นายกสภาผู้ปกครองฯแนะทางออกจัดการศึกษาในภาวะโควิด แฮปปี้ทุกฝ่าย!

“ดร.นิวัตร”นายกสภาผู้ปกครองฯและอดีตรองปลัด ศธ. แนะทางออกแฮปปี้ทุกฝ่าย! จัดการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด  

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานกรณีมีกระแสร้องเรียนจากกลุ่มนักเรียนและผู้ปกครองในหลายโรงเรียนผ่านไปถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ระบุว่า มีหลายโรงเรียนไม่ปฏิบัติตามนโยบายรับมือการจัดการศึกษาในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ ศธ.ได้ถอดบทเรียนหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน ตามสถานการณ์ระบาดในแต่ละพื้นที่ รวมจำนวน 5 รูปแบบ คือ On-site, On-air, On-demand, Online และ On-hand โดย ศธ.จะไม่กำหนดตายตัวรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนที่เหมือนๆ กันทั้งหมด

แต่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนี้ กลับมีหลายโรงเรียนฝ่าฝืน มีลักษณะคล้ายการบังคับให้เด็กต้องมาเรียนที่โรงเรียนโดยปริยาย เนื่องจากไม่ได้อำนวยความสะดวกให้เด็กได้เรียนผ่าน Online เหมือนก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่โรงเรียนเหล่านี้หลายแห่งอยู่ในพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคค่อนข้างมาก และมีข้อมูลด้วยว่า มีเด็กนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนหลายแห่งทยอยติดเชื้อโควิด-19 รวมจำนวนมากกว่า 10 รายแล้ว

จนมีนักเรียน ผู้ปกครอง และครูจำนวนหนึ่งเกรงว่า จะนำอันตรายร้ายแรงจากโรงเรียนไปสู่ผู้สูงอายุและเด็กเล็กในครอบครัวที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน จนเกิดเป็นกระแสร้องเรียนเพื่อเรียกร้องให้ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้สั่งการกำชับถึงโรงเรียนในสังกัดทุกแห่งได้ปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ดร.นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย และอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เชิงให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำไปถึงผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลานี้ว่า สถานศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่มีการระบาดค่อนข้างมาก ควรจัดทำแบบสำรวจสอบถามความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน ตลอดจนครูและบุคลากรในสถานศึกษาว่า ต้องการให้โรงเรียนใช้รูปแบบใดบ้างในการจัดการเรียนการสอน

เพราะอาจมีผู้ปกครอง นักเรียน ตลอดจนครูและบุคลากรในสถานศึกษาจำนวนไม่น้อย ที่อาจเกรงกลัวเรื่องไม่ความปลอดภัยที่อาจนำไปสู่สมาชิกในครอบครัวได้ หากต้องมาเรียนและสอนแบบ On-site ในสถานศึกษาในช่วงระยะเวลาที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากยังมีข่าวเผยแพร่ข้อมูลการติดเชื้อรายวันหลัก 8 พันกว่าคน การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวมจำนวนหลายหมื่นคน และการเสียชีวิตรายวันยังมีอีกจำนวนหนึ่ง

เช่น ทางโรงเรียนออกแบบสำรวจอาจออกมาระบุว่า จำนวน 70% อยากให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ On-site ในสถานศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ปกครองมีภาระต้องไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จึงอยากให้บุตรหลานมาโรงเรียน ส่วนอีก 30% ต้องการให้จัดการเรียนการสอนรูปแบบอื่นๆ อีก 4 รูปแบบ ก็ให้ทางโรงเรียนอำนวยความสะดวกไปตามนั้น ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละโรงเรียนก็ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว

ดร.นิวัตรกล่าวต่อว่า ส่วนข้อจำกัดของการเรียนการสอนโดยเฉพาะในรูปแบบ Online และ On-hand ไม่ดึงดูดให้เด็กอยากเรียน ซึ่งทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจและรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งสังคมก็มองเห็นตรงกันว่าไม่ได้ผลนั้น ต้องยอมรับว่าการเรียนการสอนในรูปแบบ Online และ On-hand อาจไม่ได้ผล เพราะมีข้อจำกัดมากมาย เช่น On-hand เด็กไม่ได้เรียนแบบเห็นหน้าตากับครู หรือ Online มีข้อจำกัดเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอุปกรณ์ไม่พร้อม อินเตอร์เน็ตไม่เสถียร มองเห็นครูในจอมือถือและคอมพิวเตอร์เล็กนิดเดียว ทำให้อาจเบื่อหน่าย

แต่ก็มีทางออกคือ หากทางผู้บริหารโรงเรียนและครูได้นำหลักการจัดการศึกษาแบบ On-demand เข้ามาเสริม โดยเฉพาะในการเรียนผ่าน Online มอบหมายให้เด็กได้ไปศึกษาค้นคว้าความรู้ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ก็จะช่วยให้เด็กมีความอยากรู้อยากเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายคุณลักษณะของการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอยู่แล้ว เป็นการจัดการศึกษาแบบให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางโดยแท้จริง

ตนขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ในการเรียนแบบ Online ครูสามารถสอนให้เด็กอยากรู้อยากเรียนได้ด้วยการดูจุดประสงค์การเรียนรู้ในวิชานั้นๆ แล้ววางแผนการจัดการเรียนรู้ ด้วยการบอกจุดประสงค์การเรียนรู้อาจจะ 2 ข้อกับเด็ก ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แล้วปล่อยให้เด็กไปค้นคว้าหาความรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ดังกล่าว ตามสื่อหรือแอปพลิเคชันต่างๆ แล้วชั่วโมงถัดไปให้เด็กแต่คนนำเสนอความรู้ที่ตนเองไปค้นคว้ามา 

“เช่น ให้เด็กไปหาความรู้เรื่องประเทศมาเลเซีย เด็กแต่ละคนก็อาจหาความรู้มาแต่ละด้านไม่เหมือนกันมานำเสนอ บางคนอาจเสนอเรื่องปาล์มน้ำมัน บางคนเสนอเรื่องศิลปวัฒนธรรม บางคนเสนอเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เด็กทุกคนได้รับความรู้เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียครอบคลุมขึ้น ซึ่งอาจจะได้ความรู้ดีกว่าที่ครูบอกในชั้นเรียนด้วยซ้ำ จากนั้นครูเพียงบอกสรุปก่อนจบชั่วโมงเรียน แค่นี้ผมก็เชื่อว่าจะทำให้การเรียนผ่าน Online ดึงดูดและมีความหมายต่อนักเรียนเพิ่มมาขึ้น” อดีตรองปลัด ศธ. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)