กมธ.ศึกษาฯแนะ“ตรีนุช” สารพัดวิธี ใช้ ศธ.บรรเทาโควิด เสนอให้ ร.ร.งด On-Site

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันเดียวกันนี้ กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้าร่วมประชุม เพื่อแสดงความยินดีที่ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ศธ. เนื่องจาก น.ส.ตรีนุช เคยเป็นที่ปรึกษา กมธ.การศึกษาฯมาก่อน

พร้อมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเด็นต่างๆ ร่วมกับ น.ส.ตรีนุช และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรบริหารหลักใน ศธ.ที่เข้าร่วมในที่ประชุมด้วย

โดยตนได้เสนอว่า ในสภาพการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน สถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศควรงดจัดการเรียนการสอนแบบ On-Site และขอให้ ศธ.จัดบทเรียนบนเครือข่าย online ที่เป็นระบบสมบูรณ์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ให้นักเรียน นักศึกษา และครูอาจารย์สามารถเลือกจัดการเรียนรู้ได้ทุกวัน ทุกเวลา และทุกสถานที่

และสามารถเชื่อมโยงกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน on อื่นๆ ได้ด้วย ทั้ง online, On Demand, On Air และ On Hand ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มสื่อการเรียนการสอน แบบฝึก ใบงาน ใบความรู้ เกมดิจิทัล คลิปวีดิโอ วีดิทัศน์ คลิปเสียง ลิงค์เว็บไซต์ แบบทดสอบ บทเรียนโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการเรียนการสอน ฯลฯ

“ไม่ใช่เป็นไปตามสภาพการจัดการเรียนการสอน online ในทุกวันนี้ ที่เป็นเหมือนการประชุมผ่าน Google Meet, Zoom meeting มากกว่าจะเป็นลักษณะของการเรียนการสอน”

นอกจากนี้ ศธ.ควรจัดงบประมาณเพื่อจัดหาสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตฟรี อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย Online ให้กับครูและนักเรียนยืมเรียน หรือแจก, ปรับหลักสูตร แยกเนื้อหาที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และยังไม่จำเป็น โดยสามารถเรียนแบบ Home Blended หรือเรียนจากชีวิตจริงในบ้าน รวมทั้ง ศธ.ต้องปรับระเบียบการประเมินผลการเรียน ตัดเกณฑ์เวลาเรียน โดยเน้นสมรรถนะของนักเรียน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท กล่าวด้วยว่า ศธ.ต้องจัดงบประมาณให้กับครูอัตราจ้างโรงเรียนของรัฐ โดยเฉพาะครูวิทย์-คณิต (ครูคลังสมอง) และอุดหนุนการจ้างครูโรงเรียนเอกชนให้ได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ให้มีการจ้างงานต่อเนื่องทุกตำแหน่ง เพื่อช่วยเหลือครูเหล่านี้ไม่ตกงานในสถานการณ์วิกฤตเช่นปัจจุบัน

รวมทั้งขอให้ผู้สำเร็จประกาศนียบัตรบัณฑิตที่เข้าเรียนก่อน 26 พฤศจิกายน 2562 ขอให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติ, ให้ ศธ.ปลดล็อค ให้มีการโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้คืนถิ่น กลับภูมิลำเนาไปดูแลพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ไม่ต้องเป็นพาหะนำโรคจากการเดินทางไป-กลับที่ทำงานกับภูมิลำเนา รวมไปถึงการแก้ปัญหาเกณฑ์วิทยฐานะข้าราชการครูฯต่างๆ ทั้ง ว 17 ว21 วPA ว 13

อีกทั้ง ขอให้ ศธ.ทบทวนโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนดีสี่มุมเมือง, ให้ชะลอยุบ เลิก และควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก, ให้บรรจุผู้อำนวยการ ครู ภารโรง ธุรการในทุกโรงเรียน หากจะยุบให้มีแผนล่วงหน้า 5 ปี

"ตลอดจนขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติออกจากสภา เนื่องจากข้าราชการครูฯยังวิตกกังวลในหลายประเด็น เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโครงสร้างการบริหาร ศธ.ที่เกรงมีการรวบอำนาจ หากไม่ถอนออกจากสภา ก็ขอให้ ศธ.เร่งรีบนำเสนอร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ เพื่อให้เห็นว่าได้ยกร่างบทบัญญัติอย่างไรบ้าง ได้แก้ข้อวิตกกังวลของข้าราชการครูฯแล้วหรือไม่"

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท กล่าวตอนท้ายว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และผู้บริหาร ศธ.ที่เกี่ยวข้อง ได้ตอบรับว่าจะนำไปพิจารณาต่อไป โดยในข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ยืนยันว่า จะไม่ให้ใครเสียสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)