เมื่อ ศธ.ประกาศปักธง’ เกิด “กรมส่งเสริมการเรียนรู้ 19 พ.ค. 66 ต้องไม่ทำให้สังคมผิดหวัง

 

ศธ.ประกาศ ’ ปักธง ตั้ง “กรมส่งเสริมการเรียนรู้  19 พ.ค. 66 ต้องไม่ทำให้สังคมผิดหวัง 

 

ตามที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ซึ่งเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศฯ หรือ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 จะมีการยกเลิก พ.ร.บ. ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

 

โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ ระบุไว้ใน มาตรา ๖ ให้กรมมีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

 

(๑) การเรียนรู้ตลอดชีวิต

(๒) การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง

(๓) การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

 

นอกจากการจัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ตามวรรคหนึ่ง กรมอาจจัดส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้ ทั้งนี้ ตามประกาศที่รัฐมนตรีกำหนด ประกาศดังกล่าวให้ระบุเป้าหมาย แนวทาง และวิธีการไว้ด้วย

 

การจัดส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คำนึงถึงความหลากหลายและความต้องการของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

 

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ

 

โดยที่มาตรา ๕๔ วรรคสาม ประกอบกับ มาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา (๔) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ

 

รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยสร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรือผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในโรงเรียน หรืออยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงและพัฒนาศักยภาพทักษะ ความเชี่ยวชาญได้ตามความถนัด

 

สมควรปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยจัดการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ศธ.จึงได้กำหนดภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งอำนาจหน้าที่  โครงสร้าง และหน่วยงานภายในกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) 

  

 

รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่า ก่อนที่จะมีการยกเลิก พ.ร.บ. ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พ.ศ. 2551 และ ยกฐานะจากหน่วยงานภายใต้ สป.ศธ.เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566  ได้เตรียมการ ดังนี้

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม วิเคราะห์ และเสนอถ่ายโอนเรื่องต่างๆประสาน สป.ศธ.ออกแบบและแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการขัาราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กสร. และประสานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ. ) กสร. 

 

การจัดตั้ง ยุบ รวม เลิก รวมถึงโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้สิน รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลังทั้งหมด จาก สป.ศธ.ไปขึ้นกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ 

 

เร่งรัดให้มีการจัดทำกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เพื่อจัดเตรียมกฎหมาย ประกาศกระทรวง ประกาศกรม และระเบียบกรมไว้ เพื่อให้เกิดการจัดทำให้แล้วเสร็จทันตามกรอบของระยะเวลาในแต่ละมาตรา และการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น

 

 

จะเห็นว่า...กฎหมายฉบับนี้ ทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความพร้อมและศักยภาพของบุคคล ทำให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกคนในการได้รับการศึกษา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้ได้รับการศึกษาเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

 

edunewssiam เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วนของคนกระทรวงศึกษาธิการ  กศน. และภาคีเครือข่าย จะขับเคลื่อนให้การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป.

 

 

( โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว )

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage