“องค์กรครู”จี้“อัมพร”รับผิดชอบ! จ่อฟ้องศาลปล่อย กพฐ.อนุมัติหลักสูตรสมรรถนะ

 

“องค์กรครู” จี้ “อัมพร” รับผิดชอบ หากปล่อย กพฐ.ไฟเขียวหลักสูตรสมรรถนะ จ่อฟ้องศาลทำผิด พ.ร.บ.การศึกษาชาติ-กม.ปฏิรูปประเทศ

จากกรณี ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา

ซึ่งนางสาวตรีนุช รมว.ศธ. ได้เป็นประธาน Kick-Off เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ในภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 265 โรงเรียน ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 

โดย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ระบุว่า จากการตรวจสอบหลักฐานปรากฏข้อเท็จจริงมีสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ขออนุญาตทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดต่างๆ รวมจำนวน 247 โรงเรียน แต่มีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้นที่ได้มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และได้ทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ (ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน)

จึงยังไม่ถือว่าเป็นการทดลองนำร่องใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน หรืออาจเรียกได้ว่ายังไม่มีการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาเลย

ส่วนอีก 242 โรงเรียน พบว่าไม่มีการทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด แต่ยังเดินหน้าใช้หลักสูตรในปัจจุบัน คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (หลักสูตรอิงมาตรฐาน) และมีการปรับการจัดการเรียนรู้ให้อิงสมรรถนะผู้เรียน (แต่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งแสดงว่าทั้ง 242 โรงเรียนนี้ทำตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่กำหนดให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน และปรับการเรียนการสอนไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยว่า การจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาฯ ที่มีนางสิริกร เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา อาจจะถือว่าส่อเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือไม่ ? และส่อถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลในทางกฎหมายหรือไม่? เนื่องจากคณะกรรมการ กพฐ.ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเองแต่อย่างใด

ดังที่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

แต่อย่างไรก็ตาม กลับมีกระแสข่าวออกมาในช่วงเวลานี้ในทำนองว่า อาจจะมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้คณะกรรมการ กพฐ.ชุดใหม่ในคราวประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จะถึงนี้ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ชุดที่แล้ว ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ในการปรับปรุงแก้ไขร่างกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) พร้อมกับรับข้อสังเกตจากที่ประชุม กพฐ.ชุดเก่าไปดำเนินการต่อ นั้น

สานิตย์ พลศรี

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า สิ่งสำคัญประการแรกหลังจากที่ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ตรวจสอบพบมีการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในสถานศึกษาเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ และยังทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาเกิดขึ้นเลยนั้น

ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.จะต้องสั่งการให้มีการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะเคยมีผู้อ้างว่า คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) เคยนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) กรอบหลักสูตรฯ โดยได้รับข้อสังเกตจากที่ประชุม กพฐ.ไปดำเนินการต่อ แต่กลับปรากฎข้อเท็จจริงตามที่ ดร.เกศทิพย์ เลขาธิการ กพฐ.ระบุว่าตรวจสอบพบดังกล่าว

ซึ่งอาจถูกสังคมมองว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานความด้อยคุณภาพของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ที่จะนำมาเสนอให้คณะกรรมการ กพฐ.ได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ

“ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ ดร.อัมพร หากไม่กลั่นกรองปล่อยให้มีการนำร่างหลักสูตรสมรรถนะที่ผ่านการทดลองใช้เพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่เท่านั้น หนำซ้ำยังทดลองใช้เพียง 5 สมรรถนะ จากทั้งหมดจำนวน 6 สมรรถนะ บรรจุเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ เพื่อให้ความเห็นชอบให้เป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่”

นายสานิตย์กล่าวด้วยว่า หากยังมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้คณะกรรมการ กพฐ.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ตนอาจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้พิพากษาว่า เป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 หรือไม่?

ที่บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

สอดรับกับที่ ดร.เกศทิพย์ รองเลขาธิการ กพฐ. กำกับดูแลงานด้านวิชาการ ได้ระบุถึงขั้นตอนการจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับชาติว่า จะต้องผ่านขั้นตอนที่ 1. คณะกรรมการ กพฐ.จะต้องมีนโยบายและมีความเห็นเป็นหลักการว่า เห็นสมควรเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ เช่น เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 

จากนั้นขั้นตอนที่ 2. สพฐ.โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ถึงจะไปทำการบ้าน จัดการวิพากษ์ ตั้งคณะกรรมการเขียนร่างหลักสูตร แก้ไขปรับปรุง และจัดวิพากษ์ร่างหลักสูตรอีกครั้งจนไม่มีใครคัดค้านในสาระสำคัญแล้ว

จึงจะนำไปทดลองใช้กับสถานศึกษาแบบ 100% ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ 3. ต้องใช้เวลาทดลองร่างหลักสูตร ปีการศึกษา หลังจากนั้นจะต้องดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนว่า จะต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรอีกบ้าง ก่อนจะประกาศใช้เป็นหลักสูตรระดับชาติได้ โดยจะต้องใช้เวลาในขั้นตอนที่ 3. นี้ อย่างน้อย ปี นับจากเริ่มทดลองใช้ร่างหลักสูตรใหม่กับสถานศึกษา

ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่นี้ ไม่ได้เริ่มต้นดำเนินการขั้นตอนที่ 1.จากคณะกรรมการ กพฐ.แต่อย่างใด แต่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และมี น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา

นอกจากนี้ ตนอาจจะยื่นฟ้องในประเด็นมีการกระทำผิดกฎหมายปฏิรูปประเทศ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ด้วยหรือไม่? ที่กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการปรับการเรียนการสอนของครูไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Active Learning)

"ไม่ได้ให้ ศธ.มาดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 (อิงมาตรฐาน) ในปัจจุบัน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด" นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)