ส.ว.เห็นต่าง!ร่าง กม.ศึกษาชาติฉบับ รบ. 7 ปมแย้ง'แบ่งชนชั้น-ซ้ำซ้อน-ขาดผู้รู้'

 

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ว่า ตนขออนุญาตปรึกษาหารือเนื้อหารายละเอียดในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ผ่านไปยังรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวม 7 ประเด็นดังนี้

“ประเด็นที่ 1 การปฏิรูปการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 110 มาตรา ผมใคร่ขอทราบว่า เมื่อได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ประเทศชาติ สังคม ประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้ปกครอง เด็กปฐมวัย นักเรียน นักศึกษา จะได้รับประโยชน์อย่างไร

ประเด็นที่ 2 การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในการบริหารและจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน ระหว่างคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการจังหวัด ตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 กับณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา

ซึ่งผมได้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ยังไม่มีบทบัญญัติและแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด ยังคงค้างคาปัญหาดังกล่าวไว้ให้หน่วยงานในพื้นที่เช่นเดิม เห็นสมควรยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 19/2560 และให้อำนาจหน้าที่กลับไปยังหน่วยงานตามกหมายฉบับเดิม

ประเด็นที่ 3 โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีบทบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในมาตรา 69 และ 106 ซึ่งยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า ในการบริหารราชการในส่วนกลางจะเป็นรูปคณะบุคคล หรือจะเป็นลักษณะกรม รวมทั้งการบริหารจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาค จะกระจายอำนาจไปยังคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาของรัฐอย่างไร ตนจึงใคร่ขอหารือและขอทราบแนวทางดังกล่าว

ประเด็นที่ 4 ปัญหาสถานศึกษาของรัฐที่ไม่มีความเป็นอิสระ และไม่เป็นนิติบุคคลตามร่าง พ.ร.บ. มาตรา 20 วรรค 4 โดยเฉพาะในส่วนกลาง ไม่มีการกระจายอำนาจและมอบอำนาจในการบริหารและจัดการศึกษาทางด้านวิชาการ การบริหารทั่วไป การงบประมาณ การบริหารงานบุคคล ซึ่งในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีบทบัญญัติแนวทางแก้ไขไว้อย่างไรหรือไม่

ประเด็นที่ 5 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกหมายฉบับเดิมคือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้บัญญัติให้เป็นองค์กรหลักในการกำกับ ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือให้การปฏิบัติงานของสถานศึกษามีคุณภาพและประสิทธิภาพ

แต่ในร่าง ..บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ ในมาตรา 23 กำหนดไว้ให้ทำหน้าที่เฉพาะให้คำปรึกษา เสนอแนะ ติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ ภายใต้เงื่อนไขให้การทำหน้าที่เป็นลักษณะอาสาสมัครด้วยความสมัครใจ เป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว สมควรที่จะกำหนดเพิ่มบทบาท หน้าที่ และการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความแข็งเข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษา และมีอำนาจกำกับดูแลคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษามากยิ่งขึ้น

รวมทั้งกำหนดนโยบาย เป้าหมายผลสัมฤทธิ์ และร่วมรับผิดชอบคุณภาพผู้เรียนของสถานศึกษานั้น และให้สามารถเป็นองค์กรหลักในการปฏิบัติงานควบคู่กับสถานศึกษาของรัฐ เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานก็ต้องมีด้วย

ประเด็นที่ 6 ปัญหาของบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ซึ่งในร่าง ..บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง และในปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนที่น้อยกว่าผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยเฉพาะที่กำหนดไว้ในร่าง พ..บ.ฉบับนี้ในมาตรา 41 ก็ยังมีการแบ่งแยกชนชั้นบุคลากรเช่นเดิม

ผมเห็นควรมีการตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่น ของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และให้ครอบคลุมตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ที่กล่าวถึงในร่าง ..บ.ฉบับนี้ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันความเท่าเทียมกัน ความเสมอภาค และหลักประกันค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทุกตำแหน่งเสมอกัน เพื่อให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

ประเด็นสุดท้าย การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งในร่าง ..บ.ฉบับนี้กำหนดไว้ในมาตรา 88 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวง อว.

ซึ่ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาตินั้น มีผู้มีความรู้ด้านการศึกษาค่อนข้างน้อย ผมจึงขอเสนอว่ากรรมการโดยตำแหน่ง ในร่างกฎหมาย มาตรา 88 วงเล็บ 4 สมควรให้มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เข้าไปเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย

สำหรับวงเล็บ 5 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ควรให้มีบุคลากรทางการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรวิชาชีพครู ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา และผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา

ดังนั้น ผมจึงขอหารือไปยังรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการต่อไป

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)