กก.สทศ.ชงเคลียร์ “ณัฏฐพล-ทบทวนข้อสอบ” เดินหน้าสอบโอเน็ต มี.ค.นี้

กก.สทศ.ชงเคลียร์ “ณัฏฐพล-ทบทวนแบบทดสอบ” เดินหน้าจัดสอบโอเน็ต มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2563 ว่า

ตามกำหนดเดิมที่ประชุมคณะกรรมการ สทศ.ครั้งที่ 9/2563 ได้มีมติให้ สทศ.ดำเนินการจัดทดสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2563 โดยกำหนดจัดทดสอบนักเรียนชั้น ป.6 วันที่ 13 มีนาคม 2564 , ทดสอบนักเรียนชั้น ม.3 วันที่ 13-14 มีนาคม 2564 และทดสอบนักเรียนชั้น ม.6 วันที่ 27-28 มีนาคม 2564 นั้น 

ในเบื้องต้นนี้โรงเรียนสังกัดต่างๆ นอกเหนือจากสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมให้ความร่วมมือในการส่งนักเรียนทั้ง 3 ระดับชั้นเข้าสอบ ส่วนโรงเรียนในสังกัด ศธ.คาดว่า คงไม่ส่งนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 สอบ

เนื่องจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามประกาศเรื่อง นโยบายการทดสอบโอเน็ต เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ให้นักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ของสถานศึกษาในกำกับ ศธ.เข้ารับการทดสอบโอเน็ตตามความสมัครใจตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

ประกอบกับนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกหนังสือเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 แจ้งถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ กำชับเรื่องนโยบายนายณัฏฐพลดังกล่าว

อีกทั้ง ตนยังได้รับทราบจากผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บางแห่ง จึงเชื่อว่าคงไม่มีโรงเรียนใดในสังกัด สพฐ.จะกล้าฝ่าฝืน

ดังนั้น การจัดสอบโอเน็ตนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2563 อาจจะมีเฉพาะนักเรียนในสังกัดต่างๆ ยกเว้นสังกัด ศธ. ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 100,000 คน ทั้งนักเรียนในสังกัดโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และอาจรวมถึงโรงเรียนเอกชนต่างๆ

โดยขณะนี้ สทศ.ได้เตรียมความพร้อมในการจัดสอบไว้แล้ว ทั้งแบบทดสอบ และมาตรการดูแลสถานที่จัดทดสอบ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น มาตรการคัดกรองผู้เข้าสอบ การเว้นระยะห่างของที่นั่งสอบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 14 หรือ 15 มกราคม 2564 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ สทศ. เพื่อพิจารณารายละเอียดเรื่องการจัดทดสอบโอเน็ตอีกครั้ง ซึ่งอาจมีการหารือประเด็นเรื่องที่นายณัฏฐพลและ สพฐ.มีนโยบายให้นักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ของสถานศึกษาในสังกัดสามารถเข้ารับการทดสอบได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

ซึ่งตนจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ สทศ. ให้มีการทำความเข้าใจกับนายณัฏฐพลถึงความสำคัญของการจัดทดสอบโอเน็ตว่า เป้าหมายหลักก็เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนในสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อพัฒนานักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียน

ขณะเดียวกัน สทศ.ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาแบบทดสอบในแต่ละรายวิชา ให้คำนึงถึงบริบทของทุกโรงเรียน เช่น โรงเรียนส่วนใหญ่จำนวนมากกว่า 50% ทั่วประเทศเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูสอนอยู่เพียง 3-4 คน จะให้สอนนักเรียนคิดวิเคราะห์เป็น เพื่อทำแบบทดสอบของ สทศ.ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ได้ ก็อาจเป็นเรื่องยาก

อีกทั้งแต่ละโรงเรียนก็มีการสอนเนื้อหาบางวิชาที่อาจแตกต่างกันตามความพร้อม อาทิ บางโรงเรียนสอนวรรณคดีเรื่องนี้ อีกโรงเรียนสอนวรรณคดีอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น แบบทดสอบของ สทศ.ก็ต้องออกมาให้คำนึงถึงบริบทต่างๆ นักเรียนทุกคนด้วย

ไม่ใช่ไปออกแบบทดสอบในลักษณะเชิงลึก หรือออกเกินเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของแต่ละตัวชี้วัดในรายวิชาต่างๆ จนแต่ละโรงเรียนของ สพฐ.ต้องไปตั้งงบประมาณจัดติวเพื่อให้ทำแบบทดสอบของ สทศ.ให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะมีผลต่อการโยกย้ายครูและผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงการพิจารณาให้ความดีความชอบ และเงินวิทยฐานะ

“ซึ่งเป็นเรื่องผิดเป้าหมายของการจัดตั้ง สทศ. และการมีแบบทดสอบโอเน็ต เพื่อต้องการนำผลทดสอบไปพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ สทศ.เองก็ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นด้วย ในการแนะนำสถานศึกษาให้นำผลการทดสอบไปใช้พัฒนาการเรียนการสอน พัฒนานักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียนได้อย่างไร” ดร.อดิศร กล่าว และว่า ประเด็นปัญหาเหล่านี้ทาง สทศ.จะต้องทำความเข้าใจกับนายณัฏฐพล ซึ่งตนเชื่อว่านายณัฏฐพลก็พร้อมจะให้การสนับสนุน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สทศ.กล่าวด้วยว่า หากปล่อยให้มีการจัดทดสอบโอเน็ตตามแบบทดสอบเดิมๆ ในแต่ละรายวิชา โดยไม่คำนึงถึงบริบทความพร้อมของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน ผลคะแนนที่ออกมาโดยเฉลี่ยก็จะยังคงต่ำกว่าเกณฑ์อย่างแน่นอน เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดความพร้อม

จะมีก็แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมจำนวนน้อยเท่านั้นที่สอบผ่าน ซึ่งก็จะสร้างความกดดันและกระแสต่อต้านของครูและผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ สทศ.ก็ต้องมีการทบทวน เพื่อนำไปบอกกล่าวและทำความเข้าใจกับทางผู้บริหาร ศธ.

ผู้สื่อข่าวถาม สำนักข่าว EdunewsSiam ว่า การที่นายณัฏฐพลและ สพฐ.มีนโยบายให้นักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ของสถานศึกษาในสังกัดเข้ารับการทดสอบตามความสมัครใจตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ซึ่งมีแนวโน้มว่า อาจจะไม่มีนักเรียนในสังกัด ศธ.มาสอบ ถือว่านโยบาดังกล่าวผิดกฎหมายอะไรหรือไม่

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สทศ.กล่าวว่า ประเด็นนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้เฉพาะในส่วนของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ที่กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อย ครั้งในทุก 5 ปี โดย สมศ. และต้องเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

แต่ไม่ได้บัญญัติในส่วนของ สทศ.ไว้ มีเพียงในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ที่ระบุไว้เพียงว่า ให้ สทศ.มีหน้าที่จัดทดสอบโอเน็ตเท่านั้น

ส่วนทาง ศธ. ที่ผ่านมาก็ออกเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมีนโยบายให้นักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 ทุกคนในสังกัด สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ต้องเข้ารับการทดสอบโอเน็ต

รวมทั้งให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ.ให้ความร่วมมือในการเป็นสนามสอบ ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ.ให้ความร่วมมือกับ สทศ.ในการเป็นกรรมการปฏิบัติงานการทดสอบโอเน็ต 

อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบโอเน็ต ก็มีความสำคัญอย่างมากที่นักเรียนทุกคนควรได้เข้าสอบ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะใช้คะแนนโอเน็ตระดับชั้น ป.6 และม.3. ในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ ไปเป็นตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องของการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน เป็นต้น

“แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทาง ศธ.ใช้เป็นเหตุผลไม่อยากให้มีการจัดทดสอบโอเน็ต เพราะนักเรียนอาจไม่พร้อมในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมองในทางกลับกัน ผลการสอบโอเน็ตในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ก็จะเป็นตัวชี้วัดเช่นกันว่า ต่อไปเราควรปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนแบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด” ดร.อดิศร กล่าว

ทางด้านสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก สพฐ. @obec.go.th เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการทดสอบ O-NET ชั้น ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2563 โดยระบุว่า

“ตาม 1.ประกาศ ศธ.เรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยนายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประกาศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 และ 2.หนังสือ สพฐ.ที่ 04004/26 เรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 กำชับตามประกาศ ศธ.ดังกล่าว

โดยให้นักเรียนระดับชั้น ป.6 และชั้น ม.3 ของสถานศึกษาในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถเข้าสอบ O-NET ตามความสมัครใจ โดยให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวโดยเฉพาะของนักเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

และ สพฐ.จะได้แจ้งรายละเอียดแนวทางการสอบ O-NET ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป

ซึ่งแนวทางการดำเนินงานต่อไปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลสอบ O-NET นั้น สพฐ.จะได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติต่อไป

เช่น การนำผลสอบ O-NET ไปใช้ในการรับนักเรียน, การย้ายของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา, การเลื่อนวิทยฐานะ, การเป็นตัวชี้วัดของ กพร., ตัวชี้วัดในแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ, ตัวชี้วัดของหน่วยงานต่างๆ, การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (TCAS)

และการกำหนดเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นต้น”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)