แซด!โครงการอบรมหลักสูตรสมรรถนะโผล่ ใช้งบฯหัวละร่วม 1 หมื่นบาท

รุมค้าน!ผุดโครงการหลักสูตรสมรรถนะ

อบรมหัวละร่วม 1 หมื่นบาท

ทั้งที่ ศธ.ยังยกร่างไม่แล้วเสร็จ

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewSiam.com รายงานเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ว่า กำลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสงสัยในหมู่คนแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาท้องถิ่น เกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การเตรียมความพร้อมการใช้หลักสูตรขั้นพื้นฐานฉบับรับปรุง (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สวนสุนันทา ร่วมดำเนินการกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย

โดยอ้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ขึ้นมาใช้แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่ใช้มาเป็นเวลานาน 14 ปี แล้ว

ในเอกสารโครงการระบุถึงกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา, ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษาฝ่ายวิชาการ, ศึกษานิเทศก์, นักวิชาการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ โดยมีแผนการจัดฝึกอบรมตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2565-กลางเดือนสิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง กรุงเทพฯ รวมจำนวน 12 รุ่นๆ ละ 3 วัน

วันแรก ภาคเช้า 09.00-12.00 น. อบรมวิชา “กรอบความคิดในการจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา” วิทยากร ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ (อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่งเกษียณอายุราชการปีที่แล้ว) และคณะ, ภาคบ่าย 13.00-16.00 น. อบรมวิชา “กรอบความคิดการออกแบบการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ” วิทยากร ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ (อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่งเกษียณอายุราชการปีที่แล้ว) และคณะ

วันที่สอง ภาคเช้า 09.00-12.00 น. อบรมวิชา “แนวทางการออกแบบจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ” วิทยากร ดร.ธีรพงษ์ ศรีโพธิ์ และคณะ, ภาคบ่าย 13.00-16.00 น. อบรมวิชา “การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ” วิทยากร ว่าที่ ร.อ.ศศวรรธน์ ขรรค์ทัพไทย และนางสาวทัศนีย์ พิมพ์ดี

วันที่สาม ภาคเช้า 09.00-12.00 น. อบรมวิชา “การออกแบบการวัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ” วิทยากร ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ และคณะ, ภาคบ่าย 13.00-16.00 น. สรุปผลการอบรม

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารราชการระบุด้วยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้แจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ ขอความร่วมมือให้แจ้งประสานผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดนั้นๆ ได้พิจารณามอบหมายผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษาฝ่ายวิชาการ ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาของ อปท.เข้าร่วมการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว

โดยทางจังหวัดระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นสังกัดต่างๆ ต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเข้าฝึกอบรมให้กับบุคลากรในสังกัดคนละ 6,700 บาท (ฝึกอบรม 3 วันดังกล่าว) โดยเป็นค่าใช้จ่ายเอกสาร ค่าหนังสือคู่มือ ค่ากระเป๋า ค่าอาหารกลางวันและเย็น ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าสถานที่อบรม และค่าวัสดุอุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆ

(ยังไม่รวมค่าที่พัก ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเบี้ยเลี้ยงของบุคลากรในสังกัดแต่ละคนที่ให้เบิกจ่ายจาก อปท.ต้นสังกัดนั้นๆ ด้วย รวมแล้ว อปท.ต้องจ่ายค่าฝึกอบรมของบุคลากรในสังกัดแต่ละคนประมาณ 10,000 บาท)

กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมดังกล่าว เช่น เหตุผลใดที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งรีบทำเรื่องนี้ ทั้งที่ ศธ.ยังจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะมีคำยืนยันจาก ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ยังไม่มีการใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560 แต่อย่างใด ยังต้องผ่านขั้นตอนเตรียมความพร้อมและตรวจสอบหลักสูตรอีกนาน

จึงมีกระแสเรียกร้องจากคนในแวดวงการศึกษาท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยระงับโครงการนี้ไว้ก่อน เฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ กำลังขาดแคลนงบประมาณ แล้วเหตุใดจึงต้องมาใช้จ่ายเงินจำนวนมากตกละคนราว 10,000 บาท กับหลักสูตรการศึกษาที่ยังเป็นเพียงการยกร่าง และไม่มีความชัดเจนในการประกาศใช้

“ไม่อยากให้หลงเชื่อการบิดเบือนของนักวิชาการบางกลุ่มที่มักอ้างตอกย้ำซ้ำๆ เพื่อให้สังคมไทยเข้าใจกันผิดว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ใช้มาเป็นเวลานาน 14 ปี แล้ว ทั้งที่ข้อเท็จจริงรับรู้กันทั่วไปว่า ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่เมื่อปี พ.ศ.2560 สมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังไม่ได้ประเมินผลด้วยซ้ำว่า มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร?” เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในแวดวงการศึกษาท้องถิ่น

นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ กล่าวว่า อาจเป็นความปรารถนาดีของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการสร้างโอกาสที่ดีในการรับรู้เกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะให้กับบุคลากรในสถานศึกษาสังกัด อทป. แต่จากการติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนหลักสูตรสมรรถนะในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เวลานี้ ยังไม่มีอะไรชัดเจนว่า ศธ.จะประกาศใช้ได้หรือไม่ และอีกนานเท่าไหร่

เพราะกำลังมีปัญหาขัดแย้งกับฝ่ายที่คัดค้าน จนกำลังจะมีการฟ้องร้องศาลและแจ้งความอาญา 157 เอาผิดกับผู้ผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะ กล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับปัจจุบัน ที่ให้ปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยยังใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560 เหมือนเดิม อีกทั้งขณะนี้การยกร่างหลักสูตรสมรรถนะของ ศธ.ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ได้นำไปทดลองใช้ในสถานศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา วิจัย แก้ไขปรับปรุงอีกระยะหนึ่ง

“ประกอบกับเพื่อให้การใช้งบประมาณคุ้มค่า และเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของหน่วยงาน อปท. จึงอยากเรียกร้องให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย ได้ระงับโครงการอบรมนี้ไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบตอนนี้ รอให้มีความชัดเจนจาก ศธ.ก่อนว่า จะเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องการศึกษาเราก็รอกันได้มาตั้งนานแล้ว” ผู้แทนครูสังกัด กทม. กล่าว

สอดค้องกับการแสดงความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมดังกล่าว อาจเกิดจากความปรารถนาดีที่ต้องการเตรียมความพร้อมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะให้กับสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศในอนาคต เพียงแต่อาจจะดำเนินการเร็วเกินไป จนอาจไม่คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่ต้องจ่ายไป

เพราะตามข้อเท็จจริงความคืบหน้าของหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะที่ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ยังอยู่ในขั้นยกร่างกรอบหลักสูตรฯเท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการนำไปทดลองใช้ในสถานศึกษา ซึ่งยังต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาวิจัย แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และต้องผ่านการตรวจสอบอีกหลายขั้นตอน อีกหลายปีกว่าจะเสนอ ศธ.อนุมัติและประกาศใช้ได้

ดังนั้น หัวข้อการอบรมในโครงการดังกล่าว จึงอาจจะยังเป็นเพียงการให้ข้อมูลเรื่องของกรอบและแนวทางเกี่ยวกับหลักสูตรฯ แต่ยังไม่มีรายละเอียดตามหลักสูตรฯให้ผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษาได้ฝึกอบรมจนมีความรู้ ความเข้าใจกระทั่งพร้อมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ได้ อาจต้องเสียงบประมาณจัดอบรมใหม่อีกรอบ ซึ่งเรื่องของกรอบและแนวทางเกี่ยวกับหลักสูตรสมรรถนะ มีปรากฏในสื่อโซเชียลและเว็บไซต์ใน ศธ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรสมรรถนะมากมาย มารถติดตามความก้าวหน้าและเรียนรู้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาเสียงบประมาณแผ่นดิน

“เฉพาะอย่างยิ่ง ในาวะที่รัฐบาลกำลังมีปัญหาความคล่องตัวเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินที่จะนำมาใช้พัฒนาในโครงการสำคัญๆ ต่างๆ ผมจึงอยากเรียกร้องให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ระงับโครงการอบรมนี้ไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเตรียมความพร้อมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะให้กับบุคลากรในสถานศึกษาสังกัดท้องถิ่นทั่วประเทศในเวลานี้” อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)