2 องค์กรครูงง! “ไทย”หนึ่งเดียวในโลก เปลี่ยนหลักสูตรในสถานการณ์โควิด-19

2 แกนนำองค์กรครูงง! “ไทย” ประเทศเดียวในโลกเปลี่ยนหลักสูตรจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เรียกร้อง สพฐ.ชะลอทดลองใช้หลักสูตรสมรรถนะ ส่อล้มเหลวสูง งบฯแผ่นดินสูญเปล่า แนะหันมาเติมเต็มความรู้นักเรียนที่ขาดหายในช่วงเรียนออนไลน์หลายภาคการศึกษาที่ผ่านมา จี้ “รมว.ตรีนุช” เจ้าภาพเชิญสองฝ่ายขัดแย้งหาทางออกวิธีสร้างศักยภาพ น.ร.ในศตวรรษ 21 ร่วมกัน มึน!มี กก.ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 2 ซิม

จากกรณีปรากฏข่าวในสื่อสารมวลชนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 7 เมษายน 2565 ซึ่งมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน จะให้ทดลองใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ป.4) ในกลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด (ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ในปีการศึกษา 2565 ก่อนขยับไปในชั้นอื่นๆ ต่อไป , ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ และ ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะเริ่มตั้งแต่ชั้นป. 1 และ ป. 4 รวมทั้งยังได้มีการเสนอขอปรับเวลาในการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565 เพื่อการันตีล่วงหน้าให้กับบริษัทเอกชนได้มีเวลาผลิตหนังสือเรียน สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล ฯลฯ ได้ทันมาจำหน่ายรองรับการใช้จริงหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะนีการศึกษา 2567 หรือเปิดปีการศึกษาเดือนพฤษภาคม 2567 นั้น

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในปัจจุบันนี้ แม้จะเบาบางลงไปบ้าง แต่ตนก็ยังไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการ กพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะให้มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะในสถานศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด

ถึงแม้จะเป็นความหวังดีของบอร์ด กพฐ.และ สพฐ.ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบทดลองใช้หลักสูตรใหม่ ท่ามกลางปัญหาแวดล้อมที่รุมเร้าจำนวนมากในเวลานี้ ทั้งเรื่องการต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของจังหวัด ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเองก็กำลังวิตกกังวลมากว่า จะเปิดให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนแบบ On Site ในวันเปิดปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ได้หรือไม่

ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ภาวนาให้เปิด On Site ให้ได้ เพราะก่อนหน้านี้หลายภาคการศึกษาโรงเรียนจำนวนมากต้องหยุด On Site หันไปเรียนแบบออนไลน์ (Online) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้เด็กๆ มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ไม่เพียงพอกับมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการทดดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ และอาจกลายเป็นการสร้างภาระหนักให้กับทั้งนักเรียนและครู กระทั่งนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

“ดังนั้น ในช่วงเวลาของปีการศึกษา 2565 ที่กำลังจะเริ่มต้น กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ.ควรจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนต่างๆ ได้สอนซ่อมเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้กับนักเรียนที่ขาดหายไปในช่วงของการเรียน Online ในหลายภาคเรียนที่ผ่านมา ย่อมจะดีกว่ามาเพิ่มภาระให้กับครูและนักเรียนด้วยการให้ต้องมาทดลองใช้หลักสูรใหม่”

ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คำว่าสมรรถนะ แน่นอนว่าตัวหลักสูตรจะต้องมีพานักเรียนคิด พานักเรียนทำ มีกิจกรรมการเรียนรู้เสริมนอกห้องเรียน นอกโรงเรียนมากมาย เพื่อที่จะสร้างสมรรถนะให้กับนักเรียน ฉะนั้น กิจกรรมที่มากขึ้นเหล่านี้ย่อมสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น จนอาจต้องหยุด On Site หยุดทดลองเป็นระยะๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความไม่ต่อเนื่องของการทดลอง ศึกษา วิจัยเพื่อปรับปรุงหลักสูตร และนำมาสู่ความล้มเหลวในที่สุด

“ฉะนั้น ผมขอเรียกร้องไปยังผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. และคณะกรรมการ กพฐ.ได้โปรดชะลอการนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะมาทดลองใช้ในโรงเรียนในช่วงเวลาที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับหมื่นคน และเสียชีวิตจำนวนกว่า 100 คนต่อวัน เพราะน่าจะสุ่มเสี่ยงส่งผลเสียหายต่อพัฒนาการศึกษาของชาติมากกว่าผลดี และในโลกนี้ก็คงมีเพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการจัดการศึกษาใหม่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เช่นนี้” นายบุญสม กล่าว

ขณะที่ นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ในโลกนี้คงมีเพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการจัดการศึกษาใหม่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19” ซึ่งแน่นอนว่า การทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานการณ์ที่ประเทศไทยในทุกวันนี้ยังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-9 ย่อมจะสุ่มเสี่ยงต่อความล้มเหลว

เนื่องจากมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นอุปสรรคทำให้การทดลองหลักสูตรใหม่ในโรงเรียนจะต้องหยุดชะงักเป็นระยะๆ จนขาดความต่อเนื่อง เพราะต้องปิดโรงเรียนหยุด On Site เช่นเดียวกับปีการศึกษาที่ผ่านมา จนมีโรงเรียนจำนวนมากสามารถนับวันเด็กมาเรียนที่โรงเรียนได้เลย กระทั่งกำลังเกิดเป็นปัญหาเด็กประถมศึกษาในโรงเรียนจำนวนมาก อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

ดังนั้น ในช่วงปีการศึกษา 2565 ที่จะถึง สพฐ.ควรให้ความสำคัญกับการเติมเต็มพื้นฐานความรู้ของนักเรียนที่ขาดหายไปในช่วงของการเรียน Online ที่ผ่านมา ดีกว่าจะมาเร่งรีบให้โรงเรียนทดลองใช้หลักสูรใหม่ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดินที่นำมาใช้ดำเนินการด้วย

นอกจากนี้ ตนเห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังจากมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560 จนถึงขั้นจะมีการแจ้งความอาญา 157 เอาผิดบอร์ด กพฐ. และผู้บริหาร สพฐ.ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกมติ กพฐ.ที่เกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ

ที่สำคัญยังเห็นถึงความขัดแย้งในกลุ่มคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ฝ่ายหนึ่งคัดค้าน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ ซึ่งจะสร้างปัญหาไปสู่หลักสูตรการผลิตบัณฑิตครูออกมาแบบ 2 ซิม สร้างความสับสนวุ่นวายในสังคมการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ

หรือแม้แต่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯให้มุ่งเน้นอบรมพัฒนาครูให้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning โดยยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560 ตามที่ปรากฏในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้

แต่ก็กลับมีกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาบางคน เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและผลักดันหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ จนคนในแวดวงการศึกษาเองก็เกิดความสับสน เฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นครูผู้ปฏิบัติคงออกอาการมึนงงไม่น้อย ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวเดินไปทางไหน??

แกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) กล่าวต่อว่า เหล่านี้เป็นความอื้อฉาวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงของการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการจัดการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่นับรวมปัญหาความพร้อมในการต้องใช้หลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียน จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องไปถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นเจ้าภาพเชิญทุกฝ่ายที่เห็นขัดแย้งกันได้มาประชุมหาทางออกที่ตกผลึกร่วมกันว่า จะเดินหน้าพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่สร้างศักยภาพนักเรียนได้ก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยวิธีไหน

ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนดึงดันแต่จะใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะเพียงอย่างเดียว ขอให้ร่วมกันคิดจนตกผลึกร่วมกันก่อน ไม่เช่นนั้นย่อมสุ่มเสี่ยงกับความขัดแย้งและความล้มเหลวอย่างแน่นอน ขอให้คิดถึงนักเรียนและครูที่ต้องรับผลกระทบโดยตรงด้วย

“อีกทั้งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560 ตามที่ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. (รับผิดชอบงานวิชาการ) ได้ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเปรียบเทียบกับ (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ แทบไม่มีความแตกต่างกัน สมรรถนะผู้เรียนก็อยู่ในกรอบเดียวกันทั้ง 6 ด้าน จน ดร.เกศทิพย์กล่าวสรุปว่า ไม่ว่าสถานศึกษาจะใช้หลักสูตรไหน ถ้าได้มีการปรับการจัดการเรียนรู้เป็นแบบ Active Learning ก็จะสามารถทำให้นักเรียนเข้าถึงสมรรถนะผู้เรียนได้ทั้งนั้น ซึ่งผมเชื่อตาม ดร.เกศทิพย์” นายธนชน กล่าว

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)