นายก ส.พ.บ.ค.ช่วยครูโคราชสู้คดีสนามฟุตซอล กลัวถูกข้อหา-ไล่ออกเหมือน ผอ.

นายก ส.พ.บ.ค.ช่วยครูโคราชสู้คดีสนามกีฬาฟุตซอล ทุกข์ใจกลัวติดร่างแห ถูกตั้งข้อกล่าวหาทุจริต-ไล่ออกจากราชการเหมือน ผอ. เผยยังมี ร.ร.สพฐ.อีกเพียบรอระทึกในหลายจังหวัด ทั้งยังจ่อตามมาหลอกหลอน "ครู-ผอ." อีก 2 โครงการ "E-Classroom,E-Library" 100 โรงเรียน ปีงบฯ 2555-56 มูลค่า 400 ล้าน   

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า ตนได้รับการติดต่อจากนายออน กาจกระโทก วุฒิสมาชิก ขอให้ช่วยเหลือคุณครูร่วมสิบกว่าคนของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกำลังมีความทุกข์กินไม่ได้นอนไม่หลับ

เนื่องจากถูกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สั่งให้ชี้แจงยื่นคำให้การเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสนามกีฬาฟุตซอลของโรงเรียน เพราะมีกรณีตัวอย่างที่ผ่านมา บรรดาผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียนเกือบร้อยคนถูกตั้งข้อกล่าวหาทุจริตและถูกไล่ออกจากราชการ

ส.ว.ออน กาจกระโทกจึงได้นัดหมายให้ตนไปช่วยเรื่องการทำคำชี้แจงคำให้การให้กับคุณครูเหล่านี้ที่อาคารวุฒิสภา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งตนได้นำเขียนร่างข้อต่อสู้คำให้การ จนคนครูทุกท่านเกิดความมั่นใจ รู้สึกสบายใจ ต่างหัวเราะ ยิ้มแย้มแจ่มใส หายเครียด เพราะเห็นทางสว่าง ทางออก 

"ผมขอขอบคุณ สว.ออน กาจกระโทก ที่ใส่ใจในความทุกข์ร้อนของครูบาอาจารย์ ซึ่งคุณครูท่านอื่นๆ ที่มีทุกข์เดือดร้อนเพราะต้องคดี หรือเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ติดต่อสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ทุกเมื่อ พร้อมให้ความช่วยเหลือทุกท่าน เบอร์โทรศัพท์ติดดต่อ โทร.083-265-2693" ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคม ส.พ.บ.ค.กล่าว

อนึ่ง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า คดีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ในโครงการก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) ปีงบประมาณ พ.ศ.2554 และปีงบประมาณ พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในพื้นที่ 10 กว่าจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มูลค่ารวมมากกว่า 4 พันล้านบาท

ซึ่งตกเป็นเรื่องอื้อฉาวเมื่อช่วงปี พ.ศ.2555 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นในช่วงเวลานั้นว่า การก่อสร้างสนามฟุตซอลในหลายโรงเรียนใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน สร้างเสร็จไม่กี่เดือนก็ชำรุดเสียหาย

จนกลายเป็นประเด็นกล่าวหาว่า มีการทุจริต และมีการไต่สวนคดีนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อนจะส่งสำนวนให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนต่อ

ป.ป.ช.ระบุในสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเป็นกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน 2 โครงการหลัก

หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในพื้นที่ 10 กว่าจังหวัด ซึ่งได้มีการวางแผนการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และยังใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้างจนทำให้สนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์

กระทั่งต่อมา ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 2 คณะหลัก แบ่งเป็นโซนพื้นที่ภาคเหนือ มีอย่างน้อย 15 สำนวน และโซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอีกนับสิบสำนวน พร้อมกับมีรายชื่อผู้เข้าข่ายถูกกล่าวหานับรวมหลายร้อยคน

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เริ่มทยอยสรุปผลการไต่สวนและชี้มูลความผิดคดีโครงการก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) ของโรงเรียนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ให้ต้องโทษวินัยร้ายแรงในข้อหาร่วมกันทุจริต และแจ้งเรื่องไปยัง สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ

จากนั้น ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงนามในคำสั่งไล่ออกจากราชการ ผู้ถูกชี้มูลความผิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวม 65 คน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นล็อตแรก ในขณะที่ยังไม่มีนักการเมืองรายใดได้รับโทษตามกฎหมาย

ต่อมาผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับการเปิดเผยจาก ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช.เริ่มทยอยเชิญผู้เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) ปีงบประมาณ พ.ศ.2554 และปีงบประมาณ พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิชุดแรกประมาณ 10 คน ไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

โดยทั้งหมดเป็นระดับบริหารในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.ร.ร.) ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และยังรับราชการอยู่ ส่วนครูที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ยังไม่มีรายใดถูกตั้งข้อกล่าวหา

ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานอีกว่า ยังมีคดีโครงการก่อสร้างปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) ปีงบประมาณ พ.ศ.2554 และปีงบประมาณ พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในพื้นที่อีก 10 กว่าจังหวัด ที่ยังไม่ปรากฏข่าว ป.ป.ช.ได้สรุปผลไต่สวนและชี้มูลความผิดส่งไปยัง สพฐ.

โดยเฉพาะจังหวัดโซนภาคเหนือ ที่มีอย่างน้อย 15 สำนวน ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.ตาก จ.น่าน จ.แพร่ จ.พิษณุโลก และ จ.อุตรดดิตถ์ และจังหวัดในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอีกนับสิบสำนวน ในพื้นที่ จ.มุกดาหาร จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ รวมถึง จ.ชัยภูมิ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในพื้นที่ จ.สระบุรี และ จ.นครปฐม ด้วย

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีคดีที่จ่อตามมาหลอกหลอนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า ป.ป.ช.กำลังจ่อชี้มูลความผิด 100 โรงเรียนในสังกัด สพฐ. (อาทิ โรงเรียนใน จ.ชัยภูมิ ระนอง ชุมพร ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช) ที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) ปีงบประมาณ 2555 (งบแปรญัตติ) และปีงบประมาณ 2556 รวมมูลค่าราว 400 ล้านบาท ซึ่งส่อว่าไม่โปร่งใส และอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาทำผิดหลายกระทง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีทั้งโรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) มูลค่าโรงเรียนละ 5 ล้านบาท และโรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) มูลค่าโรงเรียนละ 2.5 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างในโครงการปรับรุงห้องเรียน (E-Classroom) และโครงการห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) และมีข้อค้นพบว่า

๑.ส่ออาจมีการกำหนดครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการไม่สอดคล้องกับแผนงานโครงการรายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมและที่ประสบอุบัติภัย

และ ๒.ส่ออาจมีการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อบางรายการใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง พฤติการณ์อาจส่อไปในทางเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อาจกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และอาจกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)