แกนนำ ส.ค.ท.จี้! บิ๊ก ศธ.-สพฐ.หยุดสร้างความสับสนปมหลักสูตรสมรรถนะ

แกนนำ ส.ค.ท.เรียกร้อง "บิ๊ก ศธ.-สพฐ."

หยุดสร้างความสับสนปมหลักสูตรสมรรถนะ

จากกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยแพร่ข่าวเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ระบุว่า ตนพร้อมด้วย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้เข้าพบ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และได้ชี้แจง 1.บอร์ด กพฐ.ยังไม่เคยมีคำสั่งยกเลิกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560)  และให้ใช้หลักสูตรใหม่เป็นการทั่วไป 

2.ร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ และคู่มือการใช้ ให้นำไปทดลองในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมตามความสมัครใจ ซึ่งการที่ที่ประชุม กพฐ.เห็นชอบในข้อเสนอที่จะประกาศใช้หลักสูตรในเดือนตุลาคม 2565 หากคณะบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ และคู่มือการใช้ ปรับปรุงเสร็จภายใน 2-3 เดือน ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน

และ 3.กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด ต่างก็เน้นให้นำวิธีการ active learning มาใช้จัดการเรียนการสอน นั้น

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ และรองประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า ตนในฐานะแกนนำครู ซึ่งได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนครูในพื้นที่ต่างๆ มาโดยตลอด เห็นว่าเพื่อนครูมีความสับสนในเรื่องของหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นอย่างมาก เนื่องจากสาเหตุสำคัญประการแรกคือ ครูและเขตพื้นที่การศึกษาโดยรวมทั่วประเทศ แทบไม่ได้มีส่วนร่วม มีแต่ส่วนกลางแจ้งเรื่องเพื่อให้สับสน ไม่ใช่เพื่อทราบด้วยซ้ำ 

และสาเหตุสำคัญอีกประการคือ การดำเนินการเรื่องหลักสูตรสมรรถนะของ ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ผ่านมา อาจขาดความน่าเชื่อถือ และสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับเพื่อนครูและคนในแวดวงการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เช่น สรุปแล้วหลักสูตรสมรรถนะขัดกฎหมายปฏิรูปประเทศหรือไม่ อย่างไร? ร่างหลักสูตรเสร็จแล้ว หรือยังไม่เสร็จ? สรุปว่าที่ผ่านมาได้นำร่างหลักสูตรสมรรถนะไปทดลองใช้ในโรงเรียนแล้วหรือยัง? 

ที่สำคัญถ้าหลักสูตรสมรรถนะยังไม่เสร็จ ยังไม่ผ่านการทดลองใช้ในโรงเรียน แล้วเหตุใดการชี้แจงของ ศ.บัณฑิต ประธานบอร์ด กพฐ.ในครั้งนี้ จึงได้ระบุว่า “การที่ที่ประชุม กพฐ.เห็นชอบในข้อเสนอที่จะประกาศใช้หลักสูตรในเดือนตุลาคม 2565 หากคณะบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ และคู่มือการใช้ ได้ปรับปรุงเสร็จภายใน 2-3 เดือน ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน” ซึ่งยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นไปอีก 

"ดังนั้น ผมขอเรียกร้องไปยังผู้บริหาร ศธ.และ สพฐ.ได้หยุดสร้างความสันสน โดยขอให้หยุดนิ่งอย่าเคลื่อนไหวเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะอีก จนกว่าจะสามารถชี้แจงข้อเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ดังกล่าวของคนในแวดวงการศึกษาให้ได้ก่อน เพราะที่ผ่านมาผู้บริหาร ศธ.และ สพฐ.ยังไม่มีใครออกมาตั้งโต๊ะแถลงความจริงแม้แต่คนเดียว" ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ และรองประธาน ส.ค.ท. กล่าว

อนึ่ง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานเพิ่มเติมถึงรายละเอียดที่กำหนดในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่จัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มีนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ซึ่งอยู่ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 

และเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ะบุไว้ชัดเจนในหัวข้อส่วนที่ ๒ กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rockข้อย่อยที่ ๒.๒ กิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ (อยู่ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘) ดังสาระสำคัญต่อไปนี้

การจัดการศึกษาของประเทศ จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ ๒๕๖๐ และยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพลวัตรของโลกยุคใหม่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชากรในทุกช่วงวัย ที่จะต้องเผชิญ ความท้าทายกับวิถีชีวิตใหม่

จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะและใฝ่เรียนรู้ (Learning Skills) สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะชีวิต (Life Skills) ในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรัก และความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

การมีครูอาจารย์ที่มีสมรรถนะ ด้านการจัดการเรียนรู้ที่ หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงานการจัดการเรียนรู้ การนิเทศการเรียนรู้ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัย และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางและจังหวะก้าวการเรียนรู้ของตนเอง (Personalized Learning) อย่างมีความหมาย

มีการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติอย่างแท้จริง ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียน และความพร้อมเพื่อให้การจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดเจนถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดในกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ดังนี้

เป้าหมาย (๑) ผู้เรียนทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ ทักษะและใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ

(๒) ครู/อาจารย์มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย การออกแบบการ เรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีจิตวิทยาการเรียนรู้ สื่อและการใช้สื่อ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการ เรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง มีความศรัทธาในวิชาชีพและความเป็นครู

(๓) ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงาน วิชาการ และการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ด้านหลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง การนิเทศการจัดการเรียนรู้ มีภาวะ ผู้น้าทางวิชาการ มีจิตวิทยาในการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการจัดการเรียนรู้ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในการร่วมมือกับบุคคล หน่วยงานและชุมชนในการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับ ผู้เรียน

ตัวชี้วัด (๑) มีหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของ ผู้เรียนรายบุคคล

(๒) ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

(๓) ครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนแบบถักทอความรู้ ทักษะ และเจตคติค่านิยม และคุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันแบบ Active Learning ในทุกระดับการศึกษา

(๔) ระบบการประเมินผลลัพธ์ผู้เรียนมีความหลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) และสามารถสะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนได้ตามบริบทของสถานศึกษา ลดสัดส่วนของการนำผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในระดับชาติมาใช้ในการพิจารณาประเมินผลของครูและผู้บริหาร สถาบันการศึกษา

(๕) มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้อัจฉริยะ ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อการสอนคุณภาพสูง และการประเมินและพัฒนาผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personalized learning) สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย

ที่สำคัญในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังมีการระบุในหน้า ๓๐๗ ในหัวข้อที่ ๒.๒.๒ เรื่องหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดในหัวข้อ ๒.๒.๓ เรื่องระยะเวลาดำเนินการ รวม ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕) ๒.๒.๔ ประมาณการวงเงินรวม และแหล่งที่มาของเงิน คืองบประมาณของหน่วยงาน

ตลอดจนในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษา ยังระบุชัดในหน้า ๓๐๗-๓๐๘ หัวข้อ ๒.๒.๕ ขั้นตอนและวิธีการการดำเนินการปฏิรูป ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ ปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ทุกระดับ ที่เน้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่นำไปสู่สมรรถนะหลักที่จำเป็นในแต่ละระดับตามแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และการวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน ปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจำเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ด้วยการให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลเป็น วิเคราะห์สังเคราะห์ออกแบบ ตัดสินใจบนพื้นฐานคุณธรรมและค่านิยมเพื่อสังคม ประเทศชาติและนำความรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างมีแบบแผน ตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหา พัฒนาจนเกิดผลผลิตที่ดีกว่า มีคุณค่าต่อสังคม มากกว่าเดิม และกำกับการเรียนรู้ของตนเองในการตรวจสอบกลไกเชิงระบบของงานที่ท้าเพื่อเพิ่มคุณค่า คุณธรรม ค่านิยม และขยายประโยชน์สู่สังคมที่กว้างขึ้น

ด้วยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัย และระดับอุดมศึกษาตลอดแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๒ พัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้ สามารถจัดและอำนวยกระบวนการเรียนรู้ การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และวัดผลประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน และพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถกำกับดูแล ช่วยเหลือแนะนำ การโค้ชครูรวมถึงการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน

มีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี (มกราคม ๒๕๖๔ – ธันวาคม ๒๕๖๔)

ขั้นตอนที่ ๓ รับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผล ให้มุ่งเน้นที่การประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง โดยพัฒนาวิธีการที่หลากหลายในการประเมินผู้เรียนที่เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของผู้เรียน

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ในการเสริมสร้างการเรียนรู้และยกระดับคุณภาพผู้เรียน ทั้งด้านทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านวิชาการ ทักษะ และการบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดี

ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔ – กันยายน ๒๕๖๕)

ขั้นตอนที่ ๕ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประชุมหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ประเมินผลการดำเนินงานและขยายผลต่อไป

มีระยะเวลาดำเนินการ ทุก ๓ เดือน

ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการศึกษาของชาติ คณะรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ตลอดจนผู้บริหารการศึกษาในระดับกระทรวง พื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้อ่านกันชัดๆ แล้ว คงให้คำตอบกันได้ไม่ยากว่า

ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งผ่านความเห็นชอบแล้วจากรัฐบาล และรัฐสภารับทราบด้วยแล้ว ณ พ.ศ.2564 ซึ่งทันตามยุคสมัย และเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา และสอดรับตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ได้กำหนดให้ "กระทรวงศึกษาธิการ" ทำอะไร ??

ระหว่างเดินหน้าปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของครูและนักเรียนเป็นแบบ Active Learning ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานอิงมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน หรือ ยังหลงทางจัดทำหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ ???

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องตระหนักในการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง สังคม และประเทศชาติ โดยเดินตามกฎหมาย พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๘๐) และตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง)

ซึ่งตามชื่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ได้มีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นกว่าแผนฉบับเก่า โดยเฉพาะการตอบสนองได้รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ 

เปรียบเสมือนกระทรวงศึกษาธิการได้ทำหน้าที่ถูกทิศถูกทาง ในการจัดหาเรือที่มีหางเสือให้กับคุณครูทั่วประเทศได้พายพาเด็กๆ เยาวชนนักเรียนไทยข้ามไปถึงฝั่ง ไม่ใช่ปล่อยให้คุณครูจำนวนไม่น้อยขาดหางเสือ พายเรือส่ายไปส่ายมา วนเวียนจนส่งเด็กๆ ไม่ถึงฝั่งสักที !!

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)