"วิโรจน์" อัดงบฯ ศธ. จัดแบบรูทีน ผลสัมฤทธิ์การศึกษาถดถอย

 

"วิโรจน์" อัดงบฯ ศธ. จัดแบบรูทีน

ผลสัมฤทธิ์การศึกษาถดถอย

 

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.67 ในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วันสุดท้าย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณด้านการศึกษา โดยเน้นการอภิปรายหลายประเด็นแรงตามสไตล์

 

เริ่มจากผลการทดสอบ PISA 2022 ประเทศไทย ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี สะท้อนถึงความล้มเหลวและวิกฤติของระบบการศึกษาไทย ซ้ำร้ายจากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 ระบุว่า “คงไม่เทียบมาตรฐานกับประเทศอื่นดีกว่า ของเราเป็นตัวของเราเอง” ยิ่งสะท้อนถึงปัญหาในการจัดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะ PISA ไม่ใช่คะแนนสอบ แต่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของการพัฒนาคน การศึกษาไทยไม่ใช่เดินตามหลัง

 

"แต่เรากำลังเดินหลงทาง เดินตามหลังนั้นยังดี มองไปข้างหน้ายังเจอผู้คน อาจจะไปถึงช้ากว่าเพื่อน แต่ก็ยังไปถึง แต่ที่ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่าของเราเป็นตัวของเราเองนั้น มองไปข้างหน้าก็ไม่เจอใคร มองไปข้างหลังก็ไม่เจอคน มองซ้ายมองขวาเจอแต่ความว่างเปล่า นี่ คือ เรากำลังหลงทาง ยิ่งเดินต่อไปยิ่งเข้ารกเข้าพง เรากำลังอยู่ในยุคที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อ ‘เพิ่มพูน’ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามีแต่ถดถอย" วิโรจน์ กล่าว 

 

ตอกยำ้ถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนว่า ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า ปีการศึกษา 2566 มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กทั้งสิ้น 14,996 แห่ง จากโรงเรียนทั้งหมด 29,312 แห่ง คิดเป็น 51.2% หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งไปแล้ว และยังมีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 121 - 200 คน อยู่อีกประมาณ 7,000 แห่ง ที่กำลังจะกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในอนาคตอันใกล้ จากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้รับงบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้กับนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กก็ตาม

 

 

แต่เมื่อกระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบโดยคิดจากรายหัวนักเรียนเป็นหลัก หัวละ 500 บาทต่อคนต่อปี ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กประสบกับปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ขาดแคลนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ อาคารสถานที่ ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ ขาดการบำรุงรักษาจนส่งผลต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักเรียน

 

ผ่านมาจนถึงปีงบประมาณปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง การควบรวมโรงเรียนที่ผ่านมาไม่เคยประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แถมยังมีแนวโน้มควบรวมได้น้อยลงเรื่อย ๆ

 

ถ้าจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง งบประมาณเพียง ปีละ 2 ร้อยกว่าล้านบาท ย่อมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นปัญหาระดับวิกฤติไม่ได้ สะท้อนได้ว่ารัฐบาลไม่ได้มองปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กว่าเป็นปัญหาระดับวิกฤติเลย

 

ซึ่งนอกจากจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ตามเป้าหมายแล้ว การควบรวมโรงเรียนอย่างไร้ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมายังก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทกับชุมชนอย่างรุนแรง ส่วนเงินชดเชยค่าพาหนะในการเดินทางไป-กลับบ้านโรงเรียนก็จ่ายในอัตราที่ถูกอย่างไม่สมเหตุสมผล

 

" เรื่องการจัดสรรอัตรากำลังครูผู้สอน สพฐ. ยังใช้หลักเกณฑ์สัดส่วนครูต่อจำนวนนักเรียน ยิ่งจำนวนนักเรียนมีน้อยครูก็ยิ่งมีน้อยตาม บางโรงเรียนมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายชั้นหลายวิชา ทำให้ยากต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทย กำหนดให้นักเรียนต้องเรียนหลายวิชา ทั้งมีการบ้านและการสอบที่มากเกินไป" วิโรจน์ กล่าว ตบท้าย

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage