ปัญหาจากพื้นที่! ห่วงทีม RAV ต้อน'ตรีนุช' สู่กับดัก "ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง"

เสวนากับบรรณาธิการ วันที่ 6 สิงหาคม 2564

 

ห่วงทีม RAV ต้อน 'ตรีนุช'

ออกทะเล "ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง"

เตือน! เรือเล็กไม่ควรออกจากฝั่งสำรวจปัญหาพื้นที่

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

 

...ต้องระวังจะออกทะเลอีกนะคะ เนื่องจากสำนักงาน ก.ค.ศ. ไม่มีหน่วยในภูมิภาค การจัดคนไปสำรวจในพื้นที่ ๒๕๐ คนกับพื้นที่ทั่วประเทศ เป้าหมายเฉพาะสังกัดใดหรือครูและนักเรียนทุก ร.ร. รัฐ / เอกชน / อปท. ควรหมั่นฟังการพยากรณ์อากาศ เรือเล็กไม่ควรออกจากฝั่ง... น่าจะเป็นการสื่อสารที่มีนัยมิใช่น้อย

           

      

วันนี้คุยกันยาวหน่อย เมื่อเห็น นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตีกลองโหมโรง เตรียมส่งรี้พลรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ในแต่ละพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนในช่วงแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วส่งตรงมาศธ. จะได้รับทราบ แก้ไขปัญหา และปรับนโยบาย ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น

ภายใต้โครงการ “อาสาสมัครครูนักประเมิน” (Rapid Appraisal Volunteer : RAV) โดย ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือศึกษานิเทศก์ ที่มีพื้นฐานการวิจัยและประเมิน (จบ ป.โท - ป.เอก) จะกระจายลงพื้นที่ทั่วประเทศ  เป็นผู้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียน หรือพื้นที่ต่าง ๆ และประเมินผลแบบเร่งด่วนมายังส่วนกลาง

พลันก็มีเสียงเกรงกันว่า กลายเป็นเรื่องขี่ช้างจับตั๊กแตน ขยันแบบผิดที่ ผิดจังหวะ ผิดเวลา ผิดหน่วยงาน สิ้นเปลืองงบ ฯ

แถมยังอาจถูกมองไปว่า โดนใครเสกเป่าชงโครงการฯ RAV ที่ละม้ายกับงานวิจัยระดับโลกขึ้นมาเสนอหรือชี้แนะขึ้นมา ให้ทำเรื่องที่ ศธ.เองก็รู้ถึงสภาพปัญหาและความต้องการโดยสามัญสำนึกจากการติดตามรับฟังทุกข์ของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ตลอดนักวิชาการและสื่อ ที่ส่งเสียงให้ได้ยินกันตลอดว่า เขาแสนสาหัสกับการศึกษาไทยช่วงโควิด-19 ระบาดและต้องการให้ ศธ.ช่วยอะไรบ้าง แทบทำได้ทันที

คงไม่ต้องส่งทีมใด ๆ แห่แหนกันลงไปเสี่ยงที่จะรับเชื้อ หรือนำเชื้อไปติดเจ้าของบ้าน หรือจะให้ชาวบ้านเผากระดาษไล่เชื้อตามหลังผู้เก็บข้อมูล

 

รึว่าเธอไม่รับรู้ว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดคุณหมอ เขาบอกว่า ให้ทำงานอยู่กับบ้าน ๆ เพื่อหยุดเชื้อ หยุดโรค ขนาดออกมาตรการห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ จนชาวบ้านชาวช่องเขาร่วมมือกันทั้งประเทศ แต่เหตุไฉน คุณตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.จึงยังดันผ่าหมากย้อนศร ส่งคนออกไปทำงานนอกบ้าน ให้เป็นภาระซ้ำเติมให้บุคลากรและผู้ปกครองมีภาวะเครียดเพิ่มขึ้นอีก

ดูอย่าง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังประกาศเลื่อนกำหนดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (N-NET) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔  ซึ่งกำหนดทดสอบในวันที่ 12 กันยายน นี้ ออกไป เป็นวันที่ 10 ตุลาคม 2564  ด้วยตระหนักถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงทวีความรุนแรงไม่หยุด 

โดยเฉพาะไวรัส กลายพันธุ์เดลตาที่เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้โดยง่าย มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมิได้ดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง และ การรวมกลุ่มของบุคคลอย่างรัดกุม 

แม้กระทั่งส่วนราชการ ยังห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันของบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ 

เมื่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. สั่งแล้วจะถอยหรือจะเดินหน้าแบบสวยหล่อต่อไป คงต้องใคร่ครวญกันให้รอบคอบ กับเสียงสะท้อนภาพความเป็นจริงปัจจุบันล้วนปรากฎให้เห็นบนสื่อและช่องทางการสื่อสาร ตลอดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่แรกถึงวันนี้ ล้วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจในเชิงนโยบาย

แต่ถ้าจะให้ลึกลงไปในรายละเอียดในบริบทของแต่ละพื้นที่ ทำไมไม่ประสานขอข้อมูล หรือศึกษาหารือ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศธ. รวมถึง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แค่ 3 องค์กร นี่น่าจะเพียงพอและลดขั้นตอนลงได้ในระดับหนึ่งหรืออาจเพียงพอด้วยซ้ำ

หรือจะมองไปที่ สำนักงานปลัด ศธ. ที่มีทั้งผู้ตรวจราชการส่วนกลาง ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่ฯ ทำหน้าที่เหล่านี้ สนับสนุน ส่งเสริม ประสาน ปฏิบัติงานโดยตรงก็ได้อยู่แล้ว

 

กับอีกคำถามในเชิงตั้งข้อสังเกต มหาวิทยาลัยราชภัฏ อีก 36 แห่ง ซึ่งเป็นวิทยาลัยครูเดิมที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่กับท้องถิ่น ล้วนคุ้นเคยกับงานในลักษณะนี้หลายโครงการให้กับรัฐบาลอย่างได้ผลมาก่อน และครูในบ้านนี้เมืองนี้ส่วนใหญ่จบมาจากราชภัฏ ทำไมถึงมองข้ามศักยภาพไปได้

และอีกคำถามที่ค่อนข้างสะท้อนถึงความพิกลพิการต่อการบริหารเชิงจัดการ ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ในฐานะเจ้ากระทรวง อาจไม่เข้าใจหรือเข้าถึงบทบาทและภาระหน้าที่หลักของหน่วยงาน ศธ.ที่ทำงานอยู่กับพื้นที่ภาคสนามทั่วประเทศมายาวนานพรักพร้อมด้วยทรัพยากรมากมีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สพฐ.,สอศ.,กศน.,สช.หากใช้เป็นใช้ถูกเรื่องถูกคน จะเห็นพลังนำทาง

แต่เธอ กลับไปมอบให้ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ไปเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดการ ไปเชิญ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,คณะวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา,คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ซึ่งในความสามารถของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 4 แห่ง ดังกล่าว ไม่มีมุมใดเป็นข้อขัดข้องหรือติดใจ

แต่อย่างน้อยที่มีเสียงวิจารณ์ถึง นายประวิต เอราวรรณ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ค.ศ. รับราชการมายาวนานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ปี 2547 -2557 เป็นคณบดี คณะศึกษาศาตร์ ถึง 2 วาระ ก่อนที่จะขยับมาอยู่นั่งเก้าอี้เลขา ก.ค.ศ. เมื่อ 7 พ.ย. 2563    

เรื่องนี้คุณตรีนุช จึงกลายเป็นที่ถูกจับตามองถึงกลไกและกระบวนการคัดสรรของผู้เสนอโครงการ RAV ค่อนข้างมีประเด็นที่อาจมีมิติของความทับซ้อนทั้งอย่างหนาและบาง  

และมีเสียงตามมาว่า “...ต้องระวังจะออกทะเลอีกนะคะ เนื่องจากสำนักงาน ก.ค.ศ. ไม่มีหน่วยในภูมิภาค การจัดคนไปสำรวจในพื้นที่ ๒๕๐ คนกับพื้นที่ทั่วประเทศ เป้าหมายเฉพาะสังกัดใดหรือครูและนักเรียนทุก ร.ร. รัฐ / เอกชน / อปท. ควรหมั่นฟังการพยากรณ์อากาศ ...”  ก็น่าจะเป็นการสื่อสารที่มีนัยมิใช่น้อย

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ชัดเจนว่า จะนำรายงานที่ได้นั้นมาวางแนวทางปรับปรุงเป็นนโยบายในการพัฒนา เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคของการบริหารจัดการการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครองได้คลายความกังวลและคลายความเครียด ที่ต้องเผชิญกับสภาวะการณ์เชื้อระบาดและพร้อมที่จะช่วยเหลือ ดูแล และ แก้ไขปัญหานั้นแบบรวดเร็วได้อย่างไร

ความจริงแล้ว น.ส.ตรีนุช น่าจะใช้กลไกคำสั่ง หน.คสช. ๑๙/๒๕๖๐ ให้ ศธจ. ดำเนินการตามแนวทางที่ ศธ. กำหนด เสนอ กศจ. และลงมือแก้ไขปัญหา ทำได้ ทำทันที หากเกินกำลังให้เสนอส่วนกลางช่วย จะดีและทันการกว่าหรือไม่ ...

หรือว่าท่านกับคณะทำงานและนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. มีแนวทางไว้แล้ว ???

นี่ก็เข้าทำนอง มีเรือดีไม่รู้จักเอามาขี่ข้าม แต่ดันเอาเรือรั่วน้ำไปข้ามขี่ คิดแบบผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตามองแต่ท้องฟ้า เท้าไม่ยอมติดดิน วิจัยขึ้นหิ้ง ได้ตำแหน่งวิชาการสมใจแล้ว กลายเป็นเทวดันได้ทุกเรื่อง ก็น่าจะพานาวาการศึกษาไปไม่รอด

หาก น.ส.ตรีนุช ได้กัปตันเรือที่อาจไม่เก่งนัก แต่ฉลาดที่จะเลือกนายท้ายที่มีฝีมือ มีลูกเรือพร้อม ล้วนเจนน่านน้ำทะเลลึกมายาวนาน อย่าง สพฐ.กับบริบทบนความเป็นไปได้ น่าจะช่วยให้รอดสันดอนได้

เมื่อมาดูบทและหน้าที่ สำนักงาน ก.ค.ศ. ตามกฎหมายนั้น ให้เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิเคราะห์และวิจัย จัดทำมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงาน และจัดทำแผนกำลังคนบริหารเงินทุน ตลอดจนสวัสดิการ  ตรวจสอบการปฏิบัติการ ยังไม่พบว่าให้ทำหน้าที่ในลักษณะที่ว่านั้น นอกเสียจากจะมีน้ำใจส่งเสริมสนับสนุน มากกว่าป็นเจ้าภาพเอง ทำงานตัวเองให้ประจักษ์แท้ถึงสมบูรณ์ น่าจะดีกว่าหรือไม่

แล้วมาลองดูผลงานของ ส.ก.ศ.มากางดู เอาแค่การพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะ, การพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ, การพัฒนาระบบตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง และ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2), การพัฒนาระบบการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, การปรับปรุงเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสพฐ. และ การพัฒนาระบบการบริหารงานและการให้บริการงานบุคคลผ่านระบบดิจิทัล

 

และ มาฟังเสียงเพื่อนข้าราชการกับเสียงร้องขอแบบต้นฉบับที่มีถึง นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ควรเร่งดำเนินการ ยกมาให้เห็นพอประมาณ ดังนี้...

พนิดา สายพันธ์

เรียนถามท่าน เลขา กคศ.ครับ

ขอสอบถามครับ พวก ว13/2556 ที่ยื่นคำขอ เม.ย 2559 และส่งทบทวน เมื่อ เม.ย.2563 นับถึง 2564 ก็ครบ 5 ปี มีทั้งรอจนตาย/จนเกษียณ เมื่อไหร่ครับท่านถึงจะแก้ปัญหานี้ อยากขอความเมตตาท่านด้วยเถิดครับ

ออกเกณฑ์ใหม่ให้กระทบคนเก่า ทำไมท่านไม่ให้คนเก่าเลือกว่าจะทำ ว ไหนล่ะ มันเป็นสิทธิ์ของเขาไม่ใช่หรือ แบบนี้ไม่ไหว กว่าจะเข้าใจแต่ละ ว. ก็ใช้เวลานานพอสมควร บรรจุมา 4 ปีกว่า เปลี่ยนมาแล้ว 3 ว. คืออะไร มันเกินไป

พนิดา สายพันธ์

ตอนนี้ ร.ร.ขาด ผอ. มีรอง 4 ฝ่าย การบริหารไร้ทิศทาง เพราะฉันพวกแก เธอพวกใคร ผ่ายวิชาการสั่งอย่างเดียว แต่ไม่เคยลงมาถามครูเขาเลยว่า เป็นยังไง มีปัญหาอะไร ติดขัดตรงไหนไหม ไม่มีคำถามไร้การใส่ใจ

ฝากพิจารณาการทำงานของวิชาการ

พนิดา สายพันธ์

รบกวนสอบถามจ้า มีเบอร์โทรเบอร์ไหนบ้างที่พอจะโทรสอบถามเกี่ยวกับการเลื่อนวิทยฐานะบ้างจ๊ะ พอดีเบอร์ที่มีอยู่ และอีกหลายๆ เบอร์ โทรไปไม่มีใครรับสายเลยค่ะตั้งแต่วันจันทร์ เช่น เบอร์ 02-2802831 ก็ไม่มีคนรับ มีเรื่องร้อนใจอยากสอบถามหลายเรื่องเลยค่ะ   

อีกทั้งเรื่องกระทรวงศึกษาธิการ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “ตลาดนัดการเรียนรู้ออนไลน์วังจันทรเกษม” เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้กำหนดหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 10 หลักสูตร โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถได้ให้ความรู้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สนใจ สามารถสมัครเข้ารับการอบรมด้วยตนเอง ได้มากกว่า 1 หลักสูตร ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับเกียรติบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการ ...ก็ยังไม่วายมีความเห็นตามมา อาทิ

พนิดา สายพันธ์

ขออนุญาตนะครับ การอบรมในวันและเวลาราชการ คุณครูต้องสอนออนไลน์กันอยู่ จะให้ทิ้งการสอนมาอบรม มันดูไม่งามนะครับ ในเมื่ออยากให้คุณครูได้พัฒนาความรู้ไปใช้ ควรจัดนอกวันและเวลาราชการ

พนิดา สายพันธ์

ควรจัดนอกเวลาราชการค่ะ ครูต้องสอนออนไลน์ค่ะ ไม่สามารถจะทิ้งชั้นเรียนมาอบรมได้ค่ะ

รวมไปถึง นโยบายร่วมพลิกโฉมวิชาชีพครู สู่คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่ากับ ก.ค.ศ. ล้วนมีคำถามและการทวงถามประกอบความเห็นมากมายกับปัญหางานที่ต้องรับผิดชอบ อาทิ

พนิดา สายพันธ์

อีก 3 เดือนก็จะถึงเงื่อนเวลาที่ กคศ.กำหนด 1 ต.ค.64 ซึ่งจะเริ่มใช้เกณฑ์ใหม่สำหรับครูและผู้บริหารสถานศึกษา( ว9/64, ว10/64)ใน 3 เรื่องคือขอมี/เลื่อนวิทยฐานะ คงวิทยะฐานะและเลื่อนเงินเดือน แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนในแนวปฏิบัติหรือคู่มือประกอบตามเกณฑ์ใหม่เลย.. ผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับเขตพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษาหรือแม้แต่ตัวครูผู้สอนเองก็ยังไม่เข้าใจกระบวนการดำเนินการเลยครับ.. #ถาม กคศ.ทำอะไรอยู่ครับ!!!

พนิดา สายพันธ์

เอาอะไรมากมายกับ กคศ. ขนาด ว.13 ค้างมาตั้งกี่ปี ยังไม่มีปัญญาสะสาง หรือ ว.17 ทำให้วงรอบการประเมินมีมาตรฐานเหมือน อปท. ประเมินจบภายใน 1 ปี..ประกาศ ยังทำไม่ได้ องค์กรแบบนี้ยังมีคุณค่าให้เชื่อถืออะไรได้

พนิดา สายพันธ์

เรียน ท่านผู้เกี่ยวข้องทุกท่านครับ การประเมินขอมีวิทยฐานะ ว.17 ไม่อยากให้กำหนดเวลา 30 กันยายน 2565 ครับ อยากให้ครูที่บรรจุก่อน 5 ก.ค. 2560 มีสิทธิ์ประเมิน ว.17 ทุกคนครับ คนที่เสียสิทธิ์มีเยอะมากๆ ครับ ขอท่านพิจารณาใหม่ด้วยครับ

พนิดา สายพันธ์

แล้วคู่มือไม่ออกหรอคะ ตอนนี้ คือ เคว้งมากเลยนะคะ ต้องทำ ว.17 หรือ ว.21 หรือ ว.17+PA หรือ ว.21+PA คู่มือควรออกได้แล้วค่ะ ช่วงที่จะเข้าสู่ ว.PA เนี่ย เราควรประเมินอย่างไร ต้องประเมินรูปแบบไหน ต้องให้ใครประเมิน คู่มือควรออกได้แล้วค่ะ ตอนนี้เหมือนลอยอยู่กลางทะเลเลยนะคะ แรงใจที่จะสู้กับงานคือลดลงเพราะ เคว้งคว้าง มาก ๆ

พนิดา สายพันธ์

ผมเคยเสนอไปหลายครั้งแล้วว่าให้ กคศ. ระบุมาเลยว่า ใครบรรจุปีไหน (ก่อน ประกาศใช้ ว.9) มีสิทธิ์ใช้หลักเกณฑ์มีหรือเลื่อนวิทยฐานะอะไรได้บ้าง ทำเป็นตารางปีบรรจุมาเลย เพราะปัญหา คือ การตีความประกาศและข้อกำหนดของแต่ละเขตพื้นที่ แต่ละโรงเรียน แต่ละคน แต่ละเพจ ไม่เป็นมาตรฐาน ตีความตามความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลให้คนที่มีสิทธิ์เสียสิทธิ์ไปเพราะไม่เข้าใจ ดังนั้น กคศ. ต้องชี้แจงโดยละเอียดว่าใครบรรจุปีไหนทำเกณฑ์ไหนได้บ้าง เป็นตารางให้ชัดเจน ไม่ต้องตีความกันเอง มันจะคลาดเคลื่อนได้ ....จึงเสนออีกครั้งให้ กคศ. รับผิดชอบทำความกระจ่างนี้ให้ครูทั้งประเทศด้วยครับ

พนิดา สายพันธ์

น่าจะถึงปี 66 นะครับ ให้โอกาส คนที่ไม่มีเงินเรียนต่อ ป.โทด้วยครับ กฎหมายยังไม่บังคับใช้ย้อนหลังเลย ฉะนั้นจึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่ให้ผู้ที่บรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น ๆ ทำเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมและประกาศมาใหม่ ใครบรรจุหลังตัวใหม่ประกาศก็ยึดตัวใหม่ เช่น ผมบรรจุปี 59 เกณฑ์ใหม่มา60 ผมก็เลือกทำได้ทั้งเดิมที่มีก่อน59 และ หรือเลือกทำ 60 ก็ได้ เมื่อคุณสมบัติครบ ถ้าผมบรรจุ61 โอเคผมีต้องทำตามเกณฑ์ของ60 แต่หากยังไม่ครบคุณสมบัติมีเกณฑ์ใหม่อีกตอน63 ผมก็สามารถเลือกทำ60 ไม่ก็ 63 ก็ได้ กราบเรียนครับ กราบเรียนจริงๆ

พนิดา สายพันธ์

ทำไมต้องกำหนดวัน ครับ ในเมื่อเขาบรรจุก่อนคุณออกเกณฑ์ใหม่ เเล้วคุณก็มากำหนดคุณสมบัตินู้..นี่.. นั่น (ยุติธรรมไหมกับคนที่บรรจุก่อนเกณฑ์ใหม่) ก็ให้เขาใช้เกณฑ์เก่าไปเลยสิครับ เขาจะยื่นขอตอนใหนก็ให้เป็นเรื่องของเขา จะได้ไม่ต้องมีใครมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ถ้ามากำหนดวันแบบนี้จะมีคนเสียสิทธิอีกมากเลยครับ รบกวนทบทวนคำสั่งใหม่ด้วย

พนิดา สายพันธ์

ท่านครับ กรุณาอย่าขยัน ขยับเวลาในการทำวิทยฐานะ ขอความเห็นใจท่านด้วย ครูหลายท่านเป็นความหวังของครอบครัวแบกชีวิตของคนหลายคน กรุณาอย่าขยันขยายระยะเวลาในการทำผลงานของครู และอย่าขยันเปลี่ยนเกณฑ์ที่กระทบกับครู กราบขอร้องขอความเมตตาจากท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย

พนิดา สายพันธ์

คู่มือเมื่อไหร่จะออก จะถึงเวลาละยังไม่มีคู่มือมาทำความเข้าใจ

พนิดา สายพันธ์

อธิบายให้ชัดเจน ใช้ภาษาที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจไม่ต้องตีความได้หลายทิศทาง ภาคปฏิบัติจะได้ทำตามในทิศทางรูปแบบเดียวกัน จะสั่งการลงมากันคนเป็นหลักแสนอยูต่างพื้นที่ให้เข้าใจ เรื่องสารนั้นสำคัญมากครับ

พนิดา สายพันธ์

เรียนถามท่าน เลขา กคศ.ครับ

ขอสอบถามครับ พวก ว13/2556 ที่ยื่นคำขอ เม.ย 2559 และส่งทบทวน เมื่อ เม.ย.2563 นับถึง 2564 ก็ครบ 5 ปี มีทั้งรอจนตาย/จนเกษียณ เมื่อไหร่ครับท่านถึงจะแก้ปัญหานี้

"ยังมีอีกมากมายกับความคิดเห็นที่เป็นปัญหาและการเสนอขอความช่วยเหลือจาก เลขาธิการ ก.ค.ศ. เมื่อปัญหาในบ้านตัวเองยังแก้ไม่ได้ แล้วจะไปหวังอะไรได้กับงานไม่ใช่หน้าที่นอกบ้าน"  

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)