สอศ.จับมือ สสส.ผลักดันอาชีวะป้องกัน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษา

 

สอศ.จับมือ สสส.ผลักดันอาชีวะป้องกัน"

ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษา

 

โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่ ) ในสถานศึกษามาตั้งแต่ปี 2563 โดย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 25 แห่ง ในสังก้ดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

 

 

ปัจจุบันกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 ได้รับความร่วมมือจากสอศ. ขยายไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษา 45 แห่งทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นต้นเหตุไปยังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่นติดเหล้า - ยาเสพติด – อุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นต้นเหตุไปยังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ  

 

ทั้งนี้ สสส. จะทำหน้าที่ในการเชื่อม สาน และเสริมพลัง ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชน รวมถึงสนับสนุนผู้เรียนอาชีวศึกษา รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีภูมิคุ้มกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

 

 

ขณะที่ สอศ. ได้เข้าร่วมเป็นแรงผลักดันให้การดำเนินงานด้านการป้องกันปัจจัยเสี่ยง โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษานำร่อง จำนวน 45 แห่ง กับ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในพื้นที่ จะพัฒนาและขยายผลการดำเนินโครงการฯ การสร้างสื่อรณรงค์ป้องกันเสี่ยงดังกล่าวสู่สถานศึกษาทุกแห่ง สู่ชุมชนและสาธารณชน ร่วมติดตามและประเมินผล ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่องแน่นอน

 

เมื่อเจตนารมณ์แห่งจุดหมายตรงกัน จึงได้เห็นภาพใหญ่อีกครั้งปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เลขาธิการกอศ.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา มอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการกอศ. ประชุมกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และลงนามความร่วมมือพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพฯ  

 

 

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ กล่าวด้วยความยินดีว่า สอศ.มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งในการเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะสูง นอกจากต้องประกอบไปด้วยการเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและทักษะวิชาชีพ ต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี โดยการจัดการเรียนการสอนของ สอศ. ตระหนักถึงสุขภาพกายใจหรือความสุขและความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ ขณะนี้ได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สอศ. ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน รวมทั้งการเสริมสร้างอาชีวะปลอดภัย (Safety)  เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถานศึกษาแห่งความสุข เช่นกัน

 

อีกทั้งยังมีการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ รวมถึงรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพให้ผู้เรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ให้มากที่สุด

 

ดังนั้นการที่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม สนับสนุนผู้เรียนอาชีวศึกษา รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีภูมิคุ้มกันในการป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์โดยรวม

 

 

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  สสส. ร่วมกับมูลนิธิหยุดพนัน ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่ ) ในสถานศึกษามาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 ขยายไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษา 45 แห่งทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และอุบัติเหตุ

 

รวมถึงจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษา จะเป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ส่งผลต่อผู้เรียนในหลายด้าน ทั้งมีผลการเรียนดีขึ้น มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

ซึ่งการจะลดความเสี่ยง หรือ ป้องกันความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยทุกๆคน และทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เยาวชนไทยต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน ด้วยว่า 

 

..เยาวชนไทยกำลังเผชิญกับความสูญเสียจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ตั้งแต่ปี 2554-2564 กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 20-24 ปี เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง 4-5 เท่า ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับ ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และไม่สวมหมวกนิรภัย

 

ขณะที่สถิติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2564 พบกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี มากถึง 84.1% ส่วนสถิติบุรี่ยังน่าเป็นห่วงเยาวชนไทยหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด 30.5% จากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 78,742 ราย"

 

ขยายความอีกว่า ปัจจุบันผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่เรียนกว่าบุหรี่ไฟฟ้า gen 5 หรือ toy pod ใช้ตัวการ์ตูนชื่อดัง ทำให้ดูน่ารัก น่าลอง มีกลิ่นหอม

 

ที่สำคัญประชาชนมีความเชื่อผิด ๆ ว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย สสส. และภาคีเครือข่ายพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย มีสารนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีผลทำลายสมองของเด็กและเยาวชน ที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินมากขึ้น และมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปอด ทำให้เกิด "โรคปอดข้าวโพดคั่ว" (Popcorn Lung) ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

 

นอกจากนี้ในโอกาสเดียวกัน ได้มีการพูดคุยเพิ่มเติมกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะที่เป็นตัวแทนจากสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียน วิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การสานพลังที่ดีในอนาคตอีกด้วย

 

 

โดยเริ่มจากท่านแรก นายศุภลักษณ์ ปอนเกษม รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น ได้กล่าวไว้ว่า “วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น เป็นวิทยาลัยผู้หญิง จะมีปัญหาอยู่บ้าง คือ เรื่องของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตัวนักศึกษาบางคนในกลุ่มมีความอยากลอง เพราะโฆษณาชวนเชื่อที่ให้ข้อมูลว่า “บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีพิษ” ซึ่งทางวิทยาลัยหากพบหรือทราบก็จะเรียกตัวมาพบตักเตือน ให้คำแนะนำที่ถูกต้องโดยไม่ใช้อารมณ์

 

“ปัจจุบันทางวิทยาลัยได้ร่วมมือกับสาธารณสุข ทำข้อตกลงและให้ความรู้ภายในวิทยาลัย พร้อมมีการขับเคลื่อนกลุ่มงานยาเสพติดร่วมกับหน่วยงานอื่น กรณีที่ตรวจพบซ้ำจะเชิญผู้ปกครองเข้าพบ ขอให้นักศึกษาเข้ารับการบำบัดกับโรงพยาบาลขอนแก่น นอกจากนี้ยังการให้อาจารย์หรือกลุ่มเพื่อนเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาและทางออก ซึ่งโดยภาพรวมในการดำเนินการปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการรณรงค์ดังกล่าว การได้ร่วมโครงการกับ สสส.ตนเองมั่นใจว่า วิธีการหรือกิจกรรมที่นำมาใช้ช่วยเด็กได้แน่นอน”

 

 

นายชาตรี คงแป้น รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า “.... วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตนั้น แทบไม่พบปัญหาเกี่ยวกับบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์เลย เพราะใช้วัฒนธรรมองค์กร “อาชีวะเป็นหนึ่ง” ในการดำเนินการเชิงป้องกันทุกวิถีทางในการสร้างความเข้าใจ รวมไปถึงการรณรงค์ตั้งแต่ภายในห้องเรียน แม้กระทั่งครู อาจารย์ ตลอดบุคลากรต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดภาพที่ไม่ดีภายในวิทยาลัย โดยมีครูที่ปรึกษา คอยติดตามป้องปราม และผลประเมินถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น”

 

นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยยังมีการดูแลนักศึกษาถึงบ้าน เก็บประวัติ รวมถึงปัญหาเฉพาะรายบุคคลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ตามแต่กรณีไป ซึ่งนโยบายอาชีวะเป็นหนึ่ง จะต้องถูกใช้กันแบบรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้รุ่นน้องได้ซึมซับวัฒนธรรมที่ดีจากนโยบายอาชีวะเป็นหนึ่งต่อไป

 

 

นายยุทธการ ตั้งปัญญาศักดิ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย กล่าวว่า “...ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดภายในวิทยาลัย เป็นเรื่องบุหรี่ โดยมีวิธีแก้ไขปัญหาโดยการรณรงค์ถึงโทษของบุหรี่ ซึ่งทำเป็นประจำอยู่แล้ว และทางวิทยาลัยเองก็จะสนับสนุนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างไปกับการเล่นกีฬา และออกกำลังกาย มากกว่าการใช้เวลาไปกับการสูบบุหรี่”

 

“พบว่า ผลจากการดำเนินดังกล่าว เป็นที่น่าพึงพอใจ คือ มีการสูบบุหรี่ลดน้อยลง โดยสังเกตได้จากแหล่งสูบบุหรี่ของนักศึกษามักจะใช้ภายในห้องน้ำวิทยาลัย ที่เคยมีก้นกรองบุหรี่ทิ้งอยู่เยอะมากก็ลดน้อยลง และนอกจากนี้ยังมีการต่อยอดด้วยการเดินหน้ารณรงค์เพื่อแสดงออกกับชุมชนว่า ทางวิทยาลัยเริ่มดำเนินการลดการสูบบุหรี่ในสถานศึกษาแล้ว และรณรงค์ให้ชุมชนลดการสูบบุหรี่ตามสถานศึกษาด้วย” นายยุทธการ กล่าว

 

 

และสุดท้าย กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี นายชิตคุณ ศุภกุล รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ให้สัมภาษณ์ว่า...

 

ในส่วนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ปัญหาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยมาก เพราะเป็นพื้นที่ของผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัญหาใหญ่จริง ๆ จะเป็นปัญหาเรื่องของการขับขี่ให้ปลอดภัยมากกว่า โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุจากการขับขี่จักรยานยนต์จากบุคคลอื่นข้างนอก ซึ่งเราจะมีการรณรงค์ในการขับขี่ปลอดภัยโดยความร่วมมือกับกรมขนส่งทางบก ในเข้ามาเป็นวิทยากรบรรยายด้านการขับขี่ปลอดภัยในทุกมิติ ทั้งการรณรงค์สวมหมวกกันน็อค ด้านกฎหมาย กฎจราจร อาทิ การขับขี่ย้อนศร และการฝ่าไฟแดงอีกด้วย มีคลิปวีดีโอให้เห็น ซึ่งนักศึกษาให้ความสนใจมากขึ้น 

 

ซึ่งในการดำเนินนโยบายของปี 2566 นี้ นายชิตคุณ ได้เปิดเผยตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนของนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ว่า ยังเป็น 0 อีกด้วย

 

“ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยจะดำเนินการต่อยอดนโยบายเพิ่มเติม ด้วยการจัดกิจกรรมอบรม และรณรงค์ด้านการขับขี่ทุกปี รวมทั้งจะร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการขับขี่ให้มากขึ้นต่อไป” รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี กล่าว

 

สสส. และ สอศ. มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการสร้างพื้นฐานสุขภาวะที่ดีในวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ด้วยการแนะแนวทางให้ดำเนินชีวิตในเส้นทางที่ถูกที่ควร เพื่อจักได้แข็งแรงเติบโตเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างอนาคตที่แข็งแกร่ง และเป็นแรงงานกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage