กพฐ.ไม่เคาะเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลาง “ศ.บัณฑิต”ชี้!ของเดิมเน้นสมรรถนะได้

กพฐ.ยังไม่เคาะเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลาง “ศ.บัณฑิต” ชี้ของเดิมก็สามารถเน้นสมรรถนะได้ ขึ้นอยู่กับครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเป็นแบบ Active Learning ด้าน “ดร.อัมพร” ยอมรับมีแค่ 5 ใน 467 โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่เลือกนำ(ร่าง)หลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) https://www.obec.go.th/ ได้เผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานที่ประชุม ร่วมด้วย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom Meeting

โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การพัฒนาครูโดยใช้ศูนย์ HCEC เป็นฐาน ความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสุตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ใหม่ จำนวน 6 แห่ง การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมสนามหลวงและแผนกบาลีสนามหลวง และการเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

ศ.บัณฑิต ประธาน กพฐ. กล่าวภายหลังการประชุมว่า เรื่องการพัฒนาครูโดยใช้ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) เป็นการตอบสนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการด้านการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะทางด้านภาษา ด้านดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาครูตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพ และตอบจุดเน้นของ สพฐ.ในด้านคุณภาพการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning

ซึ่งขณะนี้มีครูที่ได้รับการอบรมจำนวนมากกว่า 150,000 คน เมื่ออบรมไปแล้วก็จะได้ฝึกทักษะนำไปขยายผลสู่การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.บัณฑิตกล่าวต่อว่า ในเรื่องหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า หลักสูตรที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ

"แต่อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถเน้นสมรรถนะได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของครูผู้สอน เช่น ครูผู้สอนที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ HCEC ก็สามารถนำทักษะความรู้แบบ Active Learning มาจัดการเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะให้กับเด็กได้เช่นกัน"

ประธาน กพฐ.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่แม้เราจะเห็นพ้องต้องกันว่า การเน้นสมรรถนะเป็นเรื่องที่เหมาะสม เข้ากับยุคสมัย แต่ในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ (ร่าง) หลักสูตรฯที่ยังอยู่ในขั้นการทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งทาง สพฐ.ก็ได้นำเรียนความคืบหน้าว่า มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง และในที่ประชุม กพฐ.ก็ได้มีการอภิปราย ตั้งข้อสังเกต และให้คำแนะนำ

"เช่น เห็นว่าหากโรงเรียนใดที่มีความพร้อมต้องการทดลองใช้หลักสูตร เราก็จะเปิดโอกาสโดยให้ สพฐ.ไปทำแผนนำเสนอมายังที่ประชุม กพฐ. แล้วจะพิจารณาต่อไป แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่าการจะนำหลักสูตรใดมาใช้ทั้งหมดแบบทันทีทันใด ก็อาจจะยังไม่มีความพร้อม"

ด้าน ดร.อัมพร เลขาธิการ กพฐ.กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่มีกฎหมายกำกับเฉพาะ จัดทำขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถทดลองว่า หลักสูตรรูปแบบวิธีการใดที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ จึงเปิดช่องให้เลือกทำได้หลากหลายวิธี โดยสามารถเลือกหลักสูตรการเรียนการสอนได้ 4 แนวทาง

ดังนั้น โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมจะเลือกแนวทางของ 1.หลักสูตรปี พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ.2560 ที่มี 5 สมรรถนะ นำไปต่อยอดก็สามารถทำได้ หรือ 2.จะนำ 6 สมรรถนะใน (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ร่างขึ้นใหม่นำไปทดลองใช้ หรือ 3.จะคิดหลักสูตรของตัวเองขึ้นมาก็ได้เช่นกัน

"ซึ่งขณะนี้มีเพียงโรงเรียนจำนวน 5 แห่ง จากทั้งหมด 467 โรงเรียน ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่เลือกนำ(ร่าง)หลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะไปทดลองใช้อยู่"

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหลักสูตรไหน เป้าหมายก็คือการเสริมสร้างสมรรถนะให้กับเด็กนักเรียนทั้งนั้น เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เราสามารถหาสาระวิชาความรู้ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น โดยหลักสูตรเป็นเพียงโครงชี้นำแนวทาง แต่ครูผู้สอนจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันให้นักเรียนเกิดสมรรถนะขึ้นได้ ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เน้นย้ำว่า ทำอย่างไรให้การเรียนการสอนแบบ Active Learning จะสามารถทำได้จริง เพราะ Active ไม่ใช่การป้อนให้นักเรียนฝ่ายเดียว แต่ครูต้องเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่แนะแนวให้กับเด็กๆ และสอนให้เด็กนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้

"ซึ่งทาง สพฐ.ก็จะเร่งพัฒนาครูโดยใช้ศูนย์ HCEC เป็นฐาน เพื่อให้ครูมีความพร้อมให้ได้มากที่สุด"

อนึ่ง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนประจำ ศธ.ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา

ซึ่งนางสาวตรีนุช รมว.ศธ. ได้เป็นประธาน Kick-Off เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 265 โรงเรียน ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ระบุว่า จากการตรวจสอบหลักฐานปรากฏข้อเท็จจริงมีสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ขออนุญาตทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดต่างๆ รวมจำนวน 247 โรงเรียน แต่มีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้นที่ได้มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และได้ทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ (ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน)

จึงยังไม่ถือว่าเป็นการทดลองนำร่องใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน หรืออาจเรียกได้ว่ายังไม่มีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาเลย

ส่วนอีก 242 โรงเรียน พบว่าไม่มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด แต่ยังเดินหน้าใช้หลักสูตรในปัจจุบัน คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน) และมีการปรับการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน (แต่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งแสดงว่าทั้ง 242 โรงเรียนนี้ทำตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน และปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)

นอกจากนี้ ยังสำทับด้วย ดร.นิวัตร นาคะเวช ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุว่า โดยหลักวิชาการจะนำหลักสูตรใดมาใช้เป็นหลักสูตรแกนกลางระดับชาติ จะต้องผ่านการทดลองใช้ในสถานศึกษาอย่างสมบูรณ์แบบ 100% ทั้งตัวหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ต้องครอบคลุมทั้ง 6 สมรรถนะที่กำหนดไว้ (ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน) 

รวมทั้งจำนวนสถานศึกษาที่ร่วมทดลองใช้หลักสูตรก็ต้องมากพอ เพื่อให้เห็นตัวแปรทั้งความหลากหลายและความแตกต่างในขนาดของสถานศึกษาและบริบทของแต่ละพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่มีมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ 

“ดังนั้น หากยังใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะเพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมด 6 สมรรถนะ และยังทดลองใช้แค่ 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น ก็ยังไม่สามารถนำมาอ้างอิงว่าเป็นการทดลองนำร่องในระดับชาติได้ ทางคณะกรรมการ กพฐ.ก็คงยังไม่ให้การรับรองร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน”

 สานิตย์ พลศรี

ขณะที่ นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ประกาศด้วยว่า ตนเองอาจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้พิพากษาในกรณีการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ โดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา(ร่าง)หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ที่มีนางสิริกร เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา เป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 หรือไม่?

ที่บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

รวมทั้งอาจจะยื่นฟ้องในประเด็นมีการกระทำผิดกฎหมายปฏิรูปประเทศ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ด้วยหรือไม่? ที่กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)

"ไม่ได้ให้ ศธ.มาดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด" นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)