สว.ผลักดัน!กระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่สถานศึกษา (ชมคลิป)

สว.ผลักดัน!กระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่สถานศึกษา

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ณ อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้กล่าวแสดงความเห็นในการเสวนาเรื่อง “การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ โดยนำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่การจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา” ภายในงานสัมมนากลุ่มย่อยเรื่อง "วุฒิสภากับการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตของคนไทย" จัดโดยคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

ดร.ศักดิ์สินกล่าวว่า ในการนำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่การจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา เป็นการสืบสานศาสตร์พระราชาทั้ง ๓ ด้าน หรือ ๓ มิติ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและวิธีจัดการเรียนรู้ในการจัดการศึกษาทุกระดับนั้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้

ด้านที่ ๑ เป็นการนำองค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาสาขาต่างๆ ในมิติที่ ๑ ไปกำหนดเป็นสาระการเรียนรู้หรือเนื้อหา ให้ผู้เรียนเรียนรู้ในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการศึกษานอกระบบ รวมเป็นการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตลอดชีวิต

ด้านที่ ๒ เป็นการนำวิธีทรงงานของพระราชามาเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วย ๒๗ วิธีทรงงานของพระราชาไปใช้เพื่อสร้างลักษณะนิสัยการทำงานที่ดีให้ติดตัวผู้เรียน เป็นการเรียนรู้ผ่านเทคนิคกระบวนการในมิติที่ ๒ จากเนื้อหาต่างๆ ในมิติที่ ๑ ไปสู่เป้าหมายและหลักการพื้นฐานในมิติที่ ๓

สอดคล้องกับการทรงงาน คือ หลักธรรม หลักคิด และหลักปฏิบัติ (King's Model) หรือถักทอเชื่อมโยงวิธีทรงงานทั้ง ๒๗ วิธี กับกระบวนการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) อันได้แก่กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 steps ก็จะสามารถพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงให้กับผู้เรียนที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตามมาตรา ๒๕๘ จ (๔) ที่เน้นการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ให้สอดคล้องกับความถนัดของผู้เรียนอีกด้วย

ด้านที่ ๓ ศาสตร์พระราชาด้านเป้าหมายการเรียนรู้และการทำงานในมิติที่ ๓ นั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ที่เน้นให้การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน ๔ ด้าน คือ ๑. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ๒. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม ๓. มีงานทำ มีอาชีพ และ ๔. เป็นพลเมืองดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ UNESCO ที่กำหนดหลักการพื้นฐานของการปรับปรุงการเรียนรู้ของคนในศตวรรษที่ ๒๑ ว่าด้วย The four pillars of learning

รวมทั้งเมื่อนำองค์ความรู้ด้านเป้าหมายของศาสตร์พระราชาไปใช้ในการกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เป้าหมายของหลักสูตร ก็จะเชื่อมโยงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ๑๗ ประการ (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา จึงเป็นการนำเนื้อหาความรู้ในศาสตร์พระราชา และ ๒๗ วิธีทรงงานของพระราชา รวมทั้งเป้าหมายการทรงงาน มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับหลักสูตรการเรียนการสอนของหน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร จะจัดลงไปในหลักสูตรได้อย่างไรบ้าง ทั้งรายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม หรือรายวิชาเฉพาะในแต่ละระดับ หรือสาขาการศึกษา

อาจจะจัดให้มีทั้งการเรียนการสอนในรายวิชาปกติ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การเรียนรู้ด้วยโครงงาน หรือการศึกษาอิสระ (Independent Study) หรือโครงงานวิทยานิพนธ์จบการศึกษา

"หลักสูตรเหล่านี้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องมีความยืดหยุ่นในการสนับสนุนให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้เองตามบริบท เป้าหมาย ปรัชญาของสถานศึกษา และความเหมาะสมกับผู้เรียน รวมทั้งการประเมินผลการเรียนรู้ในแต่ละด้าน ให้สามารถพัฒนาได้เองอย่างต่อเนื่อง เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดชีวิต" ดร.ศักดิ์สิน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าว

คลิกชมคลิป! บรรยากาศงานสัมมนา "วุฒิสภากับการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตของคนไทย" และการเสวนาเรื่อง “การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ โดยนำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่การจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา” พร้อมทั้งการให้สัมภาษณ์ของนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และ ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ โดยนำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่การจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)