สภาผ่านวาระ 1 ร่าง กม.แก้คำสั่ง หน.คสช.19/60 ยึดฉบับ พปชร.คืนอำนาจเขต พท.

 

 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน ได้พิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 รวม 7 ฉบับ ได้แก่ ร่างฉบับรัฐบาล และ 6 พรรคการเมือง (ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา) ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 349 เสียง ไม่เห็นด้วย 0

จากนั้นได้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา รวมจำนวน 39 คน เป็นสัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 9 คน และพรรคการเมืองต่างๆ รวม 30 คน ใช้เวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นหลักในการพิจารณา เริ่มพิจารณานัดแรกวันที่ 17 กันยายน 2564 นี้

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ ได้กล่าวอภิปรายให้เหตุผลการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 อย่างน่าสนใจ (รับชมได้ตามคลิป)

สำหรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ฉบับของพรรคพลังประชารัฐ มีสาระสำคัญเหมือนกับของ 5 พรรคการเมือง ที่มุ่งให้มีการกระจายอำนาจไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (พ.ท.) โดยยึดอำนาจจาก กศจ.และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) คืนให้กับเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

โดยสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 มีดังต่อไปนี้ (1) กำหนดให้ กศจ. มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 8 (1))

(2) กำหนดให้ กศจ. มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัด ในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ไม่รวมถึงอำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (เพิ่มเติมข้อ 8 (5) วรรคสอง)

(3) กำหนดให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตจังหวัด ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กศจ. และ อกศจ. (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 11 (6))

(4) กำหนดให้ศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศึกษาธิการภาค มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และให้มีรองศึกษาธิการจังหวัด เพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการจังหวัด จำนวนสามคน (แก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๑๒ วรรคหนึ่ง)

(5) ยกเลิกอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ของศึกษาธิการจังหวัดโดยความเห็นชอบของ กศจ. (ยกเลิกข้อ 13)

(6) กำหนดให้การบริหารงานบุคคลที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ไม่ต้องมอบอำนาจให้กับศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน (เพิ่มเติมข้อ 14 วรรคสี่)

และ (7) กำหนดให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ (มาตรา 9)

ในขณะที่ร่างฉบับรัฐบาล เสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปรับปรุงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มีสาระสำคัญคือ กศจ.ยังมีอยู่ แต่ทำหน้าที่ดูแลยุทธศาสตร์การศึกษาเท่านั้น โดยแยกการบริหารบุคคลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดนั้นๆ ออกมาโดยเฉพาะ มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จังหวัด ทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรในจังหวัดนั้นๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการ

ส่วนอนุกรรมการ ประกอบด้วย โดยตำแหน่ง 3 คน ได้แก่ ผู้แทน ก.ค.ศ., ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ผอ.สพม.), ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ด้าน คือด้านบริหารบุคคล สังคม และงบประมาณ, ผู้แทนข้าราชการครู, ผู้แทนจากผู้บริหารการศึกษา และผู้แทนจากบุคลากรทางการศึกษา โดยมี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 ในจังหวัดนั้นๆ ทำหน้าที่เลขานุการ ส่วนกรุงเทพมหานคร จะให้ ผอ.สพม. เขต 1 ทำหน้าที่เลขานุการ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)