ส่งสัญญาณ! ครูไม่ทน 'ตรีนุช'...หลักสูตรฐานสมรรถนะ "ระเบิดลูกใหม่"

 

เสวนากับบรรณาธิการ วันที่ 3 กันยายน 2564

ส่งสัญญาณ! ครูไม่ทน'ตรีนุช'

หลักสูตรฐานสมรรถนะ...ระเบิดเวลาลูกใหม่

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

EDUNEWSsiam.com

editor@edunewssiam.com

 

  

   

...ขณะโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมทดลอง กลับดูเหมือนถูก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช. ...(หลักสูตรฐานสมรรณะ) 23 คน ปล่อยทิ้งให้เด็กและครูวนเวียนอยู่กับความขาดแคลนซ้ำซาก ยืนเดียวดายอย่างสับสน อยู่ท่ามกลางปัญหา ล้าหลัง ไม่ทันโลก ตกขบวน ไร้ราก เคว้งคว้าง ขาดโอกาส ถูกเอารัดเอาเปรียบเชิงนโยบาย ต้องดิ้นรนไขว่คว้า ต้องวิ่งถามหาความเสมอภาคในหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ ที่ไม่รู้ว่าจะได้วันใด...    

 

จากการที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณต้นเดือน เมษายน 2564 ประกาศนโยบายปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ประกอบด้วย เนื้อหา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กำหนดสมรรถนะไว้ 5 ด้าน มีตัวบ่งชี้กว่า 1,200 ตัว ใช้เวลาเรียน 1,000 ชั่วโมง

ในปีการศึกษาหน้า หลักสูตรอิงมาตรฐาน 51 ที่เกริ่นไว้ ศธ. กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยลดเนื้อหาที่เด็กเรียนเป็น 7 กลุ่มสาระฯ ปรับสมรรถนะลงเหลือ 6 ด้าน ใช้เวลาเรียนลดลงเหลือแค่ 800 ชั่วโมง ปลดล็อกด้านตัวชี้วัด 

แต่แทนที่จะได้เสียงการตอบรับ กลับกลายเป็นเสียงที่ระงมไปด้วยการคัดค้านเป็นวงกว้างที่คาดไม่ถึง

อาจจะเนื่องมาจาก ประเด็นหลัก คือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศ ยังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศทุกวัน ถึงวันละกว่า 1 หมื่นคน แล้วจะเร่งรีบใช้หลักสูตรนี้ไปเพื่อใคร หรือ กลุ่มผลประโยชน์ใด

รวมทั้งในขณะนี้ทั้งครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน ยังมีการเรียนการสอนออนไลน์ ผู้ปกครอง ตลอดจนครอบครัว ชุมชน ก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงกับโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกส้นทางย่างก้าว

ประเมินเสียงคัดค้านนี้ ไม่ใช่มีเพียงเสียงจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดองค์กรครูทั่วประเทศได้แสดงออกแพร่ไปในวงกว้าง ยังมีทีท่าขยายวงออกไปสู่ผู้ปกครอง จนอาจกลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด  สุ่มเสี่ยงส่งผลเสียต่อคะแนนเสียงของรัฐบาลและตัว น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ที่กำลังตกเป็นเป้าหมาย ว่ากันอื้ออึงอาจเป็นตัวหลอกถูกอภิปรายในสภาฯ ครั้งนี้ด้วย

ไม่เพียงประเด็น ความเสี่ยงต่อการระบาดโควิด-19 ที่รมว.ศธ.เองไม่ยอมรับรู้ชนิดดื้อตาใส เท่านั้น หากยังมีอีกหลายประเด็นที่อาจกระทบถึงต่อเก้าอี้รัฐมนตรีของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง หลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ไปแล้ว แว่วว่ามีแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ที่เฝ้าจ้องผลงานของครูเหน่ง ตรีนุช ที่ค่อนข้างมีจุดอ่อนมากมาย  ประเมินได้ยินจาก พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับสั่งการในลักษณะห่วงใยในการทำงานหลายต่อหลายวาระ เช่นกัน

ฟังซีกเสียงทางสังคม ได้แสดงความเป็นห่วง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง โดยเฉพาะการไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของบรรดาผู้บริหารต้น ที่เป็นข้าราชการบางคนบางหน่วยงานในศธ. ต้องการโตเร็วในตำแหน่ง ต่างเพ็ดทูล ชงงาน นำเสนอ ทำนองผิดที่ ผิดเวลา ผิดหน้าที่และจังหวะ โดยอาศัยช่องว่างของเธอที่ขาดความเจนจัดงานการศึกษา ที่มีความทับซ้อนขบเหลี่ยมคู่ไปกับกระบวนการบริหารจัดการในกระทรวงศึกษา ซึ่งมีทั้งความเหมือนในความต่าง และแม้ความต่างก็ยังซ่อนเร้นความเหมือน ชนิดที่พร้อมจะไหลลงไปรวมอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันอีกด้วย ส่งผลให้เธอหลงทาง พร้อมเตลิดออกน่านน้ำสากลตลอดเวลา

ดังจะเห็นตัวอย่าง การแต่งตั้งโยกย้ายข้ามสายงาน สายพันธุ์ มองระเบียบกฎเกณฑ์เป็นเพียงอักษรเปื้อนหมึกที่พร้อมจะลบ เปลี่ยนเป็นกฎของผู้มีอำนาจ สั่งการ ดังนั้น ค่าของคน ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า อยู่ที่ผลของงาน นั้น มันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว หากให้ดูที่เก้าอี้แห่งตำแหน่งแต่ละตัวที่ได้นั่งนั้น เป็นคนของใคร ต่างหาก   

หรือจะเห็นได้จากอีกตัวอย่าง ทั้ง ๆ มีการระบาดโควิด-19 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ก็ยังขยันผุดโครงการประเมินสารพัดในศธ. เพื่อสำรวจสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมากมาย ทั้งประเมินสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีการส่งคนจากส่วนกลางลงพื้นที่ เพื่อรับทราบ แก้ไขปัญหา และปรับนโยบาย ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น กลายเป็นเรื่องขี่ช้างจับตั๊กแตน ขยันแบบผิดที่ ผิดจังหวะ ผิดเวลา ผิดหน่วยงาน สิ้นเปลืองงบ ฯ ทักท้วงแล้วก็ยังเฉยเมย

แม้การยกพลจากส่วนกลางแห่แหนนับพันคน ออกไปสำรวจรับฟังแผนบูรณาการการศึกษา 77 จว. นำร่อง 349 แห่ง ในช่วงแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในยุค รมว.ศธ.ก่อนหน้านี้ เพื่อได้เห็นการเกิดของ โรงเรียนคุณภาพของชุมชน , โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือสแตนด์อโลน อย่างเป็นรูปธรรม แล้ววันนี้เงียบสนิท ไม่มีใครพูดถึงแล้ว อาจจะเป็นเพราะเธอเห็นเป็นผลงานคนอื่น

แต่ในยุคเธอก่อนวานนี้ก็ยังมี สำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นรับรู้กันว่าไม่มีหน่วยในภูมิภาค งบก็น้อยติ้ด ยังโชว์พาว์ เสนอจัด “อาสาสมัครครูนักประเมิน” ๒๕๐ คน ลงโครงการฯ RAV ที่ตัวเองทำขึ้นในลักษณะเลียนชื่องานวิจัยระดับโลกขึ้นมาเสนอ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เธอยังยินดีปรีเปรมเห็นชอบต่อการลงสำรวจพื้นที่ทั่วประเทศ อ้างว่าเป็นการสำรวจข้อมูลสภาพปัจจุบันปัญหา การจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานะการการแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19  เพื่อนำไปแก้ไขปัญหา และปรับนโยบาย  

ออกข่าวกันใหญ่โตท่ามกลางเสียงคัดค้านเกรงการระบาดจะหนักขึ้นกว่าเดิม และเป็นการเพิ่มภาระแก่ครู บุคลากรในพื้นที่ ซึ่งแม้ขณะนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบว่า ได้ล้มเลิกโครงการฯ RAV ไปหรือยัง หากยังสิ้นงบไปอีกเท่าไร หรือใช้งบของหน่วยงานใด  จน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ชื่อว่า กระทรวงจอมสำรวจ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผลสำรวจเหมือนเป็นความลับ แต่รับรู้ได้จากสื่อที่ต่างขุดคุ้ยนำสะท้อนเรื่องราวให้รับทราบแทน

อย่างไรก็ตาม  เมื่อหันมามองถึงคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช..... (หลักสูตรฐานสมรรณะ) ที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง  รมว.ศธ. ได้ลงนามแต่งตั้งไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางฯ  เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ  

 

กลับไม่ปรากฏรายชื่อ ครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดนักวิชาการ รวมถึงนักจิตวิทยาเด็กทางการศึกษา ครูแนะแนวไทย ตลอดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ได้รับยอมรับ ทั้ง ๆที่มีผลงานโดดเด่นได้รางวัลจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดสรรหาขึ้นมายกยก่องเชิดชูในทุกปี ล้วนมีอยู่มากมาย ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับกระทรวงฯระดับประเทศ ไปถึงนานาชาติ อยู่ร่วมเป็นกรรมการในสัดส่วนที่มากพอ เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง

จึงเป็นที่มาของเสียงถามหาและการทบทวนประวัติศาสตร์  ความเป็นมาของบรรดาคณะกรรมการฯ จำนวนถึง 23 คน ตลอดผลงานที่เป็นรูปธรรมที่ส่งให้แต่ละคนไปสู่ความสำเร็จ สถานภาพ ดังกล่าว เพื่อลบข้อครหา “ คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด ” หรือ “คิดอยู่บนหอคอยงาช้าง” ด้วยเกรงว่าจะเกิดความล้มเหลวดังเช่นการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรก ที่ส่งต่อมาถึงทุกวันนี้                                                                                                                                                 

และเนื่องจากคณะกรรมการอำนวยการฯ อีกจำนวน 23 คน ชุดนี้มีทั้งนักการเมือง และนักวิชาการ จำนวนหนึ่งล้วนเคยได้รางวัลเป็นการตอบแทนจากผลงานที่เข้าไปร่วม ต่างได้รับดอกออกผลในองค์กรอิสระ และตำแหน่งอันมีบทบาทสำคัญไม่ทางตรงหรือทางอ้อม ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ ก็หลายคนที่ยังคาใจในฐานสมรรถนะแห่งพฤติกรรม

โดยเฉพาะเนื้อแท้ของนักการเมืองไทยในช่วงหลัง ๆ ที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับการศึกษาไทยนั้น มีมาตรฐานหรือสมรรถนะอันเป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ/ความสามารถ มากน้อยเพียงใด ทุกคนทุกพรรคการเมืองที่ส่งเข้ามา ล้วนเป็นเพียงแค่ คนที่สามารถทำได้ในบางสิ่ง ไม่ใช่ความมากน้อยของความรู้ หรือ เกิดจากการใช้ทักษะที่ส่งผลจากความเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ของการปฏิบัติงาน

คณะกรรมการอำนวยการ บางคน มีชื่อเสียงโด่งดังด้วยการใช้ความเป็นนักวิชาการ นักวิจัย  เป็นอาจารย์สอนอยู่แต่ในสถาบันอุดมศึกษาที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงระดับประเทศ มีตำแหน่ง ดร., ผศ.,รศ., ศ. นำหน้า ย่อมได้รับความน่าเชื่อถือ กว่าครึ่งชีวิตการทำงานมักประสบความสำเร็จในการนำเสนอ มีผลงานทั้งตำรา งานวิจัย การออกบรรยาย มักยกอ้างคัมภีร์ ทฤษฎี แนวคิดตะวันตก แบบสำเร็จรูปเข้ามาจับในลักษณะดูแคลนวิถีไทย การศึกษาไทยอันมีรากเหง้ามาจาก บ้าน วัด โรงเรียน

หากจะว่าไปแล้ว นักคิด นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย เหล่านี้บางคนส่วนใหญ่ เขาไม่เคยหยุดคิดที่จะสอนปลาให้ปีนต้นไม้  ก็ไม่ใช่แปลกอะไร ในเมื่อฐานสมรรถนะแต่ละคนถูกตั้งโปรแกรมมาอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านและเรียกร้องให้ชะลอถึงการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะ  จะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 ออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 จะคลี่คลาย ในเมื่อโรงเรียนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศ ยังเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนไม่ได้เลย ย่อมมีน้ำหนัก เป็นเหตุเป็นผล

แม้แต่การจัดรับฟังความคิดเห็นไม่ว่าจะในรูปแบบใดที่เปิดเผยได้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มยิ่งขึ้น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิเสรีภาพและการดำเนินการใด ๆ ต้องรับฟัง เพราะมีผลกระทบต่อประชาชน แต่ควรจะจัดในสถานการณ์ที่มีความเป็นปกติ เพราะสภาพแวดล้อมของโรงเรียนจะเอื้ออำนวยต่อการทดลอง เมื่อนำหลักสูตรไปใช้จริงในสภาพการณ์ที่เป็นปกติ จะสามารถทำให้การใช้หลักสูตรบรรลุเป้าหมายได้ ก็รับได้

เมื่อร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังมีจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขหลายเรื่อง ทั้งที่คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ออกด้วยซ้ำระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น... นี่สมควรจะยื้อไว้เพื่อประโยชน์ผู้ใด

การเริ่มนำร่องทดลองใช้ในสถานศึกษาเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้  ใน (สถานศึกษานำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม และอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมี 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง และกาญจนบุรี เหลือที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้ม เพียง จ.ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล เท่านั้น)...นี่แหละคือปัญหาที่ละเอียดอ่อนทั้งทางจิตใจและความมั่นคง

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม สมาพันธ์ครูภาคใต้ ร่วมกับองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ออกโรงคัดค้าน  พูดตรงกันว่ายังไม่มีความพร้อมกับการใช้หลักสูตรใหม่นี้ในระยะเวลาอันใกล้ ด้วยเหตุผลไปในทิศทางเดียวกันกับสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)

รวมทั้งการตั้งข้อสังเกต ถึง ทั้ง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ. ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ส่อว่าอาจต้องพลอยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามเชิงกล่าวหาได้ว่า มีการเอื้อประโยชน์อะไรกันหรือไม่?

เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของบรรดาสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือเรียนและจำหน่าย ที่อาจมีสายสัมพันธ์สนิทสนมกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในทุกครั้งที่ ศธ.มีการปรับปรุงหลักสูตร ปรับปรุงตัวชี้วัดใหม่ๆ ก็จะมีสำนักพิมพ์บางแห่งมาโฆษณาเสนอขายหนังสือเรียนที่ได้ปรับปรุงตาม ศธ.อย่างรวดเร็ว โดยรู้รายละเอียดการปรับปรุงดีกว่าและก่อนสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ด้วยซ้า

ผสมผสานกับการผุดโครงการประเมินสารพัดในศธ. หรือ สำรวจสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมากมาย ทั้งประเมินสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีการส่งคนจากส่วนกลางลงพื้นที่ เพื่อรับทราบ แก้ไขปัญหา โดยอ้างว่า จะนำมาปรับนโยบาย ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเช่น “อาสาสมัครครูนักประเมิน” ๒๕๐ คน ลงโครงการฯ RAV ของ สคศ. ที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

แถมยังตั้งข้อสังเกตถึง การที่นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประกาศแผนการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะว่า จะใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

จึงมีคำถามตามจาก edunewssiam ว่า ทำไมไม่ออกแบบนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ ไปพร้อม ๆกันในโรงเรียนที่มีความพร้อมและไม่พร้อม  ที่มีขนาดเท่า ๆกันหรือขนาดที่ใกล้เคียงไปพร้อม ๆ กันทีเดียวในแต่ละพื้นที่กำหนดไว้มิดีกว่าหรือไม่...อย่างไร

หากทุ่มนำร่องทดลองเฉพาะในโรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว แน่นอนว่า ย่อมสามารถตอบรับได้ดีกว่าเดิม ๆ แน่นอนด้วยปัจจัยที่เข้ามาหนุนส่งมากมายให้มีความพร้อมยิ่งๆขึ้น คือ รางวัลแห่งความภาคภูมิในความสำเร็จ อย่างงั้นหรือ  

 

...ขณะโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมทดลอง กลับดูเหมือนถูก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. และคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช. ...(หลักสูตรฐานสมรรณะ) 23 คน ปล่อยทิ้งให้เด็กและครูวนเวียนอยู่กับความขาดแคลนซ้ำซาก ยืนเดียวดายอย่างสับสน อยู่ท่ามกลางปัญหา ล้าหลัง ไม่ทันโลก ตกขบวน ไร้ราก เคว้งคว้าง ขาดโอกาส ถูกเอารัดเอาเปรียบเชิงนโยบาย ต้องดิ้นรนไขว่คว้า ต้องวิ่งถามหาความเสมอภาคในหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ ที่ไม่รู้ว่าจะได้วันใด... 

  

คุณตรีนุช เทียนทอง “เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ใช่ไหม” ยังไม่สายเกินที่จะคิดใหม่ ทำใหม่ และฟังเสียงครูให้มากกว่านี้

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)