รมว.ศธ.จำต้องเปิดเพจประชาสัมพันธ์ภารกิจ ฤาจะมี 'ขาใหญ่' ปชส.ในรั้ว ศธ.?

 

แปลกแต่จริง! ฉงน? ทั่วกระทรวงศึกษาฯ

เมื่อ รมว.ศธ.เปิดเพจประชาสัมพันธ์ภารกิจ

ฤาจะมี 'ขาใหญ่' ปชส.ในรั้ว ศธ.?

 

คอลัมน์คิดนอกกรอบ: คนข่าวการศึกษา 29 สิงหาคม 2564

พลันที่ปรากฏข่าวเฟจเฟซบุ๊กชื่อ ตรีนุช เทียนทอง ได้โฟสต์ข้อความและรูปภาพเพื่อเผยแพร่กิจกรรม ผลงาน ภารกิจต่างๆ ในบทบาทหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อาทิเนื้อหาเกี่ยวกับการแถลงข่าว ‘#จุดยืนลดภาระทางการศึกษา’ โดยโพสต์ว่า “ดิฉันขอกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้นำเสนอการจัดการ ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ใน 3 ประเด็นนี้ ค่ะ

1 #เยียวยานักเรียน ทุกคนทุกสังกัด 2,000 บาทต่อคน ตอนนี้กระทรวงฯเรามีความพร้อมเป็นอย่างมากที่จะจัดส่งเงินเยียวยาให้ผู้ปกครองภายใน 5-7 วัน หลังจากได้รับการโอนจัดสรรจากกระทรวงการคลัง ซึ่งความพร้อมที่เรามีนี้ ต้องขอขอบคุณเพื่อนครูทั่วประเทศที่ช่วยรวบรวมข้อมูลให้ค่ะ อาจมีความไม่สะดวกบ้าง ดิฉันต้องขออภัยด้วย แต่ยินดีที่พวกเราได้ร่วมกันช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองของเรา

2 #อินเตอร์เน็ตฟรี สำหรับการเรียนออนไลน์ การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตนี้ ต้องขอขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. ด้วยนะคะ ที่ร่วมช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษา โดยการช่วยเหลือนี้จะมีระยะเวลาตั้งแต่ 15 ส.ค. ถึง 15 ต.ค. 64 ค่ะ

3 #ลดภาระของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ในสภาวะเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ปกครองคือความปลอดภัยของนักเรียน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ดังนั้น กระทรวงฯประเมินแล้วว่า ความรู้บางเรื่องที่ไม่ได้มีความจำเป็นในตอนนี้ เราควรพักไว้ก่อน เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องเครียดที่จะต้องเรียนครบชั่วโมงและทำการบ้าน ครูจะได้ไม่ต้องรวบรัดการสอนที่จะให้ครบตามตัวชี้วัด รวมถึงการประเมินใดที่เป็นภาระแก่ครูก็ลดหรืองดไปก่อน

ดิฉันขอบอกอย่างจริงใจกับทุกท่านว่า ความช่วยเหลือของกระทรวงฯจะไม่ได้จบเพียงเท่าที่มีในวันนี้ค่ะ เราจะต้องทบทวนและหาแนวทางช่วยเหลือกับทุกปัญหาทางการศึกษาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย ดิฉันต้องขอบคุณเพื่อนครูทุกคนอีกครั้งที่ช่วยกันเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กนักเรียนของเราอย่างเต็มที่

#ตรีนุชเทียนทอง”

ทำเอาคนในแวดวงการศึกษาจำนวนมากต่างรู้สึกแปลกประหลาดใจ ทำนองว่า เดี๋ยวนี้คนระดับรัฐมนตรีว่าการ จะต้องมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม ผลงานและภารกิจต่างๆ ของตัวเองกันแล้วหรือ?

ยิ่งในกรณีที่เฟจเฟซบุ๊กชื่อ ตรีนุช เทียนทอง ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนคนในแวดวงการศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รับชมการแถลงข่าว ‘จุดยืนลดภาระทางการศึกษา’ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ #ตรีนุชเทียนทอง #เยียวยานักเรียน

ยิ่งมีข้าราชการใน ศธ.หลายคนถึงกับเอ่ยปากว่า “รับไม่ได้” ที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดของกระทรวงจะต้องมาทำงานประชาสัมพันธ์ภารกิจบทบาทหน้าที่ของตนเอง แทนที่จะได้ทุ่มเวลาและสติปัญญาไปกับการวางแนวนโยบายสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาของชาติให้ก้าวทันตามยุคตามสถานการณ์

“แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ หายไปไหน มัวทำอะไร?”

เป็นประโยคคำถามของชาวกระทรวงศึกษาฯที่มีตามมาเพื่อสอบถามไปถึงนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ในฐานะพ่อบ้าน นัยว่า เพราะเหตุใดถึงปล่อยให้เกิดภาพลักษณ์และคำถามเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้ในรั้วกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เกรงสังคมทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการจะมีมุมมองไปในเชิงลบหรืออย่างไร?

ในเมื่อแนวปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานประชาสัมพันธ์ในสังกัดสำนักงานปลัด ศธ.คอยทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารภารกิจของผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

หรือว่าหน่วยงานประชาสัมพันธ์ในสังกัด สป.ศธ.ในปัจจุบัน ซึ่งใช้ช่องทางเพจเฟซบุ๊ก 'ศธ.360 องศา' ไม่ได้ทำหน้าที่เช่นว่านี้แล้ว? หรือทำ แต่ว่าอาจจำเพาะเจาะจงให้ความสำคัญกับการเผยแพร่กิจกรรม ผลงานของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดในสัดส่วนที่มากเป็นพิเศษหรือไม่? อย่างไร? ด้วยเหตุผลประการใด?

หากข้อสงสัยดังกล่าวเป็นจริง จนเป็นเหตุให้ทีมงาน น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และสํานักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จำต้องเปิดเฟจเฟซบุ๊ก ตรีนุช เทียนทอง เพื่อใช้โฟสต์ข้อความ/รูปภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม ผลงาน ตลอดจนภารกิจต่างๆ ตามบทบาทหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็คงจะมีการตั้งข้อสังเกตและคำถามตามมามากมาย ในเชิงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของหน่วยงานประชาสัมพันธ์สังกัด สป.ศธ.

โดยเฉพาะคงจะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า หากเกิดบรรยากาศในลักษณะนี้ในยุคสมัยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนก่อนๆ ที่ค่อนข้างตัดสินใจเฉียบขาด ก็อาจจะมีความเป็นไปได้? ที่อาจมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานประชาสัมพันธ์ ตลอดจนอาจมีระดับผู้บริหารคนใดคนหนึ่งในหน่วยงานต้นสังกัด สป.ศธ. น่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่อย่างไม่เป็นสุขกันแล้วหรือไม่?

 

ข้อสงสัยอีกประการสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกรณีคำถามของคนในแวดวงการศึกษาที่ว่า เว็บไซต์กลางของ ศธ. http://www.moe.go.th/ หายไปไหน ทำไมเสิร์ชหาเจอได้ยาก

โดยมีการเปรียบเทียบความโปร่งใสในเชิงความเป็นราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างเฟจเฟซบุ๊กที่ชื่อ ตรีนุช เทียนทอง ซึ่งมีการระบุไว้ชัดจนว่า มีเว็บไซต์เกี่ยวข้องคือ เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th/ และมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อในกระทรวงศึกษาธิการ โทร.0-2628-5621 รวมทั้งแสดงสถานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th

แต่เพจเฟซบุ๊ก 'ศธ.360 องศา' ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานประชาสัมพันธ์ใน สป.ศธ. กลับระบุว่า มีเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องคือ http://moe360.blog/ ซึ่งไม่ทราบว่าสังกัดหน่วยงานใดใน ศธ. ขณะเดียวกันอีเมลติดต่อก็เพิ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ จากอีเมลที่ชื่อ brrohita@gmail.com มาเป็น prhotnews1@gmail.com ซึ่งก็ไม่ทราบเช่นกันว่า เป็นอีเมลบุคคลเอกชนเช่นเดิมหรือไม่? และไม่ได้ระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อในกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนสถานะเปลี่ยนแปลงล่าสุดใหม่อีกเป็น ช่องทางการสื่อสาร/สื่อ กระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ โดยเฉพาะข้อครหาที่ว่า อาจมีใครบางคนต้องการทำตัวเป็น "ขาใหญ๋" ในวงการประชาสัมพันธ์ในรั้ว ศธ.หรือไม่? นั้น

เป็นเรื่องที่นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ควรต้องเคลียร์และคลี่คลายให้ชัดเจน อย่าปล่อยให้สังคมคนแวดวงการศึกษา และสังคมภายนอกมองได้ว่า กำลังเกิดปัญหาในการทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่สะท้อนฟ้องสังคมผ่านหน้าเฟจเฟซบุ๊ก ตรีนุช เทียนทอง กับเพจเฟซบุ๊ก 'ศธ.360 องศา' ในทุกวันนี้??

 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)