สังคมสูงอายุไทย ภายใต้ยุคดิจิทัล 'ตรีนุช'ไม่พ้นอีกโซ่ปัญหาและความท้าทาย

เสวนากับบรรณาธิการ วันที่ 16 เมษายน 2564

                                                                                                      

"ตรีนุช" กับอีกโซ่ปัญหาและความท้าทาย

สังคมสูงอายุไทย ภายใต้ยุคดิจิทัล                                       

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ แบบเต็มร้อย มาตั้งแต่ต้นปี 2564 จากนั้นเมื่อถึงปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ที่มีประชากรสูงอายุมากถึงร้อยละ 28  

"สังคมสูงวัย" ทุกสำนักไทยมีข้อมูล ตรงกันว่า พบอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่มีเด็กจำนวนมากถูกเลี้ยงดูโดยปู่ ย่า ตา ยาย จากสถานการณ์ "แม่วัยใส" ท้องไม่พร้อม หรือพ่อ-แม่ ต้องย้ายไปทำงานต่างถิ่นเพื่อหารายได้ประทังชีวิตที่สูงกว่าเดิม

ประเทศไทยมี กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 รับมือกับสถานการณ์ในอนาคต และเผชิญความท้าทายในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุ มีกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชมรมผู้สูงอายุเป็นแกนหลัก ในรูปแบบหุ้นส่วนงานพัฒนา มีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการ และศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต มีการติดตามผลการดำเนินงาน   

ขณะเดียวกันต้องยอมรับความจริงที่ว่า การที่เราแก่ลงทุกวันก็นับว่าเป็นเรื่องแย่แล้ว แต่มันจะยิ่งแย่มากขึ้นหากแก่แล้วยังจนอยู่ จึงไม่แปลกกับประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะ “แก่ก่อนรวย” หรือ “ลำบากตอนแก่” เป็นประเทศแรกของโลก

แต่วันนี้ อยากถามว่า โลกคู่ขนานของ "สังคมสูงวัย" ได้พึ่งพาประโยชน์ดังกล่าวจากกรมกิจการผู้สูงอายุ(ผส.) ได้จริง ดังที่ระบุไว้ข้างต้นมากน้อยเพียงใด และจะพาตัวเองอยู่รอดในยุค"สังคมดิจิทัล" ทั้งปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร

อ้างอิงข้อมูลจากสหประชาชาติ พบว่า อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงมาต่ำสุดในระดับเดียวกันกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และฟินแลนด์ ที่ถือว่าร่ำรวยมหาศาล ขณะที่ปัจจัยด้านอื่นๆของไทยกลับไม่มีอะไรเหมือนกับสองประเทศเลย

หนึ่งในตัวเลขของประชากรไทยที่น่าสนใจ คือ ร้อยละ 25 จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ภายในปี 2030 (2573) และคนส่วนใหญ่ในกลุ่มร้อยละ 25 นี้ ล้วนเป็นคนที่ทั้งจนและแก่

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF จึงประมาณการการลดลงของประชากรไทยวัยทำงานอย่างต่อเนื่อง จะถ่วงให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงได้มากถึงเกือบร้อยละ 1 ในอีก 20 ปีข้างหน้า   

จีนเป็นประเทศแรกที่ประสบปัญหานี้จากนโยบายลูกคนเดียวของจีนในอดีต อาจจะทำให้จีนประสบปัญหาการลดลงของประชากรในช่วงปี 2050 ได้  ดีว่า...ปัจจุบันจีนยกเลิกนโยบายนี้ไปแล้ว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์และรัฐบาลได้คาดการณ์และวางแผนผิดมาโดยตลอด ด้วยคิดว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรจะเป็นปัญหา ซึ่งแนวคิดนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิด เนื่องจาก พบว่า อัตราการเกิดของประชากรในทุกประเทศทั่วโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น

ส่วนหนึ่งมาจากประชากรย้ายถิ่นฐานเข้าในเมืองมากขึ้น และประชากรเพศหญิงได้รับการศึกษาและการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นด้วย

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของสังคมเมืองรวดเร็วมาก และเป็นรองจากจีนเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ประชากรนิยมการมีครอบครัวที่เล็กลง แต่เป็นผลมากจากประมาณปี 1970 ประเทศไทยมีนโยบายต่อต้านความจนด้วยการคุมกำเนิด ผ่านการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยสำหรับการคุมกำเนิด เรียกขานกันติดปากว่า “ถุงมีชัย” และตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเกิดของชาวไทยลดลงจาก 6.6% ต่อปี เหลือเพียง 2.2% ต่อปีเท่านั้น

ปัจจุบัน อัตราการเกิดของประชากรชาวไทยลดลงมาอยู่ที่เพียง 1.5% จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากรต่ำที่สุดในโลก ทำให้สหประชาชาติคาดการณ์ว่าประชากรราว 70 ล้านคนของไทยในปัจจุบันจะลดลงเหลือเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น เมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้ หรือภายในปี 2100

ที่ดูแย่ไปกว่านั้น คือ นอกจากประเทศไทยได้กลายเป็นกลุ่มประเทศล้าหลังทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแล้ว ยังมีอัตราการเติบโตของจีดีพี. ลดลงโดยเฉลี่ยในทุกทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1990 จากระดับเฉลี่ยที่ 5.3% เหลือ 4.3% และเหลือเพียงประมาณ 3 - 4% ในตอนนี้

ดังนั้น การอัดฉีดงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีระดับรายได้ต่อหัวประชากรที่ต่ำมากเพียงปีละ 6,362 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือไม่ถึง 200,000 บาท ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ

นาย Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์ที่ดูแลภาคพื้นอาเซียนของ Maybank Kim Eng Singapore ชี้ว่า “เห็นได้ชัดว่าสิ่งนี้กำลังเป็นปัญหาและความท้าทายของประเทศไทยอย่างแน่นอน” และ “ ประเทศไทยกำลังติดอยู่ตรงกลางกับดักของประเทศกำลังพัฒนา ที่กำลังเจอปัญหาด้านประชากร เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ”

Shripad Tuljapurkar นักวิเคราะห์ประชากรของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวเสริมว่า

“ประเทศไทย ไม่มีเวลามากนักในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องหาทางเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้ได้มากกว่านี้ มิฉะนั้นจำนวนแรงงานที่น้อยลงจะไม่สามารถดูแลผู้แก่ชราและผู้เกษียณอายุได้ โดยตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในปี 2030 ถ้าประเทศไทยไม่เร่งแก้ไข ทุกอย่างจะยิ่งดูแย่ไปกว่านี้อีกมาก”

อย่างน้อยน่ายินดีว่า รัฐบาลชุด คสช.ต่อเนื่องรัฐบาลปัจจุบัน ได้ตอบรับปัญหาด้วยการประกาศให้สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้ ๖ กระทรวง ที่มีกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการเพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นพฤฒิพลัง คือ มีสุขภาพที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมประเทศ

ทั้ง ๆที่ นโยบายรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 ระบุชัดเจนด้านที่ ๘ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย และประเด็นย่อยที่ ๘.๖ ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทุกช่วงวัย กระทรวงศึกษาธิการ ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องสานต่อ ไม่ควรละเลย นิ่งเฉยหรือมองข้าม ด้วยคิดว่าไม่มีใครสนใจทักท้วง ไม่มีบทลงโทษ เป็นแค่ตัวประกอบ 

จึงปรากฏผลการติดตามประเมินการดําเนินงานการบูรณาระหว่างหน่วยงานทั้ง 6 ดังกล่าวผ่านมา มีดัชนีค่อนข้างไปแนวตํ่า ไม่สามารถสะท้อนภาพของการบูรณาการได้อย่างแท้จริง

จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและไม่แปลกใจว่า นโยบายการจัดการศึกษาทั้ง 12 ข้อ และ งานสำคัญ 7 วาระเร่งด่วนที่ทำคู่ควบกันไป ของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ป้ายแดง ที่เพิ่งประกาศออกไปเมื่อเร็ว ๆนี้ ยังไม่ปรากฏในแผนใด ๆขานรับในด้านผู้สูงวัย

เท่ากับว่า กระทรวงศึกษาธิการ ไม่สนองนโยบายรัฐบาลหรือยุทธศาสตร์การดำเนินงานฯและมติครม. ในการทำหน้าที่ร่วมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุให้เป็นพฤฒิพลัง ไม่เห็นคุณค่า ตระหนักรู้ถึงความสำคัญสังคมสูงอายุ และพลังสูงวัยที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมประเทศ ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่คาดหวัง

ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเจอปัญหาด้านประชากรซึ่งมีคนหนุ่มสาววัยทำงานลดลง แถมยังได้รับข่าวสารข้อมูลเชิงลบกรอกหูผ่านตาทางสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่องยาวนาน ถึงการต้องคอยแบกภาระเลี้ยงดูคนแก่เฒ่า จะไม่สามารถดูแลผู้แก่ชราและผู้เกษียณอายุได้  

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ Edunewssiam.com มั่นใจว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สื่อออนไลน์ที่มีการพัฒนาทันสมัยมากขึ้น รวมถึง ศธ.มีทรัพยากรทั้ง ช้าง ม้ารถ ทศพลทุกระดับ มหึมากระจายอยู่ทั่วประเทศ ล้วนแล้วมีขีดความสามารถ หากนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแบบบูรณาการร่วมองค์กรย่อมส่งผลให้สังคมผู้สูงวัยเป็นพฤฒิพลังของปรเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

EDUNEWSsiam.com

editor@edunewssiam.com

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)