โรงเรียนทยอยสนอง ‘ตรีนุช-สพฐ.’ ปรับการสอนออนไลน์ ลดความเครียดนักเรียน

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้าภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังหนักหน่วงรุนแรง ส่งผลให้ทุกสถานศึกษาทั่วประเทศ มีแนวโน้มต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ตลอดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือ On-site ได้

ตามที่ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการ กพฐ. เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ว่า “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 เบื้องต้นจึงคาดว่า ทุกโรงเรียนจะต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ตลอดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน หรือ On-site ได้ เพราะยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก และจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า จะสามารถเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 แบบ On-Site ได้หรือไม่

และต่อมานางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีนโยบายให้ทุกสถานศึกษาผ่อนคลายภาระด้านการเรียนที่เกินความจำเป็นของนักเรียนลง ตลอดจนให้สถานศึกษาสำรวจอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนเป็นรายบุคคลและช่วยเหลือในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อลดความเครียดของนักเรียน

อีกทั้ง รมว.ตรีนุช ระบุด้วยว่า สพฐ.ยังได้มีการปรับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดเป็นมาตรฐานกลาง "เรื่องที่ต้องรู้ และเรื่องควรรู้" ในแต่ละรายวิชาให้เหลือเท่าที่จำเป็นตามบริบทของสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ ลดวิชาการลง ลดเวลาเรียนในแต่ละช่วงชั้น ลดปริมาณการบ้านลง ฯลฯ

ทั้งนี้ จากนโยบายของ รมว.ตรีนุช และ สพฐ.ดังกล่าว ส่งผลให้สถานศึกษาต่างๆ ในสังกัด ศธ.ได้ทยอยปรับการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และออกเป็นประกาศสถานศึกษาแจ้งผู้ปกครองและนักเรียนทราบ

อาทิ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 นางสาววิณัฐธพัชร์ โพธิ์เพชร ผู้อำนวยการโรงเรียนปากเกร็ด โรงเรียนมัธยมศึกษาใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในสังกัด สพฐ. ได้ออกประกาศโรงเรียนปากเกร็ดให้นักเรียนเรียนออนไลน์แบบผ่อนคลายขึ้น

เช่น ให้ครูปรับเนื้อหาการสอนทุกรายวิชาให้มีความง่าย และมีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนทุกกลุ่ม ลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น ลดการบ้าน ห้ามมอบชิ้นงานที่มีความยุ่งยาก ใช้เวลามาก เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ห้ามจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องให้นักเรียนออกนอกบ้าน หรือการทำงานเป็นกลุ่ม

จัดให้มีการวัดผลการเรียนรู้ประจำหน่วยโดยให้มีความยืดหยุ่น ลดการทดสอบ ให้มีการทดสอบเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ด้วยรูปแบบออนไลน์ หรือวิธีที่เหมาะสมกับนักเรียนทุกกลุ่ม งดการสอบระหว่างภาค สำหรับการประเมินผลปลายภาค ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารวิชาการ โดยยึดหลักพัฒนาการของนักเรียน ความพร้อมของนักเรียน และวิธีการทดสอบที่เหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ ในประกาศโรงเรียนปากเกร็ดยังระบุเรื่องการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยโรงเรียนจะพิจารณาปรับดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียนทุกคนในภาคเรียนที่ 2/2564 รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน และการช่วยเหลืออื่นใดตามที่จำเป็น

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)