"อาชีวะ" รุกพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

เสวนากับบรรณาธิการ                                                         

"สอศ." จับมือสมาคม EVAT รุกขับเคลื่อนผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ  

เป็นเรื่องที่ดีแน่ ๆ เมื่อนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประธานการประชุมรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) ดร.นิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ สอศ. พร้อมด้วยผู้บริหารสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และผู้บริหารและคณะครูจากวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆ นี้

ต่างเห็นตรงกันว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดได้ว่า เทคโนโลยีของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ส่งผลต่อการเตรียมกำลังคนให้มีความพร้อมรอง

ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ตระหนักในเรื่องการยกระดับการพัฒนาและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา Zero Emission Vehicle (ZEV) ให้มีปริมาณเพียงพอและมีคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น เรื่องของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การประกอบยานยนต์ การบำรุงรักษา และการซ่อมบำรุงหลังการขาย รวมทั้งการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับระบบนิเวศ (Eco system) สำหรับของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อาทิ การผลิตมอเตอร์ ระบบควบคุม และแบตเตอรี่ เป็นต้น 

ประกอบกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เกิดการผลิตและสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ ไม่ว่าจะสนับสนุนการผลิต หรือมาตรการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ ล้วนบ่งบอกว่ากระทรวงศึกษาต้องเร่งสร้างและพัฒนาทักษะกำลังแรงงานอาชีวศึกษาให้ทันเทคโนโลยี เพื่อรองรับและตอบโจทย์การเป็นแรงงานอาชีวศึกษาคุณภาพสูงในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในอนาคต 

ดร.นิรุตต์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้รับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ และได้ขับเคลื่อนเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต  ซึ่ง สอศ.ได้มอบหมายให้เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวตามนโยบายของ น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ.

สำหรับการประชุมวันนั้น ที่ประชุมมีมติในการขับเคลื่อน 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ในการทำงานในระยะแรก ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 การสร้างการรับรู้ กับประชาชนเรื่องการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเด็นที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

ประเด็นที่ 3 การจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ประเด็นที่ 4 การจัดทำฐานข้อมูล Demand, Supply และรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่ 5 การพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจัดทำหลักสูตร  Re-Skill, Up-Skill และ New-Skill และประเด็นที่ 6 การจัดนิทรรศการเพื่อจัดแสดงและเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในงาน OVEC EV Expo ซึ่งจะจัดขึ้นเร็วๆ นี้

ภายใต้ธีมของการจัดงาน OVEC EV Expo ที่เน้นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่ผลิตภายในประเทศผ่านฝีมือของครูและนักศึกษาของอาชีวศึกษา เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ และการแพ็คแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า เป็นต้น 

 

ฟังเสียงจาก ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ อุปนายกสมาคมฝ่ายวิชาการ และ ดร.ธงชัย จินาพันธ์ ประธานคณะทำงานฝ่ายข้อบังคับและมาตรฐาน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวสรุปว่า ถือเป็นมิติที่ดีในการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องมุ่งเน้นผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีความสามารถในหลากหลายศาสตร์ (Multidisciplinary) 

ในเรื่องนี้เห็นว่า นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ตลอดเลขาธิการกอศ.ก่อนหน้านี้ ก็ได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกแห่งได้ คิดค้นและสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการพัฒนาในการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบ และให้เกิดการใช้ได้อย่างแท้จริง เพียงแต่สถานะการณ์ในขณะนั้น ยังไม่ถึงเวลาที่ถูกรุมเร้าจากวิกฤติพลังงานโลกให้เห็นชัดในปัจจุบันอย่างเช่นปัจจุบัน ที่ทำให้เราต้องเร่งเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ดีที่เราได้เตรียมตัวไว้แล้ว ดังนั้นก้าวต่อไปจึงเป็นเรื่องไม่ยาก

 

 

อย่างไรก็ตาม  โดยความร่วมมือในการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีร่วมกับภาคเอกชน เพื่อยกระดับในการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพสูง โดยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจากนักศึกษาของวิทยาลัยอาชีวศึกษา ไม่เพียงใช้งานได้จริงแต่ยังมีความหลากหลายให้เห็นทั่วไป เช่น รถสามล้อ eTuk Tuk ปากน้ำโพ,รถยนต์ไฟฟ้า Kotaka EV สำหรับคนพิการ และ รถไฟฟ้า KOTAKA SPORT EV ของวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ , รถยนต์ไฟฟ้า (โบราณ) ลดมลภาวะประหยัดพลังงาน ของวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย และรถไฟฟ้า คาเฟ่ ที่ดัดแปลงเป็นรถขายอาหารเคลื่อนที่ได้ของ วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง เป็นต้น ล้วนใช้งานได้จริง

โดยในปีที่ผ่านมาสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้พัฒนาส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนในประเภทต่างๆ กว่า 1,200 ผลงาน เกิดการพัฒนานักวิจัย 64 คน มีนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 3,645 คน และมีเครือข่ายชุมชน หน่วยงาน และกลุ่มต่างๆ จำนวน 785 แห่ง รวมถึงผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมฯ ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรจำนวน 49 ผลงาน โดยมีมูลค่ารวมของผลงานเบื้องต้นกว่า 80 ล้านบาท

เช่นกัน งานนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ไม่ได้ทำแต่เพียงลำพัง ยังได้ร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งความร่วมมือกับอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน และ (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้งาน อาชีพ และพัฒนาทักษะในอนาคต

ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่สามารถสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษา สะท้อนถึงคุณภาพของนักศึกษาที่มีความสามารถพัฒนาทักษะช่าง ทักษะวิศวกรรม และเป็นการสร้างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเองในประเทศ

"และในอนาคตการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างผลกระทบกับอีกหลายมิติผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อาชีวศึกษาจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)