ศูนย์ ศบค.ศธ. คาดหวังอะไรได้แค่ไหน?

 

ศูนย์ ศบค.ศธ. คาดหวังอะไรได้แค่ไหน?

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก-วัคซีนไม่พร้อม

editor@edunewssiam.com

 

หะแรก ตั้งแต่เห็นตัวเลขสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 29,058 โรงเรียน เลือกเปิดเทอมแรกปีการศึกษา 2564 แบบ On-site หรือจัดการเรียนการสอนที่สถานศึกษา มากถึงจำนวน 19,434 แห่ง ในขณะที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เลือกเปิดเทอมแรกแบบ On-site เช่นกัน จำนวน 555 แห่งทั่วประเทศ

จะอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดหรือพิเศษอะไรก็ตามแต่ หรือจะเปิดแบบผสมผสาน On-site กับ On อื่นๆ แต่ด้วยสำนึกพื้นฐานของคนทุกกลุ่มในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน หรือบุคคลอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง ย่อมรู้สึกตื่นตระหนก ห่วงใย วิตกกังวล

อันเนื่องจากได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังหนักหน่วง ในขณะที่วัคซีนที่จะมาฉีดป้องกันยังขาดสภาพความพร้อมและความต่อเนื่อง ตามมาด้วยข่าวคราวการขาดแคลนเตียงรักษาในบางพื้นที่ในระยะหลังมานี้

จึงต้องมีคำถามไปถึงศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ที่เพิ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่า ศธ. ได้รับมอบหมายจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานพิธีส่งมอบข้อมูลสารสนเทศเข้าสู่ระบบ MOE COVID และเปิดศูนย์ ศบค.ศธ.อย่างเป็นทางการ โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ ศบค.ศธ.

คุณหญิงกัลยา ให้คำมั่นว่า ศธ.ให้ความสำคัญและตระหนักยิ่งถึงความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้จัดตั้งศูนย์ ศบค.ศธ.ขึ้น

“เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานภายใน ศธ.ในการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เพื่อใช้วางแผนการดำเนินงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ได้อย่างทันสถานการณ์ และให้การช่วยเหลือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่”

ในขณะที่ ประธานกรรมการบริหารศูนย์ ศบค.ศธ. นายสุภัทรบอกว่า ศูนย์ ศบค.ศธ.ได้ดำเนินงานมาแล้วกว่า 1 เดือน ณ ห้องประชุมกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา อาคารกรมการฝึกหัดครู (เดิม) ภายในกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวตรีนุช คุณหญิงกัลยา และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นคณะที่ปรึกษา

“มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ประจำวัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ในการวางแผนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมให้ความช่วยเหลือหน่วยงาน ข้าราชการ บุคลากร และนักเรียน นักศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด อีกทั้งประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก รวมถึงจัดทำข้อมูลและเข้าร่วมชี้แจงต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ปลัด ศธ.ยังกล่าวด้วยว่า ศบค.ศธ.มีผลการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา อาทิ การจัดทำระบบรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของกระทรวงศึกษาธิการ MOE COVID โดยให้หน่วยงานในสังกัดรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของสถานศึกษาในสังกัดเป็นประจำทุกวัน โดยมีข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อ ข้อมูลการฉีดวัคซีน และข้อมูลการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรของ ศธ. เพื่อเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564

ด้วยบทบาทหน้าที่ และผลงานของ ศบค.ศธ. ที่นายสุภัทร ได้กล่าวไว้ดังกล่าว จึงมีคำถามย้อนกลับมายังผู้เกี่ยวข้องใน ศบค.ศธ. โดยเฉพาะถึงตัวนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. และประธานกรรมการบริหารศูนย์ ศบค.ศธ.

คำถามประการแรก ศูนย์ ศบค.ศธ.ซึ่งนายสุภัทรระบุว่า ศูนย์ ศบค.ศธ.ได้ดำเนินงานมาแล้วกว่า 1 เดือน ฉะนั้น ศูนย์ ศบค.ศธ.แห่งนี้ได้มีบทบาทในการให้ข้อมูลชี้แนะชี้นำแก่ สพฐ.และ สอศ.หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด และเพราะเหตุใดถึงปล่อยให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.เลือกเปิดเทอมแรกแบบ On-site จำนวนมากถึงเกือบ 2 หมื่นโรงเรียน ในขณะที่สถานศึกษาอาชีวะเปิดเทอมแรกแบบ On-site 555 แห่งทั่วประเทศ

ไม่ว่าจะเปิดแบบผสมผสาน On-site กับ On อื่นๆ หรือให้นักเรียน นักศึกษาสลับกันมาเรียนกันเป็นกลุ่มๆ ทั้งที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อหลายพันคนในแต่ละวัน วัคซีนที่จะมาฉีดป้องกันก็ยังขาดสภาพความพร้อม

ศูนย์ ศบค.ศธ.ไม่เคยรับรู้รับทราบสถานการณ์เหล่านี้บ้างเลยหรือ ทำไมถึงปล่อยให้คนในสังคมตกอยู่ในสภาพตื่นตระหนก ห่วงใย และวิตกกังวลว่า จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา

ประการที่สอง ภายหลังจากเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ย่างเข้ามาเพียงสัปดาห์แรก สถานศึกษาในสังกัด ศธ.หลายแห่ง ก็ถูกทางจังหวัดต่างๆ สั่งปิดการเรียนการสอนแบบ On-site และให้ไปจัดการเรียนการสอนแบบ On-line นักเรียนเรียนอยู่ที่บ้านแทน

เนื่องจากพบมีนักเรียนและผู้ปกครองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นที่ จ.ชัยนาท อาทิ โรงเรียนอนุบาลชัยนาท วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท โรงเรียนวัฒนาชัยนาท, จ.เชียงราย เช่น โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงรายทั้งหมด โรงเรียนอนุบาลเชียงราย โรงเรียนเทิงวิทยาคม ฯลฯ, ที่ จ.มหาสารคาม เช่น โรงเรียนในเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม อาทิ โรงเรียนพระกุมารมหาสารคาม โรงเรียนอนุบาลกิติยา

ขณะเดียวกัน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการ ศธ. และโฆษก ศธ. ในฐานะรองประธานกรรมการบริหาร ศบค.ศธ.ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีภาพรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น 2,883 คน แบ่งเป็นนักเรียน 2,214 คน, ครู 520 คน, บุคลากรทางการศึกษา 149 คน โดยอยู่ระหว่างการรักษาตัว 879 คน

ทั้งนี้ หลังจากเปิดภาคเรียนไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จนถึง 21 มิถุนายน 2564 ศธ.พบผู้ติดเชื้อรวมเพียง 636 คน โดยยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเกิน 80 คน อยู่ที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ และชลบุรี

จึงมีคำถามประการที่สองว่า ศบค.ศธ.เข้าไปมีบทบาทอะไรบ้างกับ 2 หมื่นโรงเรียน สพฐ. และ 555 สถานศึกษาอาชีวะในสังกัด สอศ.ที่เปิดการเรียนการสอนแบบ On-site

คอยไปให้ข้อมูล ข้อชี้แนะ ชี้นำจากประสบการณ์ปีที่แล้ว เพื่อการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบ On-site ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเวลานี้หรือไม่

เคยไปตรวจสอบสถานศึกษาที่เลือกเปิดการเรียนการสอนแบบ On-site หรือไม่ เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตกันจำนวนมากว่า ณ วันนี้ หลายจังหวัดได้สั่งปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site ให้เป็นรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เนื่องจากพบนักเรียนติดเชื้อจากผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ

ทำให้แปลกใจว่า ในเมื่อมีสถานศึกษาที่แจ้งว่า ได้ผ่านเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงในระบบไทยเซฟไทย (Thai save Thai) จำนวนมากถึงกว่าร้อยละ 99.6 แต่ทำไมยังมีนักเรียนและครูที่มีความเสี่ยงสูง หลุดเข้าไปในสถานศึกษาได้อีก

มีครูอาจารย์จำนวนหนึ่งแจ้งผ่าน บรรณาธิการ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ยอมรับว่า “เอาจริงๆ 44 ข้อไม่มีใครทำได้ครบหรอก โดยเฉพาะให้ผู้ปกครองประเมินความเสี่ยงทุกวัน คนต่างจังหวัดตื่นมาเขาไปทำงานกันหมด ขนาดข้าวยังไม่หุงให้ลูกกินเลย ต้องมาสัมผัสเองถึงจะรู้ โรงเรียนต้องเปิด On-site เพราะโดนบังคับ”

ขณะเดียวกันก็มีครูอีกจำนวนมากที่รับรู้สภาพความเสี่ยงในการเปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site จากที่ได้พยายามชี้แจง “ในความเป็นเด็ก หรือแม้แต่คนโตจริงๆ ก็ปิดแมสไว้ตลอดไม่ได้หรอก แล้วสำคัญเด็กก็คือเด็ก การจะให้ห่างกัน 2 เมตร ไม่ให้หยอกล้อกันบ้าง ใครที่ทำได้ทำให้ดูหน่อยครับ แม้แต่พ่อแม่ก็ยังห้ามไม่ได้เลย การจะมาโทษครูว่าไม่ดูแล ไม่ทำตามมาตรการ สังคมโหดร้ายมากครับ”

นี่ยังไม่นับรวม สภาพข้อเท็จจริงที่ผู้คนในสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site ณ เวลานี้ ได้ปฏิบัติกันจริงจังแล้วหรือไม่? ตาม 6 มาตรการหลักของ ศบค.ศธ. ซึ่งจะต้องดำเนินการกันอย่างเข้มแข็ง

ทั้ง 1.คัดกรอง : มีมาตรการคัดกรอง วัดไข้และอาการเสี่ยง ก่อนเข้าสถานศึกษา, 2.สวมหน้ากากอนามัย : สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาเมื่ออยู่สถานศึกษา, 3.ล้างมือให้สะอาด : ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล อย่างเพียงพอ

4.Social Distancing : จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร (แล้วยังมีนักเรียน หรือครูไปนั่งรับประทานอาหารร่วมกันหรือไม่) , 5.ทำความสะอาดสม่ำเสมอ : ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย (แล้วยังมีโรงเรียนที่จัดให้นักเรียนเดินเรียนตามห้องต่างๆ อีกหรือไม่)

และ 6.ลดความแออัด : ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน ในกรณีเรียนในห้องแอร์ ให้ปิดแอร์และระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย

คำถามประการที่สาม จากที่ประธานกรรมการบริหารศูนย์ ศบค.ศธ. นายสุภัทรระบุว่า “ศูนย์ ศบค.ศธ. มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ประจำวัน นำมาวิเคราะห์วางแผนดำเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมช่วยเหลือหน่วยงาน บุคลากร นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด” นั้น

จริงๆ แล้ว ศบค.ศธ.มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามที่ระบุไว้ดังกล่าวนี้จริงหรือไม่ รับรู้แล้วหรือไม่ว่า มีนักศึกษาอาชีวะที่กำลังประสบปัญหาจำนวนมาก และมีแผนเยียวยาอย่างไรไปบ้างแล้ว

อาทิ กรณีที่วิทยาลัยการอาชีพกุมภวาปี มีนักศึกษา ปวส.เข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5 คน , นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพกระนวน ที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ บริษัทเอกชนที่ จ.เพชรบุรี 22 คน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวน 15 คน บัดนี้นักศึกษาได้รับการรักษาหายและได้กักตัวครบ 14 วัน มีความประสงค์กลับเข้าฝึกประสบการณ์ที่เดิม 9 คน ขอกลับภูมิลำเนา 6 คน

ที่วิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์ จ.สระบุรี มีนักศึกษาที่มารับหนังสือเรียนช่วงวันที่ 14-18 มิ.ย.2564 จำนวน 1 คน มีผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ปกครอง , ที่จังหวัดจันทบุรีประกาศไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อวันที่ 2 มิถุนายน เวลา 09.00-10.30 น. ณ วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี ซึ่งเป็นช่วงนักศึกษาใหม่มารับชุดเครื่องแบบ

วิทยาลัยเทคนิคสตูล ได้ประกาศจัดการเรียนการสอนแบบ Onsite 50:50 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา ต่อมาตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ให้งดแบบ Onsite ไปอีก 2 สัปดาห์ เนื่องจากยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ ขณะเดียวกันสาธารณสุขจังหวัดแจ้งว่า มีนักศึกษา ปวส. 1 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ และมาเรียนที่วิทยาลัยทุกวันในช่วงที่มีการเรียนแบบ Onsite

ที่วิทยาลัยเทคนิคสว่างแดนดิน มีนักศึกษาเข้าฝึกงานและฝึกอาชีพในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ 14 คน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ดังนี้ นักศึกษา 2 คน มีผลตรวจเป็นบวก, นักศึกษา 5 คน กักตัวเฝ้าระวังฯ,

ที่วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม ส่งนักศึกษาไปฝึกงานในบริษัทเอกชนอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ 24 คน กลับมาจากสถานประกอบการกักตัวที่บ้านตนเองตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.2564 จำนวน 11 คน สาธารณสุขอำเภอตรวจคัดกรองพบผลเป็นบวก 2 คน นักศึกษาที่อยู่ที่สถานประกอบการตรวจพบเชื้อ 4 คน

ที่วิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานในบริษัทอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ (โรงงาน 1) 8 คน และ (โรงงาน2) 46 คน ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 24 มิถุนายน 2564 (โรงงาน 1) มีผลตรวจพบเชื้อ 3 คน

ที่วิทยาลัยการอาชีพวิเชียรบุรี ส่งนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพ ได้รับผลกระทบติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 3 คน , ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี มีบุคลากรทางการศึกษาติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 1 คน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2564 , ที่วิทยาลัยการอาชีพหนองแค จ.สระบุรี มีนักศึกษาฝึกงานที่ หจก. อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 คน โดยติดมาจากบิดามารดาซึ่งมีอาชีพค้าขายในเขตจังหวัดปทุมธานี

ฯลฯ

เหล่านี้คือความห่วงใยจากผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ปกครอง ที่ส่งผ่านไปถึงความเอาจริงเอาจังของ ศูนย์ ศบค.ศธ. จะคาดหวังได้แค่ไหน??

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)