"ดร.นิวัตร นาคะเวช"วิพากย์!ร่าง กม.ศึกษาชาติ(ตอนจบ) คุรุสภาไม่ใช่สภาวิชาชีพ?

 

วิพากย์การศึกษา: ว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ 

กับคุณภาพของผู้เรียนที่เราต้องการ (ตอนจบ)

เมื่อคุรุสภาไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวิชาชีพ?

 

โดย: ดร.นิวัตร นาคะเวช อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

เรียบเรียงโดย: นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง

 

(ต่อจากวิพากย์การศึกษา: ว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ กับคุณภาพของผู้เรียนที่เราต้องการ ตอน 1)

องค์กรวิชาชีพครู หรือ คุรุสภา เป็นสภาสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ซึ่งส่งผลให้ “คุรุสภา” เป็นสภาวิชาชีพทางการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะการดำเนินงานของคุรุสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ และการพัฒนาวิชาชีพ รวมถึงการได้มาซึ่งกรรมการคุรุสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเป็นการยกระดับวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยมีสำนักเลขานุการ คือ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

          สภาพปัจจุบันของ คุรุสภา ซึ่งจะเรียกอีกนัยหนึ่งก็ครู “สภาครู หรือ สภาของครู”การเข้ามายึดอำนาจรัฐเมื่อปี พ.ศ.2557 ของ ค.ส.ช.นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการของคุรุสภาไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการ สกสค. ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จะมีการสรรหาจากผู้แทนครูทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษาเข้ามาเป็นกรรมการ หรือ ผู้แทนครู หรือ ส.ส.ครูก็ว่าได้

          ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพ นั่นคือ “หลักการปกครองตนเอง” หลักการนี้ยึดถือว่า “ไม่มีผู้ใดจะรักและหวงแหนวิชาชีพได้เท่ากับผู้ประกอบวิชาชีพนั้นอีกแล้ว”

          การกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมดูแลกันเอง ย่อมทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพร่วมกันสร้างเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพร่วมกัน กีดกันคนที่ไม่เหมาะสมที่เข้ามาสู่วิชาชีพ และร่วมกันพัฒนาวิชาชีพให้เจริญก้าวหน้า อันเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่วิชาชีพ

          หากกำหนดให้ผู้อื่นมาควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพ บุคคลเหล่านั้นมักจะใช้อำนาจที่มีอยู่ในการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีภาระรับใช้องค์กรของผู้มีอำนาจนั้น มากกว่าที่จะดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพ

          และสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ที่กำหนดให้สภาวิชาชีพเป็นหน่วยงานที่มิใช่หน่วยงานของรัฐแต่ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินกิจกรรม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเฉพาะเพื่อจัดตั้งสภาวิชาชีพ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

          แต่หลังจากที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หลักการปกครองตนเองของผู้ประกอบวิชาชีพและหลักการประชาธิปไตยในสภาวิชาชีพก็จบสิ้นลง เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 ให้คณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการ สกสค.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง และให้คณะกรรมการคุรุสภาประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการคุรุสภา และกรรมการคุรุสภาเป็นข้าราชการระดับสูงเพียงไม่กี่คน ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาแม้แต่คนเดียวเป็นกรรมการคุรุสภา ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 17/2560 และยังเป็นแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

           การดำเนินงานของคุรุสภาจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวิชาชีพได้ และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะไม่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้เลือกตั้งตัวแทนไปเป็นกรรมการคุรุสภา เพื่อผู้ประกอบวิชาชีพจะได้ควบคุมดูแลกันเอง เพื่อร่วมกันสร้างเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาให้เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง...นายประชัน จันระวังยศ กล่าวไว้อย่างหดหู่ใจในสภาพปัจจุบันและปัญหาของคุรุสภาที่ครูทุกคนต้องเป็นสมาชิกแต่ไม่มีผู้แทนครูเลยแม้แต่คนเดียวอยู่ในสภาแห่งนี้

 

1.คุณภาพการบริหารจัดการในระดับจังหวัด การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ได้มีการศึกษา วิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดแนวทางการดำเนินการ โดยกำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ดังนี้

            ปัญหาอุปสรรคหลัก(หรือมากกว่านี้) 1) การบริหารงานแบบแยกส่วน ขาดการบูรณาการไม่สอดคล้องกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคของประเทศเกิดจากปัญหาการสั่งการและการบริหารจัดการที่ไม่มี ประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพ 2) โครงสร้างปัจจุบันไม่สามารถบริหารงานเชิงพื้นที่ในลักษณะที่เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่เป็นภารกิจร่วมกันได้ 3) เขตพื้นที่การศึกษาไม่ได้เป็นเขตพื้นที่การศึกษาของกระทรวงอย่างแท้จริง และเกิดปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาด้วยกันเอง 4) การบริหารงานบุคคลในระดับพื้นที่มีการแทรกแซงทางการเมือง มีปัญหาเรื่องความเป็นธรรม และความโปร่งใส 5) การเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เป็นเครือข่ายพันธมิตรในการทำงานร่วมกันยังมีค่อนข้างน้อย

             แนวคิดในการดำเนินการ 1) โครงสร้างที่มีความเป็นเอกภาพของการบริหารจัดการ สอดคล้องกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมีผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าตามภารกิจ มีระบบธรรมาภิบาลและกลไกตรวจสอบการจัดการศึกษาและการ ใช้ทรัพยากรทางการศึกษา 2) มีลำดับชั้นของการบริหารจัดการและสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานในทุกระดับและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ 3) การขับเคลื่อนภารกจิและยุทธศาสตร์ของกระทรวงสู่การปฏิบัติมีความสอดคล้องเป็นแนวเดียวกัน  การจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกันของกระทรวงที่ให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่

           4) ส่งเสริมการบริหารจัดการศึกษาโดยยึดพื้นที่เป็นฐาน ทั้ง ระดับภาค ระดับจังหวัด และพื้นที่พิเศษ โดยการจัดส่วนราชการประจำจังหวัดที่เป็นตัวแทนของกระทรวงที่แท้จริง ในราชการบริหารส่วนภูมิภาค และทำหน้าที่ประสานแนวระนาบ ระหว่างการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท ตลอดจนการเชื่อมโยง บรูณาการ และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในจังหวัด

           5) ประสานและบรูณาการการพัฒนาการศึกษาทุกระดับทุกประเภท ในรูปแบบคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน 6) ปรับปรุงกฎหมายการมอบอำนาจในภารกิจที่ต้องดำเนินการในจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการในจังหวัด และภาค และคณะกรรมการในระดับจังหวัดให้เหมาะสม

           7) กำหนดบทบาทและยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคและจังหวัดให้สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาส ของพื้นที่ ที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ นโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง ยุทธศาสตร์ การพัฒนาภาคและจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาด้านอื่น ๆ 8) จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ต้องผ่านกระบวนการร่วมคิดร่วมทำจากภาคส่วนต่าง ๆ 9) จัดกรอบการประเมินผลปฏิบัติราชการ  โดยทำข้อตกลงความร่วมมือในการทำงาน แผนงาน/โครงการและลงนามร่วมกัน และกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินงานในลักษณะตัวชี้วัดร่วม

         10) ปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลให้มีมาตรฐาน สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำ มีการตรวจสอบถ่วงดุล สามารถแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสในการแต่งตั้ง โยกย้ายของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 11) มีกลไกหรือรูปแบบและวิธีการทำงานในการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือ ทั้งใน ส่วนกลาง เขตพื้นที่ และส่วนภูมิภาค

         12) จัดให้มีกระบวนการและช่องทางที่จะสื่อสารกับประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย 

         13) ส่งเสริม การสร้างความร่วมมือในรูปแบบภาคหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับเอกชน 

         14) เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น เขามาแข่งขันในการจัดการศึกษาหรือบริการ สาธารณะแทนรัฐ ซึ่งกล่าวไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา106 ที่จะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด

         ซึ่งเรื่องนี้ ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง และนายเรือน สิงห์โสภา มีความเห็นตรงกันว่า “ในระดับจังหวัดการซ้ำซ้อนของการบริหารงานบุคคลของศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาควรมีองค์กรบริหารงานบุคคลเพียง 1 องค์กร/ โรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้บรรจุ แต่งตั้งเอง(โรงเรียนนิติบุคคล)/ ส่วนในระดับเขตพื้นที่ให้การอำนวยการ สนับสนุน ติดตามและแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ ระดับจังหวัดเป็นผู้กำหนดนโยบายตามบริบทของแต่ละจังหวัดนั้น ๆ ในรูปของคณะกรรมการเช่น คณะกรรมการนโยบายจังหวัด....เป็นต้น”

 

2. คุณภาพการบริหารการจัดการในระดับโรงเรียน ตรงนี้จะสำคัญมาก ถ้าการบริหารการจัดการด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของการยกระดับคุณภาพและเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดจะทำให้เกิดโรงเรียนคุณภาพ หรือโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียน คณะครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองรวมถึงทรัพยากรในการพัฒนาเป็นสำคัญ แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีผู้บริหารแล้วคงจะมีคุณภาพค่อนข้างยาก เพราะขาดผู้นำการเปลี่ยนแปลง

          โรงเรียนนิติบุคคล การปฏิรูปการศึกษาเป็นการปรับเปลี่ยนทางการศึกษาของไทย เพื่อให้เราได้คนไทยที่มีคุณภาพสูง ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยเราเห็นตรงกันว่า “คนที่มีคุณภาพ” คือ คนที่มีความดี เป็นคนเก่งและมีความสุข ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของสถานศึกษาเป็นไปตามแนวทางและวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงมีการบัญญัติให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลขึ้นในกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 35

         นับว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญของประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 39 ที่มุ่งหวังยกระดับการศึกษาของชาติให้ได้มาตรฐานทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยได้บัญญัติให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากรและงานบริหารทั่วไป ไปยังสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง

         ทำให้การบริหารงานของสถานศึกษามีความเป็นอิสระ คล่องตัวและมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ ตามหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ดังนั้นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลจึงหมายถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่กฎหมายยอมรับให้สามารถให้กระทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเองโดยอิสระภายในขอบเขตของวัตถุประสงค์มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสถานศึกษาไว้เป็นการเฉพาะ  

          คณะกรรมการอีกคณะหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือ คณะกรรมการสถานศึกษา เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญมากที่สุดในปัจจุบันที่ขาดไม่ได้ในการบริหารจัดการศึกษาของชุมชน เป็นกุสโลบายวิธีการบริหารและจัดการศึกษาของโรงเรียนที่เหมาะสม ถูกต้อง ตรงกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ที่จะต้องอาศัยพลังของทุกส่วนมาขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในทุกด้านของโรงเรียน เพราะในสภาพปัจจุบันนี้ การเรียนรู้ของนักเรียนมีได้จำกัดอยู่แต่เพียงในห้องสี่เหลี่ยมเหมือนเมื่อในอดีต ผู้เรียนต้องการแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและทันสมัย เพื่อการพัฒนาตนเองเข้าสู่สังคมแห่งการต่อสู้มากขึ้น

          การสนองตอบต่อความต้องการของนักเรียนและโรงเรียน จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุก ๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมระดมทรัพยากรในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ในภาระกิจและกิจกรรมการดำเนินการของโรงเรียน เพื่อผลักดันกิจกรรมการดำเนินงานของโรงเรียนในทุก ๆ ด้านให้ประสบความสำเร็จตามที่ได้กำหนดไว้...นายปรีชา จิตสิงห์ นายกสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย..กล่าวสรุปไว้

 

3. คุณภาพของผู้บริหารการศึกษา ถือเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดใน สถานศึกษาที่จะสามารถบันดาลให้การปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนเกิดขึ้นได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ ครบถ้วนในกระบวนการ เพราะผู้บริหารโรงเรียน คือ ผู้นำที่จะชี้นำ สั่งการ และวางกรอบทิศทางการ บริหารจัดการศึกษาในโรงเรียนที่เป็นไปตามกฎหมายและแนวนโยบายของรัฐ ครูยุคใหม่ที่กำลังทำการปฏิรูปการเรียนรู้ย่อมปรารถนาผู้บริหารโรงเรียนยุคใหม่ ที่มีแนวการบริหารตอบสนองต่อการ ปฏิรูปการเรียนรู้เช่นเดียวกัน

          ผู้บริหารยุคใหม่จะมีบทบาทอย่างสำคัญในการบริหารโรงเรียนตามแนวการบริหารแบบใหม่ มีปรัชญา แนวคิด วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เช่น มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการศึกษา ใฝ่รู้ และติดตามข้อมูล ข่าวสารให้ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมประเทศและในโลกอยู่เสมอ มีแนวทางการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ หรือการบริหารจัดการแบบที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management)

          ดังนั้น คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้บริหารสถานศึกษา ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะด้านบุคลิกภาพ คุณลักษณะด้านความเป็นผู้นำ คุณลักษณะด้านความรู้ทางวิชาการ และ คุณลักษณะด้านความสามารถในการบริหารซึ่งตรงกับคำที่ว่า “ไม่มีโรงเรียนใดเยี่ยม ถ้าผู้บริหารแย่ และ ไม่มีโรงเรียนใดแย่ ถ้าผู้บริหารเยี่ยม” ดร.นิวัตร กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าพิจารณายิ่ง

 

4. คุณภาพครู ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงบริบทสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสื่อสารปัจจุบันบนโลกไร้พรมแดนที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและ รุนแรง การศึกษายังคงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์และการพัฒนาประเทศที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก ให้สามารถดำรงชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งที่เป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต การจัดระบบการศึกษาที่สนองตอบความต้องการของบุคคล สังคม และประเทศชาติมากเท่าไร หมายถึงการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเพียงนั้น

          บุคคลสำคัญที่สุดในกระบวนการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ ก็คือ “ครู” ครูยังคงเป็นผู้มีความหมายและปัจจัยสำคัญที่สุดในห้องเรียน และ เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ เพราะ “คุณภาพของผู้เรียนขึ้นอยู่กับคุณภาพของครู” (ดิเรก พรสีมา, 2554) “ครูเป็นปัจจัยสำคัญในระดับโรงเรียนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุด จากการทดสอบระดับนานาชาติ ประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูง จะมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า ขณะเดียวกันประเทศที่มีประชากรมีการศึกษาดีมีคุณภาพจะมีความเป็นประชาธิปไตยและเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมสูงกว่า”

            “การศึกษาจําเป็นที่ต้องมีครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาครูจึงเป็นสิ่งสําคัญ โดยจะต้องพัฒนาครูด้านจิตใจ ด้านสติปัญญา ด้านทักษะการแสวงหาความรู้และทักษะการสอนที่สําคัญยังต้องพัฒนาครูให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และควรให้สอดคล้องกับกระแสการศึกษาของประเทศไทยในอนาคตดังที่อธิบายไว้ข้างต้น

            สําหรับกระบวนการพัฒนาครูนั้นควรจะเริ่มจากการกําหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาครูการประเมินความจําเป็น การวางแผน การเตรียมการการดําเนินการและการประเมินผล ประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเพื่อนํามาปรับปรุงพัฒนาต่อไป...รวมถึงการขาดครูและครูในสาขาวิชาเอกที่สำคัญ เช่น วิทย์ คณิต และภาษอังกฤษ ในจำนวนที่เหมาะสมและเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนตามขนาดของโรงเรียน”

           ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องได้ “ครูเก่ง ครูดี” มาเป็นครู ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบคือ การผลิต การพัฒนา และการใช้ครู ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคุณภาพทั้งสิ้น ทั้งนี้ ดร.ดิเรก พรสีมา ได้กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นในความจำเป็นที่จะต้องได้คนดี เพื่อมาเป็นครูดีให้กับสังคมไทยต่อไป

 

5. คุณภาพของผู้เรียน หมายถึงผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ ตามมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดของสาระการเรียนรู้ มีสมรรถนะที่สำคัญ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร

          การจัดการเรียนการสอนและการปลูกฝังสังคมทางบ้านในปัจจุบัน การปลูกฝังวัฒนธรรมประเพณีและค่านิยมในการยอมรับเอาไว้ในตัวเด็กไทย “ในสิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่” คือ เชื่อตามที่ได้ฟัง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่แสวงหาข้อมูลสารสนเทศที่เชื่อถือได้ ขาดความกระตือรือร้น ติดรูปแบบเดิม ๆ เป็นผู้บริโภค ทําอะไรแค่พอผ่าน ไม่อดทน ไม่ชอบทํางานหนัก ชอบทํางานคนเดียวไม่นึกถึงส่วนรวม เอาตัวรอดเก่ง ขาดคุณธรรม จริยธรรม ไม่สนใจสันติวิธี และขาดอัตลักษณ์ไทย...

          แล้วการจัดการเรียนการสอน และการปลูกฝังสังคมทางบ้านในยุคศตวรรษที่ 21 จะปลูกฝังวัฒนธรรมการสร้างในตัวเด็กไทยในสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร? คือ รู้จักคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมั่นใจในตนเอง แสวงหาความรู็ รู็เท่าทันสาระสนเทศในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง คิดสร้างสรรค์ เรียนรู้เป็นผู้ประกอบการและผู้ผลิต มุ่งความเป็นเลิศ อดทน ทํางานหนัก ทํางานได้เป็นทีม รับผิดชอบต่อส่วนรวม คํานึงถึงสังคม มีคุณธรรม ยึดมั่นในสันติธรรมและมีความเป็นไทย (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (2557) ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องก้าวให้พ้นกับดักของตะวันตก)

          การจัดการเรียนรู้ต้องไม่ใช่สถานการณ์สมมติในห้องเรียน แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ได้เรียนในสภาพที่ใกล้เคียงชีวิตจริงที่สุด และควรเป็นบริบทหรือสภาพแวดล้อมในขณะเรียนรู้ เกิดการสั่งสมประสบการณ์ใหม่ เอามาโต้แย้งความเชื่อหรือค่านิยมเดิม ทําให้ละจากความเชื่อเดิมหันมายึดถือความเชื่อหรือค่านิยมใหม่ ที่เรียกว่า “กระบวนทัศน์ใหม่” ทําให้เป็นคนที่มีความคิดเชิงกระบวนทัศน์ที่ชัดเจน และเกิดการเรียนรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ได้

          ทั้งนี้ จําเป็นต้องมีความสามารถในการรับรู้ข้อมูลหลักฐานใหม่ และนํามาสังเคราะห์เป็นความรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ ข้อสําคัญสําหรับคนที่จะเรียนรู้ได้ ต้องเกิดประเด็นคําถามอยากรู้ก่อนจึงจะอยากเรียนรู้ ไม่ใช่ครูอยากสอนเพียงฝ่ายเดียวแต่นักเรียนยังไม่มีประเด็นที่ไม่อยากรุ้

          ดังนั้น การออกแบบการสถานการณ์การเรียนรู้จึงควรใช้บริบทสภาพแวดล้อมที่นักเรียนคุ้นเคยและรู้จัก ซึ่งก็คือสภาพของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นของนักเรียนนั่นเอง สิ่งที่ได้จากคําถามอยากรู้ของนักเรียนจะทําให้ครูเห็นความแตกต่างของพื้นฐานความรู้และพื้นฐานประสบการณ์เดิมของนักเรียนได้เป็นรายบุคคล

          การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพเท่าเทียมและทั่วถึง ในยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนมีความสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากวิกฤติปัญหาด้านการศึกษาของไทยที่ผ่านมา มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้แก้จะแก้ไขได้ ความพยายามปฏิรูปการศึกษาของชาติตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ ทุกรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไข ทว่าเมื่อแก้ที่ปัญหาหนึ่งกลับกลายเป็นก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งยาก เปรียบเสมือนคำพังเพย “พายเรือในอ่าง” หรือ “ยิ่งแก้ยิ่งถอยหลังเข้าคลอง”หรือหนักเข้าหน่อยคือ “ลิงแก้แห”

          โดยเฉพาะวิกฤติปัญหาด้านการศึกษาของคนไทยรุ่นใหม่ ที่พบว่าผู้เรียนมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สถิติของผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือออกกลางคันมีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ที่ได้เรียนหนังสือก็ตกอยู่ในสภาพที่ อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ในอัตราสูงถึงร้อยละ 74 ตั้งแต่อ่านไม่ออก อ่านแล้วตีความไม่ได้ วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก และไม่สามารถใช้ ภาษาไทยให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิชาอื่น ๆ ได้

         นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งผมมีความเชื่อว่า “ครูประถมศึกษา”ของเราจะไม่ทอดทิ้งหรือปล่อยให้นักเรียนเป็นไปตามยถากรรมและดำมืดในความไม่รู้เพราะไม่มีเครื่องมือในการเรียนรู้ เพราะพวกเขาคือ นักสร้างคน...หรือว่าบังเอิญเขาเกิดมาในศตวรรษนี้หรือเปล่า?? แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับเหตุผลต่าง ๆ ที่พอจะหยิบยกมาดังต่อไปนี้

                    5.1. ภาวะสุขภาพ สุขภาพภาวะ หรือสุขภาวะ หมายถึง ภาวะสุขภาพของบุคคลมีการเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตายทั้งนี้ขึ้นกับตัวบุคคล ความรู้ สภาพภูมิศาสตร์ หรือสภาพแวดล้อม ความหมาย ของภาวะสุขภาพเมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความของ คำว่าสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติหมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางกาย ที่ปราศจากโรคและหรือความพิการ มีความสมบูรณ์ ทางจิต โดยมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสมบูรณ์ทางปัญญา และความสมบูรณ์ทางสังคม สามารถปรับตัวเข้ากับ บุคคลอื่นและสภาพแวดล้อม รวมถึงสามารถดำรงชีวิต อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งภาวะสมบูรณ์ทั้ง ด้าน ต้องมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมดุล

                   5.2. พัฒนาการเด็ก ด้านอารมณ์จิตใจ

                    พัฒนาการทางอารมณ์ หมายถึง ขบวนการวิวัฒนาการของจิตที่สามารถรับผิดชอบควบคุม ขัดเกลา และแสดงออก ซึ่งอารมณ์ให้เหมาะสมกับกาลเวลาและสถานที่ เช่น การโต้เตียงโดยไม่รู้สึกโกรธเคือง รับฟังความคิดเห็น ของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับตนอย่างสบายใจในขณะที่รู้สึกโกรธเคืองไม่แสดงพฤติกรรมใดๆ ออกมาในทางไม่ดี หรือในทางลบ

                    ลักษณะพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กปฐมวัยการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยนั้นรุนแรงกว่าวัยทารก ระดับความรุนแรงทางอารมณ์ของเด็กแต่ละคนมีไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู อารมณ์โดยทั่วไปของเด็กปฐมวัย ได้แก่ อารมณ์โกรธ กลัว อิจฉา อยากรู้อยากเห็น อารมณ์สนุกสนาน และอารมณ์รัก

                   5.3. ความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง การที่นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของ ชุมชนและสังคม บำเพ็ญประโยชน์และสร้างสรรค์ความเจริญให้ชุมชนอย่างเต็มที่ ช่วยสอดส่อง พฤติกรรมของบุคคลที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติและสังคม และยังนำความ สามารถ ความรู้ที่ตนมี มาช่วยคิดและแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม ชุมชน ครอบครัวและตนเอง

                  5.4. พัฒนาการด้านสติปัญญาและความคิด การศึกษาพัฒนาการทางสติปัญญาและการคิดในช่วงที่ผ่านมา ได้นำแนวคิดของเพียเจต์ ซึ่ง แบ่งพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์เป็น 4 ระยะ ตามลำดับขั้นตอน จากขั้นรับรู้ทางประสาทสัมผัสสู่ การรับรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และเริ่มใช้เหตุผล แต่ยังเป็นการใช้เหตุผลจากการรับรู้ตามสิ่งที่เห็นและ เริ่มเข้าใจเหตุผลตามความเป็นจริง จากนั้นจึงเข้าสู่การคิดขั้นสูงสุด คือ การคิดอย่างเป็นเหตุผลเชิง ตรรกะแบบนักวิทยาศาสตร์ สามารถอธิบายเหตุผลและแก้ปัญหาได้เนื่องจากการพัฒนาการคิดและสติปัญญาเกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง การศึกษาค้นคว้าทางประสาทวิทยา ทำให้ทราบโครงสร้าง หน้าที่ และกลไกในการทางานของสมอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัด การเรียนรู้เป็นอย่างมาก ซึ่ง ดร.นิวัตร นาคะเวช ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากที่สุด

 

6. คุณภาพของผู้ปกครองและชุมชน การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชนช่วยให้โรงเรียนและชุมชนเกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง และช่วยให้เกิดความร่วมมืออันดีต่อกัน ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามบทบาทของตนด้วยวิธีการที่เหมาะสม จึงจะสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นได้

            บทบาทหน้าที่สำคัญของโรงเรียนต่อชุมชน คือ บทบาทในการให้การศึกษาอบรมแก่บุคลากรในชุมชน ส่วนบทบาทสำคัญของชุมชนต่อโรงเรียนคือบทบาทในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา การให้ ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดการศึกษาและ บทบาทในการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียน

           “และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ปกครอง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จะต้องเป็นครูคนแรกของบุตรหลานตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ที่บ้านจนถึงโรงเรียน และจากโรงเรียนจนถึงบ้าน ทั้งนี้เพื่อให้ความรัก ความอบอุ่น คอยชี้แนะและชี้นำแยกแยะสิ่งผิดถูก อบรมเรื่องกริยามารยาททางสังคมวัฒนธรรมของตนเองให้นักเรียนในความปกครองเกิดความตระหนักในบทบาทความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมของตนเอง ให้ความร่วมมือในการวางแผนพัฒนาผู้เรียนร่วมกับครูประจำชั้นในการให้ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อนำมาตัดสินใจแก้ไขปรับปรุงผู้เรียน จึงจะเป็นการพัฒนาที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามศักยภาพของนักเรียน

           รวมไปถึงคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนด้วยซึ่งจะขาดเสียไม่ได้เลยในสังคมปัจจุบันนี้ ที่จะต้องส่งเสริม ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองนักเรียนและประสานความร่วมมือในทุกภาคส่วน การควบคุมกำกับในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาภายในชุมชนของตนเองให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในตัวผู้เรียนทุกคนอย่างมีคุณภาพและมีความสุข” ดร.นิวัตร นาคะเวช พยายามเน้นย้ำเรื่องของปกครองในการเลี้ยงดูบุตรหลานของตนเอง โดยเน้นว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ฉันใด ทรัพยากรมนุษย์ก็ไม่แตกต่างเช่นกัน ฉันนั้น

           ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ที่คนไทยยุคใหม่ในยุคของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างคนคุณภาพ จึงต้องการเห็นคนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สามารถทำงานเป็นกลุ่ม ตลอดจนมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก และความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รังเกียจการทุจริตและต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และสามารถก้าวตามโลกได้ทัน “ผมจึงยังคงมีความหวังว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ คงจะบรรจุสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่คนไทยคาดหวังและอยากให้เกิดขึ้นและเป็นจริงสักทีเพื่อคนไทยและประเทศไทยในอนาคตครับ”

           “นี่เป็นเพียงหลักการและเหตุผลและมุมมองอีกด้านหนึ่งของการสร้างคุณภาพผู้เรียนในการจัดการศึกษาคืออะไร เด็กไทยควรได้เรียนรู้อะไรมากที่สุด?ซึ่งในยุคสมัยที่เยาวชนรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าตั้งคำถามกันในหลากหลายประเด็นมากขึ้น แนวทางการศึกษาที่ภาครัฐเป็นคนกำหนด จึงเป็นเหมือนตัวตัดสินว่าทิศทางการเรียนรู้ของนักเรียนไทยจะหันไปทางไหน ประเทศไทยต้องการมอบอิสระและเสรีภาพให้พวกเขามากขึ้น หรือต้องการจำกัดความคิดของพวกเขากันแน่ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …จึงกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่ 2 (ขั้นตั้งกรรมาธิการ) ท่าน ดร.นิวัตร นาคะเวช อยากให้การพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ควรพิจารณาแบบองค์รวมทั้งหมดไม่ควรแยกส่วน เน้นให้ได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องการการจัดการศึกษาให้ออกมาอย่างไร”

               นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก ที่ทำให้หลายคนคับข้องใจกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ทั้งการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ในการทำงานของครู รวมไปถึงแนวทางปฏิบัติที่ขาดความเป็นสากลโลก

              คงต้องมาดูกันว่า จะมีการปรับแก้อะไรอีกหรือไม่ ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเองระบุว่า พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา”

              นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคน หันมาจับตามอง เพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จะกลายมาเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดกรอบการเรียนรู้ของกลุ่มประชากรที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘อนาคตของชาติ’หรือไม่ อย่างไร...

               ท่าน ดร.นิวัตร นาคะเวช อยากพูดอะไรอีกมากมายที่ท่านนั้นมีประสบการณ์ การจัดการและการบริหารการศึกษาของชาติ ที่มุ่งตรงประเด็นไปยังผู้เรียนโดยผ่านสถานศึกษาโดยตรงในรูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคล และสิ่งที่ท่านห่วงมากที่สุดในตอนนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ...ที่อยู่ในวาระ อยู่ในขั้นแปรญัตติ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ออกมาดีที่สุด

             ไอ้ดีน่ะผมไม่กลัวหรอก กลัวออกมาไม่ดีนี่สิ การศึกษาของชาติจะเป็นอย่างไร? และใครจะแอ่นอกรับผิดชอบ” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของท่าน ดร.นิวัตร นาคะเวช ก่อนจะจบการวิพากย์ไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ !!

( ลิ้งค์ย้อนกลับไปอ่านบทวิพากย์ (ตอน 1) 

"ดร.นิวัตร นาคะเวช"วิพากย์!ร่าง กม.ศึกษาชาติ : คุณภาพผู้เรียนที่ต้องการ https://www.edunewssiam.com/th/articles/261665 )

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)