การศึกษาไทยจะไปทางไหน(ดี) : กรณีบทสรุป ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

การศึกษาไทยจะไปทางไหน(ดี) : กรณีการสรุปประเด็นของกระทรวงศึกษาธิการใน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีข้อเสนอแนะ และข้อควรแก้ไขจากองค์กรครูฯเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563

โดย: สิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง

โดยที่มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้มีการจัดความร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ

โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ  

ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ด้วยการศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ในการดําเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดําเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน 

ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู

โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์เข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกําหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระ และกําหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ความเป็นมาของการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และมาตรา 261 บัญญัติให้ในการปฏิรูปตามมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่ง ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 

ให้ดําเนินการด้านการศึกษาและจัดทําข้อเสนอแนะ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดําเนินการให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดําเนินการต่อไป

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จํานวน 25 คน

โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการ มีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นเลขานุการ มีวาระการทำงาน 2 ปี ซึ่งครบวาระไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 และได้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาแล้ว

ผลงานของ กอปศ.นั้น นับว่าสร้างความแตกตื่น สร้างความไม่สบายใจให้แก่ข้าราชการครูได้อย่างกว้างขวาง และกระทบกระเทือนต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นั่นก็คือ “การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...”

เมื่อ กอปศ.หมดวาระลง คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชุดใหม่ขึ้นมา โดยมี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานคณะกรรมการ จำนวน 11 คน มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นฝ่ายเลขานุการ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

โดยมีขอบเขตงานด้านการศึกษากลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ระบบการบริหารบุคลากรทางการศึกษา ระบบคุณธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพครู การจัดการเรียนการสอนทุกระดับ

การช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ การลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา หลักสูตร ตำรา และเทคโนโลยีทางการศึกษา บทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในการปฏิรูปการศึกษา การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ และการสอนแบบสื่อทางไกล  

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาภายในขอบเขตที่กำหนด ให้สอดคล้องแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ตามที่รัฐบาลกำหนด

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่ กอปศ.เป็นผู้ยกร่างนั้น ได้นำออกประชาพิจารณ์ในวงแคบๆ หลายครั้ง

แต่โลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน ทำให้ครูทั่วประเทศที่อ่านและพิจารณาตามมาตราต่างๆ ที่ยกร่างไว้นั้น “หมกเม็ดซ่อนคำและริดรอนสิทธิ์ที่ควรจะพึงได้”

เช่น ใบรับรองความเป็นครู แทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง) นำตำแหน่งครูใหญ่ มาใช้แทนผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นต้น 

ทำให้เกิดการคัดค้านต่อต้านจากองค์กรครูทั่วประเทศ แต่ กอปศ.ก็ไม่สนใจยังยืนยันในผลงานการคิดอันแยบยลของตนเองและคณะ โดยการส่งต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

แต่ไม่ทันสมัยการประชุม” แต่ก็มีความพยายามที่จะนำส่งต่อสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกาศเป็น “พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)” บังคับใช้อย่างเร่งรีบต่อไป  

ซึ่งในระหว่างนั้น เกิดการคัดค้านอย่างกว้างขวางขององค์กรผู้นำครูทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้น แต่รัฐบาลก็พยายามจะนำไปประกาศใช้ให้ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 เป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมของ สนช.

ผม นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง ได้รับมอบหมายให้นำหนังสือของสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.) ไปยื่นคัดค้านการออกเป็น พ.ร.ก.ต่อประธาน สนช. โดยการประสานงานของท่าน ส.ว.ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ โดยเวลานั้นกำลังประชุมและจะปิดสมัยประชุม 

หลังจากที่ สนช.รับหนังสือคัดค้านจาก สคท.แล้ว จึงมีมติในที่ประชุมของ สนช.ว่า “ให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้นั้น ตกไป และให้ไปเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะมาบริหารต่อไป เป็นผู้พิจารณา”

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีฉบับร่างอยู่หลายฉบับ และหลายที่มา เช่น ร่างจากองค์กรครู โดยสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย/ ร่างของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร/ ร่างของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา/ ร่างของสมาชิกผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน/ ร่างของ สคคท. โดย ดร.ดิเรก พรสีมา  

และร่างของกระทรวงศึกษาธิการ (เป็นร่างของ กอปศ.โดยผ่านสภาการศึกษา) ถือว่าเป็นร่างของรัฐบาล  

ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเป็นผู้นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบข้อความในมาตราต่างๆ ว่าเป็นไปตามระเบียบ และวิธีการเสนอกฎหมายหรือไม่ หลังจากนั้นจึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเห็นชอบ เพื่อนำเข้าสู่การประชุมพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. ...จากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาข้อความในมาตราต่างๆ ทั้งนี้ สกศ.มีข้อซักถามและรอคำตอบจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ตอบข้อซักถาม และข้อสังเกตต่างๆ ตามเวลาที่กำหนด 

สำนักงานกฤษฎีกาจึงได้จำหน่ายออกจากสารระบบแล้ว ตามหนังสือที่ นร 0906/96 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการไม่แจ้งผลการพิจารณาและทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเลยเวลาที่กำหนด จึงจำหน่ายออกจากสารระบบไป

และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำข้อพิจารณาทบทวนความสอดคล้องของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. ...กับนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ที่เห็นว่า

“ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ มีความสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีในทุกประเด็นด้านการศึกษา และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษากำหนดไว้ทุกประการ” เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการ รับผลการพิจารณาของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแล้ว และได้นำเรียนต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 (โดยไม่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกา) เพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ต่อไป 

โดยในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินั้น ไม่ได้แก้ไขมาตราใดๆ เลย ยังคงไว้เหมือนเดิมที่ กอปศ.ยกร่างไว้ทุกประการ ไม่สนใจต่อการคัดค้านและข้อเรียกร้องขององค์กรครูทั่วประเทศที่ได้ให้ความเห็นไว้ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่ควรปรับปรุงแก้ไขอยู่หลายประเด็นในหลายมาตรา

แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ยังเสนอร่างฯดังกล่าวนี้ ให้กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยได้จัดทำข้อเสนอของส่วนราชการ(สกศ.) แนบไปว่า  

“ได้ศึกษาวิเคราะห์ ตรวจสอบและพิจารณาทบทวนความสอดคล้องของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. ... สอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภาแล้ว 

และมีความสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีในทุกประเด็นด้านการศึกษา และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่กำหนดไว้

จึงพิจารณาว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ เป็นกฎหมายที่มีกลไกให้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างสังคมสร้างชาติเพื่อตอบสนองคนในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสมบูรณ์

และเป็นกฎหมายที่จะพัฒนาคนไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของประเทศไทย...)”

จากข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนี้เอง ได้ทำให้องค์กรครูต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากไม่นำความเห็นขององค์กรครูที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ

การเปลี่ยนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็น ครูใหญ่ เปลี่ยนรองผู้อำนวยการเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ และเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู (ท่านอำนาจ วิชยานุวัติ ขณะเป็นเลขาธิการ กพฐ.ยังยืนยันว่า แก้ไขแล้ว) แต่ไม่มีในข้อเสนอในสองประเด็นดังกล่าวนี้ให้กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.) และภาคีเครือข่ายองค์กรครูทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ กำหนดให้ “ครู” นั้นเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ  

จึงได้จัดทำข้อเสนอร่วมกันในประเด็นที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการหมกเม็ด รวมทั้งเป็นการรวบอำนาจแบบซ่อนรูป ดังนี้

1) ให้แก้ไขเพิ่มเติมคำหรือข้อความในมาตราต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ดังนี้

1.1 มาตรา 4 แก้ไขคำว่า “ครูใหญ่” เป็น “ผู้อำนวยการ” เหมือนเดิม เหตุผล ถ้า “ศักดิ์และสิทธิ์”เท่ากันหรือเหมือนกันทุกประการ “แล้วจะเปลี่ยนทำไมให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเรียกชื่อตำแหน่ง”

แต่มาตรฐานการกำหนดตำแหน่งบัญญัติว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียน” มีฐานะเทียบเท่า “ผู้อำนวยการกอง” กำหนดให้มีเงินประจำตำแหน่ง การเป็น “ครูใหญ่”มีฐานะเทียบเท่า “หัวหน้าแผนก” ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง

1.2 มาตรา 34 แก้ไขคำว่า “ใบรับรองความเป็นครู” เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เพราะวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ใบรับรองความเป็นครูจะลดฐานะวิชาชีพชั้นสูงทันที ส่งผลให้ครูไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญของวิชาชีพชั้นสูงนั้น จะต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” เท่านั้น

1.3 มาตรา 38 แก้ไขคำว่า “ผู้ช่วยครูใหญ่” เป็น “ผู้ช่วยผู้อำนวยการ”

1.4 มาตรา 40 แก้ไขคำว่า “คุรุสภาออกใบรับรองครู” เป็น “คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” และครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุกคน ซึ่งเป็นวิชาชีพควบคุม และเป็นข้าราชการครู ไม่ใช่พนักงานราชการที่เรียกว่า “พนักงานครู” เพราะ “ครูคือภูมิพลังปัญญาของชาติ”

1.5 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 101 ให้กำหนดข้อความคำต่อไปนี้ “ให้ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินวิทยฐานะ และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นตามพระราชบัญญัตินี้  

2) ขอให้นำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาเป็นแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

3) ให้นำ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กลับมาใช้บังคับหรือเป็นแนวทางในการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ “คุรุสภา” และ “สกสค.” เป็นองค์กรที่ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และอำนวยประโยชน์แก่ครูอย่างแท้จริง

ดังคำกล่าวที่ว่า “คุรุสภา คือ สภาของครู” ที่จะกำหนดบทบาทหน้าที่ครู และมีครูเท่านั้นเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนในการจัดการศึกษาของชาติ เพราะ “ครู” เท่านั้นที่รู้เรื่องการจัดการศึกษาดีกว่าและมากกว่าอาชีพอื่นๆ

4) กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็น “นิติบุคคล” ตามกฎหมายมหาชนโดยเร็ว นั่นคือคำตอบในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติ “โรงเรียนเท่านั้น คือคำตอบ”

5) ขอให้แก้ไขคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกฉบับ โดยเฉพาะ ฉบับที่ 19/2560 เป็นฉบับที่สร้างความสับสน ซ้ำซ้อน ลักลั่น และรวมศูนย์อำนาจ ในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานในระดับบังคับบัญชา ระหว่างศึกษาธิการภาค (ศธภ.) /ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)

ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่ออำนาจในการโยกย้าย/ถ่ายโอน/บรรจุแต่งตั้ง/การเลื่อนเงินเดือน และการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการของผู้บังคับบัญชาโดยตรง ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาเพื่อให้คุณให้โทษต่อบุคลากร

คุณภาพการปฏิบัติงานและการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติถูกลดทอนลง ขาดการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงานและการสั่งการ

ทั้งยังขัดต่อหลักการกระจายอำนาจการบริหารบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดการขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง และขาดการยอมรับซึ่งกันและกันในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา

ซึ่งมีรายละเอียดผลการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยนายนพคุณ รัฐผไท ประธานคณะกรรมาธิการด้านการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนอ

จึงเห็นสมควรแก้ไขคำสั่ง คสช.ดังกล่าว เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษา และการปฏิบัติงานของบุคลากรทุกฝ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมายต่อไป

(อ้างอิงจากรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ” ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 นายนพคุณ รัฐผไท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ)

6) ในมาตรา 99 ได้บัญญัติให้กระทรวงศึกษาธิการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยมิให้ออกเป็นกฎหมาย และที่สำคัญได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้บังคับบัญชา 

เพราะถ้ากฎหมายมีผลใช้บังคับ จะต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือจะต้องยุบแท่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็จะเป็นการบริหารแบบ Single Command มีสายการบังคับบัญชาเพิ่มขึ้น

เป็นการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นการสั่งการมากกว่าการกระจายอำนาจ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการคอรัปชั่นเชิงนโยบายได้ง่ายยิ่งขึ้น

ซึ่งการจัดการศึกษาที่จะให้เกิดคุณภาพนั้น จะต้องกระจายอำนาจให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้มากที่สุด และที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการไม่เหมาะที่จะบริหารแบบ Single Command เหมือนกับบางกระทรวง

เพราะกระทรวงศึกษาธิการ เป็นพื้นที่แห่งปัญญา เป็นคลังสมองของชาติ หน่วยปฏิบัติจะต้องมีอิสระในการบริหารจัดการศึกษาให้มากที่สุด ประกอบกับในมาตรา 66 ที่บัญญัติให้การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้การจัดการศึกษาถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยไม่ต่อเนื่องหรือบูรณาการกัน

ยิ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการศึกษา ที่จะต้องคำนึงถึงระบบการศึกษา และระดับการศึกษา ที่จะมีรูปแบบ วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

การบริหารจัดการศึกษาจะต้องคำนึงถึงความถนัด ความเชี่ยวชาญของแต่ละระบบการศึกษา หรือระดับการศึกษา ความมีอิสระในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับภารกิจและกลุ่มเป้าหมาย จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด 

ดังนั้น หลักการจัดการศึกษาที่จะตอบโจทย์ของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นไปตามคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ได้ จะต้องคำนึงถึงความมีเอกภาพทางนโยบาย และหลากหลายการปฏิบัติ ตามบริบทของแต่ละระบบการศึกษา และระดับการศึกษา หรือความสอดคล้องกับภารกิจและกลุ่มเป้าหมาย 

        ในประเด็นดังกล่าว องค์กรครูทั่วประเทศจึงมีมติไม่เห็นด้วย ควรไปยกเลิกมาตรา 99 และปรับปรุงมาตรา 66 โดยบัญญัติให้การแบ่งส่วนราชการกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐสภาได้โปรดพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ โดยให้คำนึงถึงความมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โอกาสทางการศึกษา และความคุ้มค่าให้มากที่สุด

ซึ่งบทเรียนที่เป็นยาขมให้กับองค์กรครูได้รับในทุกวันนี้ คือการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ซึ่งเป็นการออกคำสั่งที่ไม่เกิดจากการมีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จึงก่อให้เกิดปัญหาข้อจำกัดในการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค จนทุกวันนี้ (ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นผู้เสนอ)

7) ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับนี้ ไม่ให้ความสำคัญบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) ซึ่งแทบจะไม่มีปรากฏในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงข้าราชการดังกล่าวนี้เป็นฝ่ายสนับสนุนให้การบริหารจัดการศึกษา ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จนส่งผลให้การบริหารจัดการศึกษาในสถานศึกษาเป็นไปได้ด้วยดี

และที่สำคัญนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และแก้ไขเพิ่มเติม มีผลใช้บังคับ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) ได้ถูกผลักดันให้ไปรับเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 

จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคแรก และวรรคสาม ที่เป็นข้าราชการในกระทรวงเดียวกัน แต่กลับได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

โดยกฎหมายได้แบ่งแยกให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) ไม่ให้เป็นข้าราชการครู ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกันกับบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) แต่บุคลากรเหล่านั้นก็เป็นข้าราชการตำรวจเช่นเดียวกัน รับเงินเดือนบัญชีเดียวกัน หรือกระทรวงกลาโหมก็เช่นเดียวกัน

จะมีก็แต่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ที่แบ่งแยกข้าราชการในสังกัดเดียวกันให้เกิดความแตกต่าง สร้างความไม่เท่าเทียมกัน เพราะรับเงินเดือนคนละบัญชี ในประเด็นนี้องค์กรครูจึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับนี้  ที่ยังปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

เป็นการขัดกับรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคแรก และวรรคสาม จึงเห็นควรให้บุคลากรอื่นตามมาตรา 38 ค (2) เป็นข้าราชการครู ประเภทสนับสนุนสายงานการสอน และให้ได้รับเงินเดือนบัญชีเดียวกัน เหมือนกับข้าราชการครูในปัจจุบัน

โดยข้อเสนอของชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.) และภาคีเครือข่ายองค์กรครู 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ชายคาเดียวกัน จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน

จึงเห็นควรให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกคน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นข้าราชการครูทั้งหมด และให้ได้รับเงินเดือนในบัญชีเดียวกัน โดยให้เป็นประเภทสนับสนุนการสอน

ท้ายที่สุดพวกเราพี่น้องครูจะเสียอะไรบ้าง ถ้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ได้แก้ไขมาตราใดๆ เลย ยังคงไว้เหมือนเดิมที่ กอปศ.ยกร่างไว้ทุกประการ (ท่านเลขาฯวิสัย เขตสกุล นำเรียนไว้)

1. เสีย “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ซึ่งจะมีได้จะต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูงเท่านั้น และต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่า “วิชาชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง”

2. เสีย “เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท” เพราะไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูงอีกต่อไป

3. เสีย คำเรียกตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงเรียน” เป็น “ครูใหญ่” ซึ่งเขาบอกว่า “ไม่แตกต่าง” แล้วจะเปลี่ยนทำไมให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน “ไม่เอา ผู้ช่วยแต่เอา รอง”

4. เสีย “สภาครู (คุรุสภา)” วิชาชีพชั้นสูงจะต้องมีสภาวิชาชีพควบคุม

5. เสีย “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” แน่นอน

พี่ น้องเพื่อนครู ผู้ประกอบวิชาชีพครูที่เคารพครับ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ได้นำส่งถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในโอกาสต่อไป

ต่อจากนั้น สนง.เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งต่อไปยัง สนง.กฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาฯ ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร, ส่งเข้าสู่การพิจารณารับหลักการของทั้ง 2 สภา (ตั้งกรรมาธิการสามัญ และหรือวิสามัญ หรือกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณา) เห็นชอบ

ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัด นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

นั่นคือไทม์ไลน์ของการตราพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือมากกว่านี้ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อพวกเรา จะได้มีเวลาเตรียมการส่งข้อเสนอแนะ เหตุผลความจำเป็นในหลายประเด็น ที่ข้าราชการครูไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

พี่น้องเพื่อนครูที่เคารพครับ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (สคท.) และองค์กรเครือข่ายครูทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีความกังวลและห่วงใยต่อผลที่จะเกิดขึ้นต่อพี่น้องเพื่อนครูในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว

ซึ่งจะมีผลในด้านเกียรติยศความเชื่อมั่นในวิชาชีพ และความเชื่อมั่นของผู้ที่มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งผมไม่อยากเห็น ใบรับรองความเป็นครู/ ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ ซึ่งมาจากไหนก็ได้/ ครูไม่มีวิทยฐานะ ไม่เป็นวิชาชีพชั้นสูง/ ไม่มีกฎหมายเฉพาะของครู

ไม่มีคุรุสภาที่บริหารโดยครู/ ไม่มี สกสค.ที่ดูแลผลประโยชน์ของครู เพื่อครูโดยแท้จริง และไม่มีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่มัธยมศึกษา ซึ่งพวกเราคุ้นชินและอยู่กันมาด้วยความเข้าอกเข้าใจ แต่มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเข้ามาแทนที่การบริหารจัดการด้านการศึกษาของจังหวัดในแต่ละจังหวัด

พี่น้องเพื่อนครูครับ พวกเราจะเอาอย่างนั้นหรือ?? พวกเราจะเป็น “พนักงานครู” หรือจะทำงานโดยไม่มีหน่วยงานที่ดูแลพวกเราเป็นการเฉพาะหรือ?? หรือมีกฎหมายบริหารบุคคลที่เป็นของเราโดยเฉพาะหรือ??

มันใกล้ตัวพวกเราเข้ามาทุกขณะ ใกล้จนพวกเรามองว่า “ไม่เอา ไม่ยุ่ง กลัวโดนวินัย” หรือ “ช่างมันฉันจะไปทำอะไรได้ เพราะว่าฉันไม่มีอำนาจจะไปต่อสู้และคัดค้าน” หรือ “น่าจะเป็นคนอื่นนะที่ไม่ใช่ฉันที่จะต้องไปร่วม” และหรือ “จะไปหาเหาใส่หัวทำไม เป็นอะไรก็เป็นกัน ช่างมันฉันไม่ได้โดนคนเดียว”

ถ้าพี่น้องเพื่อนครู คิดอย่างนั้น!?! พวกเราจะประสพความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งด้านวิชาชีพครูและความมั่นคงในอาชีพ ศักดิ์ศรีของครูอยู่ตรงไหนในสังคมนี้ แม้กระทั่งเงินเดือนจะหายออกจากบัญชีไปอย่างน้อยๆ ก็เดือนละ 11,200 บาท แล้วจะอยู่กันอย่างไรเมื่อรายจ่ายยังคงเท่าเดิม และเมื่อเกษียณฯแล้วจะหนักขึ้นกว่าอีกเท่าตัว

และที่สำคัญ รุ่นน้อง รุ่นลูก หลานที่จะเข้ามาประกอบอาชีพครู จะเหลือความภาคภูมิใจอย่างไรในเมื่อเขาเป็นได้แค่ “พนักงานครู” เท่านั้น

“ครู คือ ภูมิพลังปัญญาของชาติ เพราะชาติจะมั่งคั่ง จะยั่งยืนได้ด้วยการศึกษาของคนในชาติเท่านั้น เพราะครูสร้างคน ประชาชนสร้างชาติครับ” (ท่านสุนทร ภุมรีจิตร)

ด้วยความรัก ความเชื่อมั่น ด้วยความห่วงใย และความปรารถนาดี

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)