มรสุมตั้งเค้ากระหน่ำ “บอร์ด กพฐ.ชุด ศ.บัณฑิต” ว่าด้วยหลักสูตรสมรรถนะเป็นเหตุ!

มรสุมตั้งเค้ากระหน่ำ...

“บอร์ด กพฐ.ชุด ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

ว่าด้วยหลักสูตรสมรรถนะเป็นเหตุ!

โดย: ทีมข่าว EdunewsSiam.com

 

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 ว่า OBEC Channel ช่องทางสื่อสารสาธารณะ โดยเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านโซเชียลมีเดียยูทูป ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอชื่อเรื่อง “การพัฒนาการเรียนการสอน สมรรถนะผู้เรียนฯ โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.” เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 มีผู้เข้าชมแล้วจนถึงเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกันนี้ (16 เมษายน 2565) จำนวน 8,726 ครั้ง

คลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการบันทึกการชี้แจงนโยบายของ สพฐ.แก่คณะผู้บริหาร ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญใน สพฐ.ส่วนกลาง คณะผู้บริหารในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษานิเทศก์ และทีมในเขตพื้นที่การศึกษา โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในการประชุมออนไลน์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565

โดยชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลสมรรถนะผู้เรียน และการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยบูรณาการแหล่งเรียนรู้ด้วยเครือข่ายศึกษานิเทศก์และผู้อานวยการโรงเรียนหนุนเสริม

ในความยาวประมาณ 29 นาที ของคลิปวิดีโอนี้ ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวตอนหนึ่งชี้แจงชัดเจนถึงการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ตามแผนปฏิรูประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ปรับรุง พ.ศ.2560) โดยปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ บูรณาการตัวชี้วัด ใส่ Attitude+Value ผ่านกระบวนการ Active Learning

นอกจากนี้ ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. ยังได้ชี้แจงอธิบายชัดเจนถึงความไม่แตกต่างของการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ปรับรุง พ.ศ.2560) ในสถานศึกษาปัจจุบันทั่วไป กับการใช้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้น 2 ในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด (ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565)

อีกทั้ง ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. ยังกล่าวสรุปไว้ด้วยว่า ไม่ว่าสถานศึกษาจะใช้หลักสูตรไหน ถ้าได้มีการปรับการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว ก็จะสามารถทำให้นักเรียนเข้าถึงสมรรถนะผู้เรียนได้ทั้งนั้น (ชมคลิป)

ดังนั้น เมื่อปรากฏข่าวคล้อยหลังเพียง 2 วัน หลังการประชุมออนไลน์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ดังกล่าว ว่า ที่ประชุมบอร์ด กพฐ.ชุดใหม่ (ครั้งที่ 4/2565) ซึ่งมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ได้มีมติเดินหน้าแผนปฏิบัติการ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ระดับประถมศึกษา เพื่อทำหน้าที่ตรวจทานหลักสูตร

และ ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ยังได้กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กพฐ.ชุดใหม่ ครั้งที่ 4/2565 ด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการทดลองการใช้หลักสูตรฐานสรรถนะในกลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไร จะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ป.4) ในปีการศึกษา 2567 ก่อน หลังจากนั้นจะขยับไปในชั้นอื่นๆ ต่อไป

จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบต่อคณะกรรมการ กพฐ.ทันที ในทำนองสร้างความสับสนและเพิ่มภาระแก่ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียน ผู้ปกครอง หรือไม่? เพราะความพร้อมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่ตรงไหน? และมติของบอร์ด กพฐ.ในเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว สวนทางกับนโยบายและแนวปฏิบัติของ สพฐ.หรือไม่? ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ตามแผนปฏิรูประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ปรับรุง พ.ศ.2560) โดยปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ บูรณาการตัวชี้วัด ใส่ Attitude+Value และผ่านกระบวนการ Active Learning

ทั้งนี้ ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า บอร์ด.กพฐ.ครั้งที่ 4/2565 นอกจากเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...ระดับประถมศึกษา แล้ว ยังเห็นชอบให้ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...ระดับประถมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยกำหนดชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...” และเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ”

รวมทั้งยังได้เห็นชอบแผนการทดลองใช้ (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนี้ 1) ปีการศึกษา 2565 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2) ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ 3) ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะประถมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 4

ตลอดจนบอร์ด กพฐ.ยังได้ขอปรับเวลาในการประกาศใช้หลักสูตรจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565 ด้วย

ในขณะที่ราว 1 เดือนก่อนหน้าปิดภาคเรียนใหญ่ปีการศึกษา 2564 หรือประมาณ 2 เดือนกว่าก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ กพฐ.ชุดใหม่นี้ยังไม่มีทีท่าความชัดเจนในเรื่องกำหนดเวลาของการวางแผนใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

โดยในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 มี ศาสตราจารย์บัณฑิต นั่งเป็นประธาน ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า “ตอนนี้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อสังเกตและมอบหมายให้ สพฐ.พิจารณาทำแผนขึ้นมาว่า โรงเรียนที่มีความพร้อมแต่อยู่นอกเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หากมีความพร้อม ก็เห็นควรที่จะเปิดโอกาสให้ทางโรงเรียนสามารถนำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ได้ จากนั้นให้เสนอมายังที่ประชุม กพฐ.เพื่อทำการพิจารณา

“ในส่วนของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่แม้เราจะเห็นพ้องต้องกันว่า การเน้นสมรรถนะเป็นเรื่องที่เหมาะสม เข้ากับยุคสมัย แต่ในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ (ร่าง) หลักสูตรฯที่ยังอยู่ในขั้นการทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึง ยืนยันว่าการจะนำหลักสูตรใดมาใช้ทั้งหมดแบบทันทีทันใด ก็อาจจะยังไม่มีความพร้อม" ศาสตราจารย์บัณฑิต ประธานบอร์ด กพฐ. กล่าวย้ำ

ขณะเดียวกัน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมในช่วงเวลานั้นว่า เนื่องจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่กฎหมายเฉพาะ ที่ให้โรงเรียนสามารถเลือกใช้หลักสูตรได้ 4 แนวทาง ดังนั้น โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมจะเลือกแนวทางของหลักสูตรปี พ.ศ.2551 (ปรับปรุงใหม่ปี พ.ศ.2560) ที่มี 5 สมรรถนะ นำไปต่อยอดการจัดการเรียนรู้ก็สามารถทำได้ หรือจะนำ 6 สมรรถนะใน (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ทำขึ้นใหม่ ไปใช้ก็ได้ หรือจะคิดหลักสูตรของโรงเรียนขึ้นมาใช้เองก็ได้เช่นกัน

“ซึ่งมีโรงเรียน 5 แห่งใน จ.เชียงใหม่ที่เลือกนำ (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้อยู่ จากโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัดทั้งหมด 467 โรงเรียน” ดร.อัมพร เลขาธิการ กพฐ. ระบุ

การเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ ดร.อัมพร เลขาธิการ กพฐ. สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ที่เปิดเผยกับสื่อมวลชนประจำ ศธ.ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา

ซึ่งนางสาวตรีนุช รมว.ศธ. ได้เป็นประธาน Kick-Off เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 265 โรงเรียน ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. กลับระบุว่า จากการตรวจสอบหลักฐานปรากฏข้อเท็จจริงมีสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ขออนุญาตทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดต่างๆ รวมจำนวน 247 โรงเรียน แต่มีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น ที่ได้มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ

และหนำซ้ำยังได้ไปทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ (ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน) เท่านั้น จึงยังไม่ถือว่า เป็นการทดลองนำร่องใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน หรืออาจเรียกได้ว่ายังไม่มีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาเลย

ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. ยังเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อว่า ส่วนอีก 242 โรงเรียน พบว่าไม่มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด แต่ยังเดินหน้าใช้หลักสูตรในปัจจุบัน คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน) และมีการปรับการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน (แต่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

“แสดงว่าทั้ง 242 โรงเรียนนี้ทำตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.2560) อิงมาตรฐาน ในปัจจุบัน และปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)” ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวยืนยันชัดเจน

จากข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ จึงเกิดคำถามต่างๆ ตามมามากมาย พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงกล่าวหาคณะกรรมการ กพฐ.ชุดใหม่ ซึ่งมีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน โดยเฉพาะข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า มีอะไรอยู่ในกอไผ่ หรือมีอะไรเชื่อมโยงอยู่เบื้องหลังหรือไม่? จึงได้ดูคล้ายกับว่า บอร์ด กพฐ.มีอาการเร่งรีบเดินหน้าเพื่อใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

ทั้งที่ห้วงเวลาร่วม 1 เดือนกว่าก่อนหน้านี้ เป็นช่วงของการปิดเทอมใหญ่ จึงเกิดคำถามตามมา??? แล้วโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด จะมีเวลาทดลองใช้ได้มากน้อยกี่วัน?

เวลานี้ได้ผ่านพ้นช่วงของการเตรียมความพร้อมเรื่องต่างๆ เสร็จสิ้นกันแล้วหรือยัง? เช่น การจัดอบรมพัฒนาศึกษานิเทศก์และทีมพี่เลี้ยง เพื่อพาโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัดทำหลักสูตรสถานศึกษา 

รวมทั้งถามถึงขั้นตอนการเปิดรับสมัครโรงเรียนนำร่องทดลองใช้หลักสูตร ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้จำนวนกี่โรงเรียนแล้ว? ถึงครึ่งแล้วหรือยัง? จากจำนวนโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัดทั้งสิ้น 467 โรงเรียน 

และที่สำคัญ ยังปรากฏข้อเท็จจริงในขั้นตอนดำเนินการ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" ตามที่ระบุไว้ในคลิปวิดีโอบันทึกการชี้แจงนโยบายของ สพฐ. โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ในการประชุมออนไลน์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ดังกล่าวข้างต้น 

โดย ดร.เกศทิพย์ ได้อธิบายพร้อมแสดงแผนผังดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ไว้อย่างชัดเจนว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ 7 "พัฒนาสื่อและเอกสารประกอบหลักสูตร" และขั้นตอนที่ 8 "พัฒนาบุคลากรโรงเรียนนำร่อง" ยังไม่ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนที่ 9 คือ ทดลองใช้หลักสูตร ซึ่งจะต้องดำเนินการทดลอง 1 ปีเต็ม ว่าจะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างไร??

ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนที่ 10-12 คือ ขั้นตอนการปรับปรุงร่างหลักสูตร, ขั้นตอนเสนอหลักสูตรต่อบอร์ด กพฐ.เห็นชอบ และขั้นตอนสุดท้ายจะต้องเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขออนุมัติและประกาศใช้หลักสูตร ซึ่งต้องใช้เวลารวมในขั้นตอนที่ 10-12 อย่างน้อยอีกราวครึ่งปี 

แล้วเหตุใด??? ศ.บัณฑิต ถึงได้กล้าที่จะกล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนว่า “ขณะนี้ได้มีการทดลองการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในกลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมแล้ว หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไร จะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ป.4) ในปีการศึกษา 2567 ก่อน หลังจากนั้นจะขยับไปในชั้นอื่นๆ ต่อไป”

เฉพาะอย่างยิ่ง หากกระแสข่าวนี้เป็นจริงดังที่ระบุว่า "บอร์ด กพฐ.ได้เห็นชอบแผนการทดลองใช้ (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนี้ 1) ปีการศึกษา 2565 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2) ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ 3) ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 4 รวมทั้งยังได้ขอปรับเวลาการประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565 ด้วย"

คนในแวดวงการศึกษาก็คงจะได้เห็นเมฆตั้งเค้าก่อเกิดพายุใหญ่กับคณะกรรมการ กพฐ.ชุดใหม่ ภายใต้การนำของประธาน ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเร็ววันนี้

แว่วว่า ถึงขั้นฟ้องศาลให้ยกเลิกมติบอร์ด กพฐ.ดังกล่าว เพราะสร้างภาระและผลกระทบกับครู-นักเรียน พร้อมทั้งแจ้งความอาญา 157 กล่าวหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบขัดกฎหมาย กันเลยทีเดียว ???

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)