“องค์กรครู”ทำหนังสือจี้ 10 คำถาม“ศ.บัณฑิต” ไขเคลือบแคลงหลักสูตรฐานสมรรถนะ

"องค์กรครู" ทำหนังสือจี้ "ศ.บัณฑิต" ประธาน กพฐ.-อธิการบดี จุฬาฯ ตอบ 10 คำถามสำคัญ ไขข้อเคลือบแคลงหลักสูตรฐานสมรรถนะ

 

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักวิชาการ ตลอดจนคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์หลายสถาบัน ได้สะท้อนถึงความสับสนและเคลือบแคลงสงสัยในพฤติการณ์ของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชุดใหม่ ที่มีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ในกรณีที่รับพิจารณาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา

ดังนั้น ตนจึงได้รวบรวมเป็น 10 ข้อคำถามสำคัญ และส่งเป็นหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ไปถึงศาสตราจารย์บัณฑิต ที่สำนักงานอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอให้ตอบคำถามชัดเจนให้สังคมคลายข้อเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะประเด็นสถานะของร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และพฤติการณ์ของคณะกรรมการ กพฐ. ดังนี้

สานิตย์ พลศรี

1.พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 บัญญัติให้คณะกรรมการ กพฐ.เป็นผู้ริเริ่มและกำหนดการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช่หรือไม่?

2.จริงหรือไม่? ที่มีข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติรับทราบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งยกร่างโดยกลุ่มบุคคลภายนอก ถ้าจริง คณะกรรมการ กพฐ.กระทำผิดกฎหมายการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวหรือไม่? เพราะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มและกำหนดให้จัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าวแต่อย่างใด?

3.ศ.บัณฑิตให้ข่าวว่า ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่ระหว่างนำไปทดลองใช้ในโรงเรียน ถามว่าเอาหลักสูตรอะไรไปทดลองใช้? เพราะผู้จัดทำหลักสูตรเองก็เผยแพร่ทางสื่อสังคมไปทั่วว่า ร่างหลักสูตรยังไม่เสร็จ กำลังจัดทำเนื้อหาสาระ?

4.ตามที่ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ให้สัมภาษณ์ว่า มีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น ที่นำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ และทดลองแค่ 5 สมรรถนะ ไม่ครบ 6 สมรรถนะ (การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน)

ดังนั้น ศ.บัณฑิตในฐานะนักวิชาการ ต้องตอบคำถามให้ชัดเจนว่า การทดลองร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่? ทั้งตัวหลักสูตรที่ทดลองแค่ 5 สมรรถนะ และจำนวนโรงเรียนแค่ 5 แห่ง และอยู่ใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น

5.ตามที่ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ระบุว่า จากการตรวจสอบหลักฐานปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัดที่ขออนุญาตเข้าร่วมทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดมีจำนวนรวม 247 โรงเรียน

โดยพบว่า 242 โรงเรียน ยังใช้หลักสูตรปัจจุบัน คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551(อิงมาตรฐาน) ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ.2560 ที่มี 5 สมรรถนะ และมีการปรับการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน (แต่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ) แสดงว่าทั้ง 242 โรงเรียนนี้ทำตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน และปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)

มีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น ที่ได้นำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ และได้ทดลองเพียง 5 สมรรถนะ ไม่ครบ 6 สมรรถนะ จึงยังไม่ถือว่ามีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาเลย

ดังนั้น ศ.บัณฑิตจะต้องให้ สพฐ.ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และตอบสังคมตามข้อเท็จจริงว่า เป็นไปตามที่ ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. ระบุ จริงหรือไม่?

6.ศ.บัณฑิต ต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้ด้วยว่า เหตุใดโรงเรียนจำนวนมากถึง 242 แห่ง จึงเปลี่ยนใจไม่ทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และเหตุใดจึงมีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น ที่ยอมทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ

7.มีกระแสข่าวว่า ภายหลังจากที่ประธาน กพฐ.แถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ปรากฏว่ามีโรงเรียนสมัครใจกลับมาเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมจำนวนมาก เป็นเพราะอะไร? กพฐ.ได้ส่งสัญญาณอะไรที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่?

8.ศ.บัณฑิตควรสั่ง สพฐ.ตรวจสอบเพื่อตอบคำถามสาธารณชน ในกรณีเหตุใดสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีนโยบายจะนำร่องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน สพฐ.เขตพื้นที่ละ 3 แห่ง (ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก) แต่สุดท้ายได้ยกเลิกไป?

9.ศ.บัณฑิตควรสั่ง สพฐ.ตรวจสอบเพื่อตอบคำถามสาธารณชนด้วยว่า เพราะเหตุใดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงไม่นำเอาเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะไปกำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) แต่กลับให้ทำการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ โดยใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานในปัจจุบัน

10.ศ.บัณฑิตสามารถแยกแยะและทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างหลักสูตรฐานสมรรถนะกับการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่? อย่างไร?

ไม่เช่นนั้นจะทำให้สังคมเกิดความสับสนกันไปหมด เพราะการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะไม่ใช่หลักสูตร แต่เป็นบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาและครูที่จะต้องไปออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรระดับชั้นเรียน เพื่อนำไปจัดการเรียนรู้ให้เกิดความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ และเกิดสมรรถนะตามมาในตัวผู้เรียน

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวด้วยว่า ตนยังมีคำแนะนำถึง ศ.บัณฑิตและกรรมการ กพฐ.ว่า กพฐ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่จะตามมาจากการปล่อยให้มีการนำร่างหลักสูตรใดก็ตามที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ ยังไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพไปทดลองในโรงเรียนของ สพฐ. เพราะย่อมสุ่มเสี่ยงสร้างผลกระทบใหญ่ตามมามากมาย ไม่เพียงแต่คุณภาพของเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั้งประเทศจะเกิดความสับสนในการนำหลักสูตรไปใช้ และยังจะมีผลกระทบไปถึงสถาบันผลิตครูอีก 127 แห่ง รวมจำนวน 2,000 กว่าหลักสูตร ที่จะต้องนำเอาไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรผลิตครูด้วย

"กพฐ.จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อยู่บนพื้นฐานความถูกต้องตามหลักวิชาการ และกฎหมาย หากยังมีข้อขัดแย้ง มีเสียงคัดค้านจากสังคมในหลากคำถามเช่นนี้ คณะกรรมการ กพฐ.ควรจะชะลอและทำความจริงให้กระจ่าง ก่อนจะไปทำความตกลงให้เข้าใจกันให้ดีในระดับนโยบาย” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)