'นั่งหอคอยงาช้างสั่ง-ด้อยค่าเสียงครู' เรื่องราวแห่งความอัดอั้นตันใจของครูหญิงคนหนึ่ง แห่ง ร.ร.บ้านดอนพลอง สพป.นครสวรรค์ เขต 2 จ.นครสวรรค์ สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยระบุเนื้อหาในใบลาออกจากราชการถึงเรื่องราวความคับข้องใจกับระบบราชการที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๐ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔  

ปรากฏว่า เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง สังคมและคนในแวดวงการศึกษาต่างให้ความสนใจติดตาม จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ กลุ่ม “ครูขอสอน” เปิดโซเชียลมีเดียคลับเฮาส์วิพากษ์ “ทำไมครูไทย (อยาก) ลาออก?” แห่ฟังคลับเฮ้าส์ 4.2k ยอดในห้องสูงสุดเจ็ดร้อยกว่า และเกาะติดไปถึงช่วงท้ายไม่ต่ำกว่าหกร้อย

ร้อนแรงถึงกับมีการชงตั้ง "สหภาพครู" เป็นองค์กรที่ไม่ใช่ลิ่วล้อผู้บริหารและอำนาจรัฐขึ้นมาต่อรองผู้มีอำนาจ 

อีกทั้งสื่อต่าง ๆ นำเสนออย่างต่อเนื่องตลอดมา รวมถึงรายการ WorkpointTODAY # LIVE  จับประเด็นพูดคุยเรื่อง “ครูเก่ง” ภาระงานครูไทย แบกอะไรไว้บนบ่า รวมเวทีด้วย อ.คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และ อดีตศึกษานิเทศก์ (ศน.) เชี่ยวชาญ

มีการพูดคุยถึงเรื่องราวของการลาออก พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองจากบริบทต่าง ๆ ในระบบราชการ ที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ลงลึกในประเด็นสภาพปัญหาภาระการทำงานของครูที่ไม่เกี่ยวกับการสอนอีกมากมาย ส่งผลให้ครูเป็นมือเป็นไม้ให้กลไกที่บิดเบี้ยว

นอกจากไม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสุขให้กับครูส่งไปถึงคุณภาพนักเรียนแล้ว ยังคงดำรงด้วยปัญหาเดิม ๆ ที่ทับถมเป็นเงื่อนปมเพิ่มขึ้นจนยากจะแก้ไข ขณะที่ผู้บริหารในศธ.ผู้กำหนดกฎ ต่างหมุนเวียนกับความเจริญเติบใหญ่บนตำแหน่งที่ก้าวหน้าบนความทุกข์ทวีของครู ซึ่งจำต้องทนอยู่กับระบบกินครูต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับถึงเสียงอีกฟากฝั่งหนึ่ง ที่ออกมาถามหาพฤติกรรมส่วนตัวของที่มาในการลาออก หรือเนื่องมาจากไม่ยอมรับค่านิยม "ครูต้องเสียสละ" กันแน่

จึงเป็นประเด็นความร้อนแรงที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะที่ปรึกษา ตลอดผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.น่าจะสดับรับฟังด้วยสติ ควรนำไปไตร่ตรอง พิจารณาแก้ไข ปรับปรุง กฎ ระเบียบ สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส มากกว่าจะดึงดันที่จะใช้อำนาจข่มขืนใจครูให้ดำเนินการด้วยแนวคิดหรือวิสัยทัศน์เดิม ๆ โดยอ้างกฎหมายหรือมติจากคณะกรรมการฯขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล คุรุสภา ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ผู้ควบคุม ความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่อวดอ้างเสมอว่า เป็นองค์กรยุคใหม่ ที่ยกย่องเชิดชู ผดุงเกียรติ ส่งเสริมสิทธิประโยชน์เกื้อกูล ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา

รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดโดยตรง และ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) องค์กรต้นแบบในการบริหารการปฏิบัติราชการที่มีหลักธรรมาภิบาล

ว่าไปในภาพรวมแล้วทุกองค์กรหลักดังกล่าว ล้วนมีผู้บริหารระดับสูงเข้าไปนั่งร่วมประชุมในองค์คณะกรรมการโดยตำแหน่งตามกฎหมายอยู่แล้ว เพื่อจะได้รับทราบหรือให้คำแนะนำ ให้ความเห็นในผลกระทบอันพึงมีในเชิงบวกหรือลบ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงมติผ่านความเห็นชอบใด ๆ อันส่งผลผูกมัดในลักษณะให้คุณให้โทษ แก่ครูที่เป็นสมาชิกควรมีหน้าที่สอน ก้มหน้าจำยอมปฏิบัติตามต่อไป

ดังเสียงที่ขานรับอย่างต่อเนื่องที่ว่า แล้วเมื่อเกิดปัญหา ในที่สุดก็ผลักมาให้ครูเป็นจำเลย ไม่เว้นแม้ระบบการประเมินวิทยฐานะ ล้วนเป็นระบบไม่เคยมองครูเป็นมนุษย์เลย  และที่น่าเศร้าสุด ๆ คือ ความล้มเหลวของระบบการศึกษา อันเนื่องจากเอกสารและภารกิจอื่นมากมาย ที่เป็นอุปสรรคทำให้บรรดาครูให้ความรู้เเก่นักเรียนได้ไม่เต็มที่

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงข้อถกเถียง ให้ความเห็นผ่านสื่อโซเซี่ยลออนไลน์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด มิอาจมองข้ามความเชื่อมโยงไปถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี รศ.ดร.ประวิตร เอราวรรณ์ อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยรัฐ อย่างน้อย 2 แห่ง ที่เข้ามานั่งเก้าอี้เลขาธิการฯ ต้องยอมรับว่า ล้วนมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มที่ทำให้เกิดผลพวงแห่งปัญหาดังกล่าวข้างต้นตามมามิใช่น้อย

เนื่องจาก ก.ค.ศ.เป็นองค์กรที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ในฐานะผู้มีบทบาทในการพัฒนาและออกกฎระเบียบหลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินวิทยฐานะ ให้เหมาะสมกับบริบท การจัดการศึกษา ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติตนในวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา

ในที่นี้คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า หากพิจารณากันให้ลึก ๆแล้ว ปรากฏว่าการสร้างเกณฑ์ประเมินของ ก.ค.ศ.นี่เอง ที่ทำให้ครูดี ๆ มีความสามารถต้องหลุดไป เช่น ไม่ขอประเมินเลยเพราะรับไม่ได้กับเกณฑ์ ย้ายสถานศึกษาเป็นว่าเล่นบ้างหรือตัดสินใจลาออก

 

 

ดังเสียงที่ส่งจาก Wittawat Jarat เห็นด้วย ค่ะ แม้จะบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ยังต้องมีการทำเอกสารมากมายเพื่อรักษาวิทยฐานะ  ทำไมครูต้องกดดันขนาดนี้...Waleepan Sansanoh เหนื่อยกับเอกสาร แบบประเมิน อบรม ฯลฯ เปลืองเวลา แทนที่จะได้โฟกัสกับนักเรียนมากกว่านี้...ขณะที่ Jindalak Jamrus เพราะมันยังมีระบบค่าของคนอยู่ที่คนของใคร เราในฐานะผู้ปฏิบัติทำงานยากค่ะ การประเมินต่างๆทั้งเลื่อนขั้นเงินเดือน วิทยฐานะ ต้องผู้บริหารประเมิน หากไม่เป็นคนเที่ยงธรรมก็อยู่ด้วยลำบากใจ ทำงานแทบตาย สอนดีสุดยอด ผู้ปกครองและเด็ก ๆ รัก แต่ผลลัพธ์คนไม่ทำงานได้ดีกว่า เขาก็คงท้อใจค่ะ ...

ขณะที่ Punlop Supapunmanee บอกว่ามีแต่สร้างอะไรมาให้ครูประเมิน แต่ไม่เน้นคุณภาพเด็กไทยเลย เอาอะไรมาก็ไม่รู้ 2 ปี เปลี่ยน เหนื่อยใจกับไอ้พวกนั่งแต่เก้าอี้ไม่เคยลงมาปฏิบัติ...Anuchyd Kaewkoonok แจงชัดถึงประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ ร.ร.ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่วิธีประเมินครู ประเมินโน่นนี่นั่น ทำไมต้องให้ครูทำเอกสาร ถ่ายคลิป จับผ้า ตั้งแฟ้ม สร้างภาพสวยหรู อย่าหลงประเด็น เรื่องงานสอน งานกรรมกร งานภาคปฏิบัติ เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ล้างห้องน้ำขัดพื้นดิฉันสู้ตาย แต่เรื่องเอกสารปลอม ๆ แฟ้มปลอม ๆ คลิปปลอม ๆ ขอบายค่ะ...

ส่วนความเห็นในเชิงหยิกเล็ก ๆ จาก Cinderella Sakul แนะนำให้นำไปปรับปรุงแทนการอ้างว่า นั่นคือ ความเห็นส่วนตัวน่าจะดีกว่ามั้ย.. อย่างน้อยรับฟังหน่อย รับฟังกันบ้าง ครูทำงานงก ๆ ไม่ใช่หุ่นยนต์ สอนออนไลน์ไม่ใช่ไม่มีปัญหา หรือบอกว่าไม่มีเอกสารที่ต้องรายงาน แต่ปรากฎว่ากลับกัน คือต้องรายงานกันอุตลุตเหมือนไม่ไว้ใจครูทำงานก็ว่าได้ เหนื่อยใจจริง ๆ แก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ไม่พอ ยังสั่งให้สำรวจ นี่ โน่น นั่น กันบานเบอะตามมาหลอนอีก... Cinderella Sakul ยืนยันมาว่า จริง ๆ แล้ว เป็นการบังคับครูประเมิน ว.PA หากไม่ผ่านก็ต้องออกราชการ ยังจะมาบอกว่า ไม่เกี่ยวกับระบบอีก น่าตีด้วยไม้หน้าสามเบา ๆ ...

...ค่อนข้างจะมาแบบดุ ๆ จาก คุณย่า สอนวิทย์ เหตุผลส่วนตัวข้อแรก รับไม่ได้กับระบบห่วย ๆ ที่พวกท่านคิดกันมางัย ประเมินกระดาษกองเท่าภูเขา ผลสัมฤทธิ์ในตัวเด็กด้อยลง ทำครูกับเด็กห่างกัน....เหตุผลส่วนตัวอีกข้อ การศึกษาจะตกต่ำเพราะคนพวกนี้ ผลงานกระดาษ... Sakorn Arpsuwan อยู่เวร ก็ถ่ายรูปรายงาน พาเด็กทำความสะอาด ก็ถ่ายรูปรายงาน ให้เด็กช่วยงาน เสร็จงานแล้วให้เงินเด็กกินขนม ก็ถ่ายรูปรายงาน หยิบจับอะไรนิดหน่อย ก็ถ่ายรูปรายงาน นายฉันช้อบชอบ...

 

ตามมาด้วย ว.PA จาก เจษฎา ปรุงเกียรติ บอกว่า ให้ครูเอาเวลาไปสอนเด็ก อยู่กับเด็กในห้องให้เต็มที่ดีกว่ามานั่งสร้างภาพนั่งทำประเมินผลงาน เอาเวลาเหล่านี้ไปอบรมสั่งสอนสอนหนังสือ นร.ให้มีคุณภาพจะดีกว่าไหม และ ไม่ต้อง เอา ว.นั้น ว.อะไรก็ไม่รู้ ว.บ้าบอเพิ่มภาระงานครู ไหนว่าลดภาระงานครู พวกนโยบายแปลก ๆ ควรตัดทิ้งหรือลดลงบ้าง ให้ดูสภาพความเป็นจริงในเด็กนักเรียน-ครู และ ร.ร.ตามชนบท ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่นั่งอยู่ในห้องแอร์ คิดอยากจะสั่งอะไรก็สั่งเอา ๆ ...  

ว.PA จาก Eak Nakrab คิดข้ามช็อต อีกอย่างอย่าไปเอาความคิดนักวิชาการในระดับอุดมศึกษามาอ้าง คนละส่วนกัน ตอนนี้ยุคเทคโนแล้ว ควรปฏิรูปหน่วยงาน ก.ค.ศ.นี่แหละ ตัวดี เปลืองกระดาษ พวกไดโนเสาร์...ขณะที่ Prasat Maneone โพสต์ข้อความโดนใจกดไลท์นับร้อย ที่โพสต์ว่า เอาพวกที่อยู่มหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะมีปัญหาในการบริหาร  แล้วมาอาศัย ศธ.แบบยิ่งใหญ่ อยู่ไปไร้สาระ แบบเอาแต่ประเมินติดตาม สร้างค่าให้กับตนเองให้นายใหญ่ชื่นชมว่าสามารถด้วยการด้อยค่าครู ประเภทนี้เขาไม่เข้าใจงานครูจริง ๆ ควรตะเพิดกลับไปที่เก่า...  

ถึงกระนั้น องค์กรของ รศ.ดร.ประวิตรเอราวรรณ์ อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยรัฐ อย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งเข้ามานั่งเก้าอี้เลขาธิการ ก.ค.ศ. ก็ยังออกมายืนยันว่า ระบบวิทยฐานะแบบใหม่  ว.PA มีข้อดี มากมาย ถึง 10 อย่าง แต่กลับมีผู้ตั้งข้อคำถามที่ย้อนแย้งส่งตรงถึง สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ให้ช่วยขยายต่อ...ที่ว่า 

ข้อดี 10 อย่างของ ว.PA ที่ เลขาธิการ ก.ค.ศ.บอกว่าดีนั้น ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างไรบ้าง หรือกำหนดขึ้นมาเอง หรือกล่าวอ้างกันเอง และการคงวิทยฐานะ มีวิธีการให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร ให้ครูมีส่วนร่วมในการคิดกลั่นกรองออกมาหรือไม่ หรือว่า กำหนดเอาเองจากหอคอยงาช้าง

รวมไปถึงการประเมิน เหตุใดจึงเอาบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เช่น การให้อาจารย์มหาวิทยาลัย เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน PA เคยมีสักครั้งไหมที่ครู มีโอกาสเข้าไปประเมินเงินเดือนหรือผลงานของอาจารย์มหาวิทยาลัย อีกทั้งการทำข้อตกลง ถ้าครูผู้สอนทำการสอนหลายวิชา จะต้องทำข้อตกลงในประเด็นท้าทายอย่างไร

นอกจากนี้ ในแต่ละข้อกำลังรอคำชี้แจงจาก ก.ค.ศ. อีกด้วยที่บอกว่า...ว.PA “ลด” ความซ้ำซ้อนของการประเมิน แน่ ๆ

ถามว่า ลดได้จริงหรือไม่ เพราะการประเมินตาม ว.17  เดิมนั้น ประเมินเพียงแค่ครั้งเดียว คือ ตอนขอรับการประเมินเท่านั้น แต่ตามหลักเกณฑ์ ว.PA ต้องทำการประเมินทุกปี สร้างความกดดันให้กับครูผู้สอนทุก ๆ ปี หากเจอผู้บริหารที่มีคุณธรรมก็ดีไป แต่หากผู้บริหารที่ใช้ PA เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ต่าง ๆ จากครู ก็จะทำให้เกิดปัญหาในโรงเรียนนั้น ๆ

ว.PA “ละ” ความสนใจจากมหกรรมประกวดแข่งขัน และหันมาใส่ใจเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม

ตรงนี้ถามว่า เป็นการหันมาใส่ใจเด็ก หรือหันมาใส่ใจผู้บริหารในระดับต่าง ๆ กันแน่ เพราะตามหลักเกณฑ์ ว.PA นั้น ผู้บริหารสถานศึกษา มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์นี้

ว.PA “เลิก” สะสมแฟ้ม โล่ รางวัล ฯลฯ

ถามว่า ในประเด็นความท้าทายของ ว.PA นั้น เมื่อดำเนินการไปแล้ว ถ้าไม่มีรางวัลมาเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในการดำเนินงาน แล้วจะใช้อะไรเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในประเด็นท้ายทาย นั้น ๆ เพราะถ้าให้ผู้บริหาร หรือ คณะกรรมการของแต่ละโรงเรียนเป็นผู้รับรองความสำเร็จตามประเด็นท้าทาย ก็จะทำให้ขาดมาตรฐานในการดำเนินการในแต่ละโรงเรียน

ว.PA “หลีก” การล่าใบประกาศฯ การนับ ชม. อบรม หรือ ชม.PLC ที่จริง ๆ ทำไม่ได้

มีคำถามว่า น่าจะไม่เป็นการหลีกจริง เพราะยังต้องมีการกำหนดชั่วโมงการพัฒนาไว้ 20 ชั่วโมงต่อปี อยู่ดี หรือ ชั่วโมง PLC ก็ยังต้องมี ซึ่งก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าแต่ละโรงเรียนจะดำเนินการอย่างไร ( ข้อนี้ต้องเรียนถามตรง นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการกพฐ. คงเป็นเรื่องได้แน่ ๆ

ว.PA “เลี่ยง” การวัดคุณภาพจากคะแนน O-Net เพราะบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน

ข้อเท็จจริงพบว่า ยิ่งไม่มีโอเน็ต ยิ่งจะทำให้ไม่มีมาตรฐานกลางในการประเมิน การทดสอบ โอเน็ตยังคงจำเป็นในการวัดมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เพียงแต่ไม่ควรนำมาใช้ประเมินแบบ 100%

ว.PA “รวดเร็ว” โดยใช้ระบบออนไลน์ ไม่ต้องรอผลเป็นปี ส่งใหม่ได้ทุกภาคเรียน

ถามว่า ในการประเมินวิทยฐานะตาม ว.PA ใช้กรรมการประเมิน 3 คน ต่อครู 1 คน ครูในประเทศไทยมีจำนวน 400,000 คน ถ้าประเมินพร้อมกัน อาจต้องใช้กรรมการประเมินไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน ( มีแต่เหล่าพวกเทวดันเท่านั้น ที่ทำได้)

ว.PA “โปร่งใส” ผู้ประเมินทุกคนต้องผ่านการพัฒนา ใช้ระบบการสุ่ม

ถามว่า จะแน่ใจได้อย่างไรว่า มาตรฐานการประเมินวิทยฐานะโดยผู้ทรงคุณวุฒิจะเท่ากัน หรือ ใกล้เคียงกัน

ว.PA “ไม่ต้องเสียเงิน” ในการทำวิจัย เพราะประเมินจากคุณภาพการสอนไม่ใช่ประเมินคุณภาพคลิปที่ส่งมา

พูดออกมาได้อย่างไงกับ ไม่ต้องเสียเงิน” ในการทำวิจัย ครูต้องเสียเงินในการลงทุนซื้อกล้องบันทึกวิดีโอ และไมโครโฟนคุณภาพดี ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่งห้องเรียนให้ดูดี (เพราะกลัวประเมินไม่ผ่าน) ทั้ง ๆ ที่ตามโรงเรียนชายขอบนั้น สภาพอาคารเรียนไม่มีความพร้อม ไม่มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่แล้ว ของบประมาณสร้างอาคารเรียนหลัง ก็ยากเย็นแสนเข็ญ

ว.PA มีความยุติธรรม” เนื่องจากมีการแยกตัวชี้วัดการประเมินตามลักษณะห้องเรียน (สามัญ /ปฐมวัย /กศ.พิเศษ กศน./อาชีวะ) มีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะตามระเบียบฯ

ถามว่า จะเอาอะไรมาประกันความยุติธรรมสำหรับครูที่ทำการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความขาดแคลนทุกด้าน

ว.PA “ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน” อย่างแท้จริง

ถามว่ายังไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่า จะเกิดผลดีกับนักเรียนอย่างแท้จริง เพราะครูผู้สอนต้องมาพะวงกับการทำข้อตกลง และพะวงกับการอัดคลิปสอน ซึ่งต้องมีการตระเตรียมอย่างหนัก เพื่อให้ได้คลิปที่ดูดี ดูแล้วน่าถูกใจกรรมการประเมิน 

สอดรับกับความเห็นของครูส่วนใหญ่ระบุ ในทำนองเดียวกันว่า การจัดทำเอกสารหลักฐานว่าด้วยระเบียบวิธีการขอเลื่อนตำแหน่งหรือมีวิทยฐานะครู ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งหรือมีวิทยฐานะ ครูต้องจัดทำเอกสารขึ้น โดยไม่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง เป็นการเสียเวลา เสียงบประมาณ ไม่มีอะไรหรือใครมารับประกันได้ 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)