เปิดบันทึกบอร์ด กพฐ.! นั่งหอคอยรีบกดปุ่ม“หลักสูตรสมรรถนะ”...งง!ไปถึงปลัด ศธ.

เปิดบันทึกประชุมบอร์ด กพฐ. 7 เม.ย.65

นั่งหอคอยรีบกดไฟเขียวหลักสูตรสมรรถนะ

งง!...ไปถึงปลัด ศธ."ดร.สุภัทร จำปาทอง"

โดย: ทีมข่าว EdunewsSiam.com

 

เปิดบันทึกการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 7 เมษายน 2565 มีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน ร่วมด้วย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ณ ห้องประชุม สพฐ.1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านสื่อโปรแกรม ZOOM

โดยมีประเด็นพิจารณาที่น่าสนใจในเรื่องแผนปฏิบัติการปรับปรุง (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …ซึ่งบอร์ด กพฐ.ได้รับรายงานการนำเสนอข้อมูลการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะจากคณะอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ โดยมีสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.เป็นผู้ร่วมนำเสนอด้วย

ก่อนมีมติให้ตั้งคณะทำงานบรรณาธิการ เพื่อทำหน้าที่ตรวจทานรายละเอียดการปรับปรุงหลักสูตร ทั้ง ศ.บัณฑิต ประธานบอร์ด กพฐ.ยังระบุว่า ได้รับทราบว่าขณะนี้ได้มีการทำลองใช้หลักสูตรฐานสรรถนะในกลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่นี้ในชั้น ป.1 และ ป.4 ปีการศึกษา 2567 ก่อน หลังจากนั้นจะขยับไปในชั้นอื่นๆ ต่อไป

ซึ่งมองเห็นความแตกต่างชัดเจนจากคราวประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประเด็นความชัดเจนเรื่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะยังดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง โดย ศ.บัณฑิตได้เปิดเผยภายหลังการประชุมครั้งนั้นว่า ขณะนี้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนั้น แม้เราจะเห็นพ้องต้องกันว่าการเน้นสมรรถนะเป็นเรื่องที่เหมาะสม เข้ากับยุคสมัย แต่ในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ (ร่าง) หลักสูตรที่ยังอยู่ในขั้นการทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

“ผมยืนยันว่า การจะนำหลักสูตรใดมาใช้ทั้งหมดแบบทันทีทันใด ก็อาจจะยังไม่มีความพร้อม” ศ.บัณฑิต ประธานบอร์ด กพฐ.กล่าวย้ำเมื่อครั้งประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

แต่ไฉน? การประชุมบอร์ด กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 หรือคล้อยหลังมาแค่ 2 เดือนเท่านั้นเอง บอร์ด กพฐ.ถึงได้มั่นอกมั่นใจเป็นหนักหนาว่า จะต้องเดินหน้าใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะตามแผนระยะเวลาที่วาง

จนถูกคนในแวดวงการศึกษาตั้งคำถามเชิงครหาว่า บอร์ด กพฐ.ชุดใหม่นี้มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่รับฟังมาจากครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับพื้นที่มากน้อยแค่ไหนว่า พวกเขามีความพร้อมใช้ และมีความรู้สึกอย่างไรกับการเปลี่ยนใช้หลักสูตรใหม่บ่อยครั้ง จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551, มาปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560 สมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สพฐ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สองเจ้าเก่า และมาวันนี้กำลังจะให้ใช้หลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะอีกแล้ว

แม้แต่ในที่ประชุม กพฐ.ครั้งล่าสุดนี้ ยังมอบหมายให้คณะทำงานบรรณาธิการที่ตั้งขึ้นได้ไปพิจารณาเรื่องชื่อหลักสูตรใหม่นี้ด้วย เพราะไม่อยากสร้างความสับสนแก่สถานศึกษาที่นำไปใช้

ซึ่งเรื่องของความสับสนเกี่ยวกับหลักสูตรสมรรถนะใหม่นี้ ยังสะท้อนจากปากของคนระดับปลัดกระทรวง ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำ ศธ.ว่า จากมติ กพฐ.ที่ให้ทดลองใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2565 จากนั้นปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ และปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตรฯชั้น ป.1 และ ป.4 รวมทั้งยังได้ขอร่นเวลาการประกาศใช้หลักสูตรฯจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565 นั้น

“ผมยังไม่ทราบรายละเอียดที่จู่ๆ กพฐ.ก็มีมติให้ประกาศใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะทั่วประเทศ จึงต้องสอบถามในที่ประชุม กพฐ.ครั้งหน้า เพราะมติ กพฐ.ก่อนหน้านี้ให้นำร่องใช้ร่างหลักสูตรฯในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปก่อน ตามข้อสั่งการของ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่ต้องขยายไปทั่วประเทศ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่”

“มติ กพฐ.เดิมให้นำร่องใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหากโรงเรียนอื่นๆ จะใช้ ให้ขออนุญาตจาก สพฐ.เป็นรายโรงไป ผมจึงไม่แน่ใจว่า กพฐ.จะใช้ช่องว่างตรงนี้ในการประกาศใช้ทั่วประเทศหรือไม่ ซึ่งผมมีความกังวลทั้งในเรื่องความพร้อมของครูผู้สอน เรื่องการปรับเปลี่ยนหนังสือเรียนและวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ นี่ยังไม่รวมปัญหาในการผลิตครูของสถาบันผลิตครูที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย”

“การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแต่ละครั้ง จะต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องมีการนำร่องทดลองใช้ เพื่อดูข้อดี ข้อเสีย แล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาก่อนขยายผลนำไปใช้ทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เปลี่ยนแบบทันที”

“ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละครั้ง กพฐ.ควรจะต้องดูทิศทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯให้มุ่งเน้นอบรมพัฒนาครูให้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning” ปลัด ศธ. ดร.สุภัทรกล่าวถึงขั้นตอนการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่บอร์ด กพฐ.ควรต้องคำนึงถึง

ทั้งนี้ นอกจากการคำนึงถึงขั้นตอนการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว บอร์ด กพฐ.ควรต้องทำหน้าบนพื้นฐานที่ไม่ใช่บริบทของการนั่งทำงานบน “หอคอยงาช้าง” แต่บอร์ด กพฐ.จะต้องได้รับรู้สภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับทุกขั้นตอนของร่างหลักสูตรที่ฝ่ายปฏิบัตินำเสนอมาให้พิจารณาด้วย

อาทิ การทดลองใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในโรงเรียนที่ผ่านมานั้น ได้มีการทดลองกันจริงๆ แล้วหรือยัง? มากน้อยแค่ไหน? ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว อย่างไร? ตลอดจนต้องรู้ข้อเท็จจริงทางวิชาการด้วยว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ได้มีการปรับปรุงใหม่ในปี พ.ศ.2560 ไม่ใช่ถกยัดเยียดข้อมูลบิดเบือนว่าเป็น “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ บอร์ด กพฐ.ต้องมีข้อมูลทางวิชาการจนสามารถอธิบายแยกแยะได้ว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560 มีความแตกต่างหรือด้อยกว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะหรือไม่ และตรงจุดใดบ้าง ฯลฯ

แต่เมื่อได้อ่านบันทึกการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 7 เมษายน 2565 เปรียบเทียบกับการรับชมคลิปวิดีโอบันทึกการชี้แจงนโยบาย สพฐ.แก่คณะผู้บริหาร ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญใน สพฐ.ส่วนกลาง และคณะผู้บริหารในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ และทีมในเขตพื้นที่การศึกษา โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. (รับผิดชอบงานวิชาการ) ในการประชุมออนไลน์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565

ยิ่งทำให้คนในแวดวงการศึกษาเกิดคำถามเชิงตั้งข้อสังเกตต่อบริบทการทำงานของ บอร์ด กพฐ.ชุดใหม่นี้ว่า ทำงานอยู่บน “หอคอยงาช้าง” หรือไม่??

โดย ดร.เกศทิพย์ ได้กล่าวในการประชุมออนไลน์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับรุงใหม่ พ.ศ.2560 กับ (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ ที่แทบไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญ และได้กล่าวสรุปไว้ว่า ไม่ว่าสถานศึกษาจะใช้หลักสูตรไหน ถ้าได้มีการปรับการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว ก็จะสามารถทำให้นักเรียนเข้าถึงสมรรถนะผู้เรียนได้ทั้งนั้น

ที่สำคัญ ดร.เกศทิพย์ ยังได้กล่าวอัพเดทข้อเท็จจริงความคืบหน้าการดำเนินการของ (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ เช่นว่ามีการเตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับไปแล้วถึงไหน? สวก.อบรมครูในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม รวมทั้งศึกษานิเทศก์พี่เลี้ยงไปเสร็จเรียบร้อยแล้วหรือยัง? เริ่มทดลองใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในโรงเรียนไปแล้วหรือยัง? โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากำลังเขียนหลักสูตรเพื่อขออนุมัติใช้ จริงหรือไม่? ฯลฯ (คลิกชม)

สาระข้อเท็จจริงเรื่องความเร่งรีบดำเนินการเกี่ยวกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ถูกบันทึกในการประชุม กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 เปรียบเทียบกับสาระในคลิปวิดีโอบันทึกการชี้แจงนโยบาย สพฐ. โดย ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. ในการประชุมออนไลน์ ผอ.สพท.เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ดังกล่าว ยิ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่คนแวดวงการศึกษา ที่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบริบทการทำงานของบอร์ด กพฐ.ชุดปัจจุบัน ในทำนอง 

จริงหรือไม่??...ที่บอร์ด กพฐ.นั่งบนหอคอยรับฟังข้อมูล (ซึ่งอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่า อาจจะถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงมานำเสนอหรือไม่?) แล้วรีบกดปุ่มเปิดแพร “หลักสูตรสมรรถนะ” ให้ครูและนักเรียนต้องใช้ โดยไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงทักท้วงใดๆ...??

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)