เครือข่ายอาชีวะออกแถลงการณ์จี้ถามนโยบาย "สุเทพ" อาจส่อมิชอบ-ราชการเสียหาย

เครือข่ายคนรักษ์อาชีวะออกแถลงการณ์จี้ถามนโยบาย “สุเทพ” 5 ข้อใหญ่ อาจส่อปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-ราชการเสียหายร้ายแรง

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีการให้ข่าวของนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เมื่อเร็วๆ นี้

โดยระบุว่า ในปีการศึกษา 2564 จะเน้นให้เป็นปีแห่งคุณภาพทางการศึกษาด้านวิชาชีพ และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อความเป็นเลิศ หรือ Excellenter รวมไปถึงการรื้อหลักสูตรที่ล้าสมัยไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน

และจะมอบหมายให้ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) พิจารณาให้การจัดการเรียนการสอนในจังหวัด โดยวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะต้องไม่มีการเปิดสาขาวิชาที่ซ้ำซ้อน และแข่งขันกันเองในจังหวัด

พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า หากพบสาขาใดไม่มีผู้เรียนอาจจะต้องปิด และต่อจากนี้ สอศ.จะจัดสรรงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการโดยไม่ต้องคำนึงถึงรายหัวผู้เรียน

ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพ ฟังเพลินๆ อาจดูดี แต่เมื่อเจาะลึกลงไปแล้วเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เมื่อมีปมประเด็นที่จะต้องจัดการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว

ดังนั้น เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) จึงออกแถลงการณ์เรียนถามเลขาธิการ กอศ. เพื่อความชัดเจนต่อข้อกังขาและสร้างความเข้าใจในหมู่บุคลากรอาชีวศึกษาและประชาชนในปมประเด็นสงสัยดังต่อไปนี้

1.ทราบว่าเลขาธิการ กอศ.นำแนวคิดนโยบายนี้มาจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่จังหวัดภูเก็ต นำมากำหนดแนวทางเพื่อสนองนโยบายนายณัฏฐพลใช่หรือไม่

ที่สำคัญท่านเลขาธิการ กอศ.ไม่ได้บริหารงานให้เป็นไปตามหลักการการกำหนดนโยบายการบริหารอาชีวศึกษาทุกหลักสูตร ตั้งแต่หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ระดับปวช. ระดับปวส. และระดับ ป.ตรี ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ บอร์ด กอศ. ตามนัยมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546

ฉะนั้น การที่เลขาธิการ กอศ.มากำหนดนโยบายดังกล่าวด้วยตนเอง ค.ร.อ.ท.เห็นว่า เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ และมีผลกระทบต่อการจัดการอาชีวศึกษาทุกระดับอย่างใหญ่หลวง พฤติกรรมอาจส่อไปในทางปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

2.การที่เลขาธิการ กอศ.ได้นำเสนอในประเด็นที่ว่า จะมอบให้ประธานอาชีวศึกษา (อศจ.) ไปหารือร่วมกันในจังหวัดของตนเอง โดยในแต่ละจังหวัดไปกำหนดการจัดการเรียนการสอนแต่ละวิทยาลัยก็ให้จัดการสอนด้านนั้นๆ โดยวิทยาลัยจะต้องไม่มีการเปิดสาขาวิชาที่ซ้ำซ้อนและแข่งขันกันอง

ฟังแล้วดูดี แต่มีคำถามว่าเลขาธิการ กอศ.มีแผนหรือยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้มีการกำหนดระยะเวลาอย่างไร และที่สำคัญมีแผนบริหารกำลังคนด้านผู้สอนที่มีอยู่เดิม เลขาธิการ กอศ.จะบริหารจัดการอย่างไร ก่อนที่จะนำมากำหนดเป็นแนวปฏิบัติ

เลขาธิการ กอศ.รู้หรือไม่ว่า ณ วันที่ท่านให้ข่าวถึงวันนี้ว่า ได้สร้างความวิตกกังวลกับบุคลากร กับผู้เรียน และผู้ปกครองในภาพรวมมากมายขนาดไหน เลขาธิการ กอศ.จะเยียวยาบุคคลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างไร จึงมีคำถามดังนี้

2.1 ประธานอาชีวศึกษา (อศจ.) มีการแต่งตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามระเบียบบริหารกระทรวง ตามที่เลขาธิการ กอศ.ได้กล่าวอ้างถึงอำนาจในการแต่งตั้ง และใน พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 มีมาตราใดที่กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ในการการบริหารราชการ แม้แต่การแต่งตั้งประธาน อศจ.ที่ 1793/2563 ลว. 17 ธ.ค.2563 ยังไม่มีอำนาจหน้าที่ให้ประธาน อศจ.ได้ปฏิบัติแต่อย่างใด

2.2 การแต่งตั้งประธานอาชีวศึกษาจังหวัด ให้ทำหน้าที่หรือมีอำนาจบริหารการอาชีวศึกษาระดับจังหวัด ไม่ได้มีระบุไว้ในโครงสร้างการบริหารราชการ สอศ. และไม่มีระเบียบกฎหมายด้านบริหารรองรับ

ค.ร.อ.ท.จึงเห็นว่าไม่มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งราชการตามอำนาจหน้าที่ภายในอาชีวศึกษาจังหวัดแต่อย่างใด

2.3 การที่เลขาธิการ กอศ.จะให้ยุบบางสาขาวิชาที่ท่านว่าล้าสมัย ท่านเคยมีการกำหนดให้วิทยาลัยมีการพัฒนาสาขาวิชานั้นๆ ให้ทันสมัยแล้วหรือยัง และมีสาขาไหนบ้างที่เปิดอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ที่ล้าสมัย เมื่อนักศึกษาเรียนจบและไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ มีการศึกษาวิจัยหรือไม่

ค.ร.อ.ท.จึงเห็นว่า เป็นวิธีการบริหารที่ไม่ถูกต้อง อาจเกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง

2.4 เมื่อมีการที่จะยุบสาขาที่ล้าสมัยหรือไม่เป็นที่นิยม ท่านมีแผนพัฒนาครูอาจารย์สาขานั้นให้เปลี่ยนแปลงพร้อมรับการยุบสาขาวิชาที่สอน เพื่อเปิดสอนสาขาใหม่ต่อไปอย่างไร

2.5 ถ้ามีการยุบสาขาวิชา อาจทำให้ครูอาจารย์ที่สอนสาขานั้นๆ ไม่มีคาบสอน ย่อมกระทบต่อการทำวิทยฐานะ หรือกระทบต่อผลตอบแทนตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แต่ละเดือนในการดำรงชีพ หรือถ้ามีการย้ายไปที่สถานศึกษาแห่งใหม่ ย่อมกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตและการดำรงชีพ

2.6 ณ วันนี้ทราบว่า ในปีการศึกษา 2564 เลขาธิการ กอศ.ได้สั่งการให้สถานศึกษากลุ่มวิทยาลัยสารพัดช่างงดรับนักศึกษา ปวช.และ ปวส. และกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี งดรับสาขาวิชาทางบริหารธุรกิจ จึงเกิดประเด็นว่า

2.6.1 ครูที่สอนวิชาชีพเหล่านั้น จะมีคาบสอนพอที่จะประเมินการพิจารณาเงินเดือนหรือไม่ หรือมีแผนที่จะให้ครูที่สอนวิชาชีพเหล่านั้นย้ายไปที่ไหน และวิทยาลัยที่ย้ายไปจะกระทบต่อคาบสอนและสิทธิของคนที่อยู่เดิม จะกระทบต่อพนักงานราชการหรือครูพิเศษสอนอยู่เดิมหรือไม่ 

เลขาธิการ กอศ.เตรียมแผนการรองรับนี้อย่างไร สร้างความเข้าใจกับบุคลากรอย่างไร และนโยบายนี้นี้เลขาธิการ กอศ.จะเริ่มทันที หรือจะให้เห็นผลในปีการศึกษาใด

เมื่อเลขาธิการ กอศ.มีนโยบายที่จะไม่ให้สถานศึกษาในจังหวัดเปิดสาขาที่ซ้ำซ้อน เช่น วิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เป็นที่นิยมที่เปิดสอนสาขานั้น ถ้าไม่ให้ที่อื่นเปิดรับหรือแย่งเด็กตามที่ท่านให้สัมภาษณ์ ปัญหาว่าเด็กที่ต้องการเรียนจะมีสถานที่และห้องเรียน เพียงพอหรือไม่ หรือจะจำกัดจำนวนผู้เรียน แล้วถ้าเด็กอยากเรียนจะให้ไปเรียนที่ไหน ฯลฯ

3. เลขาธิการ กอศ.ไม่ได้พูดถึงหรือมอบนโยบายการบริหารหรือพัฒนาสถาบันอาชีวะต่างๆ อย่างไร เช่น การบริหารงบประมาณ ทำอย่างไรสถาบันจะขอตั้งงบประมาณได้ด้วยตนเอง

และประเด็นสำคัญคือ เมื่อไรจะมีการออกกฎกระทรวงหรือมอบอำนาจการบริหารให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 มาตรา 10(1) ท่านมีแนวทางการบริหารงานบุคลากรที่อยู่ในสังกัดสถาบันอย่างไร มีความต่างในการบริหารอย่างไรกับบุคลากรที่อยู่นอกสถาบัน มีความเท่าเทียมหรือต่างกันอย่างไร

นี่คือปมปัญหาที่บุคลากรต้องการความชัดเจน

4. สิ่งที่เลขาธิการ กอศ.นำเสนอสื่อมวลชนหลายประเด็น เป็นเรื่องที่ดี ค.ร.อ.ท.เห็นดีด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาและปรับรูปแบบการบริหารงานที่มุ่งสู่คุณภาพของอาชีวศึกษา เพื่อเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ

แต่ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน ระยะเวลาการดำเนินการ และที่สำคัญควรมีการนำความคิดที่หลากหลาย และควรมีการศึกษาเปรียบเทียบข้อดีขอเสียก่อนที่จะนำมาปฏิบัติ

5. ค.ร.อ.ท.มีแนวทางที่จะเสนอคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ บอร์ด กอศ. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารอาชีวศึกษา เพื่อความเป็นเอกภาพทางการจัดการอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานเดียวกันในภาพรวมของกลุ่มจังหวัด ตามแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล  

เห็นควรให้สถานศึกษาของอาชีวศึกษา (ของรัฐ) ทุกแห่งเข้าอยู่ในสถาบันฯ เพื่อประโยชน์และแนวทางการบริหารที่เป็นเอกภาพ ซึ่งแต่ละแห่งควรที่จะได้มีการบริหารจัดการในทุกๆ ด้านดังนี้

5.1 การจัดการโดยคนในพื้นที่ย่อมรู้ปัญหาดีกว่าการสั่งการหรือแก้ปัญหาจากส่วนกลาง

5.2 ให้สถาบันฯบริหารจัดการสถานศึกษาแต่ละประเภท โดยมีคณะกรรมการสภาสถาบันฯกำกับนโยบาย (ให้มีการแก้ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

5.3 สามารถแก้ปัญหาบุคลากรได้ในทุกๆ ด้าน เช่น การโยกย้ายบุคลากรระหว่างสถานศึกษา การพิจารณาสิทธิอันพึงมีพึ่งได้ และสร้างความเท่าเทียมความเสมอภาคของบุคลากรในสถาบันฯได้โดยง่าย

5.4 ลดการวิ่งเต้น และแก้ปัญหาการสร้างอำนาจจากส่วนกลางที่เป็นแหล่งสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมคนอาชีวศึกษามาอย่างยาวนาน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในอาชีวศึกษา

จากข้อเสนอดังกล่าว เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ในฐานะภาคประชาชน ไม่มีเจตนามุ่งร้ายหรือใส่ความเลขาธิการ กอศ.ต่อการอาชีวศึกษาแต่อย่างใด

เพียงแต่มีความคิดความเห็นที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีๆ กับคนอาชีวศึกษา กับผู้เรียนและสังคม เพื่อให้อาชีวศึกษามีหลักธรรมาภิบาล การออกนโยบายต่างๆ ควรที่จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ บอร์ด กอศ. ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพก่อน น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

และเห็นควรเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาในการจัดตั้งนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่ง ซึ่งหมดวาระมาร่วม 3 ปี แต่ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งเป็นจุดบอดอีกจุดหนึ่งของการอาชีวศึกษา

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)