“สุเทพ” ลั่นจัดแถวใหม่!วิทยาลัยอาชีวะ ปีการศึกษา 64 ท่ามกลางเสียงต้านอื้อ

“สุเทพ” ลั่นจัดแถวใหม่!วิทยาลัยอาชีวะทั่ว ปท.รับปีการศึกษา 2564 ทั้ง วษท.-วช.-วท.-วอศ.ท่ามกลางข้อท้วงติง-เสียงต้านอื้อ

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) มอบนโยบายการปฏิบัติราชการ และการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แก่ผู้บริหารและบุคลากรวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ

ในการถ่ายทอดสด ณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา กทม. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564

โดยนายสุเทพได้กล่าวถึงการปรับบริบทของวิทยาลัยในสังกัด สอศ. ปีการศึกษา 2564 ในกลุ่มของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) และวิทยาลัยประมง และวิทยาลัยสารพัดช่าง (วช.)

ในส่วนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงนั้น จะต้องกลับมาเน้นเปิดสอนเฉพาะในสาขาเกษตร และประมงอย่างเข้มข้น ตามที่ทางวิทยาลัยมีความถนัดอยู่เดิมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสาขาเกษตร พืช สัตว์ ประมง

ส่วนสาขานอกภาคเกษตร พืช สัตว์ ประมง ให้ปรับลดลง โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ให้งดรับนักศึกษาใหม่สาขานอกภาคเกษตร พืช สัตว์ ประมง ทั้งระดับ ปวช.1 และ ปวส.1 โดย สอศ.จะสนับสนุนงบประมาณชดเชยในส่วนสาขานอกภาคเกษตรฯที่ถูกปรับลดนักศึกษาลงไป เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการบริหารจัดการ

ถ้ากลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง ต้องการเปิดช่างยนต์ ก็ต้องเป็นสาขาช่างยนต์เกษตร หรือถ้าต้องการเปิดสอนทางธุรกิจ จะต้องเป็นสาขาธุรกิจทางการเกษตร หรือต้องการเปิดสอนด้านอาหาร ก็ต้องเป็นสาขาอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น โดยให้สาขาที่เปิดสอนสอดคล้องกับกลุ่มสถานศึกษาของตนเอง

นอกจากนี้ สอศ.กำหนดว่า ในวิทยาลัยเกษตรฯ 1 สถานศึกษา ต้องมี 1 งานฟาร์มเด่น เพื่อเป็นฐานในการเรียนการสอน ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนด้วย ซึ่ง สอศ.ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการ โดยโอนงบฯงวดแรกไปให้แล้ว

ให้วิทยาลัยเกษตรฯขยายและยกระดับการจัดการศึกษาในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) ให้มากขึ้น เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพทางการเกษตร ดังนั้น โครงการนี้จะเป็นฐานที่จะทำให้มีผู้เรียนในสาขาเกษตรเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

รวมทั้งให้วิทยาลัยเกษตรฯปรับปรุงหลักสูตรเกษตรระยะสั้นให้มีความทันสมัย และตอบโจทย์เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะให้สอดคล้องกับการเกษตรปัจจุบันที่ใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลผลิตจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุน

สำหรับวิทยาลัยสารพัดช่าง (วช.) จะมีการปรับบริบทเช่นกัน โดยแต่เดิมเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง วช. ก็เพื่อจัดการศึกษาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน ดังนั้น ในปีการศึกษา 2564 จะมีการปรับบริบทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

โดยกลุ่มแรก วช.ที่มีนักศึกษาต่ำกว่า 750 คน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 แห่ง จะต้องกลับไปปฏิบัติงานตามเจตนารมณ์การก่อตั้ง วช. คือจัดการศึกษาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน ผู้พิการ ที่ต้องการมีอาชีพหลักใหม่ๆ หรืออาชีพเสริม รวมทั้งจัดทำหลักสูตรวิชาชีพพรีเมียม

พัฒนาให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ตลอดจนเป็นศูนย์เทียบโอนหน่วยกิตและจัดการศึกษานอกระบบให้กับประชาชน ทั้งหลักสูตร ปวช. และ ปวส.นอกระบบ

วช.กลุ่มที่สอง คือกลุ่มวิทยาลัยสารพัดช่างที่มีนักศึกษาตั้งแต่ 750 คนขึ้นไป ยังคงให้จัดการศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส.ต่อไปได้ เพื่อรองรับปริมาณผู้เรียนในแต่ละจังหวัดไม่ให้ได้รับผลกระทบ จากการที่ สอศ.มีนโยบายให้วิทยาลัยต่างๆ ในจังหวัดเลิกจัดการศึกษาบางสาขา

แต่ทั้งนี้ วช.กลุ่มที่สองจะต้องปรับบริบทของแต่ละแห่ง จะต้องไม่ใช่วิทยาลัยสารพัดช่างอีกต่อไป โดยให้เปลี่ยนบริบทสถานศึกษาเป็นวิทยาลัยเทคนิค (วท.) วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) หรือวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ ตามความถนัดและความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา

เช่น วิทยาลัยสารพัดช่างใดที่มีความถนัดทางสาขาช่างอุตสาหกรรม ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นวิทยาลัยเทคนิคหรือวิทยาลัยการอาชีพ หรือถ้ามีความถนัดทางด้านพาณิชย์ คหกรรม ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา หรือมีความถนัดกึ่งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ

วช.กลุ่มที่สาม คือวิทยาลัยสารพันช่างที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนบริบทไปเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อรองรับผู้เรียนในสาขาทางด้านพาณิชยกรรม คหกรรม

จากเดิมที่ผ่านมาในจังหวัดที่ไม่มี วอศ. จะให้วิทยาลัยเทคนิค (วท.) ในจังหวัดนั้นๆ ทำภารกิจของ วอศ.แทน แต่เมื่อวิทยาลัยสารพัดช่างกลุ่มนี้ได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาตามนโยบายนี้แล้ว ก็จะให้วิทยาลัยเทคนิคได้คลายสาขาทางด้านพาณิชยกรรม คหกรรมมาให้ วช.ที่ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น วอศ.ดังกล่าว ขณะเดียวกัน วิทยาลัยเทคนิคเองก็จะได้ปฏิบัติการสอนอย่างเต็มที่ในสาขาที่ตนเองถนัด คือทางด้านอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ต่อไป สอศ.จะมีการลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า วิทยาลัยสารพัดช่างแห่งไหนเหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยนบริบทไปเป็นวิทยาลัยใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม วช.ที่จะปรับเปลี่ยนไปเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากในจังหวัดนั้นๆ ไม่มี วอศ.ตั้งอยู่ เบื้องต้นขณะนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ 7 แห่ง ประกอบด้วย วช.กาฬสินธุ์, วช.ชัยภูมิ, วช.บุรีรัมย์, วช.สกลนคร, วช.ปราจีนบุรี, วช.ระยอง และ วช.พิจิตร 

ส่วนกรณี วช.นราธิวาส แม้ในจังหวัดจะไม่มี วอศ.ตั้งอยู่ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาสถูกควบรวมไปจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนราธิวาส ดังนั้น อาจปรับเปลี่ยน วช.นราธิวาสไปเป็นวิทยาลัยเทคนิค แต่อย่างไรก็ตาม จะหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับวิทยาลัยสารพัดช่างที่มีแนวโน้มจะไม่ปรับเปลี่ยนไปเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยเทคนิคหรือวิทยาลัยการอาชีพ หรือวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ ที่สอดคล้องกับบริบทความถนัดและความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา

ทั้งนี้ เนื่องจากในจังหวัดนั้นๆ มี วอศ.ตั้งอยู่แล้ว และมีปริมาณนักศึกษาเรียนอยู่จำนวนมาก ประกอบด้วย วช.กาญจนบุรี, วช.นครราชสีมา, วช.มหาสารคาม, วช.อุบลราชธานี, วช.นครหลวง, วช.ชุมพร และ วช.สงขลา

ในกรณีของวิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ซึ่งตั้งอยู่ต่างอำเภออยู่แล้ว และอยู่คนละเขตบริการกับวิทยาลัยสังกัด สอศ.ที่อยู่ในตัวอำเภอเมือง ยังคงให้ปฏิบัติภารกิจเช่นเดิม โดยเปิดสอนได้ทุกสาขาตามผลการสำรวจความต้องการของผู้เรียน เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์การจัดตั้งเพื่อให้โอกาสคนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าเรียนสายวิชาชีพ

นายสุเทพกล่าวด้วยว่า ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ต่างๆ จะต้องเป็นกลไกในการเกลี่ยผู้เรียนในกรณีที่มี วช.และ วษท.ในพื้นที่ ปรับบทบาทภารกิจและการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว เพื่อให้วิทยาลัยอื่นๆ รองรับนักศึกษาแทน

เช่น วช.ไม่เปิดรับนักศึกษาสาขาช่างยนต์ ชั้น ปวช.1 ก็ให้วิทยาลัยเทคนิคที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงขยายห้องเรียนเปิดรับนักศึกษาเพิ่มเติม เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอให้ ประธาน อศจ.ได้วิเคราะห์ภารกิจการจัดการศึกษาวิชาชีพภายในจังหวัดร่วมกับผู้บริหารวิทยาลัยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมือง เพื่อลดความซ้ำซ้อน

“โดยสาขาที่เปิดซ้ำซ้อนกันในหลายสถานศึกษา ซึ่งอยู่ในเขตบริการเดียวกัน ให้พิจารณาดำเนินการเพียงแห่งเดียว และในสาขาที่มีผู้เรียนน้อยให้ยุบห้องเรียน หรือจัดการสอนในสาขานั้นเพียงแห่งเดียว” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

อย่างไรก็ตาม นโยบายการปรับบริบทของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2564 ของนายสุเทพ เลขาธิการ กอศ.ดังกล่าว เริ่มมีการเคลื่อนไหวและกระแสคัดค้านจากครูอาจารย์อาชีวะ รวมทั้งศิษย์เก่าของแต่ละวิทยาลัยกันบ้างแล้ว

อาทิ มีการชูป้าย #SAVEวิทยาลัยสารพัดช่าง, #จะเล็กจะน้อยนี่คือบ้านที่เรารัก

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว EdunewsSiam ได้เผยแพร่ข่าว นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายการปรับบริบทของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ทั่วประเทศดังกล่าว

โดย ค.ร.อ.ท.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลเสียหายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การให้สถานศึกษากลุ่มวิทยาลัยสารพัดช่างงดรับนักศึกษา ปวช.และ ปวส. และกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี งดรับสาขาวิชาทางบริหารธุรกิจ จะเกิดประเด็นว่าครูที่สอนวิชาชีพเหล่านั้น จะมีคาบสอนพอที่จะประเมินการพิจารณาเงินเดือนหรือไม่

หรือมีแผนที่จะให้ครูที่สอนวิชาชีพเหล่านั้นย้ายไปที่ไหน และวิทยาลัยที่ย้ายไปจะกระทบต่อคาบสอนและสิทธิของคนที่อยู่เดิม จะกระทบต่อพนักงานราชการหรือครูพิเศษสอนอยู่เดิมหรือไม่ 

เมื่อเลขาธิการ กอศ.มีนโยบายที่จะไม่ให้สถานศึกษาในจังหวัดเปิดสาขาที่ซ้ำซ้อน เช่น วิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เป็นที่นิยมเปิดสอนสาขานั้น ถ้าไม่ให้ที่อื่นเปิดรับหรือแย่งเด็กตามที่ท่านให้สัมภาษณ์ ปัญหาว่าเด็กที่ต้องการเรียนจะมีสถานที่และห้องเรียน เพียงพอหรือไม่ หรือจะจำกัดจำนวนผู้เรียน แล้วถ้าเด็กอยากเรียนจะให้ไปเรียนที่ไหน ฯลฯ

เลขาธิการ กอศ.เตรียมแผนการรองรับเรื่องเหล่านี้อย่างไร”

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในลิ้งค์หัวข้อข่าว “เครือข่ายอาชีวะออกแถลงการณ์จี้ถามนโยบาย "สุเทพ" อาจส่อมิชอบ-ราชการเสียหาย” https://www.edunewssiam.com/th/articles/213268)

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)