อดีตรองปลัดฯชี้บอร์ด กพฐ.มีอำนาจตาม กม. กุมชะตาหลักสูตรสมรรถนะ

อดีตรองปลัด ศธ.ชี้บอร์ด กพฐ.มีอำนาจตาม กม.กุมชะตาหลักสูตรสมรรถนะ เชื่อยังไม่รับรอง เหตุ "ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช" ระบุหลักฐานชัด! ทดลองใช้ในโรงเรียนจิ๊บๆ แค่ 5 สมรรถนะ 5 ร.ร.ใน จ.เชียงใหม่ สวนทาง! "รมว.ตรีนุช" นั่งเป็น ปธ.เปิดโครงการในรั้ววังจันทรเกษม ประกาศ Kick-Off 265 โรง พื้นที่ Education Sandbox 8 จว.ทั่วภูมิภาค

จากกรณี ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา

ซึ่งนางสาวตรีนุช รมว.ศธ. ได้เป็นประธาน Kick-Off เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 265 โรงเรียน ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 

โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ระบุว่า จากการตรวจสอบหลักฐานปรากฏข้อเท็จจริงมีสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ขออนุญาตทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดต่างๆ รวมจำนวน 247 โรงเรียน แต่มีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้นที่ได้มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และได้ทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ (ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน)

จึงยังไม่ถือว่าเป็นการทดลองนำร่องใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน หรืออาจเรียกได้ว่ายังไม่มีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาเลย

ส่วนอีก 242 โรงเรียน พบว่าไม่มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด แต่ยังเดินหน้าใช้หลักสูตรในปัจจุบัน คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน) และมีการปรับการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน (แต่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งแสดงว่าทั้ง 242 โรงเรียนนี้ทำตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน และปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยว่า การจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาฯ ที่มีนางสิริกร เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา อาจจะถือว่าส่อเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือไม่ ? และส่อถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลในทางกฎหมายหรือไม่? เนื่องจากคณะกรรมการ กพฐ.ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเองแต่อย่างใด

ดังที่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

แต่อย่างไรก็ตาม กลับมีกระแสข่าวออกมาในช่วงเวลานี้ในทำนองว่า อาจจะมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้คณะกรรมการ กพฐ.ชุดใหม่ในคราวประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จะถึงนี้ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ชุดที่แล้ว ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ในการปรับปรุงแก้ไขร่างกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) พร้อมกับรับข้อสังเกตจากที่ประชุม กพฐ.ชุดเก่าไปดำเนินการต่อ นั้น

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.นิวัตร นาคะเวช ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า ตนเห็นว่าในประเด็นการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้น ได้ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนแล้วว่า ยังไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ว่าเป็นผลการทดลองหลักสูตรในระดับชาติ 

เพราะโดยหลักวิชาการแล้วการจะนำหลักสูตรใดมาใช้เป็นหลักสูตรแกนกลางระดับชาติในจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาได้ จะต้องผ่านการทดลองใช้ในสถานศึกษาอย่างสมบูรณ์แบบ 100% ทั้งตัวหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ต้องครอบคลุมทั้ง 6 สมรรถนะที่กำหนดไว้ (ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน) รวมทั้งจำนวนสถานศึกษาที่ร่วมทดลองใช้หลักสูตรก็ต้องมากพอ เพื่อให้เห็นตัวแปรทั้งความหลากหลายและความแตกต่างในขนาดของสถานศึกษาและบริบทของแต่ละพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่มีมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ 

ดร.นิวัตรกล่าวต่อว่า ดังนั้น ตามที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้คณะกรรมการ กพฐ.ชุดใหม่ในคราวประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จะถึงนี้ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนั้น ตนเชื่อว่าหากยังมีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะเพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมด 6 สมรรถนะ และยังทดลองใช้แค่ 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถนำมาอ้างอิงว่าเป็นการทดลองนำร่องในระดับชาติได้ ทางคณะกรรมการ กพฐ.ก็คงยังไม่ให้การรับรองร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน 

"ผมคิดว่า หากจะมีการนำเสนอเรื่องร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กพฐ.ในการประชุมวันดังกล่าวจริง ก็อาจจะเป็นเพียงการขอการสนับสนุนนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ในโรงเรียนเพิ่มเติมเท่านั้น เช่น จาก 5 โรงเรียน เป็น 200 โรงเรียน และ 500 โรงเรียน ถึงจะเพียงพอต่อการเห็นตัวแปรความหลากหลายและแตกต่างในขนาดของสถานศึกษาและบริบทของแต่ละพื้นที่" 

ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าการจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาฯ ที่มีนางสิริกร เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา อาจจะถือว่าส่อเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือไม่? นั้น

เรื่องนี้ตนมองว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีนโยบายให้จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ก็ด้วยความหวังดีที่ต้องการให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีขึ้น ถือเป็นเรื่องของการสนับสนุนส่งเสริมการทำงานใน ศธ. ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด

“แต่ที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรา 27 ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ก็เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการ กพฐ. ซึ่งมีสิทธิขาดที่จะพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรหรือไม่กับร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาฯที่มีนางสิริกร เป็นประธานกรรมการอำนวยการ ซึ่งอยู่ในสถานะคณะทีมงานที่ช่วยคิดเรื่องนี้มานำเสนอต่อคณะกรรมการ กพฐ.” อดีตรองปลัด ศธ.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)