เลขาฯอาชีวะปลื้มผลงาน "เฉิดฉาย" น.ศ.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง

ดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อผลิตบุคลากรด้านช่างทองหลวงและช่างทองโบราณ เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ ซ่อม สร้างและสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย  

โดยรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เป็นแบบฐานสมรรถนะ เน้นรูปแบบความร่วมมือกับหน่วยงาน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพระราชวัง สมาคมช่างทองไทย และสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากช่างฝีมือและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ 

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ได้จัดงาน “สร้างสรรค์ศิลปกรรม สวยเลิศล้ำงานช่างทอง ครั้งที่ 6” (The 6th RG Art Thesis & Special Project Exhibition 2020) ภายใต้แนวคิด "เฉิดฉาย" ณ เวทีลานกิจกรรมชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา ศาลายา อ.สามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมอบหมายให้นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงาน 

ภายในงานได้มีการจัดแสดงและการเดินแบบแฟชั่นชุดเครื่องประดับผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 19 ชุด และการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาระดับชั้น ปวช.และ ปวส.ในสาขางานช่างทองหลวง และสาขาเครื่องประดับอัญมณี 

แต่ละผลงานแสดงถึงความรู้ความสามารถและศักยภาพของนักเรียนนักศึกษา อย่างเช่น ผลงานเครื่องประดับ “ชุดกล้วยไม้ไทย ศิวิไลบนเครื่องประดับ” ของทีมนักศึกษาระดับชั้น ปวช.3 สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นางสาวศิริลักษณ์ อร่ามเรือง, นางสาวนพเก้า เสียงไพเราะ และนางสาววัทนวิภา หัสดี

แป้ง” นางสาวศิริลักษณ์ อร่ามเรือง นักศึกษาระดับชั้น ปวช.3 สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เล่าว่า ที่เลือกมาเรียนที่กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เพราะชื่นชอบในงานเครื่องประดับสมัยใหม่และสนใจอยากเรียนรู้การทำเครื่องประดับรูปแบบใหม่ๆ และไม่ซ้ำใคร อยากทำเครื่องประดับในแบบของตัวเราเอง และอยากนำความรู้ที่ได้เรียนไปต่อยอดสร้างอาชีพ

“เก้า” นางสาวนพเก้า เสียงไพเราะ นักศึกษาระดับชั้น ปวช.3 สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เล่าถึงแนวคิดในการจัดทำเครื่องประดับ “ชุดกล้วยไม้ไทยศิวิไลบนเครื่องประดับ” ว่า จังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในไทย โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซีส มีการปลูกเลี้ยงกันในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีผู้สนใจมากนัก เนื่องจากดอกมีขนาดเล็ก 

แต่ปัจจุบันกล้วยไม้สกุลนี้กำลังเป็นที่สนใจของผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วไป ทั้งนี้ ก็เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ได้ถูกปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด จนทำให้สวยงามทั้งรูปทรงดอกและสีของดอก ดอกกลมใหญ่ กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง ก้านช่อยาว เหมาะสำหรับปักแจกัน ต้นหนึ่งออกดอกได้หลายช่อ แต่ละพันธุ์ออกดอกต่างเดือนกัน บางชนิดออกดอกในเดือนที่ตลาดต้องการดอกไม้ตัดดอก จึงทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอกสนใจการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้มากขึ้น 

“ส่วนแมลงทับเป็นด้วงปีกแข็ง มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษโดยทั่วไปว่า Jewel Beetles , Flying jiwels , Flathead borers , Grogeous beetles จัดเป็นแมลงสวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากปีกแมลงทับเมื่อสะท้อนกับแสงอาทิตย์แล้วเกิดความมันวาว จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์หลักในด้านการตกแต่งได้”

พริกไทย” นางสาววัทนวิภา หัสดี นักศึกษาระดับชั้น ปวช.3 สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เล่าเสริมว่า คณะผู้จัดทำได้นำรูปแบบความสวยงามของกล้วยไม้สกุล ฟาแลนอปซีส ซึ่งเป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่นิยมมากตามท้องตลาด และสามารถพบเจอได้ทั่วไปตามร้านขายดอกไม้ และแมลงทับจากปีกมีหลากหลายสี และแวววาวสวยงามมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องประดับชุด “ชุดกล้วยไม้ไทย ศิวิไลบนเครื่องประดับ” 

“โดยนำเทคนิคงานช่างทองโบราณซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน  การฉลุ การม้วนดัด การบัดกรีประกอบ  การขัดแต่ง การลงยาสี การประดับอัญมณีและการประดับปีกแมลงทับสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีความสวยงามและทรงคุณค่ากับผู้สวมใส่และเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ สืบสานงานช่างทองโบราณให้คงอยู่กับชาติไทยสืบต่อไป”


 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)